ก้อง พาหุรักษ์ แปลความ ‘ดีเอ็นเอปฏิวัติ’ ถอดรหัส ‘บรรพบุรุษของบรรพบุรุษ’ ของคนไทย

“เราอาจจะมีรากบรรพบุรุษที่เคยเดินผ่านอัลไต (หัวเราะ)”

คือถ้อยคำจากปาก ก้อง พาหุรักษ์ ผู้แปล ‘ดีเอ็นเอปฏิวัติ’ จาก Who We Are and How We Got Here ผลงาน David Reich (เดวิด ไรค์) นักพันธุกรรมศาสตร์ชื่อก้องโลก หนึ่งในเล่มขายดีของสำนักพิมพ์มติชน

‘คนไทยมาจากไหน?’ คือ หนึ่งในคำถามอมตะ ควบคู่วาทะยั่วล้อ ‘คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต’ ที่ครั้งหนึ่งเคยปรากฏในแบบเรียนก่อนถูกยกเลิก ทว่าฝังลึกในความทรงจำของคนรุ่นหนึ่ง

ก่อน ‘คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์’ ของสำนักคิด ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ผลงาน สุจิตต์ วงษ์เทศ จะพยายามนำเสนอหลักฐาน กระตุ้นสังคมไทยให้คิดใหม่ พิสูจน์และหักล้าง ‘ความเชื่อ’ ดังกล่าวมานาน 3 ทศวรรษ ตามมาด้วยความก้าวหน้าของโบราณคดีในโลกสากลที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ‘ดีเอ็นเอปฏิวัติ’ โชว์แนวคิดเกี่ยวกับอัลไตที่ผู้แปลออกปากว่า ‘น่าสนุก’

“อัลไตมีสิ่งที่น่าสนุกอันหนึ่ง หนังสือเล่มนี้บอกว่าอัลไตอาจเป็นจุดที่คนชอบมาผสมกันระหว่างเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะเผ่าพันธุ์มนุษย์ปัจจุบันกับมนุษย์โบราณ เช่น มนุษย์เดนิโซวันผสมกับโฮโมเซเปียนส์ เซเปียนส์ เกิดเป็นเผ่าพันธุ์ใหม่ หรืออาจผสมกับพวกนีแอนเดอร์ทัล”

นี่เป็นเพียงน้ำจิ้มหยดหนึ่งของตัวอักษรบน 480 หน้ากระดาษที่เปิดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติอันน่าตื่นตะลึง เผยข้อมูลใหม่พลิกภาพฝังใจเดิมๆ สู่มิติที่ยังไม่เคยก้าวไปถึง

“ยาก”  ก้อง กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีโฆษณาชวนเชื่อ เมื่อถามถึงเนื้อหาในเล่ม แม้ เดวิด ไรค์ ผู้เขียนจะระบุว่าต้องการให้เป็นเล่มที่ ‘ใครๆ ก็อ่านได้’ ในฐานะผู้แปลจึงยึดหลักการเดียวกัน ต่างจากผลงานแปลวรรณกรรมคลาสสิกหลายเล่มที่เคยทำมาก่อนหน้า อาทิ เรื่องวิปลาสของดอกเตอร์จีคอลกับมิสเตอร์ไฮด์ ของโรเบิร์ต ลูอิส สตีเวนสัน สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น

“คิดง่ายๆ ว่าหนังสือที่อ่านไม่สนุก ยังไงคนก็ไม่อ่าน ต่อให้เนื้อหาดีแค่ไหนก็ตาม เลยใช้ภาษาธรรมดาที่สุด เข้าใจง่ายที่สุด แต่พูดตรงๆว่ายังมีส่วนที่เข้าใจยากค่อนข้างเยอะด้วยเนื้อหา วิธีการเขียน ข้อมูลจำนวนมาก แต่เราจะช่วยเท่าที่ทำได้เช่น ปรับรูปประโยคให้เป็นภาษาไทยมากขึ้น แต่ก็มีส่วนที่ไม่สามารถปรับได้ แม้แต่น้ำเสียงที่แปล เราก็พยายามทำให้คล้ายคนพูดปกติมากที่สุด ไม่ใช่อ่านแล้วเหมือนพวกตำราหรือบทความวิทยาศาสตร์”

