อาศรมมิวสิก : ดนตรีในสวน ปลุกจิตวิญญาณให้ผู้คนมีความสุขและสร้างความเจริญ

เล่นดนตรีที่สวนรถไฟ

ดนตรีในสวน

ปลุกจิตวิญญาณให้ผู้คนมีความสุขและสร้างความเจริญ

ได้เริ่มโครงการดนตรีในสวนเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 ซึ่งก็ไม่ได้รู้ตัวมาก่อน เมื่อถูกชวนให้จัดดนตรีในสวนจากผู้ว่าฯกทม. คนใหม่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ตอบรับทันทีโดยไม่ลังเลและไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใด เพราะเห็นว่าอยู่ในวิสัยที่จัดการได้ ประกอบกับมีความศรัทธาในตัวของผู้ว่าฯคนใหม่อยู่แล้ว เมื่อทำอะไรได้ก็จัดเต็มทันที ไม่ใช่เพื่อผู้ว่าฯ แต่เพื่อความสุข ความหวัง และพลังทางปัญญาที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าในสังคม

กรุงเทพฯ นั้น มีสวนสาธารณะอยู่หลายแห่ง อาทิ สวนลุมพินี สวนหลวง ร.9 (ศรีนครินทร์) สวนเบญจสิริ (สุขุมวิท 24) สวนเบญจกิติ (ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์) สวนจตุจักร สวนรถไฟ (สวนวชิรเบญจทัศ) สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนหลวงพระราม 8 สวนสันติชัยปราการ (บางลำพู) สวนรมณีนาถ (เรือนจำพิเศษ) สวนสมาคมแต้จิ๋ว (สวนสวยในป่าช้า) นอกจากนี้ยังมีลานกีฬา ศูนย์กีฬาของชุมชน ศูนย์เยาวชน และยังมีหอศิลป์กรุงเทพฯ ซึ่งสามารถที่จะเล่นดนตรีได้

Advertisement

ดนตรีในสวน เริ่มด้วยวงเครื่องเป่าไทยซิมโฟนีบราสควินเท็ต (Thai Symphony Brass Quintet) วงไทยแลนด์บราสควินเท็ต (Thailand Brass Quintet) วงบางกอกวินด์ควินเท็ต (Bangkok Wind Quintet) วงดุริยางค์เครื่องลมแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Kasetsart University Wind Symphony) ควบคุมโดยอาจารย์สุรพล ธัญญวิบูลย์ เล่นเพลงลูกกรุง เพลงลูกทุ่ง เพลงสมัยนิยม เพลงสากล ที่ใช้วงเครื่องเป่าเพราะไม่มีเวทีและไม่มีเครื่องขยายเสียง

ผู้ว่าฯ เป่าแตร

เมื่อไปเล่นดนตรีในสวน ก็ได้ชวน ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ศิลปินนานาชาติ ไปวาดรูปสวนสวยและได้วาดรูปผู้ว่าฯเป่าแตร (ยูโฟเนียม) จากรูปที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 ที่ห้องซ้อมดนตรี โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ดร.สุชาติ วงษ์ทอง วาดรูปสดโดยมอบรูปให้มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข นำไปประมูลหารายได้เพื่อจัดดนตรีในสวน ส่วนรูปสวนสวยนั้นก็ได้มอบให้แก่ผู้ว่าฯ โดยตรง เพื่อเป็นที่ระลึก

นักดนตรีทุกวงอยากเล่น เพราะอยากปลดปล่อยอารมณ์ ไม่ได้เล่นดนตรีมานาน 2 ปี ตกงาน ไม่มีเงิน ยังได้ระบายความอัดอั้นตันใจ ผู้ฟังได้ปลดปล่อยความทุกข์ แม่ค้าได้ขายของ ทุกชีวิตร่าเริง บ้างนั่งอมยิ้ม บ้างหัวเราะ ต่างรู้สึกอิ่มเอิบกับความสุขที่มี เกิดปีติขึ้นในใจอย่างไร้เหตุผล เป็นการรวมตัวเพื่อแสดงความชื่นชมต่อผู้ว่าฯคนใหม่อย่างเปิดเผย เป็นการเชื้อเชิญให้คนไปเดินในสวน ใครอยากเล่นดนตรีก็ไปเล่นในสวน

