อาศรมมิวสิก : คารวะผู้กล้าและผู้เสียสละด้วยเสียงเพลง

วัดสองคอน ผู้เขียนกับคุณพ่อยอแซฟ สุรศักดิ์ พงษ์พิศ

อาศรมมิวสิก : คารวะผู้กล้าและผู้เสียสละด้วยเสียงเพลง

การแสดงดนตรีที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ วันที่ 26 พฤษภาคม เวลา 17.00-18.30 น. นำเพลงคลาสสิกไปคารวะผู้กล้าและผู้เสียสละ มอบพระมารดาแห่งมรณสักขี (Our Lady of the Martyrs of Thailand Shrine) ที่วัดสองคอน มุกดาหาร สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ทรงประกาศให้คริสตชน 7 คน เป็นบุญราศีมรณสักขีคริสตชนที่บ้านสองคอน พ.ศ.2532 ซึ่งเป็นชุมชนเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเป็นหมู่บ้านผีปอบ มีคุณพ่อซาเวียร์ เกโก มิสซังผู้ร่วมก่อตั้งวัดคาทอลิกสกลนคร ได้ไปช่วยปราบผี มีผู้ศรัทธามานับถือศาสนาคริสต์จำนวนมาก

สงครามโลกครั้งที่ 2 สยามมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสเรื่องดินแดนในอินโดจีน วัดคริสต์ที่บ้านสองคอนได้กลายเป็นพื้นที่ละเอียดอ่อนเพราะอยู่ติดชายแดนริมน้ำโขง ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือคริสต์ ตำรวจเข้าไปควบคุมพื้นที่และขอให้ชาวบ้านเลิกนับถือคริสต์ซึ่งถูกมองว่าเป็นศาสนาฝรั่งเศส คุณพ่อเปาโล ฟีเกต์ ถูกทางการให้ออกจากสยาม ตำรวจข่มเหงฆ่าชาวบ้าน คนที่ไม่ยอมละทิ้งความเชื่อ มีชาวบ้าน 7 คน (แม่ชี 2 ผู้เลื่อมใส 5) ถูกฆ่าตาย ก่อนถูกยิงแม่ชีทั้ง 2 ขอว่าให้ได้ภาวนาเสียก่อน เมื่อภาวนาจบแม่ชีก็บอกตำรวจ “พวกเราพร้อมแล้ว”

วงไทยซิมโฟนีออเคสตรา จะขอมอบเพลงให้แด่มรณสักขีแห่งสองคอน เริ่มด้วยเพลงโหมโรง (William Tell Overture) เป็นการเชิญเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชิญครูอาจารย์มาช่วยดูแลเพื่อเป็นสิริมงคล

Advertisement
สถานที่แสดงภายในโบสถ์อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่

วิลเลียมเทลโดยรอสซินี (Rossini) ศิลปินอิตาเลียน ตำนานวีรบุรุษชาวสวิตเซอร์แลนด์ เป็นโอเปร่าเรื่องสุดท้ายของรอสซินี เพลงนี้รู้จักคุ้นหู ทำนองตื่นเต้น ได้นำไปประกอบหนังคาวบอย ละครโทรทัศน์ การ์ตูนดิสนีย์

วอนพระจันทร์ (Song to the Moon) ศศินี อัศวเจษฎากุล ขับร้อง จากโอเปร่าเรื่องรูสซาลกา (Rusalka) โดยดโวชาค (Dvorak) ศิลปินชาวเช็ก นำนิยายปรัมปรามาแต่งเพลง นางเอกคร่ำครวญถึงคนรัก

รูสซาลกา นางพรายน้ำ หลงรักกับเจ้าชาย เธอต้องคำสาปแม้เธอจะรู้ว่าแค่จูบแรกของเธอ เจ้าชายก็จะสิ้นชีวิต คำร้องเป็นบทกวีภาษาเช็กของยาโรสลาฟ ควาปิล (Jaroslav Kvapil) เธอร้องวิงวอนพระจันทร์ให้ช่วยนำความรู้สึกของเธอไปบอกชายคนรัก ด้วยความไพเราะและรัญจวน