อักษรตัวแรกถึงพยัญชนะตัวสุดท้ายถูกแปลเสร็จสมบูรณ์ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ด้วยความได้เปรียบจากการควบรวม 2 คุณสมบัติทั้งภาษาและความรู้พื้นฐานด้านโบราณคดี การันตีจากปริญญาบัตรศิลปศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง เอกภาษาอังกฤษ โทโบราณคดี

ลูกศิษย์ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช แห่งภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของโปรเจ็กต์สะท้านวงการอย่าง ‘โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูง ปางมะผ้า’ จำลองใบหน้าสตรีอายุ 13,000 ปี จากแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด

คว้าปริญญาโทจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนสอบชิงทุนบินไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่นด้วยความสนใจด้านภาพยนตร์ หลังเดินเข้าๆ ออกๆ ร้าน ‘เฟม ท่าพระจันทร์’ อยู่นานหลายปี

เป็นลูกคนเดียวของครอบครัว (วัฒนธรรม) ไทย ที่ชอบดูหนังตั้งแต่ยุคเช่าเลเซอร์ดิสก์แล้วส่งคืนวันต่อวัน ติดตามบิดาซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารไปเติบโตและใช้ชีวิตที่จังหวัดขอนแก่นก่อนกลับสู่ภูมิลำเนาย่านบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร

สนใจด้านสัญศาสตร์ ปรัชญา ทฤษฎีเชิงสังคม เข้าสู่วงการภาพยนตร์ นั่งเก้าอี้ผู้กำกับเต็มตัว สร้างผลงาน อาทิ In the Flesh ซึ่งได้รับเชิญเข้าสายประกวดในเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2560 และ Hush, tonight the dead are dreaming loudly ซึ่งคว้ารางวัลมากที่สุดในเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 23 เมื่อปี 2562

ภายใต้บุคลิกสุขุม น้ำเสียงราบเรียบ ก้อง ตอบคำถามอย่างลึกซึ้ง เข้มข้น มีสีสัน ด้วยข้อมูล บทวิเคราะห์ ข้อสันนิษฐาน และคำตอบของปริศนาในเผ่าพันธุ์มนุษย์

⦁ก่อนอื่น เมื่อผู้แปลยังบอกเองว่า ยาก อยากให้ช่วยสรุปใจความสำคัญของ ‘ดีเอ็นเอปฏิวัติ’ ใน 8 บรรทัด หรือ 1 ย่อหน้าในเวอร์ชั่นของตัวเอง

ค่อนข้างยาก เพราะมีหลายหัวข้อ เกินกว่าจะสรุปได้ใน 1 ย่อหน้า ถ้าจะพูดสัก 2-3 ย่อหน้าเอามาปะติดปะต่อกันได้ไหม (หยุดคิด) อาจสรุปได้ไม่ครบหรอก แต่เป็นสิ่งที่คนเขียนต้องการที่สุด คือ เขาจะสรุปว่าดีเอ็นเอโบราณมันบอกว่าประชากรซึ่งอยู่ที่ใดที่หนึ่งในปัจจุบัน ไม่ได้สืบสายเลือดมาจากบรรพบุรุษที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพราะมนุษย์ในปัจจุบันเกิดจากการผสมและการเคลื่อนย้ายประชากรตลอดเวลา คนในอดีตแทบเรียกว่าทั้งผสมข้ามสายเลือดและมีการเคลื่อนย้ายผ่านพื้นที่กันตลอด พูดง่ายๆคือ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลก ถ้าย้อนกลับไปเกินสัก 5 พันปี บรรพบุรุษตรงนั้น ยากมากที่จะเป็นบรรพบุรุษของเราโดยตรง อาจเป็นกลุ่มที่ผสมกัน หรือเป็นกลุ่มที่อยู่ดั้งเดิมแล้วมีกลุ่มใหม่เข้ามาผสมจนกลายเป็นเรา แต่ไม่สามารถสืบย้อนสายขึ้นไป 5 พันปี หมื่นปีแล้วบอกว่า นี่คือบรรพบุรุษ เราแทบพูดแบบนั้นไม่ได้

