สัมภาษณ์พิเศษ : ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม.คน (รุ่น) ใหม่ ‘ผมเป็นเสียงของอีกยุคหนึ่ง’

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวเลข 33 ซึ่งบอก ‘อายุ’ ของ 1 ใน 4 รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ใน #ทีมชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นำมาซึ่งสปอตไลต์ฉายตรงดิ่งไปยัง ‘ศานนท์ หวังสร้างบุญ’ คนรุ่นใหม่โปรไฟล์เข้มข้น

มากด้วยประสบการณ์ร่วมพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง SATARANA (สาธารณะ) เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องการพัฒนาเมือง ทั้งยังเป็นหนึ่งในทีมกลุ่มเมล์เดย์ (Mayday) ผู้ออกแบบปรับปรุงป้ายหยุดรถเมล์รูปแบบใหม่ ไหนจะร่วมก่อตั้งกลุ่ม Trawell และ Luk Hostel ย่านเยาวราช อีกทั้ง Locall.bkk แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ครอบคลุมพื้นที่ร้านอาหาร 3 ย่าน ได้แก่ เสาชิงช้า-ประตูผี, เยาวราช และนางลิ้นจี่

นอกจากนี้ ยังก่อตั้งกิจการ Once Again Hostel เยื้องกำแพงวัดเทพธิดาราม ด้วยความสนใจเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน จึงคุ้นเคยพื้นที่รอบศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า แบบทุกซอกทุกมุม แวะคุยชาวบ้านได้แทบทุกร้านรวงรอบด้านในย่านประตูผี

คว้ารางวัล JUMC STAR 2019 Excellence โดยสมาคมนิสิตเก่าเอ็มบีเอ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการด้านวิชาการเพื่อมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจประเทศในด้านต่างๆ

Advertisement

เคยต่อสู้เพื่อชุมชน คนจนเมือง เคียงข้างประชาชนรากหญ้าที่ประสบชะตากรรมจากแนวนโยบายภาครัฐ อาทิ ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ซึ่งถูกไล่รื้อเมื่อ 4 ปีก่อน เพื่อสร้างสวนสาธารณะ จนอดีตประธานชุมชนออกมาร่วมยินดีสุดหัวใจ เอื้อนเอ่ยว่าไม่เคยลืมภาพ เด็กหนุ่มนุ่งกางเกงขาสั้น คีบรองเท้าแตะ ผู้มีบทบาทเป็น 1 ในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเจรจาสู้อำนาจรัฐในวันนั้น ผู้นั่งเก้าอี้รองผู้ว่าฯกทม.ในวันนี้

“กดดันครับ แต่ไม่มีเวลาไหนที่ดีกว่านี้อีกแล้ว ผมอยากเปิดพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ ในช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่อยากย้ายประเทศ”

คือคำตอบของศานนท์ในค่ำคืนวันที่ 31 พฤษภาคม ต่อ ‘มติชน’ ก่อนผู้ว่าฯกทม.ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีจะมีถ้อยแถลงเปิดตัวทีมงานอย่างเป็นทางการในวันรุ่งขึ้น 1 มิถุนายน พุทธศักราช 2565

Advertisement
ในวันที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เปิดตัวทีมรองผู้ว่าฯ อย่างเป็นทางการ ณ ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า 1 มิถุนายน 2565

ชัชชาติลงนามให้ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ มีอำนาจในการสั่ง หรือปฏิบัติราชการแทนเกี่ยวกับราชการของหน่วยงาน หรือส่วนราชการ ดังนี้ สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการศึกษาและโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม มีผลตั้งแต่ 2 มิถุนายน 2565

ประเดิมการทำงานวันแรกด้วยการนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารสำนักการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษา 29 ข้อ ในช่วงกลางวัน ค่ำวันเดียวกันลุยสำรวจแสงสีในธุรกิจกลางคืนย่านถนนข้าวสารที่เจ้าตัวคุ้นเคยเฉกเช่นชุมชนอื่นๆ ในมหานครแห่งนี้ ด้วยความเป็น ‘คนกรุงเทพฯ’ โดยกำเนิด

