แรงงานข้ามชาติ ตกหล่น บนเส้นทาง (วิกฤต) สุขภาพ 2 ปีที่พ้นผ่าน ‘ยังไม่สายสำหรับการเยียวยา’

แรงงานข้ามชาติ ตกหล่น บนเส้นทาง (วิกฤต) สุขภาพ 2 ปีที่พ้นผ่าน ‘ยังไม่สายสำหรับการเยียวยา’

สถานการณ์ความเข้มข้นลดลงตามลำดับสำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนเร็วๆ นี้จ่อได้ถอดหน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ

ทว่า วิกฤตที่ผ่านพ้น ไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับบริการสุขภาพที่ดีเพียงพอ

มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เพิ่งจัดสัมมนา ‘แนวทางในการจัดบริการด้านสุขภาพ การเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ และแนวทางในการช่วยเหลือเยียวยาสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติ : บทเรียนจากช่วงวิกฤติสุขภาพในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19’ ที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ ภายใต้การสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการอียูรับมือโควิด

แม้อยู่นอกระบบประกัน

แต่การเยียวยาคือเรื่องสำคัญ

ปัญจวรี พัวพันธ์ศรี ผู้จัดการ โครงการอียูรับมือโควิด เผยว่า โครงการอียูรับมือโควิดเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภาคประชาสังคม ช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบางให้เข้มแข็ง โดยมีการสนับสนุนเชิงนโยบายทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะกลุ่มคนจนเมือง นักเรียน คนไร้รัฐ ชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ การพัฒนากลุ่มเปราะบางให้เข้มแข็งพอจะรับมือกับภัยต่างๆ ส่วนสำคัญคือเรื่องนโยบาย โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน

Advertisement

ด้าน ฟรานเชสก้า จิลลี่ ผู้ช่วยเลขานุการฝ่ายความร่วมมือ สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า การจัดบริการด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องสำคัญในสถานการณ์นี้ แม้ว่าในวิกฤตที่ผ่านมามีสถานการณ์มากมายที่เราเผชิญ แต่ในอนาคตก็ยังมีวิกฤตที่ต้องเตรียมตัวในการรับมือ

“แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มที่เข้ามาทำงานและมีส่วนช่วยสร้างการพัฒนาในพื้นที่ ขณะที่ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก มีการวิจัยในพื้นที่ว่าแรงงานข้ามชาติต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุข จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องสนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ” ฟรานเชสก้ากล่าว

ปภพ เสียมหาญ

ในขณะที่ ปภพ เสียมหาญ ผู้แทนมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา นำเสนอสถานการณ์การเข้าถึงเยียวยาของแรงงานข้ามชาติว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่โควิดระบาดรุนแรงมีการพูดถึงว่าแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มที่ทำให้เกิดการระบาด ขณะที่แรงงานข้ามชาติเป็นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ เช่น มีการค้างจ่าย การถูกลอยแพ ค่าจ้างไม่เป็นธรรม การไม่สามารถทำเอกสารทำงานต่างๆ แต่แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่สนใจเรื่องปากท้องเป็นสำคัญ กลัวว่ายื่นเรื่องไปอาจถูกเลิกจ้างและไม่สามารถทำงานในไทยต่อได้ รวมถึงกรอบเวลาการยื่นเรื่องต่างๆ ใช้เวลาพอสมควร ต้องไปกรอกคำร้องขณะกักตัว ซึ่งเป็นไปไม่ได้

Advertisement

“แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความช่วยเหลือ แม้ว่ารัฐจะโปรโมตว่าเราไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลัง โครงการ ม.33 เรารักกันและอื่นๆ มีเงื่อนไขว่าผู้ที่เข้าถึงได้ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทยเท่านั้น ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงได้ แม้ว่าจะจ่ายเงินสมทบก็ตาม เราจึงทำแคมเปญเรียกร้องว่าโครงการนี้มีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ โดยส่งเรื่องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่คำวินิจฉัยบอกว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติ รัฐธรรมนูญบอกว่าการเลือกปฏิบัติทางสัญชาติไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ เรื่องการเยียวยากรณีว่างงานแรงงานที่สถานประกอบการต้องปิด ซึ่งต้องกรอกข้อมูลทางออนไลน์เป็นภาษาไทยและนายจ้างต้องใส่ชื่อแรงงานในระบบ การเข้าถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติจึงไม่ง่ายเลย” ปภพเล่า

