อาศรมมิวสิก : ‘ดนตรีเบาสมองแห่งกรุงเวียนนา : มรดกดนตรีของทุกชนชั้น’

เรื่องราวที่มาของบทเพลงวอลทซ์ (Waltz) ที่มีชื่อว่า “Vienna Blood” ผลงานลำดับที่ 354 ของ “โยฮันน์ ชเตราส์-ลูก” (Johann Strauss,Jr) บ่งบอกอะไรๆ กับเราหลายๆ อย่างเกี่ยวกับวัฒนธรรมดนตรีตะวันตก มันบ่งชี้ให้เห็นถึง “ความสำคัญ” และ “ความสัมพันธ์” ของศิลปะดนตรีกับบริบททางสังคมที่ว่า ในช่วงเวลาศตวรรษที่ 19 และก่อนหน้านั้น ศิลปะดนตรีมีความสำคัญกับวิถีชีวิตของผู้คนอย่างไร? เมื่อดนตรีมิใช่เป็นเพียงมหรสพ หรือเพียงสิ่งบันเทิง, เสียงผ่านๆ หูในชีวิตธรรมดาๆ แต่ดนตรีแทบจะเป็นเสมือนศูนย์กลางแห่งวิถีชีวิตของผู้คนอย่างหนึ่ง, เสมือนเครื่องมือชนิดหนึ่งในการขัดเกลาความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในบริบทที่ดนตรีมีความสำคัญมากขึ้นนั้นเอง ซึ่งแม้แต่ดนตรีที่ในปัจจุบันเรามองดูว่าหรูหรา, เลิศเลอ อย่างเพลงวอลทซ์ ของนักแต่งเพลงตระกูลชเตราส์ (Strauss Family) ก็ถูกเหยียดหยามว่าเป็นเพียงแค่ “ดนตรีสมัยนิยม” เป็นเพียงเพลงเต้นรำที่แทบจะเป็นภัยคุกคามต่อวัฒนธรรมดนตรีซิมโฟนิก (Symphonic) ที่ก่อกำเนิดมาก่อนนับร้อยๆ ปีและมีความวิจิตร, ซับซ้อนในชั้นเชิงทางดนตรีมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้

เรื่องราวของบทเพลงวอลทซ์ “สายเลือดแห่งเวียนนา” นี้ก็คือ เป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อใช้บรรเลงเป็นครั้งแรกในงานพิธีอภิเษกสมรสระหว่าง “อาร์คดัชเชส กิเซลา ลุยส์ มาเรีย” (Archduchess Gisela Louise Maria) พระราชธิดาในสมเด็จพระจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ (Emperor Franz Josef) แห่งออสเตรีย (Austria) กับ เจ้าชายเลโอโปลด์ (Prince Leopold) แห่งแคว้นบาวาเรีย (Bavaria) พิธีนี้จัดขึ้นในเดือนเมษายนปี ค.ศ.1873 ที่กรุงเวียนนา มีการว่าจ้าง “วงดนตรีเต้นรำ” ของโยฮันน์ ชเตราส์ ที่กำลังโด่งดังร้อนแรงเป็นวงดนตรีประจำงาน ในครึ่งหลังจึงได้เป็นการแสดงของวงดนตรี “เวียนนาฟิลฮาร์โมนิก” (Vienna Philharmonic) ซึ่งเป็นวงดนตรีแห่งราชสำนัก นั่นเป็นครั้งแรกสุดที่วงดนตรี “แห่งราชสำนัก” วงนี้ยินยอมบรรเลงเพลงวอลทซ์ของโยฮันน์ ชเตราส์ เป็นครั้งแรก โดยมีโยฮันน์ ชเตราส์ ยืนอำนวยเพลงเป็นสง่าด้วยตนเอง จากนั้นเป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ วงดนตรีแห่งราชสำนักวงนี้กับมรดกดนตรีแห่งครอบครัวชเตราส์ถูกมองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน, เป็นจารีตที่สืบเนื่องต่อกันมาอย่างเหนียวแน่น กล่าวอีกนัยหนึ่งในยุคปัจจุบันพวกเรามองเสมือนว่า เวียนนาฟิลฮาร์โมนิก เป็นเจ้าของมรดกดนตรีวอลทซ์ของตระกูลชเตราส์ ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วมรดกดนตรีนี้เคยถูกตราหน้าว่าเป็น “ดนตรีชั้นสอง” ในบริบทสังคม