เกิดและเติบโตแถบศรีย่าน เขตดุสิต ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วที่มีอาชีพค้าขายอาหาร เป็นพี่ชายคนโตของน้องสาว 2 คน และน้องชายอีก 1 คน รวม 4 พี่น้อง

ชื่อเล่น ‘เบนซ์’ แต่ใครๆ ต่างเรียกว่า ‘ศา’

จบการศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นอดีตนายกสโมสรนิสิต พ.ศ.2553 และวิศวกรประจำโรงงานแห่งหนึ่งราว 5 ปี

เป็นชายหนุ่มอัธยาศัยดี สุขุม อ่อนโยน รับฟัง ทว่า ไม่อ่อนข้อ ต่อ ‘ความไม่เป็นธรรม’

“ผมเป็นเสียงของอีกยุคหนึ่ง”

ศานนท์กล่าวด้วยความมุ่งหวังสร้างกรุงเทพฯในวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน เพื่อคนกรุงเทพฯในวันนี้และคนรุ่นต่อไป ทั้งในฐานะรองผู้ว่าฯกทม. และบทบาท ‘พ่อ’ ของลูกน้อยวัย 7 เดือนครึ่ง ผู้ซึ่งจะเติบโตในประเทศที่มีเมืองหลวงชื่อกรุงเทพมหานคร

“บ๊ายบายยย เดี๋ยวป่าป๊าไปเจอ”

ส่งเสียงบอกลูกที่สนใจฮิปโปเป็นพิเศษ ก่อนหันมาตอบคำถามในบทสนทนาที่ค้างไว้ก่อนหน้าในประเด็นหลากหลาย ยืนยันพร้อมทำงานเต็มที่ ไม่มีหวั่นไหว

ถามเล่นๆ ว่า ผู้ว่าฯชัชชาติ มาทำงานตี 4 รองผู้ว่าฯศานนท์ ว่าไง?

“ผมไม่ใช่สายตื่นเช้ามาก (หัวเราะ) แต่คิดว่าไม่เป็นอุปสรรค เพราะกรุงเทพฯมี 24 ชั่วโมงต่อวันเหมือนกัน”

เยี่ยมสถานประกอบการย่านสีลม-ข้าวสาร ในค่ำคืนวันที่ 2 มิถุนายน 2565

●ตั้งแต่มีสร้อยนามตามท้ายว่า ‘รองผู้ว่าฯกทม.’ นอนหลับไหม?

(หัวเราะ) เราอยากเข้าใจ ก็ต้องอ่านอะไรเยอะเหมือนกัน ผมตื่นเต้น แต่ไม่มากเท่าความคิดคำนึงถึงงานที่ต้องทำ คิดถึงอนาคตมากกว่า ว่ามีเรื่องที่ต้องทำเต็มเลย อยากทำงาน แต่ระเบียบราชการ มันมีอะไรที่เราไม่รู้เยอะ แต่เรื่องที่เราอยากทำ มีเยอะ ถึงจะยาก แต่สนุกที่จะค้นหา เป็นแพสชั่นของเราอยู่แล้ว

●จากรุ่นพี่รุ่นน้อง ‘วิศวะ จุฬาฯ’ เข้ามาเป็น #ทีมชัชชาติ เต็มตัวตั้งแต่เมื่อไหร่?

ผมทำงานกับอาจารย์ชัชชาติมาตั้งแต่เริ่มแคมเปญ Better Bangkok ที่คลองเตย มีโครงการ Mentorship ให้เด็กวิศวะที่ยังเรียนอยู่ โดยจัดรุ่นพี่ 2 คน เมนเทอร์ให้น้อง 4 คน ผมกับอาจารย์ชัชชาติเป็นเมนเทอร์ด้วยกัน ซึ่งในสายเมือง สายสังคม วิศวะไม่ค่อยมี ทำให้ได้รู้จักกัน พอปลายปีนั้น แกมาเยี่ยมที่โฮสเทล (Once Again Hostel) มาดูงานที่เราทำ ประจวบเหมาะกับตอนโควิดซึ่งโฮสเทลเปิดไม่ได้ ผมกับเพื่อนๆ ก็ทำงานเรื่องเมืองแต่ไม่ได้มีงานต่อเนื่อง เลยมาช่วยแกในแคมเปญนี้เมื่อปี 2563

●รู้ตัวเมื่อไหร่ ว่าจะได้เป็นรองผู้ว่าฯ เตรียมตัวมานานแค่ไหน?

