Walking Tour 90 ปี 2475 เมืองและสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ในย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ

Walking Tour 90 ปี 2475 เมืองและสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ในย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ

Walking Tour 90 ปี 2475

เมืองและสถาปัตยกรรมคณะราษฎร

ในย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ

ชาตรี ประกิตนนทการ

Advertisement

[มหาวิทยาลัยศิลปากร]

การศึกษาเรื่องเมืองและสถาปัตยกรรมในยุคคณะราษฎรยังมีช่องว่างที่ยังรอการศึกษาอยู่อีกมาก โดยเฉพาะในประเด็นการสร้างเมืองใหม่กรุงเทพฯ ของคณะราษฎรที่แทรกทับลงไปในย่านเมืองเก่าที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ที่ผ่านมานักวิชาการมักเน้นให้ความสนใจเฉพาะไปที่โครงการปรับปรุงถนนราชดำเนินกลางและการก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงความหมายของพื้นที่เมืองเก่าไปอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมไปถึงการก่อสร้างอาคารอีกมากมายแทรกลงไปในพื้นที่ที่มากกว่าแค่ในบริเวณถนนราชดำเนิน

Advertisement

จะเข้าใจประเด็นนี้เราต้องมองลงไปให้ลึกขึ้นมากกว่าลักษณะทางกายภาพของเนื้อเมืองที่อาจจะดูไม่ค่อยต่างกันมากนัก โดยมองไปที่ความหมายใหม่และการจัดการพื้นที่อย่างใหม่ (แม้ว่าจะเป็นพื้นที่เดิมที่สร้างมาตั้งแต่ยุคก่อนหน้า) กฎระเบียบที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่ ตลอดจนรูปแบบการใช้สอยพื้นที่เมืองต่างๆ อย่างใหม่ ผมคิดว่าเราจะมองเห็นภาพของเมืองใหม่ยุคคณะราษฎรในย่านเก่ากรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นอย่างแตกต่างและแยกขาดในหลายมิติออกจากเมืองที่ถูกสร้างขึ้นในยุคก่อนหน้า

Walking Tour 90 ปี 2475 เมืองและสถาปัตยกรรมคณะราษฎรในย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ” ผมจะพาไปเดินดูความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและความหมายใหม่ของย่านเก่ากรุงเทพฯ หลัง 2475 ที่เกิดขึ้นอย่างตอบสนองอุดมการณ์ใหม่และกิจกรรมใหม่ๆ ของประชาชน

ในการเดินชม ผมมี 2 ประเด็นสำคัญที่อยากจะชี้ให้เห็นว่าเมืองใหม่กรุงเทพฯ ยุคคณะราษฎรนั้นแตกต่างออกไปอย่างมากจากเมืองยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ บริเวณรอบสนามหลวงเมื่อ 14 ปีหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.. 2475 (หรือ 76 ปีที่แล้ว) (ภาพถ่ายจากเครื่องบินโดย ปีเตอร์ วิลเลี่ยม ฮันท์ เมื่อปี พ.. 2489)

พื้นที่กึ่งสาธารณะสาธารณะ

ประการแรก พื้นที่เมืองหลายพื้นที่ได้เปลี่ยนจากการเป็น “พื้นที่กึ่งสาธารณะ” มาสู่การเป็นพื้นที่ “สาธารณะ” อย่างแท้จริง สนามหลวง, สวนสราญรมย์, ลานพระบรมรูปทรงม้า, ไปจนถึงถนนหนทางและทางเท้า ฯลฯ คือรูปธรรมของความเปลี่ยนแปลงนี้

สนามหลวง ที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อราว พ.. 2325 มักถูกอธิบายในงานเขียนเกี่ยวกับเมืองและผังเมืองที่ผ่านมาว่าคือ “พื้นที่สาธารณะ” แห่งแรกๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งผมคิดว่าไม่ถูกต้องนัก เพราะสนามหลวงก่อน 2475 คือ “พื้นที่กึ่งสาธารณะ” ที่มีการใช้งานจำกัดจำเพาะสำหรับคนบางกลุ่มและกิจกรรมบางประเภทเท่านั้น ในขณะที่สนามหลวง หลัง 2475 จะเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่หลากหลายครบทุกชนชั้นอย่างแท้จริง

สวนสราญรมย์ เป็นพื้นที่สำคัญอีกแห่งในยุคคณะราษฎร สวนสราญรมย์ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชน ใช้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ประกวดนางสาวสยาม จัดขบวนแห่วันชาติ และกิจกรรมของประชาชนอีกมากมาย เช่น ลิเก งิ้ว จำอวด หนังกลางแปลง ร้านขายของ ฯลฯ ซึ่งเราอาจพูดได้ว่าสวนสราญรมย์หลัง 2475 กลายเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่แห่งเสรีภาพและความเท่าเทียมของประชาชน

