ปากท้อง เศรษฐกิจ สะกิด‘มวลชนอิสระ ’คืนชีพ?

2มือเปล่าต้านโล่ คฝ.ระหว่างรอคำตอบจากภาครัฐ ปมตรึงราคานํ้ามัน หน้ากระทรวงพลังงาน

แพงทั้งแผ่นดิน!

วาทะอารมณ์ขันที่ขำไม่ออกสำหรับคนไทยในยามนี้

เมื่อข้าวของ สินค้า อาหาร ไปจนถึงน้ำมันถีบตัวขึ้นสูงปรี๊ด สวนทางรายได้ที่ฝืดเคืองหนักมากในช่วงหลังโควิดระบาดหนัก

ระหว่างการรอคอยด้วยความหวังว่าสถานการณ์จะฟื้นไข้ ความทุกข์ยากทั้งกายใจไม่อาจเลือนหายกลบเกลื่อนราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

Advertisement
ก้มกราบ คฝ.วอนอย่าใช้ความรุนแรง เหตุเกิดหน้ากระทรวงพลังงาน ถ.วิภาวดี

กล่าวกันว่า นี่เองคือเหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้ “มวลชนอิสระ” ออกมาสู้ยิบตากันอีกหนหลังสงบนิ่งไปนานนับเดือน ปรากฏกายในสมรภูมิดินแดงเป็นปฐมบทรอบใหม่เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังกิจกรรม “เดินไล่ตู่” จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน สู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งผู้จัดอีกทั้งผู้ร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่คือกลุ่ม “คนเสื้อแดง” และเครือข่าย โดยประกาศยุติการรวมตัวในเวลาราว 18.00 น. โดยประมาณหลังการ “ยืนหยุดขัง” สัญจร

ทว่า มวลชนอีกกลุ่มแยกตัวไปยังสามเหลี่ยมดินแดง โดยส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอาชีวะ รวมถึงกลุ่มทะลุแก๊ส/แก๊ซ

เดิมโปรแกรมหลักมีเพียงการเดินเท้าแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ วางแผนทำกิจกรรมสุดท้ายคือเปิดแฟลชสว่างไสวในเวลาราว 18.00 น. ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ทว่า เหตุการณ์จริงจบที่สมรภูมิดินแดง

Advertisement

มีการขว้างปาประทัด เกิดไฟลุกพรึบที่รถตำรวจ คฝ.ตรึงกำลังควบคุมฝูงชนพร้อมโล่

ช่วง 2 ทุ่มดูเหมือนจะแยกย้าย ก่อนกลับมาจุดพลุแบบรัวๆ เกิดการจับกุมเยาวชนบางราย

สถานการณ์ตึงเครียด และการกลับมาปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ ดันแฮชแท็ก #ม็อบ11มิถุนา65 ทะยานขึ้นยืน 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ไทย

จากวันนั้นเป็นต้นมา สมรภูมิดินแดงไม่เคยเงียบเสียง การนัดหมายทั้งผ่านโลกออนไลน์ และแบบปากต่อปาก นำมวลชนหวนคืนบรรยากาศในช่วงม็อบทะลุแก๊ส/แก๊ซเคลื่อนไหวท่ามกลางความสนใจของผู้คน

ต่อมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยข้อมูลว่า มีผู้ถูกดำเนินคดี 13 ราย ใน 14 คดี ไม่ให้ประกันตัว 11 ราย

ตัดภาพมาในวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มโรนินฝั่งธน และกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย นำโดย ธนเดช ศรีสงคราม หรือม่อน อาชีวะ นัดหมายห้าแยกลาดพร้าว ออกสตาร์ตมุ่งหน้ากระทรวงพลังงาน ถนนวิภาวดี ทวงข้อเรียกร้องประเด็น “ราคาน้ำมัน” ปิดช่องจราจร เจ้าหน้าที่กระทรวงและตำรวจเจรจาไม่เป็นผล คฝ.เดินแถว ก่อนเปิดจราจร แต่ไม่จบเพียงเท่านั้น ม็อบไปต่อยังกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน แยกกษัตริย์ศึก เขตปทุมวัน ผู้ชุมนุมปาถุง “เลือดหมู” จนสีแดงฉานฉาบทับป้ายบอกชื่อกระทรวง