⦁นอกจากกล่าวถึงความเป็นมาเป็นไปของมนุษยชาติโดยภาพรวมของโลก มีส่วนที่เชื่อมโยงกับคำถาม ‘คนไทยมาจากไหน’อย่างไรบ้าง

มันมีข้อมูลชัดเจนเลย คิดไทม์ไลน์ง่ายๆ ว่า ประมาณ 5 หมื่นปีก่อนมนุษย์โฮโม เซเปียนส์อย่างพวกเรา เริ่มแพร่กระจายออกจากแอฟริกาเป็นจำนวนมาก อยู่ตรงนู้นตรงนี้ไปทั่ว ซึ่งก็ต้องเดินทางมาถึงแถวประเทศไทยแน่นอน แต่มันเกิดเหตุการณ์ครั้งใหญ่ในช่วงประมาณสัก 9 พันปีก่อน แถบลุ่มแม่น้ำเหลือง แม่น้ำแยงซีเกียงกลุ่มคนที่อยู่ตรงนั้นเริ่มมีการทำเกษตรกรรม กลุ่มคนจากใต้ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง เดินทางมาพร้อมกับเผยแพร่การเกษตรไปด้วย แล้วเข้ามาผสมกับคนที่เคยมาจากโบร่ำโบราณที่มาอยู่ในแถบพื้นที่ซึ่งเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน กลายเป็นกลุ่มคนเผ่าพันธุ์ใหม่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของบรรพบุรุษของบรรพบุรุษที่พัฒนากลายมาเป็นคนไทยในวันนี้

นี่คือข้อมูลที่ผู้เขียนสรุปเอาไว้ แต่เขาก็บอกว่าแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่าข้อมูลไม่ละเอียดมากนักเพราะเราไม่มีศูนย์วิจัยหรือการเก็บข้อมูลเรื่องดีเอ็นเอที่มากพอ ถ้าเทียบกับทั่วโลก แถบนี้ยังน้อยมาก ถ้าเราค้นพบดีเอ็นเอมากขึ้น มีการเก็บหลักฐานมากขึ้น อาจค้นพบอะไรที่ละเอียดกว่านี้

เขาสรุปง่ายๆ ว่า กลุ่มประเทศไทยมีสายเลือดมาจากประชากรผีแห่งลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ประชากรผี คือกลุ่มประชากรซึ่งปัจจุบันเรายังไม่เคยพบกระดูกของเขา เรายังไม่เคยพบมนุษย์ซึ่งเป็นตัวแทนของเขาในปัจจุบัน รวมถึงกระดูกของคนโบราณที่แทนเผ่าพันธุ์ของเขา แต่ด้วยการศึกษาดีเอ็นเอ เราพบว่ามันมีคนกลุ่มนี้อยู่ เพียงแต่คนกลุ่มนี้ในปัจจุบันถูกผสมไปจนกลายเป็นอีกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว

•ความสำคัญของข้อมูลชุดนี้ต่อวงการโบราณคดีไทย บรรทัดไหน หน้าไหน บทไหน นักโบราณคดีไทยต้องอ่าน

บทที่ 8 หัวข้อ ต้นกำเนิดชาวเอเชียตะวันออก ซึ่งมีเรื่องความล้มเหลวของเส้นทางลงใต้, จุดกำเนิดของเอเชียตะวันออกยุคใหม่, ประชากรผีแห่งลุ่มน้ำแยงซีและลุ่มน้ำเหลือง, การผสมครั้งใหญ่ที่ชายขอบเอเชียตะวันออก