Advertisement

วันที่ 12 มิถุนายน 2565 ไปเล่นดนตรีในสวนต่อที่ชุมชนคลองเตย โดยที่ไม่มีผู้ว่าฯ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งเดินทางไปชื่นชมลูกที่อเมริกา (9-13 มิถุนายน) ดนตรีในสวนก็ยังได้รับความอบอุ่นจากสังคมโดยรอบ มีผู้ชมที่ติดตามไปจำนวนมาก ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ก็ไปวาดรูป “สลัมสวย สลัมน่าอยู่” ระหว่างที่เล่นดนตรี

วันนั้นมีวงเยาวชนอิมมานูเอลออเคสตรา (Immanuel String Orchestra) จากชุมชนในสลัมคลองเตย โดยมีอาจารย์ต้นกล้วย (วรินทร์ อาจวิไล) มูลนิธิดนตรีเพื่อชีวิต ได้จัดการสอนดนตรีคลาสสิกในชุมชนคลองเตยมาตั้งแต่ปี 2543 มีอาสาสมัคร (missionary) นักดนตรีชาวนอร์เวย์ 2 คน เป็นผู้วางรากฐานสอนดนตรีคลาสสิก

อีกวงชื่อคลองเตยดีจัง ควบคุมวงโดย อาจารย์จืด (ณัฐพล ปลาโพธิ์) ได้รวบรวมเยาวชนในพื้นที่ชุมชนคลองเตยเช่นกัน ได้รับบริจาคเครื่องดนตรีและมีกลุ่มครูดนตรีอาสาเข้าไปสอนอย่างต่อเนื่องตลอด 9 ปี ได้เล่นเพลงไทย เพลงยอดนิยม มีนักดนตรีที่เล่น 12 คน สร้างความบันเทิงได้อย่างดี มีผู้มอบข้าวและน้ำ 100 ชุด

ปิดท้ายรายการด้วยวงดุริยางค์เครื่องลมแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Kasetsart University Wind Symphony) ควบคุมโดย อาจารย์สุรพล ธัญญวิบูลย์ เล่นเพลงลูกกรุง เพลงลูกทุ่ง เพลงสมัยนิยม เพลงสากล มีนักร้องนักดนตรีที่มีคุณภาพ สร้างความชื่นชอบให้แก่มิตรรักแฟนเพลง ได้ออกมาเต้น ได้ร้องเพลงกันสนุกสนาน

วันที่ 19 มิถุนายน 2565 ย้ายไปเล่นที่สะพานพระราม 8 มีวงโรเบอร์โตอูโน 3 คน (Roberto Uno Trio) มีคุณไข่ มาลีฮวนน่า มานั่งฟังด้วย ผู้ว่าฯเห็นเข้าก็ขอเชิญให้คุณไข่ร้องเพลงแสงจันทร์ ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศได้เป็นอย่างดี แล้วต่อด้วยวงดุริยางค์กรมศิลปากร (80 ชีวิต) มีมิตรรักแฟนเพลงหนาตา

ในวันที่ 26 มิถุนายน 2565 ไปเล่นดนตรีที่สุสานวัดดอน เล่นในสวนในป่าช้าของสมาคมแต้จิ๋ว สาทร ซึ่งเป็นชุมชนคนอยู่กับผี “ผีบรรพบุรุษ” ผีที่เป็นมิตรช่วยคุ้มครองปกปักรักษาชุมชนที่มีอยู่ 4 ศาสนา และมี 5 วัฒนธรรมอยู่ร่วมกัน รอบวัดดอน วัดแขก วัดมอญ วัดจีน วัดฝรั่ง เป็นดนตรีเพื่อส่งวิญญาณบรรพบุรุษขึ้นสู่สวรรค์

ที่สุสานสมาคมแต้จิ๋ว (วัดดอน) ได้จัดวงสะล้อซอซึง “แสนละเมา” นำโดยช่างซอธวัช เมืองเถิน ที่เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานของกรมสมเด็จพระเทพฯ เดินทางมาจากเชียงใหม่ ตั้งใจลงมาแสดงให้คนกรุงเทพฯ ได้ฟัง และยังมีวงดุริยางค์เครื่องเป่า วงเครื่องเคาะ จากสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา นำโดยอธิการบดีชูวิทย์ ยุระยง

วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 ก่อนเข้าฤดูฝน จะเล่นที่สวนรมณีนาถ เรือนจำพิเศษเดิม โดยวงน้องวุฒิและเพื่อน ซึ่งเป็นนักดนตรีดาวน์ซินโดรม เพื่อนำเสนอว่าดนตรีช่วยพัฒนาเด็กผู้ด้อยโอกาส ช่วยครอบครัวและช่วยให้เด็กดาวน์ซินโดรมอยู่ร่วมกับสังคมได้ ปิดท้ายด้วยวงสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Band)

เข้าฤดูฝนหันไปเล่นดนตรีในห้าง ดนตรีในโรงเรียน ดนตรีที่สถานีรถไฟใต้ดิน ดนตรีในหอประชุม ดนตรีในห้องโถง ดนตรีที่ศูนย์วัฒนธรรม ดนตรีที่หอศิลป์ ทุกครั้งที่ไปเล่นดนตรีก็ชวน ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ไปวาดภาพด้วย เป็นภาพเรื่องราวกรุงเทพฯ น่าอยู่ สลัมสวย ต้นไม้งาม แม่น้ำมีชีวิต เพราะรู้ว่ากรุงเทพฯ ไม่มีเงินจัดดนตรีในสวน จึงพยายามที่จะช่วยตัวเอง ช่วยนักดนตรีที่ตกงาน จึงจัดประมูลภาพเพื่อจัดดนตรีในสวน วันที่ 21-24 กรกฎาคม 2565 ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เพื่อช่วยนักดนตรี “เสียงปรบมือ คำขอบคุณ และช่อดอกไม้” เลี้ยงครอบครัวไม่ได้

การเล่นดนตรีขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ ซึ่งมีหลากหลายลักษณะ อาทิ ดนตรีข้างถนนของพวกขอทาน ดนตรีคนตาบอด ดนตรีพวกที่เต้นกินรำกิน พวกเล่นจำอวด ดนตรีของพวกที่อยากเล่น นักเรียนดนตรีที่อยากปล่อยของ ดนตรีสร้างสรรค์ วงดนตรีเปิดหมวกเพื่อหารายได้ ดนตรีของผู้ด้อยโอกาส ดนตรีพวกนี้ “ใช้ใจเล่นดนตรี” คนให้เงินเพราะรู้สึกว่าเห็นใจ ชื่นชอบในฝีมือ การเล่นดนตรีในสวนจึงเป็นพื้นที่ของผู้ด้อยโอกาส

ประเภทต่อมา ดนตรีในสวนที่เล่นตามคำสั่ง มาโดยอำนาจ เป็นนักดนตรีที่มีฝีมือ “มีกำลัง แต่ไม่มีพลัง” เพราะขาดความรู้สึก พนักงานดนตรีต้องเล่นดนตรีเพราะมีหน้าที่ประโคม เป็นเจ้าหน้าที่พนักงานดนตรี เล่นให้ครบเวลา เล่นดนตรีตามภารกิจ เล่นตามคำสั่ง การประโคมดนตรีเป็นพิธีกรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นทรมานบันเทิงทั้งผู้เล่นและผู้ฟัง เพราะว่าความไพเราะนั้นสั่งด้วยอำนาจไม่ได้ ความไพเราะเกิดขึ้นมาจากใจ เสียงจะไพเราะสดใสก็เพราะออกมาจากใจที่สะอาด ส่วนเสียงที่หยาบและกระด้างนั้น ก็เพราะออกมาจากจิตใจที่ขุ่นมัว