(บน) งานฉลองราชดำเนิน สนามหลวง (ล่าง) งานฉลองรัฐธรรมนูญ สวนสราญรมย์

สถาปัตยกรรมคณะราษฎร

ประการที่สอง การเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (สถาปัตยกรรมคณะราษฎร) เพื่อตอบสนองอุดมการณ์ชุดใหม่ในยุคประชาธิปไตย และรองรับกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ ของประชาชนในย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น ตึกโดมธรรมศาสตร์, กลุ่มอาคารศาลฎีกา, ปั๊มน้ำมันสามทหารหน้าศาลหลักเมือง, ซุ้มประตูสวัสดิโสภา และ อาคารสมาคมคณะราษฎร เป็นต้น

ตึกโดมธรรมศาสตร์ สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.. 2479 ออกแบบโดย หมิว อภัยวงศ์ สถาปนิกคนสำคัญในยุคคณะราษฎร เพื่อเป็นอาคารเรียนและสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จัดตั้งขึ้นตาม “หลักการศึกษา” ซึ่งเป็นหนึ่งใน “หลักหกประการ” ของคณะราษฎร ตัวอาคารออกแบบโดยแสดงสัญลักษณ์ “หลักหกประการ” เอาไว้บนยอดโดม คือ ช่องหน้าต่าง 6 บานบนยอดโดม

ประตูสวัสดิโสภา ประตูพระบรมมหาราชวังเพียงแห่งเดียวที่ถูกสร้างขึ้นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยใหม่ยุคคณะราษฎร เมื่อ พ.. 2479 ออกแบบโดย พระพรหมพิจิตร รูปทรงประตูแม้ดูโดยภาพรวมจะเป็นประตูยอดปรางค์ที่ไม่แตกต่างจากประตูอื่น แต่เมื่อเราเดินเข้าไปใกล้ๆ จะพบว่าการออกแบบลวดลายไทยทั้งหมดมีความใหม่พิเศษ ลดทอนรายละเอียดให้เรียบง่ายเหลือเพียงเส้นเรขาคณิต ลวดลายไทยแบบเรขาคณิตเช่นนี้เป็นการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมไทยยุคคณะราษฎรที่สะท้อนทั้งความทันสมัยและอุดมการณ์ประชาธิปไตยไปพร้อมกัน

ระเบียงด้านหน้าอาคารกระทรวงกลาโหม ภายหลัง 2475 (ระหว่างราว พ.. 2479-2482) จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดำริให้มีการต่อเติมมุขโถงด้านหน้าอาคารกระทรวงกลาโหมขึ้น ซึ่งพื้นที่ระเบียงชั้นสองของมุขโถงดังกล่าว ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาตร์ไทยที่สำคัญ คือ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.. 2483 ได้มีมวลชนนิสิตนักศึกษาจากทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ ม.ธรมศาสตร์ รวมตัวกันเดินทางมาที่หน้ากระทรวงกลาโหมเพื่อเรียกร้องให้จอมพล ป. ทำสงครามอินโดจีน เพื่อแย่งชิงดินแดนไทยกลับคืนมาจากฝรั่งเศส ซึ่งในคราวนั้น จอมพล ป. ได้ออกมายืนตรงระเบียงด้านหน้าอาคาร และกล่าวปาฐกถาต่อหน้ามวลชน ตอบรับข้อเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญหนึ่งที่นำไปสู่สงครามอินโดจีนในเวลาต่อมา

อาคารสมาคมคณะราษฎร อาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมคณะราษฎรขนาดเล็ก ตั้งอยู่ภายในสวนสราญรมย์ ไม่ทราบปีก่อสร้างที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างแล้วเสร็จในช่วงระหว่าง พ.. 2478-2480 ความสำคัญของอาคารนี้ อาจถือว่าเป็นอาคารที่ทำการของพรรคการเมืองแห่งแรกของไทย เพราะถูกใช้เป็นที่ทำการของ “สมาคมคณะราษฎร” นอกจากนี้ตัวอาคารน่าจะถูกใช้เป็นอาคารอำนวยการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญอีกหลายปี ในช่วงที่มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญบริเวณสวนสราญรมย์

ตัวอาคารสร้างแบบสมัยใหม่เรียบง่ายตามแนวทางสถาปัตยกรรมคณะราษฎร โดยมีสิ่งที่พิเศษคือ บริเวณผนังด้านหน้าอาคาร มีการก่อสร้างแท่นไม้ขนาดใหญ่เทินพานรัฐธรรมนูญขนาดใหญ่ ลงรักประดับกระจกสีอย่างสวยงาม จากการสำรวจอนุสาวรีย์และสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญในยุคคณะราษฎรที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าไม่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญแห่งใดที่จะสร้างขึ้นอย่างวิจิตรและสวยงามเท่าที่อาคารสมาคมคณะราษฎรเลย

ตึกโดมธรรมศาสตร์

ประตูสวัสดิโสภา

 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยืนตรงระเบียงหน้ากระทรวงกลาโหม ต้อนรับมวลชนเรียกร้องดินแดนคืน 8 ตุลาคม 2483 

อาคารสมาคมคณะราษฎร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image