Advertisement

ลาดาเต โดมินุม (Laudate Dominum) ขับร้องโดย ศศินี อัศวเจษฎากุล สวดสรรเสริญพระแม่มาเรียและสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าโดยโมสาร์ต เป็นเพลงร้องสำหรับเด็กผู้ชายเสียงสูง ในยุคของโมสาร์ต วัดยังไม่อนุญาตให้ผู้หญิงร้องเพลงในโบสถ์ โมสาร์ตนั้นต้องการนักร้องเสียงสูงจึงต้องใช้เสียงของเด็กผู้ชายร้อง

โมสาร์ตเคยเป็นนักร้องมาก่อน เด็กชายก่อนเสียงแตก (13 ปี) จึงจะร้องเสียงสูงได้ ก่อนนั้นในโบสถ์ใช้ผู้ชายเสียงแหบสูงร้อง คือต้องตอนผู้ชายให้เป็นขันทีโดยตัดฮอร์โมนผู้ชายออก พวกขันทีจะมีเสียงเล็กแหลมสูงและแหบ วันสำคัญทางศาสนามีการรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า นิยมนำเพลงเลาดาเต โดมินุม มาขับร้อง โมสาร์ตได้แต่งเพลงนี้เมื่อทำงานรับใช้ราชสำนักอาร์คบิชอปที่ซาลซ์บวร์ก เมื่อย้ายไปอยู่ที่เวียนนาก็ไม่แต่งเพลงศาสนาอีก

คณะสำรวจสถานที่ก่อนการแสดง ถ่ายรูปจากภายนอกโบสถ์

อาเวมารีอา (Ave Maria) วันทามารีอา โดย ชูเบิร์ต (Schubert) กมลพร หุ่นเจริญ ขับร้อง วันทามารีอาเป็นบทสรรเสริญพระแม่มาเรียที่มีชื่อเสียงมาก นิยมร้องในโอกาสสำคัญ วันศาสนา และการต้อนรับผู้นำศาสนา

ชูเบิร์ต เป็นศิลปินออสเตรีย มีผลงานเขียนเพลงร้องมากกว่า 600 บท (อายุ 31 ปี) ส่วนใหญ่เป็นเพลงร้องกับเปียโน อาเวมารีอาเป็นเพลงที่สร้างชื่อให้ชูเบิร์ต ตีพิมพ์ในขณะที่ชูเบิร์ตยังมีชีวิตอยู่

เล่ากันว่า ชูเบิร์ตเป็นศิลปินเร่ร่อนไม่มีอาชีพ ไม่มีเงิน มีความสามารถสูง มีแต่เพื่อน มีคนเลี้ยงดูไปวันๆ ชอบไปอยู่ตามโรงเตี๊ยม โรงน้ำชา ถูกใจใครก็เขียนเพลงมอบให้ ไม่เป็นที่รู้จักว่าเป็นศิลปินใหญ่ เมื่อได้แต่งเพลงอาเวมารีอาก็กลายเป็นเพลงที่โด่งดังมาก สำนักพิมพ์ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ประมาณว่าอยู่ได้ 2-3 ปีเลยทีเดียว แต่ชูเบิร์ตเองไม่เคยมีเงินมาก่อน จึงเชิญเพื่อนมาดื่มกิน เพียงแค่ 2 สัปดาห์ เงินที่มีก็หมดลง กลับไปจนเหมือนเดิม

อาเวมารีอา เป็นบทภาวนาของชาวคริสต์ เดิมชูเบิร์ตแต่งโดยใช้บทกวีคลาสสิกของสกอตแลนด์ ที่แปลเป็นภาษาเยอรมัน (The Lady of the Lake ของ Sir Walter Scott) ชื่อเพลงเอเลน 3 (Ellens Gesang III) ตัวเอเลนเธอเป็นวีรสตรี ได้สวดอ้อนวอนพระแม่มารีอา เพลงบทนี้ขึ้นต้นว่า “Ave Maria” จึงนิยมเรียกเป็นชื่อเพลง