ดนตรีในสวนอีกประเภทหนึ่งคือเล่นดนตรีรับจ้าง ความไพเราะขึ้นอยู่กับราคาค่าจ้าง “เสียงดังตังค์มา” เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะอยู่จำนวนมาก เมื่อผู้ว่าฯมีนโยบายใช้ดนตรีเพื่อสร้างเมือง ใช้ดนตรีเพื่อสร้างบรรยากาศ ใช้ดนตรีเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ บริษัทต่างๆ สามารถเข้าไปรับสัมปทานเพื่อรับจ้างสร้างความสุขให้แก่ประชาชนได้ ดนตรีขึ้นอยู่กับบริษัทจะมอบความไพเราะให้ แต่เมื่อ กทม.ไม่เงิน วิธีนี้ก็จบลง

การเล่นดนตรีในสวนตามนโยบายของพ่อเมืองครั้งนี้ เล่นตามนโยบายในการสร้างบรรยากาศของเมืองใหม่ นำเสนอดนตรีที่มีคุณภาพมาช่วยกันสร้างเพื่อจะยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง ใช้พลังดนตรีสร้างเสียงในสวนให้มีความสุข เล่นดนตรีให้ต้นไม้ฟัง เพื่อคนในเมืองจะได้งอกงามในจิตใจ ขงจื้อสอนไว้ว่า “มนุษย์งอกงามได้ด้วยบทกวี มั่นคงได้ด้วยศีลธรรม และเติมเต็มด้วยดนตรี” ดนตรีในสวนจึงได้อาศัยและอาสาตามนโยบายผู้ว่าฯ เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและเป็นการสร้างความสุขให้แก่คนกรุงเทพฯ

เล่นดนตรีที่คลองเตย

เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูเกือบหนาว (พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) อากาศในกรุงเทพฯ ไม่มีฝนและไม่ร้อนนัก หากผู้ว่าฯกรุงเทพ จะยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุงให้รู้สึกว่าทัดเทียมกับเมืองชั้นนำของโลก โดยเชิญวงดนตรีระดับโลกมาเล่นดนตรีในสวน อาทิ สวนลุมพินี สวนเบญจสิริ สวนหลวงพระราม 8 ยกระดับเมืองด้วยเสียงดนตรี โดยเชิญวงสิงคโปร์ซิมโฟนีออเคสตรา (Singapore Symphony Orchestra) วงปักกิ่งซิมโฟนีออเคสตรา (Peking Symphony Orchestra) วงโซลซิมโฟนีออเคสตรา (Soul Symphony Orchestra) วงโตเกียวฟีลฮาร์โมนิก (Tokyo Philharmonic Orchestra) แค่นี้ กรุงเทพฯ ก็จะเปลี่ยนไป

การพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ การสร้างเมืองให้ประชาชนมีความสุข การเปลี่ยนเมืองให้มีความหวัง หากทุกคนที่อยู่ในเมืองได้ช่วยกันทำสิ่งที่ดีและช่วยกันสร้างเมืองให้มีบรรยากาศ มีรสนิยม ความไพเราะจะสร้างเมืองให้สวยงามและน่าอยู่ ซึ่งจะช่วยรักษาผู้ว่าฯ อัศวิน (ที่ชื่อชัชชาติ) ให้ผู้ว่าฯ ได้มีโอกาสสร้างเมืองที่มีคุณภาพได้

ดนตรีเป็นพลังงานที่มองไม่เห็น เสียงดนตรีผ่านรูขุมขนเข้าไปในร่างกาย ทำหน้าที่ขยายอณูในร่างกายให้มีพลัง สร้างความเคลื่อนไหว สร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้ชีวิตมีความหวัง มีความเชื่อมั่น มีความอบอุ่น เสียงดนตรีมีอำนาจ ผู้นำที่ฉลาดได้อาศัยเสียงดนตรี “อำนาจอยู่ที่ไหนก็จะมีเสียงดนตรีอยู่ที่นั่น ดนตรีอยู่ที่ไหนอำนาจก็จะอยู่ที่นั่นด้วย” ผู้นำที่มีรสนิยมทั่วโลกใช้เสียงดนตรีเพื่อสร้างความเจริญให้แก่สังคม

ผู้นำที่มีพลังอำนาจใช้เสียงดนตรีเป็นอุปกรณ์ในการปกครองและใช้เสียงดนตรีในการควบคุมพลัง เพื่อใช้อำนาจให้เป็นพลังในการนำสังคมไปสู่ความเจริญ

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image