‘คังคุไบ’ ไม่เกินจริง SEX WORKER จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง กฎหมายต้องคุ้มครอง

จำรอง ‘ตี๋’ แพงหนองยาง รองผอ.มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ อดีต SEX WORKER หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา (ภาพจาก Swing Thailand)

กลายเป็นกระแสฮอตในไทย สำหรับภาพยนตร์บนเน็ตฟลิกซ์เรื่อง “หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” ซึ่งมีการบอกเล่ามุมมองผ่านตัวละคร ‘คังคุไบ’ หญิงสาวผู้ถูกหลอกไปค้าบริการในซ่อง ก่อนกลายเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ค้าบริการทางเพศ

เหล่าคนดังทั้งศิลปิน เซเลบ ดารา รวมถึงผู้คนบนโลกออนไลน์ หันมาแต่งกายเลียนแบบคังคุไบกันถ้วนหน้า พร้อมๆ กับสปอตไลต์ที่ส่งฉายไปยังประเด็น Sex Worker ซึ่งมีการเรียกร้องให้เป็นอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมายมาพักใหญ่ แต่ยังไร้ผลอย่างเป็นรูปธรรม

“เราไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้จะเลี้ยงกระแสไปได้นานแค่ไหน แต่สิ่งที่เป็นจริงคือเรายังคงต้องสู้ ต้องดูแลตัวเอง หนังคังคุไบสะท้อนใจเรามากที่ได้เห็นการช่วยเหลือดูแลกันเอง มันไม่ต่างจากภาพจริงที่เราอยู่กับน้องๆ เลย เรามีอะไรต้องดูแลกัน ช่วยเหลือกัน ถ้าไม่ช่วยกันเอง ไม่มีใครช่วยเราจริงๆ”

เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการบรรจุถุงยางอนามัยเพื่อส่งให้กับผู้มีความต้องการใช้งาน

เป็นคำกล่าวของ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ และนักกิจกรรมที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของพนักงานบริการ ระหว่างเสวนาหัวข้อ “คังคุไบ 100 ปีจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง” ซึ่งจัดโดย มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ “Swing Thailand” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยมี รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ผู้คาดหวังจะสั่นคลอนวิธีคิด ‘ตีตรากะหรี่’ (Whore Stigma) ดำเนินการสนทนากับนักกิจกรรมและบรรดาผู้ค้าบริการทางเพศ เพื่อส่งเสียงเรียกร้องให้การค้าบริการทางเพศมีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย

Advertisement

มากมายด้วยข้อมูล เรื่องราว และประสบการณ์ที่ต้องเปิดใจรับฟัง

ปากยังอยาก ท้องยังโหย
จุดเปลี่ยนสู่ขายบริการ

เริ่มต้นที่คำบอกเล่าของ แม่ภาพ พนักงานบริการซอยคาวบอย ซึ่งเผยว่าเข้ามาทำอาชีพนี้ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลากว่า 20 ปี เนื่องจากชีวิตครอบครัวลำบาก ถูกสามีทอดทิ้ง ต้องหาเลี้ยงแม่ที่เป็นคนไข้ติดเตียง และลูกสาววัย 11 เดือน เพียงลำพัง ด้วยความรู้แค่มัธยมต้น จึงสู้ชีวิตด้วยการใช้ร่างกายทำมาหากิน

Advertisement

“เราทำอาชีพด้านนี้มาตลอด ไม่ได้เบียดเบียนใคร ก็ทำไปเรื่อยๆ มีทิป มีดื่ม ได้อยู่กับต่างชาติ คิดว่ามันเป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง ส่วนเวลาที่ออกไปกับลูกค้า ค่าตัวก็เป็นเรื่องที่เราตกลงกันเอง เรื่องความรุนแรงทางเพศก็มีบ้าง แล้วแต่ความโชคดีโชคร้ายของเรา พูดตามประสบการณ์จริง