ผมรู้วันเลือกตั้งเลย พี่ต่อศักดิ์ (ต่อศักดิ์ โชติมงคล) ประธานที่ปรึกษามาบอก ผมอึ้งเลย แล้วบอกไปว่าอายุไม่ถึง ตอนนั้นเข้าใจว่าต้อง 35 ช่วงค่ำๆ ก่อนอาจารย์ชัชชาติจะออกไปแถลง แกเดินมากอดคอ พูดแค่ว่า ‘ได้ไหม พร้อมไหม เตรียมตัวนะ’ ผมก็ยังงงๆ อยู่ ตอนที่รู้โทรหาภรรยาก่อนเลย เขาก็ตกใจ คุยกันพักนึง เขาก็เชียร์อยู่แล้ว บอก ‘ทำสิ’

ผมคิดว่าโอกาสไม่ได้มาบ่อย ไม่รู้จะหาโอกาสแบบนี้ได้อีกเมื่อไหร่ คิดว่ามีโอกาสเดียว เราก็อยากทำแหละ ที่ผ่านมาเคยต่อสู้เรื่องชุมชนป้อมมหากาฬ เรื่องคนจนเมือง คนที่ไม่ค่อยมีเสียง ผมว่ามันทำให้เขามีเสียงได้ อย่างน้อยเราเคยทำงานด้วยกัน

●ไม่เคย ‘แย็บ’ มาก่อนเลย คิดว่าอะไรคือเหตุผลที่เลือกเรา?
(ตอบทันที) ไม่เลย ไม่เคยมีและไม่เคยคาดคิดว่าจะได้มาทำตำแหน่งนี้

ที่ผ่านมาผมคิดแต่เรื่องงานที่เราทำกัน ผมช่วยทำเว็บไซต์ ทำไลน์ออฟฟิเชียล กลุ่มอาสาสมัคร หรือ Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) รายงานปัญหาเรื่องเส้นเลือดฝอย งานพวกนี้ทำให้ผมสนุก อาจารย์ชัชชาติบอกว่าแกไม่ทำการเมือง แกทำงานเมือง ทำเรื่องการพัฒนาไปเลย เช่น ลงชุมชน คือช่วยเลย หรือโปรโตไทป์ (ต้นแบบ) โปรเจ็กต์ทางเท้า เทเลเมด (Telemedicine) ก็ลองดูเลย

มันไม่ใช่การเมือง เป็นการทำงานพัฒนาไปเลย แต่ใช้เวทีหาเสียงมาโปรโมตให้อิมแพคขึ้น ถ้าผมทำทราฟฟี่ฟองดูว์ก่อนหน้านี้ไม่มีทางเลยที่จะได้คนเยอะขนาดนี้ แต่พอทำด้วยกันกับแคมเปญของอาจารย์ชัชชาติ กลายเป็นว่าเราได้ความร่วมมือจากคนเยอะมากและสามารถต่อยอดได้

ครั้งทำกิจกรรมในโครงการ ‘ฟื้นคูพระนคร’

●สิ่งแรกที่จะทำในตำแหน่งรองผู้ว่าฯคืออะไร?
ถ้าเป็นภาพใหญ่ ภารกิจของผมคือคุณภาพชีวิตของชุมชน การศึกษา วัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว คืออะไรที่มันเป็นเรื่องของคน หลักๆ คือการยกระดับคุณภาพชีวิตโดยสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้เป็นรูปธรรมและเข้มข้นขึ้น โดยใช้สำนักต่างๆ และภารกิจของ กทม.มาสนับสนุน

●นอกเหนือจากบทบาทรองผู้ว่าฯกทม. ในฐานะพ่อ อยากเห็นลูกเติบโตมาในประเทศที่มีเมืองหลวงแบบไหน?