ก่อนเสนอแนะว่า ไม่ว่าแรงงานข้ามชาติจะอยู่ในระบบประกันหรือไม่ แต่การเยียวยาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการแพร่ระบาดที่สร้างความทุกข์ทรมาน แต่การเยียวยาแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องที่เรายังต้องทำอยู่ ยังไม่สายที่ภาครัฐจะหันมาให้ความสนใจและให้ความชัดเจนเรื่องการเยียวยา

‘มองคนให้เป็นคน’

จะไทยหรือใคร ก็ต้องได้สิทธิเท่าเทียม

ลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2563 รัฐบาลประกาศให้ทุกกิจการที่มีความเสี่ยงหยุดกิจการ เราให้ความช่วยเหลือโดยให้ขึ้นทะเบียนว่างงานโดยเหตุสุดวิสัยทางออนไลน์ ซึ่งนายจ้างต้องลงทะเบียนให้ลูกจ้าง โดยเราจ่ายให้เท่ากันไม่ว่าแรงงานไทยหรือต่างชาติ ยกเว้นลูกจ้างที่เข้ามาโดยไม่ถูกต้องและไม่ได้ขึ้นทะเบียนประกันสังคม ซึ่งทางเราไม่สามารถทราบได้ ช่วงโควิดทำให้เราเห็นกฎหมายที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย และต้องหาทางช่วยเหลืออย่างถูกต้อง

ด้าน อุกฤษณ์ กาญจนเกตุ ที่ปรึกษาสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย อธิบายว่า แม้ช่วงโควิดจะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน แต่แรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายมีความลำบากกว่ามาก ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากไหนได้ การส่งเสริมการจ้างงานให้ถูกกฎหมายเป็นปัจจัยที่จะลดปัญหาต่างๆ ได้ ขณะที่ไทยถูกจับตาเรื่องการค้ามนุษย์ ถ้ามีแรงงานเข้ามาไม่ถูกกฎหมายก็จะมีปัญหาค้ามนุษย์ตามมา เราจึงต้องมีกระบวนการชักจูงให้ทำแรงงานข้ามชาติให้ถูกกฎหมายให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการทำงานถูกกฎหมายนั้นไม่ต่างจากการเข้ามาแบบผิดกฎหมาย

ถึงคิว สุธาสิณี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ยกตัวอย่างปัญหาช่วงการระบาดระลอกสองที่สมุทรสาครว่า มีการล้อมรั้วปิดตลาดกุ้ง แต่ช่วงแรกไม่มีการจัดหาอาหารให้ เพราะงบประมาณข้าวกล่องมีเฉพาะสำหรับคนไทย เรื่องการตรวจโควิดเชิงรุกที่สมุทรสาครนั้นคนไม่มีเอกสารก็ไม่สามารถตรวจได้ เรื่องการเยียวยาพื้นที่สีแดงก็ให้เฉพาะคนไทย เรื่องวัคซีนนั้นก็ให้เฉพาะผู้ประกันตน ทำให้มีแรงงานข้ามชาติตกหล่นจำนวนมาก

“การแก้ปัญหาต้องคำนึงเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน ต้องไม่เลือกปฏิบัติ ระเบียบบางอย่างของรัฐราชการต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังแรงงาน แรงงานข้ามชาติต้องได้สิทธิเยียวยาเท่าแรงงานไทย รัฐต้องวางแผนทำงานร่วมกันในการรับมือการแก้ไขปัญหา ต้องทำงานเชิงรุก ร่วมกันคิดรูปแบบการรับมือวิกฤตแต่ละครั้ง และมาตรการรัฐต้องออกแบบให้รองรับแรงงานข้ามชาติเพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลาย” สุธาสิณีกล่าว

โควิดก็ติด

‘เด็กข้ามชาติ’ ความเสี่ยงที่ยิ่งเพิ่ม

ด้าน ชมพูนุท ป้อมป้องศึก นักวิชาการสิทธิมนุษยชนเชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม. มีการทำข้อแนะนำและรายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเทศไทยทุกปี ช่วงการระบาดก็มีรายงานผลกระทบจากโควิดและมีข้อเสนอ เช่น ควรมีมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรค การเข้าถึงวัคซีนต้องคำนึงถึงกลุ่มที่เสี่ยงตกหล่น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต้องคำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงของกลุ่มเปราะบางด้วย เด็กที่ได้รับผลกระทบต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ต้องมีการสำรวจเด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาและมีมาตรการช่วยเหลือต่อไป นอกจากนี้ รัฐควรเร่งจัดหาวัคซีนให้กลุ่มเปราะบางและแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย เนื่องจากส่งผลกระทบถึงคนไทยเพราะเขาทำงานและอยู่ร่วมกับเรา