กระทั่งวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็หาได้ว่างเว้น นัดม็อบผุดในจุดต่างๆ คู่ขนานเสียงเพลงจาก “ดนตรีในสวน” และการแสดงเปิดหมวกของกลุ่มวัยรุ่นย่านสยามสแควร์ในห้วงเวลาเดียวกัน

‘ค่าครองชีพแพง ค่าแรงต่ำ’
ปัญหาที่แก้ไม่ได้ เสียงที่รัฐไม่ฟัง

‘ป้าเป้า’ถูกเตะช่วงชุลมุน ในม็อบ‘เขียนป้ายไล่ตู่’ หลังถูกตำรวจยื้อป้ายผ้า

“ผู้ชุมนุมม็อบดินแดงประกอบไปด้วยกลุ่มคนหลากหลายไม่เฉพาะคนในพื้นที่ดินแดง แต่ส่วนใหญ่เป็นคนจนเมืองและคนต่างจังหวัดที่ประสบปัญหาเรื่องปากท้อง ค่าครองชีพแพง ค่าแรงต่ำ หากผู้ว่าฯกทม.และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องการรับฟังปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เรายินดีจะส่งตัวแทนที่มาจากชุมชนแออัด แรงงาน คนตกงาน และเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา มาพูดคุยเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำร่วมกัน” คือความในใจจากทะลุแก๊ซ พร้อมแฮชแท็ก

#ปัญหาที่นายกรัฐมนตรีไม่เคยรับฟัง

#ปัญหาที่รัฐบาลแก้ไขไม่ได้

ก่อนย้ำชัดด้วยว่า จริงๆ แล้วผู้ชุมนุมกลุ่มตนไม่ได้มีความซับซ้อน เพราะมันคือธรรมชาติของมนุษย์ใน 3 ประการ ได้แก่

1.ไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรม

2.ต่อต้านเมื่อถูกกดขี่

3.ไม่มีเสียงจึงต้องส่งเสียง

นอกจากนี้ ยังเผยแพร่จดหมายถึง “เพื่อนพี่น้องที่ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ” ผ่านเพจเฟซบุ๊กซึ่งใช้สื่อสาร วิพากษ์รัฐบาล จนถึงนัดม็อบ

ความตอนหนึ่งว่า

“รัฐอาจมองผู้เห็นต่างเป็นศัตรู มองมวลชนอิสระในม็อบดินแดงเป็นผู้ก่อความไม่สงบ แต่เชื่อว่าหลายคนคุ้นเคยกับพวกเขาเหล่านี้ เพราะมักจะเจอกันในม็อบต่างๆ หรือแม้แต่กิจกรรมเล็กๆ ที่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคม

บางคนทำหน้าที่เป็นสื่ออิสระ คอยรายงานและบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในพื้นที่ชุมนุม บางคนเป็นการ์ดดูแลความปลอดภัยให้นักกิจกรรมและมวลชน บางคนเป็นฝ่ายสวัสดิการที่ซื้อข้าวซื้อน้ำแจกในม็อบ ในขณะที่ข้างนอกใช้ชีวิตกันปกติ พวกเขาคือคนที่ถือป้ายยืนหยุดขัง เพื่อไม่ให้ลืมคนในเรือนจำ ที่สำคัญไม่ว่านักโทษทางการเมืองคนไหนถูกปล่อยตัวกลับบ้าน ก็จะเจอมวลชนอิสระกลุ่มนี้ยืนต้อนรับอย่างอบอุ่นเสมอ

เมื่อไม่นานมานี้พวกเราร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม ดังนั้นภาพที่เห็นเป็นประจำคือกลุ่มคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์แบกของพะรุงพะรังทั้งข้าวกล่อง น้ำดื่ม ขนม และผ้าอนามัย ไล่แจกตามแนวถนนราชดำเนินและชุมชนแออัดต่างๆ เพื่อส่งต่อสิ่งของที่จำเป็นให้คนไร้บ้าน คนตกงาน และคนที่เดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจ

ทุกคนสามารถใช้ชีวิตแบบประชาชนทั่วไป ไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย ไม่ได้ทำให้ใครตาย เพียงแต่ความลำบากบังคับให้พวกเขาลุกขึ้นมาเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมด้วยวิธีต่างๆ

นอกจากชีวิต สุดท้ายแล้วอิสรภาพอาจเป็นสิ่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ แต่ก็ถูกรัฐพรากไป”

นับเป็นถ้อยคำที่สะท้อนปมปัญหาทั้งในใจและอุปสรรคของชีวิตที่มีทางเลือกไม่มากด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจของบุคคลกลุ่มดังกล่าวซึ่งแท้จริงแล้วมีหลากหลาย สุดท้ายมีนิยามภาพรวมภายใต้ศัพท์บัญญัติใหม่ใน พ.ศ.นี้ว่า “มวลชนอิสระ” บ้างก็เรียกด้วยสมรภูมิให้เห็นภาพว่า “ม็อบดินแดง”

พูดไม่ได้ว่า‘เห็นชอบ’แต่เคารพการตัดสินใจ
‘การได้สู้มันยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’

กลุ่มทะลุแก๊ส/แก๊ซ ปะทะ คฝ.ที่สามเหลี่ยมดินแดง

แนวทางข้างต้น ซึ่งมาพร้อมประทัดยักษ์ พลุ ลูกแก้ว ฯลฯ นี้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดงผู้เคยพยายามเจรจา “ห้ามทัพ” ณ สามเหลี่ยมดินแดง เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 แต่ไม่สำเร็จ กลับมาแสดงความเห็นในประเด็นนี้ ครั้งหลังม็อบปะทุหนล่าสุด โดยย้ำว่า เคารพทุกขบวนการต่อสู้ ไม่ว่าเล็ก ใหญ่ ใหม่ เก่า เมื่อเอาชีวิต อิสรภาพ วางเป็นเดิมพันเพื่อหลักการที่ถูกต้อง ถือว่าทุกคนมีสิทธิโดยชอบที่จะประกาศการต่อสู้ของตัวเอง

“กรณีสามเหลี่ยมดินแดง ผมเคยแสดงความห่วงใยตั้งแต่รอบก่อน ยอมรับว่าตัวเองเข้าไม่ถึงแนวทางการต่อสู้นี้ แต่จะอย่างไรก็ตาม รัฐไม่มีสิทธิใช้ความรุนแรงกับประชาชน หรือใช้เล่ห์กลใดๆ สร้างสถานการณ์ให้บานปลายป้ายสีพวกเขา หากเกิดมีเรื่องเช่นนี้ เจ้าหน้าที่และรัฐบาลต้องรับผิดชอบ

ผมเคยเข้าพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงตรงแนวหน้า ระหว่างเจรจาชวนน้องๆ กลับบ้าน ก็พบว่ามีจำนวนหนึ่งเลือกจะสู้แบบพลุไฟ ตะไล ปิงปอง เกิดการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ จนบาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย

แม้พยายามเอ่ยปากห้าม แต่ใจนึกถึงภาพคนเสื้อแดงใช้พลุ ตะไล สู้กับสไนเปอร์เมื่อปี 2553 ในอกก็สะทกสะท้อน” ณัฐวุฒิเล่า ก่อนอ้างอิงคำกล่าวของพี่สาวอาวุโสคนหนึ่ง ผู้เป็น “แดงแท้” ยาวนาน ฐานะดี บ้านพักอยู่กลางเมือง ซึ่งตั้งคำถามว่า เห็นภาพพี่น้องใช้พลุบ้าง ประทัดบ้าง ขว้างใส่ทหาร ทั้งที่เห็นชัดว่าเขาใช้ปืนยิงแล้วสงสาร คิดกันยังไง ทำไปทำไม?

