อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ กับผลงานชุดใหม่ ‘Body of Space’ ภาพจำ พื้นที่ (สิ่งมี) ชีวิต

อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ กับผลงานชุดใหม่ ‘Body of Space’ ภาพจำ พื้นที่ (สิ่งมี) ชีวิต

“ผมสนใจสภาพเมืองสภาพวิถีชีวิตของคนที่มันเปลี่ยนไป ตอนเด็กผมมาจากต่างจังหวัดทุกคนก็ต้องไปสวนสัตว์เขาดินกัน เพราะเป็นพื้นที่ที่คนเข้าถึงง่าย ราคาถูก ทำให้ได้เจออะไรมากขึ้น เราไม่เคยเห็นฮิปโป หรือยีราฟ ตอนเด็กมันไม่มีให้ดู ไม่มีทีวีฉายภาพ แต่เห็นสัตว์ที่มันหน้าตาประหลาดที่สวนสัตว์ที่อยู่กลางเมืองในราคาค่าเข้า 10-20 บาท”

อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ หรือ โจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เล่าถึงแรงบันดาลใจใน ‘Body of Space’ นิทรรศการล่าสุดของตัวเองที่มีคนดังหลากหลายวงการแวะเวียนไปเยี่ยมชมไม่ขาดสาย

ด้วยความตั้งใจสื่อสารถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่ (Space) กับวิถีการดำรงชีวิตและการหล่อหลอมทัศนคติของผู้คน ต่อสังคม ผ่านภาพวาดสีน้ำมันนามธรรมที่สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคการระบายสีที่หลากหลายกว่า 30 ชิ้น โดยมีความเชื่อว่าการมีอยู่และการเปลี่ยนแปลงไปของพื้นที่ใดๆ เป็นตัวแปรสำคัญต่อสำนึกและพฤติกรรมของผู้คนในสังคมต่อพื้นที่นั้นๆ

เรียงรายละลานตาบนผนังสีขาวของ ICONLUXE Pop Up Space ศูนย์การค้าไอคอนสยามไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคมนี้

Advertisement

ย้อนไปในเส้นทางชีวิต เกิดและเติบโตที่จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อนเก็บกระเป๋าเข้าเมืองกรุง เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กระทั่งเป็นมหาบัณฑิต แล้วบรรจุเป็นอาจารย์ด้านศิลปะเต็มตัวที่ มรภ.ราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ยาวนานกว่า 10 ปีแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้งแกลเลอรี่ Many Cuts Art Space

เดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง สร้างชื่อจากศิลปะนามธรรมและมีสีสันที่เป็นเอกลักษณ์

Advertisement

“วิธีคิดของผมคือ ผมทำเป็นซีรีส์ทำเป็นชุด พยายามมองว่าในประเด็นในช่วงเวลานี้เราสนใจเกี่ยวกับเรื่องอะไร แล้วก็พยายามใช้เวลาในการพัฒนาผลงานให้มันลงตัว” ศิลปินวัย 38 เล่า

ก่อนตอบคำถามถึงเรื่องราวชีวิตและนิทรรศการล่าสุด ซึ่งพัฒนาขึ้นระหว่าง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 40 กว่าชิ้น โดยเป็นงานศิลปะขนาดใหญ่ 2 เมตรที่เน้นย้ำให้เห็น Space หรือพื้นที่ว่างได้มากขึ้น

●จุดเริ่มต้นของผลงานชุด Body of Space คืออะไร?