ทั้งบทนี้ เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบอกว่าดีเอ็นเอในแถบนี้หลักๆ มันมาจากไหน แต่พูดเรื่องแถวแปซิฟิกเยอะ ลงไปแถวอินโดฯ ปาปัวนิวกินี

•สำหรับคนทั่วไปนอกวงการทั้งวิทยาศาสตร์และโบราณคดี อาจตื่นเต้นกับทั้งเล่ม แต่ในฐานะที่จบโบราณคดี ส่วนไหนตื่นตาตื่นใจที่สุด

มันเป็นหนังสือที่ดี มีเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนเยอะ เช่น เรื่องที่มนุษย์ปัจจุบันเคยผสมกับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ซึ่งจริงๆ แล้วเหมือนเคยได้ยินมาบ้าง ว่ามนุษย์ปัจจุบันมีการผสมกับมนุษย์โบราณ แต่ก็ยังมีมนุษย์สายพันธุ์อื่นที่เราไปผสมด้วย แสดงว่ามนุษย์มีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง ตรงนี้น่าสนใจ

สำหรับบางเรื่องค่อนข้างรู้อยู่แล้ว แต่ผู้เขียนเอามาวิเคราะห์เป็นข้อมูลก็น่าสนใจ เช่น การผสม 2 เผ่าพันธุ์แบบมีอคติทางเพศ คือ มนุษย์ไม่ว่าจะสายเลือดไหน เผ่าพันธุ์ไหน มีการผสมรวมกันอยู่แล้ว แต่รูปแบบการผสมที่พบได้บ่อยคือรูปแบบการผสมที่มาจากเพศชายที่มาจากภายนอกหรือจากวัฒนธรรมที่มีความเจริญมากกว่า เข้าไปผสมกับคนพื้นเมืองโดยมักเป็นเพศหญิง จึงมักเกิดลูกผสมซึ่งไม่ใช่ครึ่งๆ ระหว่างพ่อแม่ 2 เผ่าพันธุ์ แต่จะมีเลือดเผ่าพันธุ์พ่อสูงกว่าเผ่าพันธุ์แม่ 4 เท่า การอธิบายอาจเข้าใจยากแต่เขาบอกว่า ถ้าคิดง่ายๆ คือคน
แอฟริกัน-อเมริกันในอเมริกา หากเทียบสัดส่วนสายเลือดกัน จะมีสายเลือดผู้ชายยุโรปในเปอร์เซ็นต์มากกว่าผู้หญิงยุโรป 4 เท่า แสดงว่าการผสมลูกครึ่งส่วนใหญ่มาจากพ่อที่เป็นผิวขาวและแม่ที่เป็นผิวดำ ซึ่งตรงนี้เราค่อนข้างจะเดาได้ พอจะรู้อยู่แล้ว แต่เล่มนี้มีข้อมูล มีการวิเคราะห์ที่ชัดเจนขึ้น

•การผสมข้ามเผ่าพันธุ์ สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในแง่ไหนบ้างหรือไม่