แล้วอะไรที่ทำให้สถานะของมรดกดนตรีชนิดนี้เปลี่ยนแปลงไปในบริบททางวัฒนธรรม, อะไรที่ทำให้วงดนตรีเวียนนาฟิลฮาร์โมนิกที่มีต้นกำเนิดในฐานะวงดนตรีแห่งราชสำนักได้รับการยกย่องว่าเป็น “ต้นตำรับ” หรือ “ของแท้” ทั้งๆ ที่เคยเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์มาก่อน ผู้เขียนคิดว่ามันเป็นทั้งเรื่องของความงดงาม, ความวิจิตรในตัวของศิลปะดนตรีชนิดนี้เอง ซึ่งแม้ในทางความซับซ้อนและชั้นเชิงทางดนตรีที่ไม่อาจเทียบชั้นดนตรีซิมโฟนีได้ แต่ก็มีความละเมียดละไม, มีความไพเราะอ่อนหวาน มีพื้นที่ว่างทางดนตรีให้ได้พลิกแพลงตีความกันได้อย่างอิสระหลากหลาย จึงทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงบางประการกับดนตรีซิมโฟนี (แบบเบโธเฟน หรือโมซาร์ท) ที่มีมายาวนานก่อนหน้านั้น และในอีกประการหนึ่งก็คือ กาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป มรดกดนตรีของตระกูลชเตราส์กลายเป็นบทพิสูจน์สำหรับวาทยกรผู้อำนวยเพลงในยุคหลังๆ ต่อมาจากนั้นว่า ถ้าคุณจะพิสูจน์ตนเองว่าเป็นวาทยกรผู้สูงด้วยศิลปะแห่งการตีความแล้ว คุณต้องสามารถอำนวยเพลงวอลทซ์ของชเตราส์ได้อย่างสร้างสรรค์น่าฟังด้วย ต้องสามารถประยุกต์ดัดแปลงความคิดสร้างสรรค์มากมายที่ซ่อนอยู่ในศิลปะดนตรีเบาสมอง (Light Hearted) แบบครอบครัวชเตราส์นี้ ให้ไปใช้สร้างสรรค์ในการอำนวยเพลงแบบซิมโฟนีอันซับซ้อนได้ด้วย นั่นคือคุณต้องเป็นศิลปินที่สามารถลบเส้นพรมแดนทางดนตรีแห่งการแบ่งแยกชนชั้นที่เคยมีมานี้ได้

เส้นทางการก่อกำเนิดมรดกทางดนตรีของตระกูลชเตราส์ ต้องฝ่าฟันความยากลำบากและการต่อสู้พิสูจน์ตนเองไม่แพ้ศิลปะดนตรีวิจิตรแบบซิมโฟนี เมื่อการเต้นรำในจังหวะวอลทซ์กลายเป็นความยอดนิยมในระดับเป็นที่คลั่งไคล้ใหลหลงของผู้คนโดยเฉพาะคู่หนุ่มสาวในศตวรรษที่ 19 การได้ถือโอกาสจับเนื้อต้องตัวโอบกอดร่างกายของคู่หนุ่มสาว ถือเป็นความไม่เหมาะสมของยุคสมัย ที่ศิลปะการเต้นรำเพลงวอลทซ์เปิดโอกาสการละเมิดกลายๆ นี้ให้กับคู่หนุ่มสาว ข้อห้ามทางจารีตดั้งเดิมกับความนิยมใหม่ๆ ตามยุคสมัยต่อสู้กันเสมอมา วัฒนธรรมจังหวะวอลทซ์ชนะข้อห้ามจารีตดั้งเดิมได้อย่างไม่ต้องสงสัย ยากนักที่ข้อห้ามทางจารีต, ศีลธรรมจะเอาชนะความต้องการตามสัญชาตญาณดั้งเดิมโดยธรรมชาติของมนุษย์ และวัฒนธรรมเพลงวอลทซ์ที่กำเนิดขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 19 นี้ ก็มิได้กลวงโบ๋ หรือสิ้นไร้ชั้นเชิงหรือรสนิยมทางดนตรีไปเสียทีเดียว มันเริ่มคืบคลานเข้าไปสู่หัวใจของศิลปินดนตรีและผู้คนในทุกระดับชั้น