“บางคนชอบความรุนแรง ถ้าเราทำให้เขามีความใคร่มากจะเสร็จเร็ว จึงต้องบิ้วอารมณ์ไปตามนั้น ทำท่าเจ็บปวดหรือไม่ก็ใช้เทคนิคส่วนตัวช่วย ถ้าเขาชอบเซ็กซ์สกปรก อย่างการอึ การฉี่ เราก็ต้องพยายาม อาจใช้สายยางฉีดอัดเข้าไปเพื่อให้เราอึออกมาราดตัวเขา เป็นการช่วยส่งเสริมให้เขาเสร็จเร็วขึ้น” แม่ภาพอธิบาย ก่อนเปิดใจด้วยว่า ที่ผ่านมา หากโดนใช้ความรุนแรงต้องทนเจ็บ ไม่แจ้งตำรวจ เพราะแจ้งไม่ได้ เนื่องจากตัวเองจะมีความผิดด้วย

“ไม่อยากไปมีเรื่องมีราวกับใคร เจ็บก็ไปรักษาตัวเอาเอง เลยมีการสื่อสารกันในร้าน คอยช่วยเตือนว่าใครอันตราย”

เรื่องราวข้างต้น คล้ายคลึงกับประสบการณ์ของ อัชณาภรณ์ พิลาสุตา เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาคนข้ามเพศ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ พัทยา หรือแอนนา อดีต SEX WORKER เผยว่า เมื่อก่อนอยากเป็นนางโชว์ แต่ด้วยความไม่รู้จักว่าโรงโชว์อยู่ตรงไหน จึงได้ไปสมัครงานที่บาร์แห่งหนึ่ง พอไปถึงที่ทำงาน มีคนถามว่านวดเป็นหรือไม่ ตนยังงงอยู่ก็เดินไปตามที่พนักงานเรียก ไปนวดให้ลูกค้า จากนั้นเขาขอมีเพศสัมพันธ์ 1 ชั่วโมง 3,000 บาท ซึ่งเยอะกว่าเงินที่เคยได้จากโรงงานเดือนละ 6,000 บาท จึงเลือกมาทำงานบริการ

“ทำงานแบบนี้ การโดนทำร้ายมันก็มีบ้าง พอหนูไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตอบมาว่า เราทำงานเป็นพนักงานบริการ เป็นโสเภณี มันผิดกฎหมาย เมืองไทยเขายังไม่ให้เป็น ไปแล้วก็ต้องรู้จักเอาตัวรอด มาแจ้งความอยากจะโดนจับด้วยไหม ทั้งที่หนูเป็นผู้เสียหาย สรุปแล้วพึ่งพาใครไม่ได้เลย” แอนนาเล่า

ความรุนแรงที่ต้องเงียบงัน
การดูแคลนที่ต้องชินชา

ด้าน จำรอง แพงหนองยาง หรือ “ตี๋” รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ อดีต SEX WORKER บอกว่า ส่วนตัวไม่เคยเจอในเรื่องความรุนแรง แต่หากถามว่าเคยโดนดูถูกหรือไม่ ต้องตอบว่าเคยเป็นผู้ที่ดูถูกคนกลุ่มนี้มาก่อนด้วยซ้ำ

“เคยมีคนข้างห้องต้องแต่งตัวออกไปทำงานตอนค่ำ พอสัก 5-6 โมงจะเริ่มได้กลิ่นน้ำหอม เราจะเปิดประตูออกมาพูดว่า…ได้เวลากะหรี่ออกหากินแล้ว…นั่นคือสิ่งที่เคยดูถูกคนอื่น อาชีพนี้ถูกส่งต่อการดูถูกมา ก็เลยทำแบบนั้น”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่อาชีพนี้ ตี๋ไม่เคยโดนดูถูกแบบซึ่งหน้า แต่มีบรรยากาศของการถูก “กระซิบกระซาบ” อยู่บ้าง ส่วนเวลาทำงานควงชาวต่างชาติสูงวัย ก็ยอมรับว่าเคย “อายสายตาคน”

“เรากลับบ้านตี 2 ตี 3 ทุกวัน เมากลับมาบ้าง พวกแม่ค้าก็กระซิบกันว่า กะเทยคนนี้ทำมาหากินอะไรถึงกลับดึกดื่น เลยตอบเขาไปตรงๆ ว่าเป็นกะหรี่ เขาก็เลิกถาม กลายเป็นว่าเขาแค่อยากรู้ พอตอบอย่างตรงไปตรงมา ก็ไม่ต้องการค้นหาอะไรอีก ส่วนเวลาทำงาน เราควงฝรั่งแก่ๆ ไปกินข้าว ช้อปปิ้ง เราอายสายตาคน เขาต้องมองว่านี่คือโสเภณี ทำให้รู้สึกว่าโดนลดคุณค่า”