นี่ก็เป็นอีกเรื่องใหม่ที่เจอในเล่มนี้คือ การผสมระหว่างมนุษย์ปัจจุบันและมนุษย์โบราณซึ่งผู้เขียนตั้งสมมุติฐานว่า การผสมข้ามในระดับเผ่าพันธุ์อาจเกิดผลดีบางอย่าง เช่น ช่วยให้มนุษย์สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น อย่างที่เรารู้กันว่า มนุษย์รุ่นใหม่ล่าสุด คือ โฮโมเซเปียนส์ เซเปียนส์อย่างพวกเรา ปรับตัวได้เก่งมาก เชื่อว่ามียีนบางตัวที่อาจตีความได้ว่าการที่มนุษย์แบบเราผสมกับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ช่วยให้เราทนภูมิอากาศแบบหนาวเย็นได้มากกว่า เพราะนีแอนเดอร์ทัลอยู่ยุโรปมาก่อน หนาวมาก่อน พวกเราเพิ่งออกมาจากแอฟริกา (หัวเราะ) ซึ่งมันอุ่นกว่า เราอาจจะปรับตัวด้วยการผสม แล้วได้ดีเอ็นเอบางอย่างจากมนุษย์กลุ่มนี้ หรือกลุ่มมนุษย์เดนิโซวานแถบที่ราบสูงทิเบต อาจส่งยีนมาถึงชาวทิเบตปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้สามารถใช้ชีวิตในที่สูงได้ ผู้เขียนเลยบอกว่าการผสมข้ามเผ่าพันธุ์อาจตีความว่าได้รับอะไรบางอย่างมาด้วย ไม่ใช่แค่ผสมกันเฉยๆ เป็นแง่ดีที่ช่วยในการปรับตัวหรือเปล่า เขายังไม่สรุป แต่บอกว่ามีแนวโน้ม

•มีประเด็นเปราะบางสุ่มเสี่ยงจากการค้นพบข้อมูลด้านพันธกรรมหรือไม่

มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากซึ่งคนเขียนระบุไว้ แต่จะคิดอย่างไรอีกเรื่องหนึ่ง คือ วงการมานุษยวิทยาและพันธุศาสตร์จะพยายามสรุปว่า ระหว่างสายเลือดหรือเผ่าพันธุ์ ไม่มีความแตกต่างกัน แต่หนังสือเล่มนี้ คนเขียนพูดชัดเจนว่าในฐานะนักพันธุศาสตร์ มันมีความแตกต่างระหว่างเผ่าพันธุ์จริง และไม่ใช่ความแตกต่างระดับภายนอกอย่างเดียว เช่น ความสูง สีผิว หรือร่างกายย่อยสลายกรดแลคติกพวกนมได้หรือเปล่า แต่มันสามารถเกิดความแตกต่างในระดับพฤติกรรมได้ด้วย ซึ่งรายละเอียดอยู่ในหนังสือเล่มนี้

สิ่งนี้มันเหมือนเป็น taboo ในหมู่คนที่ศึกษาเรื่องพวกนี้ว่าไม่ควรสนับสนุนว่ามนุษย์มีความแตกต่างกัน แต่เล่มนี้บอกว่ามีหลักฐานว่ามีจริง แต่อาจไม่ใช่ความแตกต่างที่สร้างให้เกิดพวกแนวคิดชาตินิยมหรือเผ่าพันธุ์นิยมได้

ในสังคมวิชาการ ถ้าใครบอกว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์แตกต่างกัน อาจโดนแบนได้ ถึงขึ้นมีกฎว่า ถ้าคุณจะวิเคราะห์เรื่องนี้ คุณต้องผ่านกรรมการ และถ้ามันไม่มีผลดีต่อการพัฒนาทางการแพทย์ ห้ามทำ เพราะเคยมีเรื่องนาซี ซึ่งบอกว่าอารยันดีกว่า แต่เอาเข้าจริงๆ อารยันก็ไม่ได้เป็นเผ่าพันธุ์บริสุทธิ์ แต่เป็นลูกผสมของพวกหาของป่าล่าสัตว์ในแถบนั้น และพวกชาวนาจากอนาโตเลียและพวกเร่ร่อนจากรัสเซีย คุณโคตรจะผสมเลย

คนมักจะเถียงกันว่าความสูง สีผิว สีผม เป็นความแตกต่างที่ชัดเจน แต่พฤติกรรมไม่น่าจะเกิดขึ้นได้แง่ยีน แต่นี่ดันเจอ ตัวอย่างหนึ่งที่เจอคือมียันอยู่ชุดหนึ่งที่สามารถทำนายได้เลยว่า ใครมียีนชุดนี้ จะมีเปอร์เซ็นต์จบการศึกษาขั้นสูงกว่ายีนอีกชุดหนึ่ง

