24 มิถุนายน 2475 ‘ประชาธิปไตย’ ไทยครบรอบ90ปี

รถถังของคณะปฏิวัติเคลื่อนเข้าควบคุมพื้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

วันที่ 24 มิถุนายน 2565 นี้ “ประชาธิปไตย” ของประเทศจะมีอายุครบ 90 ปี เส้นทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ในทิศทางใด ก็ต้องเฝ้าดูกันต่อไป

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 รวมทั้งช่วงเวลาในระยะนั้น มีบางแง่มุมที่นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ด้วยหลากหลายบทความที่จะบอกเล่า เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 และบรรยากาศบ้านเมืองก่อน-หลังการปฏิวัติ ดังนี้

พระยาพหลพลพยุหเสนากับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ในงานกฐินคณะราษฎร พ.ศ.2478 (ภาพจาก หนังสือสมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 1 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ พ.ศ.2556)

 

 

Advertisement

 

 

 

 

 

 

หนึ่งคือบทความของ พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ ที่ชื่อว่า “นักเรียนนายร้อยรุ่น 2474 กำลังสำคัญเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ที่รวบรวมบันทึกของอดีตนักเรียนนายร้อยรุ่นนั้นหลายนาย

ตัวอย่างเช่น บันทึกของ จอมพล ประภาส จารุเสถียร เมื่อครั้งเป็นนักเรียนนายร้อย ตุ๊ จารุเสถียร ที่บันทึกว่า

“เจ้านายชั้นพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ ได้นั่งโต๊ะอาหารโต๊ะหนึ่งต่างหากออกไป เขาเรียกว่า ‘โต๊ะเจ้า’ ที่โต๊ะเจ้าปูด้วยผ้าขาว ขณะที่นักเรียนนายร้อยทั่วไปใช้ผ้าน้ำมันสีดำปู เนื่องจากเป็นผ้าที่เช็ดล้างทำความสะอาดได้ง่าย ใช้น้ำล้างโดยไม่ต้องซักแล้วเอาผึ่งแดด มีแต่โต๊ะเจ้าโต๊ะเดียวเท่านั้นที่ปูด้วยผ้าขาวสะอาด ส่วนจานชามต่างๆ ของนักเรียนนายร้อยและนักเรียนนายดาบทั่วไปใช้จานชามอะลูมิเนียม เพราะว่าถ้าใช้จานชามกระเบื้องจะแตกหักง่ายในเวลาล้างหรือยกทำความสะอาด หรือเวลานักเรียนนายร้อยใช้ช้อนเคาะจานเคาะชามนั้น แตกต่างไปจากโต๊ะเจ้าที่ใช้จานและชามกระเบื้องอย่างดีสั่งมาจากห้างฝรั่งมีลวดลายสวยงาม

บ๋อยที่เสิร์ฟตามโต๊ะก็มีการแบ่งแยกเช่นกัน โต๊ะเจ้าใช้บ๋อยสองคน แต่ของนักเรียนนายร้อยทั่วๆ ไปใช้บ๋อยคนเดียวต่อสองโต๊ะ อันเท่ากับแสดงให้เห็นว่ามีสิทธิแตกต่างกันในเวลากินอาหาร แล้วอาหารก็ยังแตกต่างกันอีกด้วย กล่าวคือของเจ้ามีสำรับพิเศษส่งมาจากในวัง ห่อผ้าขาวโดยมหาดเล็กนุ่งผ้าม่วงมาส่งที่โต๊ะ แก้ผ้าขาวออกเชิญสำรับมาวางที่โต๊ะ พวกเจ้านายก็เสวยกันที่โต๊ะ ของอย่างที่นักเรียนนายร้อยกิน ท่านไม่เสวย ทำให้พวกเรามีความรู้สึกว่า พวกเจ้าทำอะไรและมีอะไรผิดแผกแตกต่างไปจากพวกนักเรียนนายร้อยและนักเรียนนายดาบธรรมดา”

นั่นคืออารมณ์ของสังคมบางส่วน ก่อน 24 มิถุนายน 2475

ทหารบก ทหารเรือ และนักเรียนนายร้อยที่เข้าร่วมกับคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมตัวกันที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

 

 

 

 

 

 

 

หนึ่งคือบทความของ ณัฐพล ใจจริง ที่ชื่อ “‘ประเทศนี้เป็นของราษฎร’ : ความทรงจำของ ‘เยาวรุ่น’ เมื่อ 90 ปีก่อน” ที่รวบรวมความรู้สึกของเยาวชนคนหนุ่มสาวเวลานั้น เมื่อรู้ข่าวการปฏิวัติของคณะราษฎร ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ตัวอย่างหนึ่งที่ สวัสดิ์ คำประกอบ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ 12 สมัย ที่ในวันนั้นยังเป็นนักเรียนมัธยมวัดราชบพิธ เล่าถึงประสบการณ์ครั้งนั้นว่า

