อ่าน 2475 ลิ้ม(อรรถ)รส ประชาธิปไตย(ไทยๆ)

วันนี้ปฏิทินไทยระบุวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2565

ครบรอบปีที่ 90 ของประชาธิปไตยในแดนสยามหลังคณะราษฎรเลือกเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ในวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475

นับจากวันนี้ ประชาชนไทยได้ลิ้มรสชาติของการเมืองการปกครองรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่าประชาธิปไตย

ครึ่งใบบ้าง เดินหน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง มูนวอล์กบ้าง สะดุดหกคะเมนตีลังกาบ้าง

Advertisement

ในวันที่ยัง “ไม่ตั้งมั่น” 99.99% ดังเช่นที่รัฐบาล คสช. เอ่ยอ้าง

พลเมืองไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หันมาสนใจประวัติศาสตร์การเมืองจนกลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญของวงการหนังสือ

9 ทศวรรษที่ ผ่านพ้น “สำนักพิมพ์มติชน” ยืนหยัดฟากฝั่ง “คนส่วนใหญ่” เผยแพร่หนังสือใหม่รอวันประชาธิปไตยผลิบานอย่างมีความหวัง

Advertisement

ทหารเรือกบฏ ‘แมนฮัตตัน’ ฉบับปรับปรุงใหม่

ผนวกบันทึกจากจอมพลถึงคนสามัญ

นับเป็นหนังสือเล่มคลาสสิกที่ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ.2529 สำหรับ ทหารเรือกบฏ “แมนฮัตตัน” ผลงาน นิยม สุขรองแพ่ง เล่าเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญของไทย เมื่อคณะกู้ชาตินำโดยนายทหารเรือหนุ่มก่อการจี้จอมพล ป. พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรี เป็นตัวประกันเพื่อต่อรองให้รัฐบาลเวลานั้นออกจากอำนาจ ทว่าฝ่ายรัฐบาลกลับใช้กำลังทหารและตำรวจตอบโต้อย่างรุนแรงจนนำไปสู่การปะทะนองเลือดท้ายสุดฝ่ายคณะกู้ชาติพ่ายแพ้ กองทัพเรือถูกลดอำนาจและบทบาท ขณะที่รัฐบาลรัฐประหารสามารถสถาปนาอำนาจเผด็จการโดยมีกองทัพบกเป็นขุมกำลังสำคัญอยู่ยงต่อมาหลายทศวรรษ

ล่าสุด สำนักพิมพ์มติชนนำมาพิมพ์ใหม่เป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2565 เพิ่มภาคผนวกต่างๆ พร้อมด้วยบทบรรณาธิการ โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์คณะราษฎร บอกเล่าถึงเอกสารเกี่ยวกับกรณี “กบฏแมนฮัตตัน” อย่างน่าสนใจ ทั้งยังขยายแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับกบฏแมนฮัตตัน และภาคผนวกบันทึกของผู้ร่วมเหตุการณ์ตั้งแต่ระดับจอมพลถึงคนสามัญ

นับเป็นหนังสือสารคดีประวัติศาสตร์การเมืองที่อ่านง่าย ครบถ้วนรอบด้านใน 528 หน้า ออกแบบปกใหม่ให้ยิ่งน่าสะสม

‘ปฏิวัติที่ปลายลิ้น’ ปรับรส แต่งชาติ อาหารการกิน

ในสังคมไทยหลัง 2475

อีกเล่มใหม่ต้องลองลิ้ม คือผลงานที่บอกเล่าถึง

การต่อสู้และต่อรองความหมายทางการเมืองด้านรสชาติที่ถูกแฝงไปยังปลายลิ้น หลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 คณะราษฎรได้นำแนวคิดโภชนาการใหม่เข้ามาปะทะประสานกับการเมืองสมัยใหม่ ผลักดันให้ประชาชนหันมาใส่ใจกับการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งการส่งเสริมอาชีพและอุตสาหกรรมด้านอาหาร ความสำเร็จของการปฏิวัติที่ปลายลิ้นยังได้นำไปสู่กระบวนการช่วงชิงความหมายและสร้างนิยามมาตรฐานด้านรสชาติอาหารใหม่อีกครั้งของกลุ่มชนชั้นสูงในเวลาต่อมา