ผลงานชุดนี้พูดถึงพื้นที่ที่มันเปลี่ยนรูปทรง เปลี่ยนรูปร่างไป ไอเดียหลักๆ มาจากพื้นที่ที่เราเคยใช้ชีวิตแล้วมันหายไป มันไม่อยู่แล้ว มันปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น สิ่งที่เราเคยเจอตอนเด็กในสมัยที่ผมมีความทรงจำกับพื้นที่เหล่านี้ ในช่วงที่เข้ามากรุงเทพฯใหม่ๆ ซึ่งมันเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครๆ ก็รู้จัก เช่น เขาดิน หรือสวนสัตว์ดุสิต ก่อนเปลี่ยนพื้นที่ไป จึงเป็นที่มาของนิทรรศการชุดนี้ที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Space หรือพื้นที่กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ความพิเศษของเขาดินมันค่อนข้างน่าสนใจ ไม่ว่าเราจะจนหรือรวย ทุกคนต้องไปที่เดียวกัน เพราะคุณรวยแค่ไหนคุณก็เอายีราฟไปอยู่ในบ้านไม่ได้ คุณเอาช้างไปไว้ที่บ้านไม่ได้ (หัวเราะ) มันเป็นภาพน่ารัก ที่ครอบครัวพาจูงกันไป

ทุกคนสามารถใช้พื้นที่ตรงนี้ร่วมกันกลางเมืองหลวงได้ ผมก็เลยเริ่มคิดจากประเด็นนี้แล้วก็ค่อยๆ มองพื้นที่อื่นๆ เพราะฉะนั้นสำหรับผมมองว่าพอพื้นที่บางอย่างแบบนี้มันหายไป มันก็ทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไปด้วย วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไปด้วย แทนที่เราจะไปพักผ่อนใจกลางเมืองได้ เราอาจจะต้องขับรถไปพื้นที่ซึ่งต้องใช้งบประมาณที่มันเยอะขึ้น และใช้เงินเยอะขึ้น ใช้เงินเดินทางมากขึ้น ใช้เวลามากขึ้น ทำให้ความต้องการของมนุษย์เองก็เปลี่ยนไปด้วย

สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้น ไอเดียที่ผมคิดเรื่องนี้ว่าอยู่มาวันหนึ่งมันก็ไม่มีพื้นที่แบบนี้อีกแล้ว แล้วถ้าเรามองไปรอบๆ ตัวเองในกรุงเทพฯ หรือในประเทศไทย พื้นที่ที่เป็นสาธารณะจริงๆ มันเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทางการค้า ทางธุรกิจ

●ความท้าทายในการทำงานชุดนี้?

ความยากง่ายของงาน ผมคิดว่าศิลปินหรือคนทำงานศิลปะทุกคนเป็นเหมือนกัน คือเรามีทักษะ แต่กว่าที่จะหาประเด็นการทำงานในแต่ละชุดค่อนข้างจะใช้เวลาในการขบคิดกับตัวประสบการณ์ในการค้นคว้าข้อมูลเอง ผมคิดว่าตรงนี้เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างนาน มันต้องตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ มันสามารถสื่อสารความคิดเราได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนเรื่องกระบวนการทำงานสำหรับผมคิดว่าไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะว่าเราก็ทำงานต่อเนื่อง มันเป็นทักษะที่พัฒนามาอยู่แล้ว ก็ไม่ได้มีความยาก เพียงแต่ว่าตัวหน้าตางานของผมชุดนี้ มันก็จะเปลี่ยนไปจากชุดก่อนๆ มันพูดถึงที่ว่างในงานจิตรกรรมมากขึ้น พูดถึงฟอร์มที่มันเปลี่ยนไปจากที่คนคุ้นตา วิธีการใช้สีวิธีการระบายที่มันเปลี่ยนแปลงไป

●นิทรรศการนี้มีคิวเรเตอร์เป็นคนรุ่นใหม่ การทำงานร่วมกันเป็นอย่างไรบ้าง?

