ที่มา | หน้าประชาชื่น, มติชนรายวัน พุธที่ 1 มิ.ย.65, หน้า 13. |
---|---|
ผู้เขียน | พรสุดา คำมุงคุณ |
ฮอตมากฮิตมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฝ่าคำดูแคลนว่าเป็นเพียงกระแสชั่วครั้งคราว สำหรับเทรนด์การวิ่ง ซึ่งสัมพันธ์กับการหันมาใส่ใจสุขภาพของผู้คนยุคใหม่
ขนาด ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการคนล่าสุดแห่งกรุงเทพมหานคร ผู้มีกิจวัตรคือการวิ่งออกกำลังกายทุกวันยามเช้าที่สวนลุมพินี ยังเปรียบเปรยการลงพื้นที่เสนอตัวทำงานเพื่อประชาชนคนกรุงเทพฯคือ ‘การวิ่งมาราธอน’ อันยาวนานถึง 2 ปี กระทั่งวันนี้เข้าสู่เส้นชัยอย่างสง่างามท่ามกลางกองเชียร์ขอบสนามอย่างน้อย 1.3 ล้านคน
ในขณะที่ ‘บิว’ ภูริพล บุญสอน ลมกรดหนุ่มดาวรุ่งวัย 16 ปี บินไปเวียดนาม คว้า 3 เหรียญทองจากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนสหพันธ์กรีฑาโลก World Athletics โพสต์เฟซบุ๊กชี้เป้า ‘ดาวรุ่งที่น่าจับตา’
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น กระแสจากนักร้องดัง ตูน บอดี้สแลม อาทิวราห์ คงมาลัย ที่ผุดโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’ เมื่อปี 2559 เพื่อระดมทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลต่างๆ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยปลุกนักวิ่งสมัครเล่นออกมาสวมรองเท้ากีฬา จนหลายรายกลายเป็นสายวิ่งอย่างจริงจัง
เมื่อมองภาพกว้างในโลกสากล สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ หรือ IAAF จัดให้มี ‘วันวิ่งโลก’ Global Running Day หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า National Running Day เพื่อเฉลิมฉลองกีฬาวิ่งในระดับนานาชาติครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.2016 หลังจากนั้นปักธงวันพุธแรกของเดือนมิถุนายนของทุกปีให้เป็นวันวิ่งโลก โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 1 มิถุนายนอีกครั้ง
จากงานอดิเรกสู่‘ก้าว’เพื่อสังคม
กีฬาวิ่งมีหลากหลาย ทั้งกรีฑาประเภทลู่ที่เห็นกันในการแข่งขันทั่วไป มีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะไกล วิ่งฟันรันมินิมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน และมาราธอน รวมถึงรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย
หนึ่งในผู้สนใจการวิ่งโดยเริ่มจาก ‘งานอดิเรก’ จนพาตัวเองไปเป็นนักวิ่งล่าถ้วยแถวหน้า คือ ชรินญา กาญจนเสวี หรือ หมอมิยู ทันตแพทย์สาวขาแรงที่มีสถิติความเร็วเฉลี่ยเพซ 4.2
หมอมิยูเล่าถึงจุดเริ่มต้นเมื่อ 5 ปีก่อน ตั้งแต่เรียนจบและต้องไปเป็นแพทย์ใช้ทุน ระหว่างนั้นก็เครียดๆ เลยหากิจกรรมทำ พอดีกับที่ตอนนั้น ตูน บอดี้สแลม เริ่มทำโครงการก้าวคนละก้าว ทำให้เห็นว่างานอดิเรกสามารถเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้