Advertisement

บทวิจารณ์โดยตัวแทนสื่อมวลชนใหญ่, นักวิจารณ์ดนตรีผู้ทรงอิทธิพลแห่งกรุงเวียนนาแห่งศตวรรษที่19 อย่าง “เอดูอาร์ด ฮันสลิค” (Eduard Hanslick) มีคุณูปการมากมายที่สะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ทางดนตรีและรสนิยมแห่งยุคสมัย ในเรื่องมรดกทางดนตรีแห่งตระกูลชเตราส์นี้ก็เช่นเดียวกัน มีข้อเขียนของเขา (เอดูอาร์ด ฮันสลิค) ที่ “แฮโรลด์ ซี. โชนเบอร์ก” (Harold C. Schonberg) นักวิชาการและนักวิจารณ์ดนตรีชาวอเมริกันแห่งศตวรรษที่ 20 ได้หยิบยกข้อเขียนของ “ฮันสลิค” ที่กล่าวถึงความนิยม, คลั่งไคล้ของผู้ฟังดนตรีชาวกรุงเวียนนาในยุคนั้นที่มีต่อบทเพลงของ “โยฮันน์ ชเตราส์-ผู้พ่อ” (Johann Strauss,Sr.) กับ “โยเซฟ ลันเนอร์” (Joseph Lanner) ในยุคบุกเบิกของมรดกดนตรีตระกูลชเตราส์มาถ่ายทอดในใจความที่ว่า

“……..เราแทบจะจินตนาการกันไม่ถึงหรอกสำหรับความร้อนแรงที่ทั้งสองคนนี้สร้างขึ้นมา จากบทเพลงวอลทซ์ใหม่ๆ แต่ละชิ้นที่วารสาร, นิตยสารต่างๆ พากันใช้ในการสร้างความปลาบปลื้มปีติ มีบทความต่างๆ มากมายเหลือคณานับปรากฏขึ้น ที่เกี่ยวกับ ‘ลันเนอร์’ และ ‘ชเตราส์’ (ผู้พ่อ) บทความเหล่านี้ทั้งแสดงความตื่นเต้นกระตือรือร้น, บางทีก็เพ้อเจ้อไร้สาระ, บางทีก็เอาจริงเอาจัง ทุ่มเทกันจนมากกว่าที่จะอุทิศให้กับดนตรีอย่างของเบโธเฟนและโมซาร์ท จังหวะเต้นรำแบบ 3/4 อันอ่อนหวาน, เคลิบเคลิ้ม ได้ปกคลุม, บดบังดนตรีที่ยิ่งใหญ่และเข้มข้นด้วยเนื้อหาทั้งหลาย และมันได้ทำให้ผู้ชมอยู่ในภวังค์อารมณ์ความรู้สึกที่ไม่เหมาะกับการฟังดนตรีแห่งภูมิปัญญาใดๆ อีกต่อไป…..”