ผู้ประสานเรื่องนิทรรศการ คือไหม วงศ์สวัสดิ์ คิวเรเตอร์นิทรรศการ Body of Space และบี สุชาย พรศิริกุล กับทางไอคอนสยาม ไหมเป็นคิวเรเตอร์ประจำนิทรรศการที่จะคอยพูดคุยกันว่าหน้าตาของงานมันจะเป็นแบบไหน แล้วคอยดูแลจัดการเรื่องการทำให้เกิดนิทรรศการขึ้น ศิลปินกับผลงาน เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดงานศิลปะ แต่คนที่สำคัญไม่แพ้กันคือคิวเรเตอร์ซึ่งจะทำให้งานมีความสมบูรณ์แบบขึ้นในนิทรรศการ ในแง่ของการเข้าชม ในแง่ของ Visual (ทรรศนะ) ของการจัดวางต่างๆ โชคดีมากที่ได้ไหมมาเป็นคิวเรเตอร์เพราะเป็นคิวเรเตอร์รุ่นใหม่ไฟแรง และได้ทำงานร่วมกับคนรุ่นน้องก็มีวิธีการทำงานที่ต้องคุยเยอะพอสมควร

●ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง พอใจมากน้อยแค่ไหน?

ผลตอบรับค่อนข้างดี มีคนมาชมผลงาน ผมก็พยายามจะเข้ามาประจำนิทรรศการให้ได้บ่อยที่สุดเพื่อที่จะได้พูดคุยเล่าถึงไอเดียของการทำงาน สำหรับพื้นที่จัดแสดงก็ดึงดูดคนได้พอสมควร อยู่ในสเกลค่อนข้างใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่คนสามารถเดินเข้าเดินออกได้เลย แต่คนที่เข้ามาชมผลงานของผมส่วนหนึ่งก็เป็นกลุ่มที่ติดตามผลงานอยู่แล้ว เป็นคอลเล็กเตอร์ เป็นแฟนคลับที่ติดตามเราทางอินสตราแกรมหรือเคยเห็นงานของผม เขาก็ทยอยกันมา

●ผลงานครั้งที่แล้วเกี่ยวกับการเมืองอย่างชุด Momentos/Monuments & reMinders : เมื่อประชาชนกลับจำในสิ่งที่รัฐอยากให้ลืม จะมีการกลับมาแนวนั้นอีกไหม?

ส่วนมากคนจะมีภาพจำว่าผมเป็นศิลปิน Abstracts คืองานศิลปะที่ไม่มีฟอร์มไม่มีอะไร แต่ถ้าลองย้อนกลับไปไอเดียจริงๆ จะเห็นว่างานทุกชิ้นของผมเกี่ยวข้องกับสังคม ไม่ว่าทางใดหนึ่ง เช่น ศิลปะชุดนี้เกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ ชุด Momentos/Monuments & reMinders เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองและชุดก่อนก็มีกลิ่นอายแบบนี้อยู่เพียงแต่รูปร่างหน้าตาอาจจะเปลี่ยนไป

ผมมองว่า ถ้าศิลปินสนใจอะไร งานมันก็จะออกมาแบบนั้น ส่วนกลิ่นอายจะมากน้อยหรือเปล่าในผลงานมันก็อีกเรื่องหนี่ง อยู่ที่ว่ากลวิธีในการนำเสนอใช้รูปแบบไหน

ผมไม่ค่อยซีเรียสว่ารูปแบบมันจะออกมาเป็นแบบไหน อย่างไรก็ตาม การทำงานของเราก็เป็นทักษะเป็นฝีไม้ลายมือ เป็นประสบการณ์ของเราอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าชุด Momentos/Monuments & reMinders ที่เพิ่งแสดงไปเมื่อปีที่แล้ว มันอยู่ในภาวะที่ผมต้องการพูดให้มันชัดมากกว่างานชุดอื่นๆ ความเป็น Figurative (รูปธรรม) ฟอร์มเนื้อหาจึงชัดกว่างานชุดอื่นๆ ที่ผ่านมา งานเก่าๆ มีส่วนที่มันพูดตรงมาก

●ขอย้อนถามถึงเส้นทางชีวิต อะไรคือสิ่งที่ทำให้กลายมาเป็นศิลปิน?