เมื่อย้อนถึงการก้าวสู่วงการนี้ ตี๋เผยว่า “ไม่ได้โดนหลอกมาทำ” แต่ใช้เวลาตัดสินใจเป็นปี

“ต้องหาทางออกในภาวะเศรษฐกิจ ทั้งของตนเองและครอบครัว ปากยังหิว ท้องยังไม่อิ่ม ผิดกฎหมายแล้วยังไง ทำงานโรงงานคงไม่พอใช้จ่าย ภาระก็มีเพิ่มขึ้น ไตร่ตรองอย่างดีแล้วจึงตัดสินใจเข้าสู่อาชีพนี้ด้วยตัวเอง”

เมื่อกฎหมายไม่ได้มีไว้เพื่อ Sex Worker

จากนั้น ตี๋ ในฐานะรอง ผอ.มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ไปต่อที่ประเด็นสำคัญ นั่นคือกฎหมาย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า Sex Worker เป็นอาชีพที่ถูกมองเป็นคนทำผิดกฎหมาย

“ถูกฝังหัวตลอดเวลาว่าเราคือคนผิดกฎหมาย เลยทำให้ไม่กล้าเข้าไปใช้เครื่องมือที่เรียกว่ากฎหมาย ต้องยอมจำนนกับการเป็นคนผิดกฎหมายอยู่แบบนั้น เคยมีลูกค้ามาจ้างเพื่อน 3 คน ไปเที่ยวบางแสน สิ่งที่เจอคือบังคับให้ถ่ายหนังโป๊ มีคนหนึ่งไม่ยอมก็โดนต่อยจนอ่วม คนที่เหลือจึงต้องยอมเล่นให้จบ แต่สุดท้ายพวกเราไม่ได้ไปแจ้งความ แค่พาเพื่อนไปหาหมอ ซื้อยากินกันเองแล้วจบไปแบบนั้น ได้แต่บอกกันเองว่าช่วยกันระวัง เจออะไรให้บอกต่อ มันเป็นสิ่งที่เราช่วยเหลือเพื่อดูแลทีมของเราเอง” ตี๋ย้อนความทรงจำอันเจ็บปวดในวันที่กฎหมายไม่ใช่สิ่งที่ช่วยให้อบอุ่นใจสำหรับอาชีพนี้

มาถึงตรงนี้ แอนนา อัชณาภรณ์ ให้ข้อมูลเสริมว่า ไม่เพียงกฎหมายไม่ช่วยคุ้มครอง แต่ยังเคยถูกเจ้าหน้าที่ผู้ถือกฎหมายใช้กฎหมาย “รังแก” ด้วยซ้ำ

“เขาใช้กฎหมายเตร็ดเตร่เพื่อการค้าประเวณี ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว เพียงแต่พนักงานบริการหลายๆ คนไม่ทราบ มิหนำซ้ำยังมีข้อหาแต่งกายเลียนแบบสุภาพสตรีเพื่อหลอกลวงนักท่องเที่ยว หรือบดบังทัศนียภาพอันสวยงามของเมืองพัทยา และค้าประเวณีในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นข้อหาที่ไม่มีอยู่จริงมารังแก

ถ้าเจอก็คือ เจอ จ่าย จบ ไปเลย เราไม่อยากต่อล้อต่อเถียงกับเขา ยิ่งเราต่อล้อต่อเถียงกับเขามากเท่าไหร่ เขาก็จะยัดข้อหาให้เรามากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นเสพ ค้า หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งเราอยากตัดปัญหาตรงนั้น ไม่อยากเสียเวลาที่จะไปกับลูกค้า แล้วเขายึดบัตรประชาชนไว้ ซึ่งเราต้องใช้บัตรประชาชนในการขึ้นโรงแรมกับลูกค้า สุดท้ายก็ต้องยอมจ่าย 100, 500, 1,000 บาท เพื่อเอาบัตรประชาชนกลับมา” แอนนาแฉมุมมืดในในซอกหลืบสังคมไทย