นี่คือตัวอย่างบทวิจารณ์ดนตรีที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ของดนตรีแห่งครอบครัวชเตราส์กับบริบททางสังคมในยุคสมัยนั้น ปฏิกิริยาความเป็นห่วงถึงผลกระทบของ “ดนตรีเบาสมอง” ที่อาจส่งผลถึงดนตรีซิมโฟนี มันยังเป็นบทวิจารณ์มรดกดนตรีชนิดนี้ก่อนที่จะเป็นยุคทองสูงสุดในอีกไม่นานต่อมา ในรุ่นของชเตราส์-ผู้บุตร ณ จุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงต้นกำเนิดของวัฒนธรรมดนตรีชนิดนี้ เมื่อโยฮันน์ ชเตราส์-ผู้พ่อ กับโยเซฟ ลันเนอร์ ที่เพิ่งจะแยกตัวกันออกมาจากวงดนตรีของ “ไมเคิล พาเมอร์” (Michael Pamer) ที่ทั้งคู่เคยเป็นลูกวงของไมเคิล พาเมอร์ (ค.ศ.1782-1827) มาก่อน ถือได้ว่าเขาคือต้นกำเนิดของ “ดนตรีเบาสมองแห่งกรุงเวียนนา” เป็นคนแรก ก่อนที่ ชเตราส์ (พ่อ) และลันเนอร์ จะแยกตัวออกมาตั้งวงเองโดยมีลันเนอร์เป็นหัวหน้าวง และชเตราส์ (ผู้พ่อ) ก็ได้แยกตัวออกมาจากวงดนตรีเต้นรำของลันเนอร์อีกที ซึ่งเมื่อตกทอดมาถึงยุคทองสูงสุดของมรดกดนตรีชนิดนี้ในยุคของ ชเตราส์ (ลูก) ก็ต้องผ่านความขัดแย้งกันเองอย่างรุนแรง ภายในครอบครัว ชเตราส์ เมื่อโยฮันน์ ชเตราส์ ผู้พ่อ สั่งห้ามลูกๆ อย่างเด็ดขาดไม่ให้ยึดอาชีพทางดนตรี แต่นั่นก็ไม่อาจฝืนลิขิตจากเบื้องบนได้เมื่อโยฮันน์ ชเตราส์ (ลูก) แอบไปเรียนดนตรีอย่างลับๆ และมาตั้งวงดนตรีแข่งกับบิดาบังเกิดเกล้าจนเป็นเรื่องโจทย์ขานอย่างเซ็งแซ่ของชาวกรุงเวียนนาในยุคนั้น

Advertisement

มรดกทางดนตรีเบาสมองแห่งกรุงเวียนนาได้รับการพัฒนามาจนขึ้นสูงสุดในชนรุ่นที่ 3 คือ ชเตราส์คนลูกนี้เอง ถึงตอนนี้มนต์เสน่ห์ของดนตรีเบาสมองชนิดนี้ เข้าไปจับจิตจับใจผู้คนได้ทุกชนชั้น ทั้งสามัญชน, ชนชั้นกลาง ตลอดไปจนถึงเจ้านายในรั้วในวัง ต่างหลงใหลในมรดกดนตรีชนิดนี้กันถ้วนหน้า จนท้ายที่สุดบรรดานักประพันธ์ดนตรีที่ได้ชื่อว่าเป็น นักแต่งเพลงขั้นวิจิตรศิลป์ทั้งหลายแห่งยุคนั้น ต่างพากันศิโรราบต่อ โยฮันน์ ชเตราส์ (ลูก) ด้วยกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นนักแต่งเพลงซิมโฟนีที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชาแห่งเวียนนา” ในยุคนั้นอย่าง “โยฮันเนส บรามส์” (Johanness Brahms-ยิ่งใหญ่จนเรียกว่าเป็น “B” ที่ 3 ถัดจากเบโธเฟน!) ซึ่งถือกันว่าอยู่ในฝ่ายอนุรักษนิยม (โดยมีนักวิจารณ์ดนตรีอย่าง เอดูอาร์ด ฮันสลิค เป็นหัวหน้าฝ่ายกองเชียร์ที่ยกตัวอย่างบทวิจารณ์มากล่าวถึงข้างบนนี้) หรือฝ่ายหัวก้าวหน้าที่เป็นปฏิปักษ์กับ บรามส์ อย่างฝั่งของ “ริคาร์ด วากเนอร์” (Richard Wagner) ผู้พัฒนาศิลปะอุปรากรเยอรมันไปจนถึงขั้นสูงสุด ทั้งสองยักษ์ใหญ่นี้หลงใหลยกย่องดนตรี (เบาสมอง) ของโยฮันน์ ชเตราส์ อย่างสูงสุด ความขัดแย้งในแนวคิดปรัชญาทางศิลปะที่โต้เถียง, ต่อสู้กันเอาจริงเอาจังมาตลอด กลับมาถึงจุดที่เห็นด้วยเหมือนกันโดยดุษณี โยฮันน์ ชเตราส์ (ลูก) ใช้พรสวรรค์, มนต์เสน่ห์ แห่งเวียนนาวอลทซ์ขับกล่อมยักษ์ใหญ่สองตนให้เคลิบเคลิ้มยอมวางกระบอง หันมาเต้นรำเวียนนาวอลทซ์กันอย่างมีความสุข ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ฝั่งคลาสสิกทั้งสองขั้วต่างสยบยอมในความเป็นเลิศของศิลปะแขนงนี้