ตอนนี้ลูกกับภรรยาอยู่ที่จังหวัดเลยเป็นหลัก ต่างจังหวัดคุณภาพชีวิตมันดี ไม่ได้แข่งขันกันมาก มีพื้นที่สีเขียว มีอากาศที่ดี มีอาหารที่ปลูกกินเองได้ ผมเลยอยากให้กรุงเทพฯมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จุดแข็งของกรุงเทพฯคือมีเศรษฐกิจที่ดี มีงาน มีเพื่อน มีสังคมที่ดี เลยคิดว่าต้องรักษาตรงนี้ไว้ แต่คุณภาพชีวิตพื้นฐานอ่อนกว่าต่างจังหวัด ซึ่งจริงๆ แล้วเราทำให้มันดีขึ้นได้ กรุงเทพฯยังมีข้อดีมากๆ อยู่ที่ว่าเราจะพัฒนาคุณภาพชีวิตพื้นฐานอย่างไรให้ดีขึ้น ซึ่งงานที่ผมทำมันเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง อย่างปัจจัยพื้นฐานเลยคือที่อยู่อาศัย บริการพื้นฐานต่างๆ และการศึกษาด้วย กทม.ดูแลเด็กปฐมวัย 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศเราก็ต้องมาดูว่าจะพัฒนาอย่างไรได้บ้าง

●จากนักธุรกิจที่ขับเคลื่อนทางสังคมที่วิพากษ์การทำงานของ กทม. มาสู่การเป็นข้าราชการการเมือง จากนี้วางแผนปลดล็อกหรือปรับเปลี่ยนสิ่งที่เคยค้างคาใจหรือไม่ อย่างไร?

ต้องเข้าไปทำความเข้าใจเขา คือเราไม่เคยเข้าใจฝั่งนี้ ว่าทำไมต้องทำตัวแบบนั้น พอเข้าใจแล้ว ต้องไม่จำนนกับข้อจำกัด แต่เราจะเข้าใจอย่างไร มันก็มีคำถามในหัวผมเยอะเหมือนกัน เช่น เรื่องกฎหมายล้าหลัง ปรับไม่ได้หรือ ทำไมต้องเอาผลพวงของกฎหมายล้าสมัยมาแช่แข็งการพัฒนาไปข้างหน้า มาทำให้คุณภาพชีวิตปัจจุบันแย่ลง อย่างกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ

มันมีกฎหมายอื่นไหม เราสามารถล้างบางอย่างให้ทันสมัยและไม่ผิดกฎหมายด้วยได้ไหม นี่แค่ไอเดียแต่หลักๆ คือเพื่อเข้าใจว่าอะไรที่ทำให้มันเกิด มันเป็นความกลัวบางอย่างใช่ไหม กลัวพลาด กลัวโดนจับ กลัวผิดกฎ ถ้ากลัวอย่างนั้น ผมว่าเราก็ต้องมีนักกฎหมายขึ้นมา อย่างไอเดียกระเป๋าจากป้ายหาเสียง มาจากเมื่อปี 2562 มีเพื่อนเคยทำกระเป๋าแบบนี้ขึ้นมา เราเช็กแล้วว่าทำได้ วิธีคิดมันต้องแบบนี้ ต้องคิดโดยไม่เอาข้อจำกัดมาหยุดการพัฒนา ข้อจำกัดเป็นแค่เงื่อนไข

สำหรับเรื่องระเบียบราชการต้องดูก่อน ไม่แน่ใจว่าจะมีขั้นตอนระเบียบอย่างไรที่เราจะทำให้มันเกิดขึ้นได้ แต่ผมไม่เอามาเป็นอุปสรรคนะ ผมเอาเป้าหมายตั้ง แล้วหาวิธีการทำให้เกิดขึ้นจริง ถ้าเอาระบบราชการนำ ผมว่าทำอะไรไม่ได้หรอก

●ขอย้อนถามว่า อะไรทำให้ชนชั้นกลางและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ลุกขึ้นมานุ่งขาสั้น คีบรองเท้าแตะช่วยเหลือชุมชนและคนจนเมือง?