“…พวกเราวิ่งบ้างเดินบ้างไปเสาชิงช้า เพื่อไปต่อที่พระบรมรูปทรงม้า มีชาวบ้านมารวมตัวกันที่พระบรมรูปทรงม้าเป็นหมื่น พูดกันให้แซดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพระองค์ท่าน และมีการแจกใบปลิว…มีข้อความในใบปลิว 2 แผ่นใหญ่ อธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลง และพูดถึงผู้ริเริ่ม คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมด้วย พอเวลาประมาณ 10 โมงเช้า คนที่พูดเหมือนในรูปใบปลิว จึงยืนฟังอยู่ ท่านพูดว่า พวกเราคณะทหารและพลเรือน ทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากในหลวง เพื่อเอาอำนาจในการปกครองประเทศมาให้ประชาชน ตามอย่างอารยประเทศ ที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย…ผมอยู่ที่พระบรมรูปทรงม้าถึงเที่ยงวัน ฟังชาวบ้าน
ที่มาชุมนุมนับหมื่นคนพูดวิจารณ์รัฐบาลของในหลวง”

ประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2479 (ภาพจาก เฟซบุ๊ก ภาพถ่าย “ศรีจามร” @srijamorn)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไม่เพียงแต่เท่านั้น การปฏิวัติ 2475 ยังจุดประกายให้กับคนหนุ่มสาวอีกหลายต่อหลายรุ่น เช่น กรณีกลุ่มอนุรักษนิยมก่อกบฏบวรเดชขึ้น เมื่อกำลังของทัพกองบวรเดชยกทัพมาประชิดพระนครในกลางเดือนตุลาคม พ.ศ.2476 ไม่เพียงกระตุ้นให้ทหารกองหนุนจำนวนมากรายงานตัวเข้าประจำการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเหล่าพลเมืองหญิงชาย ลูกเสือ และนักเรียนหญิง อาสาสมัคร เข้าช่วยเหลือรัฐบาลในการต่อต้านฝ่ายกบฏ

ตัวอย่างหนึ่งคือ นางสาวพยงค์ กลิ่นสุคนธ์ เยาวรุ่นสตรีชาวสมุทรสาคร ที่เดินทางจากบ้านมาสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อต่อรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือไปยังนครราชสีมา ขอสมัครเป็นอาสาสมัครไปแนวหน้าปราบกบฏบวรเดช

หรือตัวอย่างของลูกเสือคนหนึ่งสังกัดโรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง สวมเครื่องแบบแล้วหายตัวออกไปจากบ้านไปช่วยทหารลำเลียงอาวุธทั้งคืน ที่ให้คำอธิบายกับพ่อแม่ว่า ตนเองไปช่วยปกป้องรัฐธรรมนูญ หากไม่มีรัฐธรรมนูญจะอยู่ได้อย่างไร

หนึ่งคือบทความของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ “อ่านความหมาย ‘หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’ ในสมัยคณะราษฎร” กล่าวถึงเหตุการณ์หลังวันที่ 24 มิถุนายน ที่มีการสร้างอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั่นคือ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “หมุดคณะราษฎร”

ภาพหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญพร้อมด้วยคณะราษฎรคนสำคัญในหน้า 1หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 24 มิถุนายน 2481 (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ)

หมุดคณะราษฎร เคยถูกฝังตรึงอยู่กลางลานพระบรมรูปทรงม้า อันเป็นสถานที่ที่คณะราษฎรประกาศการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ ดังข้อความที่ปรากฏบนหมุดอย่างชัดเจน ความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

การประกอบพิธีฝังหมุดคณะราษฎร นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมคณะผู้ก่อการ ในการวางหมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2479 เวลาบ่าย 14.30 น.บางส่วนว่า

“พี่น้องผู้ร่วมตายทั้งหลาย

ท่านยังระลึกได้หรือไม่ว่าตำบลใดเป็นที่ๆ เราได้เคยร่วมกำลัง ร่วมใจ ร่วมความคิด กระทำการ, เพื่อขอความอิสระเสรีให้แก่ปวงชนชาวสยาม ข้าพเจ้าเชื่อว่าบางท่านคงจะจำได้แต่เพียงเลือนๆ และบางท่านที่ต้องถูกใช้ไปทำหน้าที่อื่นๆ ที่ห่างไกลออกไป ก็คงไม่ทราบ ว่าจุดนั้นอยู่แห่งใดแน่. ข้าพเจ้าเห็นว่าพวกเราชาวสยามไม่ควรจะหลงลืมที่สำคัญอันนี้เสียเลย, เพราะเป็นที่กำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์สยาม, ซึ่งเราถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งเป็นมิ่งขวัญของประชาชาติด้วย”

จึงเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าการฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญประกอบพิธีในวันที่ 10 ธันวาคม 2479 อันตรงกับช่วงเวลาการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2479 ที่มีการจัดงานตั้งแต่วันที่ 8-13 ธันวาคม ที่มีการจัดงานถึง 3 แห่ง ได้แก่ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชอุทยานสราญรมย์ และสนามหลวง โดยสมาคมคณะรัฐธรรมนูญพระนครและธนบุรีเป็นเจ้าภาพจัดงานกำหนดสถานที่ ขณะที่ราชการประกาศหยุดราชการ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-11 ธันวาคม

ที่กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนจากบทความของนักเขียนทั้ง 3 ท่าน ส่วนที่เหลือขอท่านผู้อ่านได้โปรดติดตามจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมิถุนายนนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image