มหัศจรรย์การ์ตูน : การควบคุมตัวเองอาจไม่ใช่แค่นิสัย

ความสามารถในการควบคุมตัวเองไม่ให้หุนหันพลันแล่นหรือเห็นแก่ตัวเกินไปนัก เป็นเรื่องที่บางคนทำได้ดีมาตั้งแต่เกิดเหมือนมีพรสวรรค์ค่ะ

บางคนกลับต้องฝึกฝนอย่างหนักเพื่อให้ควบคุมความต้องการหรือความเห็นแก่ตัวของตัวเองให้อยู่หมัด อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการควบคุมเรื่องพวกนี้สามารถลดลงจนแทบไม่เหลือได้เมื่อมีความเครียดค่ะ

คุณสุภาพสตรีท่านหนึ่งถูกหัวหน้าบังคับให้มาพบจิตแพทย์ซึ่งทำให้เธอไม่สบอารมณ์อยู่พอสมควร

เธอเล่าว่าหัวหน้ากดดันเธอมากเกินไปเนื่องจากเธออาวุโสมากกว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่น จึงต้องรับงานที่ยากและซับซ้อนมากกว่าคนอื่น ความที่เธอห่างรุ่นกับเพื่อนร่วมงานเธอจึงสนิทกับเพื่อนในแผนกอื่นที่เข้าทำงานในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันและอายุใกล้เคียงกันมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้หัวหน้าไม่พอใจอีก

Advertisement

หัวหน้าบอกว่าเธอควรจะสนิทกับเพื่อนในแผนกเดียวกันให้มากกว่านี้เพื่อให้ทำงานเป็นทีมร่วมกันได้

เธอเครียดมากเพราะรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้เลิกคบเพื่อนแต่ก็ไม่มีทางเลือก เหตุการณ์มาแตกหักวันที่เธอไปกินข้าวกับเพื่อนแผนกเดียวกันทุกคน แต่หัวหน้ามาเห็นเข้าและตำหนิเธอว่าทำไมไปกินข้าวพร้อมกันหมด เธอทำงานมานานน่าจะรู้ไม่ใช่เหรอว่าต้องจัดเวรให้เหลือคนอยู่รับโทรศัพท์ตอนพักกลางวันด้วย ความอดทนสุดท้ายของเธอขาดผึงและต่อว่าหัวหน้าทันทีทั้งที่ไม่เคยทำมาก่อนค่ะ

หลังจากนั้นเธอก็ขาดงานบ่อยๆ ส่งงานช้าและทำผิดมากมายโดยไม่สนใจว่าจะโดนตำหนิหรืออาจจะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนเพราะเธอคิดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ถ้าเธอทำงานไม่ดีหัวหน้าก็จะต้องโดนตำหนิไปด้วย ซึ่งก็สมควรกับที่ทำกับเธอไว้

Advertisement

หนังเรื่องนี้เหมือนคนละม้วนกับที่หัวหน้าเล่าค่ะ และดูเหมือนทุกคนจะเล่าเฉพาะส่วนดีของตัวเองและส่วนไม่ดีของอีกฝ่าย

เรื่องนี้ไม่น่าสนใจเท่ากับความโกรธทำให้เธอยอมทิ้งชื่อเสียงและอนาคตของตัวเองเพียงเพื่อแก้แค้นหัวหน้าเลยหรือ บางคนอาจคิดว่าเธอเปลี่ยนไปเป็นคนละคน แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง แท้จริงเธออาจเป็นคนดื้อเงียบและขี้โมโหแบบนี้มานานแล้วก็ได้

แต่ก่อนหน้านี้เธอสามารถควบคุมมันได้เป็นอย่างดีค่ะ การควบคุมอย่างดีทำให้ชีวิตเธอดีขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงวันที่นอตหลุด

“กิอง” จากแอนิเมชั่นในซีซั่นล่าสุดนี้ “All Out!!” น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่ความสามารถในการควบคุมตัวเองต่ำ แต่ต้องการอนาคตที่ดีกว่าจึงยอมฝึกควบคุมตัวเอง