“เมื่อล่าถ้วยและได้เงินรางวัลก็เป็นแรงบันดาลใจให้ฝึกวิ่งให้เร็วขึ้นเพื่อนำไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลบ้าง และเมื่อเจอผู้ป่วยที่เป็นคนสูงอายุ ก็จะแนะนำได้ว่าสามารถออกกำลังกายอย่างไร หรือรูปแบบไหนได้บ้าง โดยเอารูปที่เราไปลงแข่งงานวิ่งให้ดู เขาก็จะรู้สึกอยากไปออกกำลังกายมากขึ้น” ทันตแพทย์หญิงนักวิ่งกล่าว ก่อนเล่าถึงแผนในอนาคตอันใกล้ว่ากำลังฝึกซ้อมไปลงแข่งไตรกีฬา คือ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง
ถามว่า กว่าจะมาเป็นนักวิ่งขาแรงในแต่ละสนามต้องซ้อมอย่างไรบ้าง ทันตแพทย์หญิงชรินญากางตารางซ้อมให้ดูว่า ด้วยความที่ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชน เวลาทำงานจึงเหมือนพนักงานออฟฟิศ สามารถออกกำลังกายได้ 5 วันต่อสัปดาห์ในช่วงเช้า
“ถ้าวันไหนคนไข้เยอะก็จะไปซ้อมวิ่งตอนเลิกงานถึงค่ำๆ หรือถ้าวันไหนที่พอมีเวลาช่วงเช้าก็จะตื่นไปวิ่งที่สวนลุมพินี แต่จริงๆ ก็ไม่ได้กำหนดเวลาชัดขนาดนั้น ถ้าวันนี้ไม่ได้วิ่งตามระยะทางเป้าหมายก็จะไปทบกับระยะทางวันถัดไป อย่างช่วงนี้กำลังเข้าโปรแกรมซ้อมลงมาราธอน ซึ่งจะต้องซ้อม 7 วันเลย จากปกติซ้อมวิ่ง 5 วัน พัก 2 วัน แต่ตอนนี้วันพักก็ต้องออกกำลังกายแบบเวตเทรนนิ่งด้วย โดยที่วันจันทร์ออกไปวิ่งตอนเช้าและไปทำงานต่อ, วันอังคารเป็นวันหยุด แต่จะมีงานแพทย์อาสาไปฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ และตอนเย็นก็จะไปเวตเทรนนิ่ง, วันพุธและวันพฤหัสฯ ไปวิ่งตอนเช้าและทำงานต่อ, วันศุกร์ จะเป็นการเวตเทรนนิ่ง, วันเสาร์ เป็นวันพักก็จะไปจัดการธุระส่วนตัว แต่ก็จะมีอาสาไปฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อบ้าง ส่วนวันอาทิตย์ก็จะทำงานและไปวิ่ง ซึ่งวิ่งก่อนหรือหลังทำงานก็จะแล้วแต่สถานการณ์ในแต่ละวัน” ชรินญากล่าว
วิ่งไหนดี? รองเท้าคู่เดียวก็เริ่มได้!
ขณะที่ พีระ โศภิตนุกุล หรือ ‘เฟื่อง’ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเพจเฟซบุ๊กคอนเทนต์การวิ่งชื่อดังอย่าง ‘วิ่งไหนดี’ เข้าสู่วงการการวิ่งด้วยคำชวนของน้า ที่พาประเดิม 10 กิโลเมตรแรกด้วยงาน UN DAY RUN 2000 โดยเพิ่มระยะทางและความเร็วให้กับตัวเองมาเรื่อยๆ จนเข้าสู่เพซ 5 ในปัจจุบัน จากผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ กลายเป็นนักวิ่งที่มีวินัยสูง ส่งคุณูปการมาถึงชีวิตจริงนอกลู่วิ่งอีกหลายอย่าง
“เมื่อก่อนเคยเป็นภูมิแพ้ แต่พอได้ออกกำลังกายอาการภูมิแพ้ก็ดีขึ้น อีกอย่างที่สำคัญคือ ได้สร้างเป้าหมายและฝึกวินัยให้กับตัวเอง เช่น ถ้าเราจะลงแข่งมาราธอนก็ต้องมีแผนซ้อม ต้องมีวินัยกับตนเองด้านการฝึกซ้อมและด้านการใช้ชีวิต ทั้งการทานอาหาร การพักผ่อน การที่เราทำงานประจำ แต่ละวันก็จะนั่งอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ก็จะไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย เราก็ต้องหาเวลาในการดูแลตัวเอง การวิ่งนอกจากจะช่วยเรื่องสุขภาพกายแล้ว สุขภาพจิตใจก็ดีขึ้นด้วย