การศึกษา “งมงาย” สังคมเลื่อมใส “พระบิดา”

การศึกษา “งมงาย” สังคมเลื่อมใส “พระบิดา”

พระบิดา” เป็นตัวแทนสิ่งถูกสร้างขึ้นจากการศึกษาแบบ “งมงาย” [“พระบิดา” และลูกศิษย์ ภายในสำนัก ที่ อ. คอนสาร จ. ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 (ภาพจาก https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_7038781)]

การศึกษา “งมงาย”

สังคมเลื่อมใส “พระบิดา”

ความเชื่องมงายอย่างขาดสติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังกรณี “พระบิดา” ตามที่สื่อเสนอข่าวต่อเนื่องหลายวัน แล้วยังมีเรื่องอื่นๆ ทำนองเดียวกันอีกไม่ขาดสายซึ่งมีข่าวตลอดปีเป็นช่วงๆ ตามจังหวะของการเสนอข่าว

Advertisement

เรื่องทำนองนี้มีขึ้นในสังคมอ่อนแอและรู้สึกไม่มั่นคง โดยเฉพาะในสังคมการเมืองอำนาจนิยมร่วมกับอนุรักษนิยมต่อต้านประชาธิปไตย เป็นปฏิปักษ์ต่อคนเท่ากัน หล่อหลอมกล่อมเกลาว่าอำนาจนิยมนำสู่การพัฒนาสังคมก้าวหน้ารวดเร็ว แล้วเห็นดีเห็นงามกับการยกตนเป็นชนชั้นเหนือกว่าคนอื่น ซึ่งเท่ากับเหยียดหยามอำนาจประชาชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ (ได้จากอ่านข้อเขียนของ “การ์ตอง” ในมติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 และของสุรวงค์ เอื้อปฏิภาณ ในมติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2565)

เหล่านี้นำไปสู่การศึกษาแบบ “งมงาย” ที่เน้นการ “ครอบ” (พิธีกรรมในการเรียนการสอนนาฏศิลป์และดนตรีไทย แต่ถูกอธิบายปกปิดความจริง) หมายถึงครอบงำความรู้ให้เชื่อในครูคนเดียวเท่านั้น ด้วยการ “ห้ามสงสัย ห้ามถาม ห้ามเถียง” จึงไม่อธิบายด้วยเหตุผลพร้อมหลักฐาน ซึ่งเท่ากับควบคุมไว้ในกติกาที่ไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรม

สำนึกอย่างเดียวกันนี้พบทั่วไปในข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐราชการรวมศูนย์ซึ่งส่วนมากหรือเกือบหมดมีวัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนาย เลื่อมใสอำนาจนิยม จึงล้วนมีอคติแล้วเหยียดหยามต่อประชาชนพลเมืองที่แสดงความเห็นต่าง

Advertisement

โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวัฒนธรรมในหน่วยงานทางการสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม บรรดาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ล้วนมีแนวคิดอนุรักษนิยม (แบบต่อต้านประชาธิปไตย) คน “ไม่” เท่ากัน จึงมีทัศนะอย่างอคติต่อการแสดงความเห็นต่างทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและวัฒนธรรม

ครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัยบางกลุ่มที่เกี่ยวข้องวิชาการด้านวัฒนธรรม (เช่น ประวัติศาสตร์โบราณคดี, วรรณคดี, นาฏศิลป์ดนตรี เป็นต้น) ซึ่งในสากลต้องการคำวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความคิดต่าง แต่ครูบาอาจารย์เหล่านั้นพากันมีทัศนะต่อการแสดงความเห็นต่างทางวิชาการข้อมูลความรู้ว่าแหกคอกนอกครูและขบถ

ด้วยเหตุนี้ครูบาอาจารย์สถานศึกษาเกือบหมดมหาวิทยาลัย “เป่านกหวีด” ทางการเมือง แล้ว “เป่าสาก” ทางวิชาการ แต่เน้นการแต่งเครื่องแบบนักเรียนนักศึกษาและออกหน้าสนับสนุนระบบโซตัส ทำให้การเรียนการสอนทางสังคมวัฒนธรรมในประเทศไทยมีลักษณะอำนาจนิยม (บางแห่งสุดโต่งให้นักเรียนนักศึกษา “หมอบกราบ” และ “คลานเข่า” เข้าหาครูบาอาจารย์) ไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ ต้องเชื่ออย่าง “งมงาย” ต่อแนวคิดอนุรักษ์ ได้แก่ ความเป็นไทยไม่เหมือนใครใน โลก, “เชื้อชาติไทย” เป็นสายเลือดบริสุทธิ์ หรือไทยแท้, กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย, ทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่นครปฐม เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เอื้อให้มี “พระบิดา” และ/หรือทำนองเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image