ทางฝ่ายของโยฮันเนส บรามส์ ถึงกับเคยยอมลงลายมือจารึกยกย่องความงดงามของบทเพลงเวียนนาวอลทซ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ “On The Beautiful Blue Danube” โดย ชเตราส์ (ลูก) เอาไว้ โดยบรามส์ เขียนลายมือลงในสกอร์ดนตรีบทเพลงนี้อย่างแสนจะถ่อมตัวและเปิดเผยจริงใจว่า “……อนิจจา, ไม่ได้ประพันธ์โดย โยฮันเนส บรามส์…..” มีนักวิชาการทางดนตรีนามว่า “วอลเตอร์ เกอร์เทลชมีด” (Walter Gurtelschmied) เขียนบทความระบุว่า ริคาร์ด วากเนอร์ (เจ้าพ่อแห่งศิลปะอุปรากรเยอรมัน) นั้นยกย่อง โยฮันน์ชเตราส์ว่าเป็น “ผู้มีความคิดเป็นดนตรีมากที่สุด” และใช้ดนตรีของชเตราส์ในงานฉลองครบรอบ 60 ปีเกิด ของเขาที่เมืองไบรอยท์ (Bayreuth) และชื่นชมบทเพลงวอลทซ์ที่ชื่อว่า “Wine, Women and Song” เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังขอถือโอกาสอำนวยเพลงวอลทซ์ของชเตราส์ด้วยตนเองอย่างมีความสุข

ท้ายที่สุด ดุริยกวีเยอรมันที่นามสกุล “ชเตราส์” เหมือนกัน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องทางสายเลือดกันเลย คือ “ริคาร์ด ชเตราส์” (Richard Strauss) ผู้พัฒนาดนตรีซิมโฟนีเล่าเรื่องที่เรียกว่า “โทนโพเอ็ม” (Tone Poem) ซึ่งเป็นดนตรีสำหรับวงออร์เคสตราที่วิจิตร, ซับซ้อนทั้งทางฉันทลักษณ์การประพันธ์และเทคนิคการบรรเลงของวงดนตรี ก็ยังตกเป็นทาสของดนตรีเบาสมองแห่งกรุงเวียนนาไปด้วยอีกคน เขายกย่องโยฮันน์ ชเตราส์ (ลูก) ว่าเป็นผู้ที่ได้รับพรสวรรค์สูงสุดจากพระผู้เป็นเจ้า “ในการมอบความสุข” และคำสารภาพในความกดดันที่เขาเองจำต้องเขียนบทเพลงวอลทซ์แทรกลงไปในอุปรากรเรื่อง “อัศวินดอกกุหลาบ” (Rosenkavalier) อันเป็นความกดดันแบบเดียวกับที่นักแต่งเพลงซิมโฟนีหลังยุคเบโธเฟนต้องเขียนเพลงซิมโฟนีต่อมา ริคาร์ด ชเตราส์ บอกว่า “…….จะให้ผมแต่งเพลงแบบนี้ได้ยังไงดี โดยไม่ต้องนึกไปถึงอัจฉริยะคนนั้นแห่งกรุงเวียนนาที่กำลังหัวเราะร่วน…..”

ปรากฏการณ์มรดกดนตรีเบาสมองแห่งกรุงเวียนนา จาก “ไมเคิล พาเมอร์” ถึงโยฮันน์ ชเตราส์ (ลูก) สะท้อนให้เห็นถึงการก่อกำเนิดขึ้นการต่อสู้บุกเบิกเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากบริบทสังคมที่สูงด้วยมาตรฐานของคำว่า “ดนตรี” จากดนตรีชั้นสองกลายเป็นมรดกดนตรีในรั้วในวัง, เอาชนะใจผู้ฟังดนตรีในทุกระดับจากสามัญชนถึงดุริยกวีระดับนักปราชญ์ทั้งหลาย อะไรหนอคือกุญแจสู่ความสำเร็จนั้น ผู้เขียนคิดว่า มันคือความงดงามจับใจและจริงใจอย่างเป็นธรรมชาติแห่งเสียงดนตรีที่ทะลุทะลวงเส้นแบ่งพรมแดนทางความรู้สึกทั้งปวง ของผู้คนในทุกระดับชนชั้นนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image