ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด

เป็นเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ นับเป็นเวลา 70 ปีที่ทรงงานเช่นเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงแปรพระราชฐานเพื่อ “ทำราชการ” ตามหัวเมืองต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย ทำให้ทรงมีที่ประทับหลายแห่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาค

กล่าวสำหรับสถานที่ประทับทรงงานของล้นเกล้าล้นกระหม่อมรัชกาลที่ 9 มีอย่างน้อย 13 พระตำหนักด้วยกัน ได้แก่ 1.พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กรุงเทพฯ 2.พระตำหนักวังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ 3.พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ 4.พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร 5.พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส

6.พระตำหนักกว๊านพะเยา จ.พะเยา 7.พระตำหนักเขาน้อย จ.สงขลา 8.พระตำหนักเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ 9.พระตำหนักดอยตุง จ.เชียงราย 10.พระตำหนักหนองประจักษ์ จ.อุดรธานี

Advertisement

11.พระตำหนักสิริยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา 12.เรือนรับรองที่ประทับแหลมหางนาค จ.กระบี่ และ 13.พระตำหนักเขียว จ.ชัยภูมิ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่นับรวมที่ประทับชั่วคราวที่เรียกว่าพลับพลาอีกต่างหาก วันนี้จึงตั้งใจชวนคุยเกี่ยวกับพลับพลาทรงงานค่ะ

ค้นข้อมูลจากหนังสือพจนานุกรมฉบับมติชน ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2547 หน้า 614 คำว่า “พลับพลา” เป็นคำนาม หมายถึงโรงประทับชั่วคราวสำหรับรับรองเจ้านาย

Advertisement

ข้อมูลจากหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน “พลับพลา” หมายถึง ที่ประทับ

ชั่วครั้งคราวสําหรับรับรองพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่พสกนิกรว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้ชีวิตติดดิน กินง่าย อยู่ง่าย ยกตัวอย่างปลาทูทอดเป็นเมนูทรงโปรดที่เสวยได้บ่อยๆ ทรงโปรด

ผัดผักทุกชนิดใส่หมู เนื้อน้อยๆ ฯลฯ ในด้านที่อยู่อาศัยก็เช่นเดียวกัน โดยทุกครั้งที่เสด็จฯไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทรงยึดหลัก 3 ประการ นั่นคือ “ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด”

พระราโชบายหลัก 3 ประการดังกล่าว สะท้อนออกมาผ่านพลับพลาที่ประทับทรงงานนี่เอง ยกตัวอย่าง “ศาลาทรงงานฉะเชิงเทรา” เป็นเรือนเดี่ยวชั้นเดียว ทางจังหวัดสร้างถวายเมื่อคราวเสด็จลงพื้นที่เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522

“พระตำหนักสามจั่ว” อยู่ภายในศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เป็นเรือนไม้ขนาดเล็กมีหลังคาจั่ว 3 จั่ว ทรงออกแบบเองและใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้นเมื่อปี 2525

“พลับพลาทรงงานเขาค้อ” ใช้เป็นที่ประทับชั่วคราวเมื่อครั้งเสด็จฯไปยังน้ำตกศรีดิษฐ์และทรงเยี่ยมราษฎร อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2527 ปัจจุบันพสกนิกรใน จ.เพชรบูรณ์ มีการปรับปรุงให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้

“พลับพลาทรงงานภูผายล” ที่อุทยานแห่งชาติภูผายล อ่างเก็บน้ำห้วยหวด บ้านห้วยหวด ต.จันทร์เพ็ญ อ.เต่างอย จ.สกลนคร เป็นเรือนคอนกรีตชั้นเดียว

“ศาลาทรงงานบึงบัวบากง” ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ใช้เป็นสถานที่ประทับทรงงานเมื่อยามเสด็จฯไปทรงเยี่ยมพสกนิกรชาวอำเภอรือเสาะและอำเภอใกล้เคียง จะมีอีกภาพที่ประชาชนไทยคุ้นตา คือ ภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประทับนั่งในเรือพายพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรเพื่อสำรวจแหล่งน้ำ หนองบัวบากง เป็นต้น

นาทีนี้ เวลาดูสารคดีพระราชประวัติทรงงานไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอในรูปแบบภาพยนตร์ ภาพถ่าย ภาพวาด ขออนุญาตแนะนำว่าลองสังเกตสถานที่ประทับทรงงานเพิ่มเติม จะเห็นว่าทรงปฏิบัติพระองค์เองเป็นต้นแบบให้เห็นลึกซึ้งถึงหลัก “ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด” ซึ่งเป็นหลักการที่พวกเราประชาชนคนไทยสามารถน้อมนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ทุกคน

…จะเกิดอีกกี่ชาติ ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image