สุจิตต์ วงษ์เทศ : มิวเซียมกรุงเทพฯ ของ “คนเท่ากัน” รู้เขา-รู้เรา-รู้เท่าทันโลก

มิวเซียมกรุงเทพฯ ของ “คนเท่ากัน” (ไม่ “เจ้าขุนมูลนาย”) รู้เขา-รู้เรา-รู้เท่าทันโลก

“คนไทยเข้าห้าง ฝรั่งเข้ามิวเซียม” หมายถึง culture (วัฒนธรรม) ต่างกันเมื่อเปรียบเทียบระหว่างไทยและฝรั่ง

ขณะที่ฝรั่งมีรสนิยมเข้าชมมิวเซียมเพื่อแสวงหาข้อมูลความรู้อย่างรื่นรมย์ เพราะมิวเซียมในประเทศทางตะวันตกถูกจัดแสดงอย่างมีชีวิตชีวาในวิถีของ “คนเท่ากัน”

แต่พิพิธภัณฑสถานฯ ของไทยถูกจัดแสดงอย่างจืดชืดในวิถีของ “คนไม่เท่ากัน” ซึ่งเต็มไปด้วยเศียรพระ, แขนพระ, ขาพระ, และศิวลึงค์ ทำให้คนไทยไม่นิยมเข้าพิพิธภัณฑสถานฯ แต่นิยม “หนีร้อน พึ่งเย็น” ด้วยการเข้าหาอากาศเย็นๆ จากแอร์ในห้างสรรพสินค้า แม้ฝรั่งก็หลีกเลี่ยงเข้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ แต่ถ้าจัดตามวิถี “คนเท่ากัน” จะมีฝรั่งนักท่องเที่ยวแห่เข้าชมมากกว่าที่ผ่านมา

ผู้มีอำนาจในไทยไม่ใส่ใจสำนึกสร้างสรรค์การเรียนรู้สู่สาธารณะด้วยการ “สั่งสม” (ไม่ “สั่งสอน”) โดยจัดสภาพแวดล้อมอย่างมีรสนิยมด้วยข้อมูลความรู้อย่างรื่นรมย์เพื่อสั่งสม “รู้เขา-รู้เรา-รู้เท่าทันโลก” ดึงดูดผู้เข้าชมเลือกเสพตามสะดวก เช่น มิวเซียม โดยเฉพาะมิวเซียมกรุงเทพฯ

Advertisement

คำว่า “พิพิธภัณฑ์” (ตั้งแต่แผ่นดิน ร.5 มีต้นตอจากภาษาอังกฤษว่า Exhibition) ให้ภาพจำลักษณะ “เจ้าขุนมูลนาย” อนุรักษนิยมแบบต่อต้านประชาธิปไตย

คำว่า “มิวเซียม” (ทับศัพท์ Museum) ให้บรรยากาศสากล “คนเท่ากัน” กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์อย่างร่มเย็น

จึงควรใช้ชื่อ “มิวเซียมกรุงเทพฯ” ส่วนชื่อ “พิพิธภัณฑ์เมือง” ถูกทางการไทยใช้เมื่อหลายปีมาแล้วเพื่อลดความเป็น “ประวัติศาสตร์ศิลปะ” ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่ไม่สำเร็จเพราะแนวคิดของคนราชการไม่มีประวัติศาสตร์สังคมและเศรษฐกิจ-การเมือง จึงกลายเป็นชื่อล้อเลียนแสดงความล้มเหลวของทางการ

Advertisement
“ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ให้ได้มิวเซียมกรุงเทพฯ (จากเฟซบุ๊กชัชชาติ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565)

อาคาร กทม.

ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครที่เสาชิงช้า เมื่อย้ายข้าราชการไปทำงานที่ดินแดงทั้งหมด ตัวอาคารเดิมยังแข็งแรงควรปรับปรุงเป็น “มิวเซียมกรุงเทพฯ”

เรื่องนี้เคยมีโครงการนานมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2550 โดยผู้มีอำนาจของ กทม. สมัยนั้นเชิญนักวิชาการระดับนำในกรุงเทพฯ ร่วมทำโครงการ “กรุงเทพฯ ศึกษา” เพื่อค้นคว้ารวบรวมและแบ่งปันเผยแพร่ข้อมูลประวัติศาสตร์สังคมของกรุงเทพฯ เตรียมไว้จัดแสดงใน “มิวเซียมกรุงเทพฯ”

แต่ไม่สำเร็จ ด้วยเหตุอันไม่เปิดเผย จึงไม่มีใครรู้ แม้กระทั่งนักวิชาการครูบาอาจารย์ที่เชิญเป็นกรรมการก็ไม่รู้จนบัดนี้ และผู้มีอำนาจใน กทม. ชุดนั้นไม่พูดถึงอีกเลยตั้งแต่ครั้งนั้น ซึ่งเท่ากับ “กรุงเทพฯ ศึกษา” (พ.ศ. 2550) เป็นแค่ “อีเวนต์” หนึ่งเพื่อการใช้งบประมาณ กทม. ให้ถูกต้องตามกฎหมายในคราวหนึ่งเท่านั้น เมื่อ “รับประโยชน์” แล้วก็ทำให้เงียบๆ ไป

จ่อย้ายศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า

นายชัชชาติกล่าวถึงเรื่องการย้ายศาลาว่าการ กทม. ที่เสาชิงช้า ไปยังศาลาว่าการ กทม. แห่งที่ 2 ดินแดง ว่าในระยะยาวศาลาว่าการ กทม. ควรมีแห่งเดียว ปัจจุบันมีผู้บริหารหลายคนมีออฟฟิศ 2 ที่ ซึ่งที่เสาชิงช้าถือว่าเป็นตึกประวัติศาสตร์ สามารถทำเป็นพิพิธภัณฑ์คนเมือง พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเมืองได้ ต้องตั้งคณะกรรมการย้ายเลย ถามว่าทำไมต้องตั้งศาลาว่าการที่เสาชิงช้าเพราะเปรียบเสมือนสะดือของ กทม. ในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นจุดศูนย์กลางของ กทม. ลานคนเมืองเป็นศูนย์กลางการเดินทางของเกาะรัตนโกสินทร์ด้านใน ควรจะเอาพื้นที่ตรงนี้คืนมาไม่ใช่เป็นที่จอดรอถของข้าราชการ กทม. เอามาเป็นฮับการท่องเที่ยว กระจายออกไปจุดต่างๆ ทั้งเรื่องจักรยาน น่าจะมีศักยภาพมากกว่าการเป็นที่จอดรถ

มิวเซียมกรุงเทพฯ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า (จากภาพประกอบบทความ เรื่อง “เส้นทางยังเสี่ยง เส้นทาง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก่อน 22 พฤษภา” ในมติชน ฉบับวันที่ 17 พ.ค. 2565 หน้า 3)

นายชัชชาติ กล่าวว่า ตั้งเป้าจะย้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องพื้นที่นิดหน่อย เพราะมีคนอยู่ 2 สำนัก คือ สำนักงบประมาณ และสำนักการเงินที่ยังอยู่ ก็ต้องหาออฟฟิศให้ หรืออาจมีบางชั้นที่เจ้าหน้าที่อยู่ได้ แต่ชั้นอื่นปล่อยได้ เช่นที่ประชุมสภากรุงเทพฯ หรือผู้ว่าฯ และผู้บริหารควรย้ายไปที่ใหม่หมด

[มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2565 หน้า 1]

เมื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. (จากการเลือกตั้ง) พูดเรื่องจะทำ “มิวเซียมกรุงเทพฯ” ที่ศาลาว่าการฯ เสาชิงช้า จึงต้องเป็นเรื่องมหัศจรรย์ถ้าสำเร็จ

กทม. เคย “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ด้วยการลงทุนสร้าง “พิพิธภัณฑ์เขต” ทั่วกรุงเทพฯ แต่ทำพิธี “เปิด” ตอนเช้า จากนั้นเจ้าหน้าที่คนเฝ้าก็ทำพิธี “ปิด” ตอนเย็น แล้วส่วนมากไม่เปิดอีกเลยก็มี ที่เปิดอยู่ก็ซังกะตาย เพราะมีแต่สิ่งของจิปาถะ แต่ “ไม่มีสตอรี่” บอกความเป็นมาของท้องถิ่นเขตนั้นๆ เลยไม่สนองความต้องการของสังคมและไม่สนองการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาและประชาชน

ที่สำคัญคือ “เขต” เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ เมื่อไม่มีพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯเลยไม่รู้ว่ามาจากไหน? มายังไง? ทั้ง “เขต” และกรุงเทพฯ เหมือนมีแขนมีขาแต่ไม่มีหัวและตัวตนร่างกาย เลยไม่รู้ว่าที่เห็นนั้นเป็นคนหรือไม่ใช่คน

นอกจากนั้นผู้บริหาร กทม. (ที่มาจากรัฐประหาร) ยังทำลายสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ เช่น ชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นที่ตั้ง “วิกลิเก” แห่งแรกของไทย เป็นต้น ซึ่งเท่ากับไม่จริงใจในการสงวนรักษาประวัติศาสตร์ “สังคมและวัฒนธรรม” ของกรุงเทพฯ แต่เอาจริงเอาจังกับสิ่งอื่นที่ได้ผลประโยชน์เฉพาะตน

“เปรตวัดสุทัศน์” คือขอทานอยู่เสาชิงช้า

“เสาชิงช้า” ศูนย์กลางของเมือง (กรุงเทพฯ) เป็นพื้นที่โล่งกว้างขวางให้ประชาชนทำกิจกรรม จึงมีตลาดซึ่งเรียกตลาดเสาชิงช้า พบหลักฐานในวรรณกรรมกรุงรัตนโกสินทร์แผ่นดิน ร.3 ว่า “ตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์” (จากระเด่นลันได) [“สนามหลวง” ศูนย์กลางของราชอาณาจักร (สยาม) เป็นพื้นที่หลวงใช้ทำงานพระราชพิธี]

“ที่ไหนมีตลาดที่นั่นมีขอทาน” สมัยนั้น (ร.3) จึงมีขอทานผอมโซเหมือนเปรตขอส่วนบุญชุมนุมอยู่ตลาดเสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์ เป็นเหตุให้พูดกันทั่วไปว่า “เปรตวัดสุทัศน์” หมายถึงขอทานที่ตลาดเสาชิงช้า (คำอธิบายนี้ฟังจาก ส. พลายน้อย เมื่อหลายปีมาแล้ว)

มิวเซียมกรุงเทพฯ ของ “คนเท่ากัน”

มิวเซียมในโลกมีหลากหลาย แต่ไทยถูกครอบงำด้วยมิวเซียมแบบเดียว คือมิวเซียมศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งเรียก “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ”

การจัดแสดงมิวเซียมในสากล คุณค่าอยู่ที่ “เนื้อหา” ไม่ใช่ “รูปแบบ” แต่ไทยถูกทำให้เขวเป็นเรื่อง “รูปแบบ” เพื่อปิดปากเรื่อง “เนื้อหา” ทำให้สังคมไทยถูกหล่อหลอมครอบงำจนเข้าใจทั่วไปว่าในโลกนี้มีมิวเซียมประเภทเดียวคือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ที่พบเกือบทั่วประเทศ (แต่ไม่จัดแสดงบอกประวัติศาสตร์ไทยทางสังคม-วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ-การเมืองตามแนวสากล ขณะเดียวกันไม่มีบอกประวัติพระแก้วมรกต และไม่บอกความเป็นมาของกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ)

ทัศนะทางสังคมและการเมืองต่างกันย่อมเข้าใจไม่ตรงกันเรื่องมาตรฐานของมิวเซียม

สากลโลกจัดมิวเซียมเพื่อรับใช้สังคมและการเมืองของประเทศนั้นๆ ดังนั้นมิวเซียมตามมาตรฐานสากลทั่วโลกอาจจำแนกได้กว้างๆ 2 แบบ คือ มิวเซียมแบบเสรีประชาธิปไตย “คนเท่ากัน” และมิวเซียมแบบอาณานิคม “เจ้าขุนมูลนาย” ดังนี้

1. มิวเซียมแบบเสรีประชาธิปไตย “คนเท่ากัน” เป็นประเภทมิวเซียมประวัติศาสตร์บอกเรื่องราวความเป็นมาของดินแดน (พื้นที่) และกลุ่มชนหลากหลายชาติพันธุ์ตั้งแต่ยุคก่อนรัฐชาติจนถึงสมัยรัฐชาติต่อเนื่องปัจจุบัน สนองการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย

เลือกสรรวัตถุทั้งของจริงและจำลองเพื่อประกอบการจัดแสดงให้เข้าใจวิถีชีวิต “กินขี้ปี้นอน” ของคนทุกระดับหรือทุกชนชั้นอย่างเสมอหน้าตั้งแต่รากหญ้าถึงยอดไม้ ถ้าจะมีวัตถุ “มาสเตอร์พีซ” ก็มีอย่างเสมอภาคทั้งของชนชั้นบนและของชนชั้นล่าง

ประเทศทางตะวันตกเป็นหน้าที่ของรัฐต้องจัดให้มีมิวเซียมหลากหลาย “ร้อยสีพันอย่าง” ทั้งมิวเซียมศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะ (แบบไม่ “เจ้าขุนมูลนาย”) ขณะเดียวกันต้องมี “มิวเซียมหลัก” ไว้ทุกเมืองใหญ่ คือ มิวเซียมประวัติศาสตร์ของดินแดน (พื้นที่) และผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ (ลักษณะ Natural History Museum) ประเทศมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐจัดให้มีมิวเซียมแบบนี้เกือบทุกรัฐ นี่ยังไม่รวมมิวเซียมเอกชนซึ่งมีนับไม่ถ้วนตั้งแต่ขนาดไม่ใหญ่โต จนถึงขนาดมหึมาเป็นสถาบัน [เช่น สถาบันศิลปะเมืองชิคาโกที่เคยครอบครองและจัดแสดงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง (จ. บุรีรัมย์)

ส่วนกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียยิ่งมีมิวเซียมแบบเสรีประชาธิปไตย “คนเท่ากัน” จัดแสดงแบบปลอดโปร่งเบาสบาย แต่มีความเป็น “สมัยใหม่” ไม่อวดอลังการด้วยเฟอร์นิเจอร์ “เว่อร์” ราคาแพง

2. มิวเซียมแบบอาณานิคม “เจ้าขุนมูลนาย” เป็นประเภทมิวเซียมศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะ สนองการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นมิวเซียมมรดกตกทอดสืบเนื่องจากสมัยอาณานิคมที่เน้นรวบรวม “ของเก่า” หรือโบราณวัตถุ (จากดินแดนอาณานิคม และจากอาณานิคมภายใน) แล้วเลือกสรรจัดแสดงอวดอลังการ “มาสเตอร์พีซ” ตามรสนิยมของคนชั้นสูงหรือชนชั้นนำสมัยนั้น โดยมีต้นแบบสำคัญและยิ่งใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส (เช่น มิวเซียมลูฟร์และกีเมต์), อังกฤษ (เช่น บริติชมิวเซียม) เป็นต้น

[ต้นแบบมิวเซียมอาณานิคมเป็นที่รู้กันทั่วโลกจนปัจจุบัน กระทั่งล่าสุดไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ยูเนสโก “เตือน” ซ้ำอีกให้ส่งคืน “มาสเตอร์พีซ” ที่เจ้าอาณานิคมล่ามาจากประเทศกรีซ]

มิวเซียมแบบนี้ต่อมาบรรดารัฐชาติเกิดใหม่ที่ตกเป็น “อาณานิคม” เรียกอย่างเลิศว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” เช่น อินเดีย, อินโดนีเซีย, กัมพูชา ฯลฯ และไทยซึ่งเป็น “อาณานิคมทางอ้อม” มีแนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานสากลแบบอาณานิคม “เจ้าขุนมูลนาย” (แต่ไม่ตามมาตรฐานสากลแบบอื่นซึ่งมีอีกมากโดยไม่อาณานิคมและ ไม่ “เจ้าขุนมูลนาย”)

[ข้อมูลเหล่านี้มีในหนังสือสำคัญของโลก ชื่อ ชุมชนจินตกรรม ของ เบน แอนเดอร์สัน (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ แปลจาก Imagined Communities Reflections on the Origin and Spread of Nationalism) มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2552]