เมื่อแดงตัวแม่มีคำถาม ณัฐวุฒิก็มีคำอธิบาย

“พี่ครับ พี่น้องเราเขาก็รู้นะว่าสู้สไนเปอร์ไม่ได้ รู้ด้วยว่ามันยิงจริง ตายไปแล้วหลายราย แต่ที่ทำเพราะพวกเขาต้องการบอกว่ากูสู้ กูไม่ยอม คนเล็กๆ ที่ถูกกดขี่มาตลอดเขาสู้เองไม่ไหว เมื่อมีวาระที่จะได้สู้ร่วมกับคนที่รู้สึกเหมือนกัน เขาก็ลืมตัวลืมตาย สำหรับบางคน การได้สู้มันยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ครับพี่ พูดไม่ทันจบผมเห็นเธอน้ำตาไหล ผมเองก็ไม่รู้ตัวว่าน้ำเต็มตาตั้งแต่เมื่อไหร่”

รุ่นพี่ผู้สู้มาก่อนยังระบุด้วยว่า ตนไม่ได้เห็นชอบกับแนวทางนี้ และคงไม่เชิญชวนใครเข้าร่วม แต่บอกได้ว่าเห็นใจ พยายามทำความเข้าใจ และจะส่งเสียงเรียกร้องต่อรัฐไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อไป

“ส่วนน้องๆ ผู้ชุมนุมขอให้ใช้สติ ประเมินสถานการณ์ดีๆ ฟังความให้รอบด้าน เรื่องสู้เข้าใจได้ แต่คนอีกส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบก็ต้องให้ความสำคัญ อย่าลืมว่าการยึดกุมความชอบธรรม ขยายการยอมรับ เป็นกุญแจดอกใหญ่สู่ชัยชนะ ห่วงใยน้องเอ้ย” ผอ.ครอบครัวเพื่อไทยหมาดๆ ทิ้งท้าย

ห่วงใย ไม่ตราหน้า
ประโยค (จากผู้ว่าฯ) ที่อยากได้ยิน (จากรัฐบาล)

มาถึงมุมมองของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่อย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กข้ามทวีปจากสหรัฐ ในค่ำคืน 11 มิถุนาตามเวลาในประเทศไทย โดยเผยว่าสั่งการรองผู้ว่าฯ ดูแลเหตุม็อบดินแดง พร้อมแสดงความห่วงใยในสถานการณ์

ไม่กี่วันต่อมา หลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง

ผู้ว่าฯกทม.ย้ำว่า ไม่สนับสนุนความรุนแรงทุกรูปแบบ แต่ยืนยัน “ดูแลทุกคน”

นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า เท่าที่ฟังข้อมูลมา ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเป็นคนในพื้นที่ดินแดงที่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ

“สิ่งที่เราทำได้คือ สำนักพัฒนาสังคมกับสำนักงานเขต ต้องลงชุมชนมากขึ้น เป็นไปได้คือ ไปดูคนที่ได้รับความเดือดร้อน คนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ และดูว่าจะช่วยผ่อนบรรเทาเขาอย่างไร ไปดูที่ต้นเหตุว่า มีกลุ่มไหนที่เปราะบางไม่ได้รับการดูแล” ชัชชาติกล่าว

หลังวาทะข้างต้นจากผู้ว่าฯกทม. ถูกเผยแพร่ในข่าว “ทะลุแก๊ซ” โพสต์ทันควัน ว่านั่นคือประโยคที่อยากได้ยินจากนายกรัฐมนตรี

“ประโยคนี้คือสิ่งที่พวกเราอยากได้ยินจากปากรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่ตราหน้าว่าเป็นพวกก่อความวุ่นวาย แล้วบอกระวังไร้อนาคต เพราะมันไม่มีอนาคตอยู่แล้วถ้าหากเผด็จการหรือชนชั้นสลิ่มยังคงกำหนดชีวิตประชาชนทั้งประเทศต่อไป”