แอนิเมชั่นเรื่องนี้ว่าด้วยกีฬารักบี้มัธยมปลายและการเติบโตของวัยรุ่นค่ะ “กิอง” นักเรียนมัธยมปลายปี 1 หน้าใหม่เป็นคนหุนหันพลันแล่นอย่างมาก เขาตัวเตี้ยและโมโหทุกครั้งเมื่อมีคนพูดถึงความสูงของเขา พูดง่ายๆ คือเขาอัดทุกคนจนน่วมเมื่อโดนล้อเลียน

กิองพบกับ “อิวาชิมิสุ” เด็กใหม่รุ่นเดียวกันที่ตัวสูงกว่าคนรุ่นเดียวกันมาก อิวาชิมิสุเคยเป็นนักรักบี้ฝีมือดีมาก่อนและได้รับคำเชิญจากชมรมรักบี้ในโรงเรียนใหม่แต่อิวาชิมิสุก็ปฏิเสธ เขาเคยทำให้เพื่อนร่วมทีมบาดเจ็บกลางสนามแข่งจนกลายเป็นความกลัวฝังลึกในใจ สุดท้ายอิวาชิมิสุจึงเก็บความกล้าหาญ ควบคุมทุกการกระทำและความคิดของตัวเองลงหีบทั้งหมด

ตรงข้ามกับกิองซึ่งไม่เคยคิดจะควบคุมตัวเองแม้แต่น้อย ในที่สุดรักบี้ทำให้อิวาชิมิสุกลับมากล้าหาญอีกครั้ง ส่วนกิองก็ควบคุมตัวเองมากขึ้น ยอมเชื่อฟังรุ่นพี่ ยอมฝึกความแข็งแรงพื้นฐานของร่างกายทั้งที่เป็นการฝึกน่าเบื่อ ทั้งสองคนมองเห็นอนาคตที่ดีกว่าจึงยอมจัดการกับความสามารถในการควบคุมตัวเองที่มากและน้อยเกินไปค่ะ

ถ้าความสามารถในการควบคุมตัวเองเปลี่ยนได้รวดเร็วขนาดนั้นแสดงว่าอาจจะไม่เกี่ยวกับบุคลิกภาพซึ่งต้องใช้เวลาก่อร่างสร้างตัวมานานเพียงอย่างเดียว

นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยซูริกและมหาวิทยาลัยดุซเซลดอร์ฟบอกเราว่า กลไกเหล่านี้เปลี่ยนได้รวดเร็วเพราะอยู่ที่สมองนั่นเอง เขาให้อาสาสมัครตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งระหว่างการยอมได้เงินเล็กน้อยแต่ได้ทันที กับการยอมรอนานขึ้นเพื่อได้รับเงินมากกว่า

อีกข้อหนึ่งคือการเสียเงินเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเอง กับเสียเงินน้อยลงอีกนิดหนึ่งแต่ได้ประโยชน์กับผู้อื่น แตกต่างที่อย่างแรกได้เงินอย่างหลังเสียเงินค่ะ หลังจากนั้นจึงใช้กระบวนการบางอย่างไปรบกวนการทำงานของสมองส่วน temporo-parietal junction ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับความสามารถในการควบคุมตัวเองแล้วให้เลือกตัวเลือกอีกครั้ง

ผลพบว่าหลังรบกวนการทำงานของสมองส่วนนี้ อาสาสมัครเลือกทั้ง 2 ข้อไปในทางหุนหันพลันแล่นมากขึ้น (ได้เงินเล็กน้อยแต่ได้ทันที) และเห็นแก่ตัวมากขึ้น (ยอมเสียเงินมากกว่าเพื่อตัวเองคนเดียว) และมองผ่านมุมมองของผู้อื่นได้น้อยลง

ผู้วิจัยเชื่อว่าถ้าเราหากระบวนการจัดการกับสมองส่วน temporo-parietal junction ได้ ความสามารถในการควบคุมตัวเองก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยรักษาผู้ติดสารเสพติดหรือผู้ป่วยโรคอ้วนด้วย

ระหว่างที่ยังไม่มียาหรือเครื่องมือติดเบรกให้การควบคุมตัวเองของเราก็อาจจะต้องใช้กระบวนการทางสังคมไปก่อน โดยให้นึกถึงอนาคตเข้าไว้ มองเหตุการณ์ผ่านมุมมองของคนอื่นบ้าง เราก็จะควบคุมตัวเองได้ดีขึ้นค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image