จากนั้น รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอข้อเสนอจากงานวิจัย “เด็กข้ามชาติในสภาวะวิกฤติสุขภาพ: สถานการณ์และทางออก” ว่า ข้อมูลสถิติเด็กข้ามชาติที่มีนั้นตัวเลขจำนวนไม่ชัดเจน แต่มีพลวัตการอยู่อาศัยของเด็กในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก ปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังคือ

1.การเข้าไม่ถึงทั้งเรื่องการจดทะเบียนเกิด การศึกษา และบริการสุขภาพที่จำเป็น

2.การตกหล่นทั้งเรื่องสุขภาพ การศึกษาและการคุ้มครอง

3.เด็กข้ามชาติจะมีความเสี่ยงและเปราะบางเพิ่ม

“ข้อเสนอแนะจากการศึกษาคือ 1.กลไกและมาตรการเฉพาะหน้าที่ชัดเจนในการติดตาม ประเมิน เฝ้าระวัง และช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบโควิดต่อเด็กข้ามชาติ 2.การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กข้ามชาติและบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.นโยบายระยะยาวที่ชัดเจนภายใต้แนวคิด replacement migration

หากประเทศไทยมีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนให้ความสำคัญกับประชากรกลุ่มนี้ว่าสามารถเป็นกำลังแรงงานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยได้ในอนาคต ก็จะทำให้นโยบายและกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลการเข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ ทั้งการจดทะเบียนการเกิด การศึกษา และสุขภาพ รวมถึงการคุ้มครองเด็กจากความเสี่ยงและความปลอดภัยในด้านต่างๆ มีความเป็นเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน ชัดเจนและมีแนวทางลงสู่ระดับการปฏิบัติในทุกเรื่องที่เป็นไปในเป้าหมายเดียวกัน” รศ.ดร.เฉลิมพลกล่าว

โรงพยาบาล ‘แบกรับ’ ยาวนาน

เลข 13 หลักคืออุปสรรคการ ‘เข้าถึง’

ด้าน ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล เจ้าหน้าที่งานคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า เด็กอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมีความเปราะบางเพิ่มขึ้นในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงบริการ ก่อนหน้านี้สิทธิต่างๆ ขึ้นอยู่กับเลข 13 หลัก จนเป็นอุปสรรคการเข้าถึงบริการและการเยียวยา แต่วิกฤตนี้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง หลายภาคส่วนพยายามผลักดันนโยบายและหลักการปฏิบัติที่เอื้อต่อสิทธิเด็กอพยพมากขึ้น

“เรื่องการคุ้มครองเด็กจะทำอย่างไรให้ระบบและกลไกที่มีอยู่เข้มแข็ง ใช้ได้จริงและสอดคล้องบริบทในพื้นที่ เราต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กทุกคนในชุมชนโดยต้องไม่ตกหล่นเด็กข้ามชาติ นอกจากนี้ ต้องผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพและการจดทะเบียนการเกิดให้ครอบคลุมเด็กข้ามชาติ ความร่วมมือของทุกฝ่ายจะเป็นปัจจัยสำคัญในวิกฤต นอกจากความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนแล้ว ทำอย่างไรระบบที่มีจะเข้มแข็งและครอบคลุมทุกคน” ปริญญากล่าว

มนัญชยา อินคล้าย ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กข้ามชาติ เล่าว่า จากการระบาดที่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร จนมีการปิดตลาด แม่และเด็กบางคนต้องแยกกัน นายจ้างที่มีแรงงานไม่ถูกกฎหมายก็กังวลจนเอาแรงงานไปทิ้งข้างทาง หอพักก็ไล่แรงงานไม่ถูกกฎหมายออก เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้ สถานการณ์มาคลี่คลายตอนที่รัฐประกาศว่าจะดูแลทุกคน ไม่ต้องไปไหน ให้อยู่กับที่ นายจ้างเริ่มคลายกังวล แต่หลังจากนั้นเด็กถูกกักตัวอยู่บ้าน โรงเรียนปิด เด็กหลายคนตึงเครียด เพราะออกไปเล่นข้างนอกไม่ได้ เด็กบางคนคลอดออกมาแล้วยังไม่เคยเจอหน้าพ่อเพราะพ่อกลับประเทศไปทำบัตรยังไม่ได้กลับมา