เล็ง‘ลานคนเมือง-สนามกีฬาดินแดง’
พื้นที่แสดงออก

ปูเสื่อนอนปิดถนน หน้ากรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

ผู้ว่าฯชัชชาติ ยังเผยถึงการเตรียมพื้นที่ที่เคยเสนอนโยบายจัดจุดพื้นที่ให้ประชาชนชุมนุมได้ตามมาตรา 9 แต่ “ไม่ได้บังคับ” เป็นเพียงทางเลือก โดยจะมีสิ่งอำนวยความสะดวก และไม่ไปกีดขวางทางจราจร มีความปลอดภัยมากขึ้น เบื้องต้นมอบให้ จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ เตรียมการ

“ผมว่ามันเป็นสิ่งที่สวยงามที่มีคนออกมาแสดงความคิดเห็น กทม.คงไปดูที่เนื้อหาของการชุมนุมไม่ได้หรอก เพราะเราไม่รู้ว่าจะด้วยเหตุอะไร แต่หน้าที่เราคือการดูแลความสงบเรียบร้อยของเมือง ในแง่การจราจร ขยะ เราเน้นในหน้าที่ของเรา”

ชัชชาติยังไลฟ์ยามเย็นที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการฯ เสาชิงช้า หารือ ภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการ และ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษา พูดคุยเกี่ยวกับการจัดสถานที่ชุมนุม

พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวว่า พื้นที่ลานคนเมืองมีความเหมาะสมที่จะจัดเตรียมสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกในลักษณะของการสนับสนุนได้ เป็นไปตามกฎหมาย แต่ขอหารือกับทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บ.ชน.) ก่อน

“พื้นที่ลานคนเมืองมีความเหมาะสมที่จะจัดเตรียมสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกในลักษณะของการสนับสนุนได้ เป็นไปตามกฎหมาย แต่ขอหารือกับทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บ.ชน.) ก่อน ต้องให้อยู่ในระยะที่กำหนด ไม่ให้ใกล้สถานที่สำคัญ” พล.ต.อ.อดิศร์กล่าว

ส่วนอีก 1 แห่งที่ออกจากปากผู้ว่าฯ คือ “สนามกีฬา ดินแดง”

รอจังหวะ หาโอกาส จับตา
‘ขนาด-ความรุนแรง’

กลุ่มโรนินฝั่งธน ยกมือบอก คฝ.จะไม่เป็นฝ่านเริ่มก่อน บริเวณเชิงสะพานกษัตริย์ศึก

ปิดท้ายที่มุมมองของ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่วิเคราะห์ถึงการกลับมาชุมนุมเรียกร้องของประชาชนกลุ่มหนึ่งที่แยกดินแดง ว่าสะท้อนถึงการยังมีตัวตน ไม่หายไปไหน เพียงแต่รอจังหวะ และโอกาสที่จะออกมาทำกิจกรรมเพื่อขับไล่รัฐบาล สำหรับประเด็นความรุนแรงก็น่าสนใจว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ขนาดของม็อบ”

“ถ้าม็อบมีขนาดโตขึ้น ความรุนแรงก็จะยิ่งเพิ่มมากยิ่งขึ้น และสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องนี้คนมีความรู้สึกว่า ไม่น่าจะประสบความสำเร็จด้วยการต่อสู้ด้วยสันติวิธี แล้วหากเกิดความรู้สึกแบบนี้เพิ่มมากขึ้น ก็จะยิ่งเป็นภัยต่อความมั่นคง ตามมาด้วยการเกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง” อดีตคณบดีคณะนิติ ธรรมศาสตร์กล่าว

นับเป็นสถานการณ์ต้องจับตา ว่ามวลชนอิสระจะดำเนินยุทธการอย่างไรต่อไป ในวันที่กรุงเทพฯมีผู้ว่าฯคนใหม่ ในวันที่ข้าวยังยาก หมากยังแพง และในวันที่รัฐบาลยังมีนายกฯคนเดิม ที่ม็อบฟากประชาธิปไตยส่งเสียงไล่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image