ชาวคริสต์ได้นำทำนองไปใช้เป็นบทภาวนา (Ave Maria) แล้วใส่เนื้อร้องภาษาละติน เป็นอีกฉบับหนึ่งที่นิยมนำไปขับร้องในโอกาสที่เกี่ยวข้องกับศาสนา การแสดงครั้งนี้จะขับร้องตามต้นฉบับภาษาเยอรมัน

เนสซุนดอร์มา (Nessun Dorma) ไม่อยากให้ใครหลับ ขับร้องโดย ฉันทัช นีล ไนท์ เป็นบทพระเอกในฉากสุดท้ายของโอเปร่าเรื่องตูรันโด (Turandot) เมื่อเจ้าหญิงถูกท้าให้ทายว่า พระเอกชื่ออะไร หากทายชื่อไม่ได้ เธอก็ต้องแต่งงานกับพระเอก เจ้าหญิงสั่งทหารทุกคนไม่ให้ใครนอนหลับทั้งนั้น ต้องหาชื่อของพระเอกให้ได้ หากหาไม่ได้เธอก็จะฆ่าทุกคนให้หมด แต่พระเอกก็ร้องเพลงอย่างมั่นใจและเยาะเย้ยว่าเขาจะชนะ

ตูรันโดแต่งโดยปุชชินี (Puccini) ศิลปินชาวอิตาเลียน เกิดที่เมืองลูก้า ย้ายไปอยู่ที่มิลาน เขาเสียชีวิตก่อนที่จะประพันธ์เรื่องนี้จบ จากนั้นอีก 18 เดือน โอเปร่าเรื่องนี้จึงได้เปิดการแสดงที่โรงโอเปร่า ลา สกาลา ที่เมืองมิลาน

เนสซุนดอร์มา เป็นเพลงชั้นครู สำหรับเสียงเทเนอร์ (Tenor) เป็นบทร้องที่มีความไพเราะมากเพลงหนึ่ง นิยมร้องในงานเทศกาลใหญ่ เมื่อคณะนักร้อง 3 คน ที่มีโดมิงโก คาเรราส พาวารอตติ (Domingo, Carreras, Pavarotti) ได้ร้องในงานฟุตบอลโลก เมื่ออิตาลีเป็นเจ้าภาพ พ.ศ.2533 จึงกลายเป็นเพลงยอดนิยมทั่วโลก

อาจารย์สิทธิชัย เพ็งเจริญ เดี่ยวไวโอลิน

โอโซเลมิโอ (O Sole Mio) ดวงตะวันของฉัน ขับร้องโดย ฉันทัช นีล ไนท์ เพลงพื้นเมืองของชาวนาโปลี ตอนใต้ของอิตาลี เพลงนี้ดังไปทั่วโลกเมื่อราชาเพลงร็อก เอลวิส เพรสลี (Elvis Presley) นำทำนองไปใส่เนื้อร้องใหม่ ชื่อเพลงอิทส์นาวออร์เนฟเวอร์ (It’s Now or Never) พ.ศ.2503 ทำให้ทำนองโอโซเลมิโอรู้จักแพร่หลาย

ที่จริงเพลงโอโซเลมิโอเป็นที่รู้จักมาก่อน ในงานโอลิมปิกครั้งที่ 7 พ.ศ.2463 เมืองแอนต์เวิร์ป เบลเยียม เมื่อนักกีฬาอิตาเลียนขึ้นรับเหรียญ หัวหน้าวงดนตรีหาโน้ตเพลงชาติอิตาลีไม่เจอ จึงได้ตัดสินใจบรรเลงเพลงโอโซเลมิโอแทน คนดูในสนามก็ช่วยกันยืนร้องดังสนั่น

