พอเพียง คือ”ความสุข”

ต้องมีเงินมากแค่ไหนถึงเรียกได้ว่า “รวย” เกินแสน เกินล้าน หรือต้องมีหลักสิบ หลักร้อยล้านขึ้นไป

ระหว่าง “ลุงชัย” ผู้ซึ่งถูกล็อตเตอรี่

รางวัลที่ 1 ได้เงินมา 10 ล้านบาท “สมชาย” เป็นเจ้าของธุรกิจมียอดขาย

ปีละ 50 ล้านบาท “สมใจ” เป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทเอกชน เงินเดือน 2 แสนกว่าบาท หรือต้องเป็นมหาเศรษฐีใหญ่ระดับ “แจ๊ก หม่า, บิล เกตต์ หรือ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” โน่นเลย

Advertisement

หลักหมื่นสำหรับบางคนก็มากแล้ว แต่บางคนมีระดับร้อยล้านพันล้านยังไม่พอ

เทียบกันที่เงินในบัญชีหรือมูลค่าทรัพย์สินที่แต่ละคนมี เราอาจวัดความแตกต่างได้ว่าใครรวยกว่าใคร แต่วัดไม่ได้ว่า “ใครมีความสุขมากกว่ากัน”

ไม่ว่าจะเป็นลุงชัย, สมใจ หรือมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ก็อยู่บ้านได้ทีละหลัง ใช้รถได้ทีละคัน นอนบนเตียงได้ทีละหลัง และมีเวลาในแต่ละวัน 24 ชั่วโมงเท่ากัน

Advertisement

ทำให้นึกถึงคำสอนของ “พ่อ” เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวพระราช

ดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้แก่คนไทยมานานกว่า 40 ปีแล้ว

“…คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้…” พระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗

20 กว่าปีต่อมา

“…เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย…

“…พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น…” พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

เว็บไซต์มูลนิธิชัยพัฒนา (http://www.chaipat.or.th) อธิบายคำว่า “เศรษฐกิจ

พอเพียง” ว่า เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

แนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ประกอบด้วย

๑.ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต

๒.ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต

๓.ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง

๔.ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ

๕.ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวไว้ในมติชนรายวันฉบับวันที่ 4 ธ.ค.2554 ที่ผ่านมาถึงเรื่องนี้ว่า

“ในความคิดของผม เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักของธรรมะ ปรัชญา มากกว่าหลักของเศรษฐศาสตร์ที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างเรื่องกินอยู่ ใช้จ่ายอย่างพอเพียง ดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท ตรงนี้พยายามพูดให้คนเข้าใจ แต่พอมีคำว่าเศรษฐกิจเข้ามา คนก็นึกว่าคำพอเพียงจะต้องนึกถึงความยากจน ความประหยัด

“ในภาพรวมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนเหมือนกับพระพุทธเจ้าเตือน คือให้มีสติ ศีล สมาธิ ปัญญา จุดเริ่มต้นคือ ต้องมีสติก่อน พอมีสติก็ต้องรักษาศีลปฏิบัติสิ่งต่างๆ

ให้ถูกต้องด้วยเหตุและผล แล้วใช้ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง ผลสุดท้ายชีวิตก็จะสมดุล”

คำหลักๆ ที่พระราชทานไว้ 3 คำ คือ “พอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน”

คำ 3 คำนี้ ขั้นตอนคล้ายกับ “ศีล สมาธิ ปัญญา” เช่นคำว่า พอประมาณที่เกิดขึ้นในแต่ละเรื่อง แต่ละกิจกรรม ก็มีความพอประมาณอยู่ในแต่ละเรื่องอยู่แล้ว แต่ละคนก็มีความพอประมาณไม่เหมือนกัน

สิ่งที่จะต้องทำอันดับแรกคือ การประเมินตัวเองก่อนที่จะลงมือทำกิจกรรมหรือเรื่องใดๆ เมื่อประเมินตัวเองได้ก็ดำเนินการไปด้วยหลักของเหตุและผล โดยใช้ปัญญาเป็นเครื่องนำทางคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ

ดร.สุเมธย้ำว่า การสร้างภูมิคุ้มกันคือ ความไม่ประมาท ไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไร ก็ต้องมีแผนการรองรับหรือเตรียมการรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การคิดไว้ล่วงหน้าเพื่อที่จะได้มีทางเลือก ที่ในสมัยใหม่จะพูดกันว่าเมื่อมีทางเลือกก็จะมีทางรอด

“เงิน” อาจซื้อความสุขบางอย่างได้ แต่ความพอใจในสิ่งที่มี และเป็น ต่างหากที่ทำให้เรามี “ความสุข”

คำสอนของ “พ่อ” จึงนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image