•พูดง่ายๆ คือมียีนที่ทำให้ฉลาดกว่า

นั่นเป็นคำอันตราย เมื่อฟังอย่างนี้แล้วคนตีความทันทีว่าเป็นเรื่องนี้ แสดงว่าเรื่องเผ่าพันธุ์ฉลาดกว่า แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ในปัจจุบันไปขั้นที่จะบอกว่ามันอาจจะเป็นไปได้ว่าชุดยีนพิเศษที่คนที่จบสูงมักมี มีผลในเชิงทางอ้อม ผลคือทำให้คนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเพศหญิงมีลูกได้ช้าลง ทำให้เปอร์เซ็นต์ที่คนกลุ่มนี้จะเรียนจบ สูงกว่า ไม่ใช่เรื่องสมอง แต่เป็นเพราะว่าเปอร์เซ็นต์ท้องเร็ว ท้องในวัยเรียนต่ำทันที เขาเลยบอกว่า ยีนทำให้คนแตกต่างกัน แต่ไม่แตกต่างแบบตรงๆ ว่า ยีนนี้ทำให้ฉลาด มันไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นทางอ้อม นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่าง เห็นไหมว่า แม้แต่ยีนซึ่งเป็นชุดดีเอ็นเอ มันมีผลกระทั่งระดับพฤติกรรมบาง
อย่างได้

•เพราะฉะนั้นเล่มนี้เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่ตอบคำถามทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย

มันก็สัมพันธ์กับวัฒนธรรม แต่คำว่าวัฒนธรรมมันกว้างเกินไป ถ้าพูดอย่างนี้ ยังไงมันก็เกี่ยว แต่หลักฐานวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างในวัฒนธรรมได้ในระดับหนึ่ง อย่างเรื่องการรุกรานจากภายนอกที่เข้ามาในดินแดนหนึ่งมักจะเกิดอคติทางพันธุกรรมซึ่งชายจากชนชั้นสูงมาแต่งงานกับชาวบ้าน ซึ่งพัฒนาเป็นเชิงวัฒนธรรมได้ และบางทีทำให้เห็นถึงการแบ่งกลุ่มได้เหมือนกัน แต่เป็นประเด็นเปราะบาง อย่างอินเดียซึ่งมีกลุ่มคนโบราณ 2 กลุ่ม คือดราวิเดียนในอินเดียใต้ และกลุ่มคนที่มีเชื้อสายทางภายนอก คืออินโด-ยูโรเปียน เป็นพวกอารยัน ช่วงหนึ่งทั้ง 2 กลุ่มอยู่ในอินเดียทั้งคู่ แต่ไม่ผสมข้ามเผ่าพันธุ์กัน เพิ่งมาผสมในยุคหลังๆ ราว 3 พันปีก่อน จึงอาจตีความว่ามันมีการแบ่งทางสังคมอะไรบางอย่าง เป็นการตีความตามหลักฐานไม่ใช่คำบอกเล่า

•ถ้าให้สรุปประโยคเดียวจากทั้งเล่ม คือ ‘คนทั้งโลกคือลูกผสม’

ถูกต้อง แต่ถ้าจะบอกว่าไม่มีคนไทยบริสุทธิ์ อันนี้ ไม่ต้องการเล่มนี้ก็พูดกันได้อยู่แล้ว อย่างที่พี่จิตต์ (สุจิตต์ วงษ์เทศ) ใช้คำว่าอะไรนะ … ไทยแท้ไม่เคยมี ที่มีล้วนลูกผสม ร้อยพ่อพันแม่

เพราะประเทศชาติเกิดจากการที่เราไปแบ่งเขตแดนก็เท่านั้นเอง สั่งซื้อ คลิกที่นี่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image