พูดมา 30 ปี
วันนี้ยังไม่เปลี่ยน แต่มีพัฒนาการ

กลับมาที่ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผอ.มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ กล่าวว่า รัฐเป็นคนทำให้การทำงานโดยที่ใช้เนื้อตัว ร่างกายของเขาเป็นต้นทุน ทำโดยไม่ได้เบียดเบียนใคร ถูกเอากฎหมายมาป้าย ทำให้กลายเป็นคนผิดกฎหมาย

“เราเดินทางออกจากบ้านไปทำงาน เราจะเป็นครู พยาบาล แต่ภาพของเขาเหล่านี้เวลาอยู่ที่ทำงานคืออาชญากร เราได้เห็นความเจ็บปวด ความรุนแรงของการรังเกียจ ความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้น มันคือการกดทับในสังคมที่มีมายาวนานตั้งแต่อดีต แม้โลกจะเปลี่ยนไปแต่ปัญหาที่มีไม่เคยเปลี่ยน ตัวเองพูดเรื่องนี้มากว่า 30 ปียังไง ก็เศร้าใจที่วันนี้ยังต้องมาพูดแบบเดิม” สุรางค์พ้อ แต่ไม่ท้อ ยังมุ่งหวังปลดล็อกภาพความเป็นอาชญากรของอาชีพนี้ให้มลายสิ้น

“สิ่งที่มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการทำมาโดยตลอด คือ ทำให้เขาเคารพในสิ่งที่ตัวเองเลือก และเรื่องของการดูแลตนเอง นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับตำรวจ โดยเริ่มทำโครงการเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ด้วยการรับนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 มาอยู่เรียนรู้การทำงานกับมูลนิธิ 3 สัปดาห์ โดยน้องๆ นายร้อยได้ทำหน้าที่ไม่แตกต่างกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ เพื่อให้เปิดใจเรียนรู้ ในประเด็นต่างๆ กันจริงๆ ซึ่งยากมากกว่าจะนำโครงการนี้เข้ามาได้ เราเชื่อว่าทฤษฎีน้ำบ่อทราย จะช่วยได้ในอนาคต สำหรับเรื่องที่คาราคาซัง เช่น การกวาดล้าง การจับกุมที่พัทยา เราก็ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่คุยกันได้และตำรวจเข้าใจ นี่เป็นก้าวหนึ่งที่เราพยายามทำและเห็นการเปลี่ยนแปลง” สุรางค์เล่า

กิจกรรมแบ่งปันถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือพนักงานบริการในพัทยาซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดยมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ พัทยา ร่วมกับ กองประกวดสุภาพบุรุษถิ่นสยาม 2022

ปลดล็อก (สะกดจิต) ตัวเอง
ชวนตำรวจเปิดใจ ผลักดันคลินิกสำเร็จ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีประเด็นการผลักดันคลินิกที่ให้บริการโดย Sex Worker ซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

“อีกหนึ่งสิ่งที่ทำเพื่อปลดล็อกการสะกดจิตตัวเอง คือการมีคลินิกที่ให้บริการโดย Sex Worker ทุกคนมีความเป็นมืออาชีพ ทำจนกระทั่งวันหนึ่งกระทรวงสาธารณสุขยอมรับว่านี่คือหน่วยบริการที่มีคุณภาพ และรับรองเป็นหนึ่งในหน่วยบริการของประเทศ

คังคุไบ จากภาพยนตร์ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ โดย เน็ตฟลิกซ์ นำแสดงโดย อาเลีย บาตต์

“มาดที่เคยมีในตัวเราว่าเป็นคนขายบริการ ตอนนี้เป็นคนที่ให้บริการสุขภาพ แล้วเราสามารถทำได้ มันเป็นการสร้างพลังให้พี่น้อง Sex Worker คนอื่นๆ เราต้องไม่สะกดจิตตัวเองว่าเป็นคนขายบริการ เราไม่ฉลาด เราต้องยอมให้ตำรวจจับ เราต้องยอมให้คนเอาเปรียบ อันนี้มันช่วยได้เยอะเท่าที่เห็นพัฒนาการมา ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณภาพยนตร์คังคุไบที่กระตุกสังคมให้หันกลับมาฟัง” สุรางค์กล่าวก่อนทิ้งท้ายว่า

ขอให้กระแสนี้ช่วยส่งสัญญาณไปให้ถึงผู้นำรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันกลับมามองอย่างบริสุทธิ์ใจและจริงใจกับการแก้ปัญหา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image