อย่างเช่นวันไหนที่เครียดๆ หรืองานเยอะ พอออกไปวิ่งร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟินทำให้ความเครียดลดลง และมีสมาธิกับการทำงานมากขึ้น ด้วยการทำงานประจำ การวิ่งเป็นกีฬาที่สนุกที่สุดแล้ว เพราะกีฬาบางประเภทที่ต้องเล่นเป็นทีมก็ต้องรวบรวมเพื่อน ซึ่งก็ทำได้นานๆ ครั้ง แต่การวิ่งสามารถทำได้ตลอดเวลาแค่มีรองเท้าคู่เดียว” แอดมินเพจดังเล่าประสบการณ์ พร้อมทิ้งท้ายว่า สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ เห็นชัดในช่วงการระบาดของโควิด-19 “การมีสุขภาพที่ดีก็จะทำให้เราใช้ชีวิตได้ดีขึ้น มีโอกาสป่วยน้อยกว่าคนอื่น”
กว่าจะถึงเส้นชัย เกือบถอดใจ ‘โบกแท็กซี่’กลับบ้าน
อีกหนึ่งนักวิ่งที่ต้องขอคุย คือ จิรวัสส์ สอนใจ หรือ ‘แป๊ก’ ครีเอทีฟและยูทูบเบอร์ชื่อดังจากช่อง OKWEGO ที่การออกตัววิ่งครั้งแรกมาจากการที่ ‘อกหัก’ ส่งผลให้เสียความมั่นใจบางอย่าง จึงเริ่มวิ่ง จนเป็นนักวิ่งเพซ 8 สายชิล
“ตอนนั้นทำงานอยู่แถวย่านอโศก เลยไปวิ่งที่สนามมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ตอนแรกวิ่งวันละ 1-2 กิโลเมตร แต่พอเริ่มวิ่งบ่อยขึ้นก็เริ่มกำหนดเป้าหมายตัวเองว่าภายในสัปดาห์นี้เราจะวิ่งระยะทางให้มากขึ้น เมื่อทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ เหมือนมันใจฟู รู้สึกว่าเราทำได้แล้ว ช่วงนั้นวิ่งวันละ 10 กิโลรอบๆ มหาวิทยาลัย สัปดาห์ละ 4 วันหลังเลิกงาน
สิ่งที่ได้อันดับแรกแน่นอนคือสุขภาพทั้งภายในและภายนอก เห็นได้ชัดเลยว่าผิวดีขึ้น เหมือนได้ดีท็อกซ์ตัวเอง ไม่ป่วยง่าย ไม่มีอาการหวัด ไม่เป็นไข้ หลับง่ายขึ้น ปัญหาออฟฟิศซินโดรม หรืออาการปวดหลังก็ไม่ค่อยมี เหมือนร่างกายเราได้ถูกยืดหยุ่นจากการนั่งทำงานมาทั้งวัน บางคนเวลาวิ่งก็จะใส่หูฟังเพื่อฟังเพลง แต่เราไม่ใส่ แต่จะใช้วิธีคิดนั่นคิดนี่ บางทีคิดงานตอนวิ่งก็มีนะ มันช่วยให้เรามีสมาธิ อยู่กับตัวเอง โฟกัสกับสิ่งที่เราทำมากขึ้น” ยูทูบเบอร์ชื่อดังกล่าว
เมื่อถามถึงความทรงจำในสนามมินิมาราธอนครั้งแรกและการวิ่งจบฮาล์ฟมาราธอนครั้งแรกกับงาน Bangkok Midnight Marathon ที่ห่างกันเพียง 2 ปี ที่เจ้าตัวประทับใจ จิรวัสส์ เอ่ยว่า เป็น 10 กิโลเมตรที่เหนื่อยมาก
“เพราะไม่เคยวิ่งมินิมาราธอนมาก่อน และเป็นงานที่เราเจอคนเยอะๆ ครั้งแรก พอเข้าเส้นชัยมันดีใจมาก กับอีกสนามคือการวิ่งจบฮาล์ฟมาราธอนครั้งแรก ไม่เคยคิดเลยว่าเราจะจบฮาล์ฟมาราธอนได้ ขนาดเราก็วิ่งช้าแล้ว ช่วงกิโลเมตรที่ 17-18 เรามีความรู้สึกว่าเรามาทำอะไรที่นี่ มันเหนื่อย เมื่อไรจะถึงสักที ตอนนั้นคิดว่าโบกแท็กซี่กลับบ้านเลยดีไหม แต่ในหัวเรามีเป้าหมายอยู่ คือการจบมาราธอนที่ Tokyo Marathon ที่ประเทศญี่ปุ่น” จิรวัสส์เล่า ก่อนทิ้งท้ายถึงประโยคพื้นฐานที่ใครๆ ก็รู้กัน อย่าง ‘สุขภาพดีเงินซื้อไม่ได้’ และใครๆ ก็รู้อีกเช่นกันว่า
สุดท้ายต้องลงปฏิบัติเอง เริ่มก้าวแรกได้ตั้งแต่วันนี้ วันวิ่งโลก!