ผมโชคดีได้เข้าเรียนมัธยมที่เซนต์คาเบรียล แต่ที่บ้านล้มตอนวิกฤตปี 40 โชคดีได้ทุนเรียนฟรียาวเลย ก็ต้องรักษาการเรียนให้ดี เลยค่อนข้างมีความรับผิดชอบ พอเข้าจุฬาฯ ก็ได้ทุนจากบริษัทหนึ่ง ต้องไปถ่ายรูปด้วยนะ ต้องพิสูจน์ว่าบ้านจน เมื่อเป็นคนที่ได้รับมาตลอดเลยรู้สึกว่าต้องคืนอะไรแก่สังคม ตอนทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่สมัยเรียนก็สนุกด้วย

●กรณีชุมชนป้อมมหากาฬที่เคยเข้าไปร่วมต่อสู้ก่อนถูกไล่รื้อเมื่อ 4 ปีก่อน จากนี้มีแผนดำเนินการอย่างไร?

คิดว่าต้องทำใหม่หมด แต่จะทำอย่างไรต้องมาพิจารณากัน ในส่วนที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ต้องดูงบประมาณค้างท่อของปี 65 และปี 66 ก็ยังไม่ได้เข้าประชุม แต่พวกซอฟต์แวร์บางอย่างสามารถร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ แล้วดำเนินการได้เลย เช่น เรื่องการศึกษา พี่หนุ่ม โตมร ศุขปรีชา (ผอ.สำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้-OKMD) ทำเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ เขาพร้อมช่วยอยู่แล้ว เราบูรณาการได้ เรื่องพวกนี้ทำได้เลย

สำหรับตัวชุมชนที่ถูกรื้อไปแล้ว ในมุมมองผม เราต้องอยู่กับความจริง การเอากลับมาไม่มีทางเหมือนเดิม และยิ่งไปตอกย้ำแผลด้วยซ้ำ ก่อนหน้านี้ ในวันที่ยังมีบ้านไม้โบราณ มีผู้คน มีชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ เราเคยสร้างการมีส่วนร่วมมาก่อน โดยตกผลึกว่าจะเป็น Living Museum คือพิพิธภัณฑ์มีชีวิต วันนี้ก็ต้องทำลักษณะคล้ยๆ กัน คือสร้างการมีส่วนร่วมว่าคนแถวนั้นอยากให้ที่นั่นเป็นอะไร กทม.ปรับปรุงอะไรได้บ้าง อดีตรักษาไม่ทันแล้ว แต่วันนี้จะเอาอย่างไรต่อ เราต้องคุยกับทุกคนว่าอะไรที่ดีที่สุดสำหรับเมืองตอนนี้

เมื่อครั้งร่วมต่อสู้กับชุมชนป้อมมหากาฬ ก่อนถูกรื้อถอนเพื่อสร้างสวนสาธารณะเมื่อ พ.ศ.2561

●ภาพรวมในด้านการจัดการ ‘อดีตของกรุงเทพฯ’ ในยุคของรองผู้ว่าฯที่เคยมีประสบการณ์ตรงมาก่อน จะเป็นอย่างไร?

ในการพัฒนาไปข้างหน้า บางทีเราลืมสำรวจอดีตว่ามีคุณค่าหลายอย่าง บางอย่างที่ถูกรื้อไปแล้ว เช่น ชุมชนป้อมมหากาฬ มันเป็นบทเรียนที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก วันนี้เราได้บทเรียนแล้ว การเดินไปข้างหน้าในโครงการอื่นๆ ต้องอย่าลืมบทเรียนนี้
เรื่องคุณค่าต้องมีคนมาช่วยกันดู การมีส่วนร่วมจึงสำคัญเพราะมีหลายมุม ต่างวาระ ต่างมุมมอง การมีส่วนร่วมจะทำให้ตกผลึกว่าคุณค่าร่วมคืออะไรแล้วเดินไปข้างหน้าด้วยกัน

●ความคุ้นเคยที่มีต่อประธานชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ที่รับผิดชอบด้านนี้โดยเฉพาะ?