เรียกได้ว่า หากกลุ่มใดในสังคมสามารถครองอำนาจนำที่ปลายลิ้นได้ ก็ย่อมสามารถครองอำนาจทางการเมืองวัฒนธรรมในระดับมวลชนได้เช่นกัน

ผลงานคุณภาพของ ชาติชาย มุกสง ที่ไม่เพียงเสนอประเด็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์การเมืองศีลธรรม มรดกของคณะราษฎรที่เป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติ 2475 แต่ยังเชื่อมโยงสู่กระแสโลกภายนอกและระบบเศรษฐกิจทุนนิยม การแย่งชิงอำนาจและบทบาททางการเมืองของชนชั้นสูง

เนื้อหาแข็งแรง ครบถ้วนและสมบูรณ์ ประเด็นย่อยของแต่ละบทสอดคล้อง เชื่อมโยง และเรียบเรียงเป็นลำดับขั้นตอน นำเสนอให้เห็นแง่มุม แนวคิด ตั้งแต่ช่วงหลังปฏิวัติ 2475 จนถึงยุค 2500 มีบทสรุปให้เห็นถึงบริบทในแต่ละยุคสมัย ทั้งยังชวนผู้อ่านตั้งคำถามเพื่อคิดต่อจากประเด็นในเล่ม

ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและศึกษาประวัติศาสตร์ด้านอาหารมาอย่างถี่ถ้วน ภายในเล่มยังนำเสนอให้เห็นความสอดคล้องของอาหารที่มากมายทั้งก๋วยเตี๋ยว เนื้อ นม ไข่ น้ำตาล อาหารใต้ อาหารอีสาน และอาหารชาววัง ว่ารสชาติและอาหารการกินเหล่านี้มีนัยทางการเมืองและสัมพันธ์กับอำนาจนำอย่างไร

เป็นเล่มใหม่ที่ต้องชวนลิ้มลองรสชาติของการปฏิวัติที่ปลายลิ้น ก่อนปรับรสปรุงแต่งสู่การกินแบบประชาธิปไตย

‘ราษฎรปฏิวัติ’

ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่

ผลงานของ ณัฐพล ใจจริง ที่พาผู้อ่านย้อนอดีตไปหาคนรุ่นใหม่ (ทางความคิด) ในยุคแรกสร้างประชาธิปไตยที่พวกเขาและเธอมีบทบาทส่งเสริมและปกป้องระบอบประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน ผ่านการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ การอ่าน เขียน และเที่ยวในงานฉลองรัฐธรรมนูญอันแฝงด้วยนัยสำคัญทางการเมือง เป็นบทบันทึกยุคสมัยคณะราษฎรในอีกรูปแบบที่จะทำให้หวนกลับมานึกถึงคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันด้วยความหวังว่าเรื่องราวของสามัญชนผู้ไร้ชื่อเสียงเรียงนามในหน้าประวัติศาสตร์จะได้รับการจดจำเช่นเดียวกับเรื่องราวของบุคคลสำคัญ

“ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร”

ถ้อยคำที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ “ราษฎร” ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยหลังการปฏิวัติ 2475 อันเป็นสิ่งที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่เคยมีให้ได้

เหล่าราษฎรโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ยุคนั้นอยู่ในบรรยากาศแห่งเสรีภาพ นั่นทำให้พวกเขาและเธอมีจิตวิญญาณที่เสรี ตระหนักถึงความสำคัญต่อการมีอยู่ของประชาธิปไตย

ชวนอ่านเรื่องราวคนรุ่นใหม่ยุคคณะราษฎรโดยเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน ชี้ให้เห็นบทบาทสามัญชน-คนรุ่นใหม่อย่างแจ่มชัด

เป็น 3 เล่มเข้มข้นบนประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่คนรุ่นทั้งเก่า-กลาง-ใหม่ต้องอ่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image