ลักษณะร่วมของมิวเซียมแบบอาณานิคม “เจ้าขุนมูลนาย” หรือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ได้แก่

(1.) อาคารใหญ่โตโอ่อ่า ขรึม ขลัง เสมือนข่มขู่ผู้เข้าชมคนพื้นเมืองต้องนอบน้อมยอมจำนนต่ออาคารสถานที่ซึ่งเทียบได้กับ “เจ้าขุนมูลนาย”

(2.) วัตถุ “มาสเตอร์พีซ” ถูกจัดวางแวดล้อมด้วยอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ “ไฮเทค” เพื่อกำหนดระยะห่างระหว่างวัตถุกับคนดู ทำให้ “มาสเตอร์พีซ” ในมิวเซียมกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนดูต้องสงบและสำรวมเหมือนอยู่ในโบสถ์วิหารตลอดเวลาที่อยู่ในมิวเซียม

(3.) ป้ายคำอธิบายข้อมูลความรู้ในมิวเซียม เหมือน “รหัสที่รู้กัน” สำหรับนักปราชญ์ราชบัณฑิตหรือเจ้าอาณานิคมผู้เป็น “เจ้าขุนมูลนาย” อ่านกันเอง แต่ไม่เหมาะให้สามัญชนคนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจ

(4.) ในไทยจัดแสดงยุคสมัยประวัติศาสตร์ไทยตามการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะ (ที่เป็นมรดกจากเจ้าอาณานิคม) ได้แก่ สมัยทวารวดี, สมัยศรีวิชัย, สมัยลพบุรี, สมัยเชียงแสน, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา เป็นต้น ซึ่งไม่มีจริงในประวัติศาสตร์ไทย แต่เป็นสิ่งที่เจ้าอาณานิคมศตวรรษที่แล้วอยากให้มี แล้วเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา

(5.) ไม่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของดินแดน (พื้นที่) และวิถีชีวิตของชุมชน “คนเท่ากัน” หลากหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” แม้เรื่องความเป็นมาของพระแก้วมรกตซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นประเทศไทยก็ไม่มี

  • มิวเซียมกรุงเทพฯ

“ซอฟต์ เพาเวอร์” กระตุ้นและผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยได้อย่างดีด้วยพลังของมิวเซียมกรุงเทพฯ ที่จัดแสดงอย่างสากล “คนเท่ากัน” (ไม่ “เจ้าขุนมูลนาย” อย่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ) มีตัวอย่างทั่วโลก เช่น มิวเซียมที่ลอนดอน (อังกฤษ), ปารีส (ฝรั่งเศส), นิวยอร์ก (สหรัฐ) เป็นต้น

มิวเซียมกรุงเทพฯ มีคุณค่าอันประมาณมิได้และมูลค่ากระจายถึงชุมชน ดังนี้

(1.) คุณค่า ในข้อมูลความรู้ประวัติความเป็นมาของกรุงเทพฯ ทางสังคม-วัฒนธรรม กับเศรษฐกิจ-การเมือง รวมทั้งการติดต่อเกี่ยวข้องบ้านเมืองอื่นๆ ในโลกลักษณะ “รู้เขา-รู้เรา-รู้เท่าทันโลก” สบายๆ สนุกๆ และ

(2.) มูลค่า ทางรายได้ชุมชนจากการท่องเที่ยวซึ่งมีพลังดึงดูดและกระตุ้นอย่างมีประสิทธิภาพโดยมิวเซียมกรุงเทพฯ

  • บริหารจัดการ

มิวเซียมกรุงเทพฯ ถ้าอยู่ในระบบราชการก็สำเร็จยาก หรือสำเร็จแบบลุ่มๆ ดอนๆ เป็น “เจ้าขุนมูลนาย” มีตัวอย่างที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ถ้าจะให้สำเร็จด้วยดีและมีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็นแบบสากล ก็ต้องบริหารจัดการเต็มขั้นอย่างเอกชน “คนเท่ากัน” ด้วยอุดมการณ์เพื่อสาธารณชน “รู้เขา-รู้เรา-รู้เท่าทันโลก” มีกิจกรรมแบ่งปันความรู้อย่างรื่นรมย์และสม่ำเสมอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image