นี่ก็เป็นเหตุผลที่อยากมาทำหน้าที่นี้ด้วย ถ้าไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือรู้จักกับพี่ๆ ในชุมชนต่างๆ มาก่อน ผมก็จะไม่กล้าทำ และส่วนตัวไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของทางออก แต่มาเปิดพื้นที่มากกว่า ที่ผ่านมาพื้นที่นี้ไม่ใช่แค่ถูกปิด แต่ล็อกประตู 5 ชั้น วันนี้ผมเอากุญแจมาเปิดๆๆๆ เราอยากชวนทุกคนที่อยากทำให้บ้านของตัวเองดีมาช่วยกันคิด เรื่องชุมชนมีมิติตั้งแต่ที่อยู่อาศัย ศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์ พัฒนา เรื่องเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และการศึกษา มันเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง นี่คือเวลาที่เราจะมาเปิดพื้นที่และช่วยกัน

●มองอย่างไรในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา อย่างทรงผม-เครื่องแบบ ซึ่งมีนักเรียนดักร้องเรียนผู้ว่าฯ?

คิดคล้ายๆ อาจารย์ชัชชาติว่ามันก็ต้องปรับตามยุค ตามสมัย ต้องไปดูเป้าหมายของมัน เป้าหมายบางอย่างไม่ได้มีความจำเป็น ก็ต้องมาดูว่ากฎพวกนี้มีที่มาที่ไปหรือเหตุผลอะไร

●อีกเรื่องในหน้าตักที่คนกรุงเทพฯอยากให้แก้ปัญหาคือ ‘คนไร้บ้าน’ เล็งเดินหน้าในแนวทางไหน?

ที่แน่ๆ คือบ้านอิ่มใจต้องกลับมา และต้องมาดูว่าจะซัพพอร์ตอะไรได้มากกว่านั้น มากกว่าแค่เรื่องบ้าน ผมว่าบ้านคือปลายทาง ยังมีหลายเรื่องที่ต้องดูแล เช่น สภาพจิตใจ เราต้องดูว่ารากของปัญหาเป็นอย่างไรและ กทม.ช่วยอะไรได้บ้าง วันเสาร์ผมนัดประชุมกับผู้เชี่ยวชาญอย่าง อาจารย์ปู-อนรรฆ พิทักษ์ธานินทร์ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ

●ไม่แคร์วันหยุด?

เรานัดกันเองข้างนอก ไม่ใช่ที่ศาลาว่าการ กทม. อะไรทำได้ เราทำเลย

นัดหมายผู้เชี่ยวชาญ ถกปมช่วยคนไร้บ้าน จ่อฟื้น ‘บ้านอิ่มใจ’ เมินวันหยุด บอก ทำอะไรได้ ทำเลย

●คำถามสุดท้าย นอกจากเสียงชื่นชมก็มีคนปรามาสในเรื่องอายุ คิดว่าเป็นอุปสรรคหรือไม่?

ผมทำงานคนเดียวไม่ได้อยู่แล้ว ผมเป็นเสียงของอีกยุคหนึ่ง อีกรุ่นหนึ่ง เราต้องทำงานด้วยกัน มองเป็นเชิงบวกว่ามีข้อดีจากมุมมองที่ไม่เคยเข้าใจระบบมาก่อน หลายคนอาจพูดว่าเราไม่เข้าใจระบบหรือเปล่า แต่อย่างที่บอกว่าผมไม่ได้เอามาเป็นข้อจำกัด แต่มีความตั้งใจเดียวกัน นั่นคือการทำให้มันดีขึ้น ส่วนรูปแบบก็ต้องมาช่วยกัน ต้องมาแนะนำผม

จริงๆ แล้วการประสานกับคนรุ่นใหม่ที่โลกหมุนเร็ว ผมอาจเป็นคนแก่ไปแล้วก็ได้ เด็กที่เพิ่งเรียนจบหรือบางคนยังไม่จบ เก่งมาก บางทีผมก็หลุดแล้วเหมือนกัน

เราต้องเชื่อมคนที่เขาอยู่ในยุคซึ่งจะใช้เมืองนี้ยาวกว่าเราไปอีก 30-40-50 ปี.

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image