ตลอดชีวิตนี้ ผมเป็นคนชอบงานศิลปะแต่ไม่ได้คิดว่าจะมาเรียนศิลปะอย่างจริงจัง ตอนเด็กๆ ก็มีประกวดบ้าง วาดรูปบ้าง เล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เก่ง ประกวดอะไรก็ไม่ค่อยได้รางวัล แต่ว่าพอช่วงสัก ม.5-6 เราเริ่มสนใจงานศิลปะ วงการศิลปะมากขึ้น เริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับงานศิลปะ โดยเฉพาะสมัยนั้นอาจารย์ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) กำลังดังมาก ได้อ่านชีวประวัติ ได้เจอตัวเป็นๆ และได้ดูงานศิลปะ จึงเริ่มตัดสินใจที่จะเรียนด้านศิลปะ สมัยก่อนค่อนข้างยุ่งยากในการเรียนศิลปะเพราะว่าผู้ปกครอง พ่อแม่ก็จะถามว่าจบไปจะไปเป็นอะไร แต่ตอนนั้นเราก็ตั้งใจมาก อยากทำ 2 อย่าง อย่างแรกก็คือ อยากเป็นอาจารย์สอนศิลปะ อย่างที่ 2 ก็คืออยากทำงานศิลปะไปด้วย จึงเข้ามาเรียนศิลปะ

●แล้วจุดไหนที่ทำให้สามารถนิยามตัวเองได้ว่าศิลปินเต็มตัว?

ผมเริ่มทำงานศิลปะกับเพื่อนตั้งแต่ตอนที่อยู่ปี 1 ปี 2 ถ้าถามผมว่าเป็นศิลปินเต็มตัวตอนไหน ผมคิดว่ามันก่ำกึ่งระหว่างความเป็นนักศึกษากับความเป็นศิลปิน แต่พอหลังเรียนจบก็ทำงานต่อเนื่องมาเรื่อยๆ มีงานที่หลากหลายรูปแบบ มีการแสดงเป็นกลุ่มบ้าง แสดงเดี่ยวบ้าง แต่ว่าในช่วงนั้นงานหลายๆ อย่างก็เป็นการทดลอง ถ้าคิดว่าเป็นศิลปินไหม ผมคิดว่าเป็นศิลปิน แต่ศิลปินที่ดำรงชีพด้วยงานศิลปะตอนนั้นยากมากที่จะขายงานศิลปะหรือมีคนรู้จักเรา โดยเฉพาะในช่วงที่โซเชียลยังไม่บูม เราต้องรอช่องทางในการแสดงผลงานศิลปะอย่างเดียว กับช่องทางในการนำเสนอผลงานมันน้อยกว่าปัจจุบันเยอะ

●ในฐานะศิลปินรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ คิดอย่างไรกับวงการศิลปะสมัยใหม่ในปัจจุบัน?

ผมคิดว่างานศิลปะในตอนนี้ โดยเฉพาะงาน Painting (จิตรกรรม) ที่มันสามารถที่จะสามารถเข้าไปบ้านคนได้ง่ายขึ้น มันค่อนข้างจะเติบโตมากขึ้น ผมว่าอย่างแรกคือ ศิลปินหลายๆ คน มีช่องทางในการนำเสนอผลงานมากขึ้น แกลเลอรี่ของเรามีพื้นที่ในการแสดงออกเพิ่มมากขึ้น เรามีสื่อโซเชียลมีเดีย เรามีเทศกาลศิลปะต่างๆ ให้เห็นผลงานของศิลปินที่หลากหลายมากขึ้น ผมคิดว่าหลังมานี้เราไม่จำเป็นที่จะต้องจบมหาวิทยาลัยไหนที่จะการันตีว่าเราเป็นศิลปิน ผมคิดว่าทุกคนสามารถสร้างงานศิลปะได้ และเป็นการลองผิดลองถูก การพัฒนาผลงานไปเรื่อยๆ ในยุคหลังคนทำงานศิลปะค่อนข้างเยอะ ซึ่งสำหรับผมเองผมคิดว่าเป็นผลดีที่จะทำให้การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในการสื่อสารกับผู้คนเกิดขึ้นในอนาคต แม้กระทั่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา งานศิลปะจำนวนมาก มันจะนำไปสู่ท้องถนน ไปสู่การประท้วงไปสู่การเผยแพร่ใน Public Art (ศิลปะสาธารณะ) ผมคิดว่าเรามีศิลปินที่มีศักยภาพมากมายที่จะทำให้ประเทศนี้ขับเคลื่อนไปด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้

●ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้ง Manycuts Artspaceมีจุดประสงค์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพื้นที่ทางศิลปะไหม?