“ในการระบาดระลอกสามเริ่มมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น โรงพยาบาลสนามไม่เพียงพอ แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงการรักษา โดยเฉพาะช่วงแรกที่ต้องจ่ายค่าตรวจโควิดเอง ทำให้เด็กที่ติดเชื้อไม่สามารถไปตรวจได้จนมีการเสียชีวิต แรงงานที่ไม่มีบัตรลำบากมาก อยากให้เปิดให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติเข้าถึงบัตรประกันสุขภาพและใบเกิด เพราะช่วงโควิดที่สมุทรสาครจำกัดคิวแจ้งเกิดแต่ละวัน กว่าจะได้ใบเกิดยากมาก พอคิวยาวพ่อแม่บัตรหมดอายุก็กลายเป็นคนเถื่อนอีก” มนัญชยากล่าว

ด้าน สุธิดา ศรีมงคล ผอ.กลุ่มพัฒนาระบบคุ้มครอง กรมกิจการเด็กและเยาวชน ชี้แจงว่า การช่วยเหลือเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ยึดการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก โดยค้นหาเด็กที่มีความเสี่ยง ให้เด็กได้รับความเช่วยเหลือทันท่วงที ให้เด็กมีผู้ดูแลและปลอดภัยผ่านกลไกและช่องทางการช่วยเหลือเชิงรุกต่างๆ มีการช่วยเหลือเฉพาะหน้ามีการให้ความปลอดภัย การรักษา การดำรงชีวิตเบื้องต้น นอกจากนี้ คือการจัดทำแผนรายบุคคล

สายด่วนหลากภาษา อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว

‘ไทยแคร์’ ดูแลก่อนถึงหมอ

ในช่วงท้าย อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวสรุปว่า ในสถานการณ์โควิดแรงงานข้ามชาติถูกเลิกจ้างไม่มีรายได้ แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐแต่แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึง เพราะระบบไม่เอื้อ เด็กข้ามชาติเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล เข้าไม่ถึงการศึกษา หลุดจากระบบ ประชากรข้ามชาติเข้าไม่ถึงการตรวจโควิดและการรักษา

“ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าเราไม่พร้อม ตั้งแต่เรื่องสาธารณูปโภคที่ดีพอสำหรับทุกคนเพื่อให้เราพ้นจากวิกฤตได้ แต่เราไม่ยอมแพ้ เรามีอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) มีสถานประกอบการที่เข้ามาจัดการด้วยตัวเอง มีสายด่วนหลายภาษา มีกลุ่มไทยแคร์ช่วยดูแลก่อนถึงมือหมอ ที่สำคัญเราสร้างความร่วมมือ ทำความเข้าใจ ทำงานด้วยกันมากขึ้น ไว้วางใจกันมากขึ้น เราร่วมกันเรียนรู้ว่าเราไม่อยู่คนเดียว เราไม่สามารถปล่อยใครสักคนไว้ข้างหลังให้เดือดร้อนได้ เพราะจะส่งผลถึงทุกคนในสังคม” อดิศรกล่าว

ด้าน นพ.ประณิธาน รัตนสาลี ที่ปรึกษางานพัฒนาระบบบริการเฉพาะ กองบริหารการสาธารณสุข เผยว่า แรงงานข้ามชาติ มีข้อจำกัดการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ที่ผ่านมาแม้ว่าผู้ป่วยไม่มีสิทธิรักษาแต่โรงพยาบาลต้องให้การรักษาอยู่แล้ว แต่มีปัญหาว่าไม่สามารถเก็บค่าบริการได้ จึงมีการแบกรับค่าใช้จ่ายมายาวนาน

“การให้บริการสาธารณสุขช่วงโควิดนั้นผู้ป่วยที่เป็นแรงงานข้ามชาติมักอยู่ในพื้นที่ชายขอบซึ่งการให้บริการไม่พร้อมจนเกิดข้อจำกัด ช่วงโควิดยิ่งทำให้การบริการติดขัดเมื่อมีผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมจนติดเชื้อง่ายขึ้น เราจึงต้องพัฒนาระบบบริการให้ทั่วถึง และขยายสิทธิประกันสุขภาพไปถึงผู้ติดตามแรงงานคือเด็กข้ามชาติ” นพ.ประณิธานกล่าว

เป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจทิ้งขว้าง ในความเป็นมนุษย์ที่หยัดยืนบนผืนแผ่นดินเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image