ไวโอลินคอนแชร์โต หมายเลข 3 ของโมสาร์ต เดี่ยวไวโอลินโดย สิทธิชัย เพ็งเจริญ เพลงนี้มีอยู่ 3 ท่อน เร็วช้า เร็ว โมสาร์ตแต่งสมัยเป็นหัวหน้าวงออเคสตราของราชสำนักอาร์คบิชอปแห่งซาลซ์บวร์ก (อายุ 19 ปี)

เลือกเพลงนี้มาแสดงก็เพราะว่า ฮิลารี ฮาห์น (Hilary Hahn) นักไวโอลินชาวอเมริกัน ได้แสดงต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 คอนเสิร์ตคล้ายวันประสูติครบ 80 พรรษา พ.ศ.2550 ที่นครรัฐวาติกัน พระองค์ทรงมีส่วนร่วมในการเลือกรายการดนตรี ครั้งนั้นมีดูดาเมล (Dudamel) ชาวเวเนซูเอลา เป็นผู้ควบคุมวงชตุทการ์ท (Stuttgart Radio Symphony Orchestra)

สำหรับวงไทยซิมโฟนีออเคสตราแสดงที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล จึงได้นำเพลงบทนี้มาแสดง โดยมี อาจารย์สิทธิชัย เพ็งเจริญ เป็นนักไวโอลิน และมี ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล เป็นวาทยกร

มีเพลงประจำโบสถ์อีก 3 เพลง คือ เพลงมั่นใจในพระองค์ ผลงานของ พีรสันติ จวบสมัย เพลงโปรดเปลี่ยนแผ่นปังบูชา ผลงานของ คุณพ่อมีคาแอล ทวีศิลป์ พงศ์พิศ ขับร้องโดย กมลพร หุ่นเจริญ เพลงมิตรสหาย โดยคุณพ่อโมลิ่ง ขับร้องโดย ศศินี อัศวเจษฎากุล คัดเลือกเพลงโดยคุณพ่อยอแซฟ สุรศักดิ์ พงษ์พิศ เจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่

อนุสาวรีย์ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่บ้านหนองกุง วาริชภูมิ สกลนคร

ขอคารวะผู้กล้าอีกคนหนึ่งคือ จิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ.2473-2509) นักปราชญ์ นักคิดสยาม นักดนตรีไทย นักภาษาศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ นักปฏิวัติความคิด นักต่อสู้ผู้มีอุดมการณ์ ผู้ประพันธ์เพลงยอดนิยม 2 เพลง คือ ทะเลชีวิต และแสงดาวแห่งศรัทธา จิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ปีนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ อายุ 92 ปี

จิตร ภูมิศักดิ์ เรียนอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เคยเรียนปริญญาโทที่ประสานมิตร ดร.พล คำปังสุ์ (85 ปี) เล่าให้ฟังว่า ปี พ.ศ.2500 จิตร ภูมิศักดิ์ สีซอด้วง และอาจารย์สงัด ภูเขาทอง สีซออู้และร้องเพลง ท่านเสียชีวิตไปแล้ว อายุน้อยกว่าจิตร 1 ปี เมื่อจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกสันติบาลจับเอาตัวไปจึงเรียนไม่จบ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกลอบสังหารเสียชีวิตที่บ้านหนองกุง วาริชภูมิ สกลนคร

เพลงทะเลชีวิตและแสงดาวแห่งศรัทธา ขับร้องโดย อิสรพงศ์ ดอกยอ เพื่อมอบแก่ผู้มีอุดมการณ์ เป็นพลังและให้กำลังใจแก่คนรุ่นหลัง “ความหวังจงอย่าหักหลังลวงหลอกใจข้า สิ่งที่ใฝ่ฝันจงอย่าโรยรา”

การแสดงในครั้งนี้ ถือเป็นบุญของทุกคน ทั้งนักดนตรี นักร้อง คนจัดการ รวมทั้งผู้ฟังด้วย ขอจงมีความสุขความเจริญ เชื่อว่าความหวังของทุกคนจะเบ่งบานในวันนี้

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image