ใช่ เพราะผมคิดว่าส่วนสำคัญของการที่จะทำให้เศรษฐกิจทางศิลปะมันเติบโตได้คือช่องทางการเผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ที่เป็นหอศิลป์ หรือว่าพื้นที่ในโซเชียลมีเดีย แต่ผมมองว่าพื้นที่ที่มันเป็น Physical Space (พื้นที่กายภาพ) เช่น หอศิลป์ มีความจำเป็นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มันไม่ได้อยู่ในเมืองหลวง แต่ผมเริ่มทำ Art space (พื้นที่แสดงงานศิลปะ) ที่ฉะเชิงเทรา เพราะรู้สึกว่าทุกจังหวัด หรือทุกอำเภอทุกที่มันควรจะมีพื้นที่ที่ทำให้เราได้โชว์หรือแลกเปลี่ยนทัศนคติ แลกเปลี่ยนผลงานทางด้านศิลปะ สร้างกลุ่มผู้ชมที่มากขึ้น สร้างความเข้าใจในการดูงานศิลปะให้มากขึ้น หรือว่า แม้กระทั่งให้กำลังใจกับศิลปินรุ่นใหม่ ที่เขาต้องการจะเติบโตและไม่รู้จะไปที่ไหน ผมก็เลยสร้างพื้นที่นี้ขึ้นมาผมมองว่ามันควรจะเป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ แน่นอนว่าในทางเศรษฐกิจ พื้นที่พวกนี้ก็อาจจะไม่ได้ทำเงินเลย ผมกล้าพูดเพราะที่ผ่านมาก็ประสบปัญหาอย่างนี้ว่าจะอย่างไรให้มันอยู่ได้

ผมคิดว่าทางรัฐบาลควรให้ทุนอุดหนุนสำหรับพื้นที่พวกนี้ให้มันอยู่ได้ยาว เพราะที่ผ่านมาเท่าที่เห็นเปิดมา 1-3 ปีก็ปิด จึงคิดว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศิลปินรุ่นใหม่มีกำลังใจเหมือนกันว่าจะได้แสดง เผยแพร่ผลงานแล้วมีคนมาชื่นชมผลงานเขา สิ่งนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมตั้งใจทำมากๆ

●หลังจากจบงานนี้ มีแผนในการสร้างผลงานศิลปะต่อไปอย่างไร?

ตอนนี้สำหรับการทำงานก็คงไม่เลิก คงทำไปตลอดชีวิตเพราะว่ามันเป็นอาชีพหนึ่งและเป็นสิ่งที่เราสามารถสื่อสารในเรื่องที่เราอยากพูดให้กับสังคมได้ แต่ว่ามันจะออกมาในรูปแบบในตัวผลงานสร้างสรรค์ ซึ่งผมก็คงทำต่อไปเรื่อยๆ แต่ว่าตอนนี้งานก็คงทำอยู่ แต่ว่ายังไม่มีแผนที่จะโชว์ใหม่ อาจจะรออีกสักปี หรือ 2 ปี ที่จะมีผลงานต่อไป ก็ยังสนใจในประเด็นที่มันเกี่ยวกับเรื่องชีวิตผู้คน ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทางสังคม ประเด็นที่เกี่ยวกับพื้นที่ต่างๆ และประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะก็ยังคงสนใจอยู่ และเป็นประเด็นการเมืองมาก แต่มันเป็นการเมืองที่เกี่ยวกับชีวิตผู้คน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมชอบติดตามเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว เพียงหน้าตาผลงาน มันจะออกมาเป็นแบบไหนตอนนี้ก็ยังไม่ได้วางแผนตรงนั้น

จนกว่าที่มันจะตกตะกอนแล้วก็คิดว่ามันพร้อมที่จะโชว์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image