หนุมาน เทพแห่งสรรพวิทยา (61)

ท้าวกุเวรไปอยู่กรุงลงกาได้ไม่นานเท่าไร มารก็ตามไปผจญ เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งท้าวสุมาลีที่หนีพระนารายณ์ไปอยู่เมืองบาดาลได้ขึ้นมาเห็นท้าวกุเวรขี่บุษบกไปหาพระวิศรพเปาลัสตยะผู้บิดาก็คิดอิจฉา จึงยุนางไกกะสีผู้เป็นธิดาให้ไปเป็นชายาพระวิศรพ นางก็ปฏิบัติตาม ต่อมาก็เกิดทศกรรฐ กุมภกรรณ พิเภษณ์ และนางศูรปนขา ต่อมานางไกกะสีก็ยุทศกรรฐให้ทวงเมืองลงกา ท้าวกุเวรไปฟ้องพระบิดาๆ เห็นว่าเรื่องจะยุ่งถ้ากุเวรไม่ยอมก็จะต้องรบกับน้องเป็นการไม่สมควร ทางที่ดีให้ทิ้งเมืองลงกาไปสร้างเมืองอยู่ใหม่ดีกว่า ท้าวกุเวรมีความเคารพต่อบิดาก็ไปสร้างเมืองอลกาอยู่ที่เชิงเขาไกลาส ท้าวทศกรรฐก็เข้าเมืองลงกาได้อย่างง่ายดาย

ก็สันดานของทศกรรฐนั้นชอบประพฤติพาลเกเรต่างๆ บรรดาเทพ ฤษี ยักษ์ และคนธรรพ์อยู่ไม่เป็นสุข จนท้าวกุเวรรำคาญใจส่งทูตไปว่ากล่าวตักเตือน โดยที่เป็นพี่น้องกัน แต่ทศกรรฐก็ไม่ยอมฟังเสีย สั่งให้ประหารชีวิตทูต ซึ่งเป็นการผิดประเพณี ในที่สุดก็ต้องรบกัน ท้าวกุเวรถูกน้องตีล้มลง ทศกรรฐก็แย่งเอาบุษบกไปได้

ฝ่ายทศกรรฐเมื่อได้บุษบกสมใจนึกแล้ว ก็ลำพองใจขี่บุษบกชมวิวอยู่เนืองๆ และวันหนึ่งก็ขี่ไปเที่ยวเขาไกลาส แต่อยู่ดีๆ บุษบกก็หยุด แล้วพระนนทีศวรได้ออกมาห้ามว่า พระศิวะมหาเทพกำลังทรงพระสำราญอยู่บนยอดเขาไกลาส อย่าได้ล่วงล้ำต่อไปเลย ทศกรรฐได้ฟังดังนั้นก็โกรธโดดลงจากบุษบกจะรบกับพระนนทีศวร ครั้นเข้าไปใกล้เห็นรูปร่างหน้าตาคล้ายวานรก็หัวเราะเยาะ พระนนทีศวรจึงทำนายว่า ต่อไปเบื้องหน้าวานรจะเป็นผู้นำความพินาศฉิบหายมาสู่วงศ์ตระกูล

คำทำนายของพระนนทีศวรนั้น ทศกรรฐคงไม่ใส่ใจจำเท่าใดนัก เพราะเชื่อในศักดานุภาพของตน แต่พิเภษณ์รู้คำทำนายนี้ดี จึงเตือนทศกรรฐมิให้ทำร้ายหนุมาน เมื่อหนุมานไปอาละวาดในกรุงลงกา ซึ่งจะได้เล่าต่อไป ในทีนี้ประสงค์จะเล่าถึงเหตุที่ทศกรรฐจะได้นาม *”ราพณ์”* (Ravana) เสียก่อน

Advertisement

ทศกรรฐนอกจากไม่กลัวคำทำนายของพระนนทีศวรแล้ว ยังทำท่ายะโสโอหัง ตรงเข้าไปจะถอนเขาไกลาสเพื่อจะให้พระอิศวรกลัว พระอิศวรเห็นทศกรรฐกำเริบเช่นนั้นก็ใคร่จะสั่งสอนให้หลาบจำ จึงเอานิ้วพระบาทเพียงนิ้วเดียวกดภูเขาไว้ มือและแขนของทศกรรฐก็ถูกทับติดแน่นอยู่ใต้ภูเขา จนกระดิกตัวไม่ได้ ร้องโอดโอยด้วยความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส พวกมนตรีจึงขอให้ทูลขอโทษพระอิศวร ทศกรรฐจึงสวดมนต์สรรเสริญพระอิศวรอยู่หลายพันปี จึงได้รับพระเมตตาปล่อยให้หลุดจากภูเขาที่ทับอยู่

โดยเหตุนี้ทศกรรฐร้องด้วยเสียงอันดังเป็นที่สยดสยองนั้นเอง ทศกรรฐจึงได้นามอีกนามหนึ่่งว่า *”ราพณ์”* (คำภาษาสันสกฤต “ราพณ์” แปลว่าร้อง)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image