คอลัมน์แท็งก์ความคิด : ไลน์‘ฟ้องดู’

คอลัมน์แท็งก์ความคิด : ไลน์‘ฟ้องดู’

คอลัมน์แท็งก์ความคิด : ไลน์‘ฟ้องดู’

ใครที่กำลังตกอยู่ภายใต้สถานการณ์อึมครึมเพราะภาวะเศรษฐกิจขอให้เสพข่าวการทำงานของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.

นายชัชชาติเป็นผู้ว่าฯกทม.กันก่อนจะรับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. เหตุเพราะ กกต.ใช้เวลาพิจารณาข้อร้องเรียนก่อนที่จะประกาศรับรองผลเลือกตั้ง

หลังจากนายชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ งานปลุกกรุงเทพฯให้น่าอยู่ก็เริ่มขึ้น

Advertisement

ดนตรีในสวนนั้นเป็นตัวอย่าง ทุกเสาร์-อาทิตย์ มีนักดนตรีและนักร้องไปบรรเลงเพลงในสวน

คนที่ต้องการพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากได้ออกกำลังกายแล้ว ยังได้ฟังบทเพลงไพเราะ

ด้านการบำบัดทุกข์บำรุงสุข นายชัชชาติเริ่มต้นที่ “เส้นเลือดฝอย”

ผู้ว่าฯชัชชาติอธิบายแนวคิดเรื่องนี้ไว้ในเฟซบุ๊กของตัวเอง

“ปัญหาโครงสร้างของเมืองในระดับเส้นเลือดฝอยที่ผมพูดถึงนั้น จะเป็นปัญหาที่เราเจอในทุกๆ วัน เช่น ฟุตปาธเดินไม่ได้ หาบเร่แผงลอยกีดขวางทางเดิน น้ำท่วมขัง ขยะไม่เก็บ ไฟฟ้าไม่สว่าง น้ำเน่าเสีย ท่อตัน มอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า”

จั่วหัวเช่นนี้ใครๆ ที่ใช้ชีวิตเดินถนนย่อมพยักหน้าเห็นด้วย

ส่วนวิธีการแก้ปัญหานั้น นายชัชชาติระบุไว้ว่า…

“วิธีการแก้ปัญหาในระดับเส้นเลือดฝอยที่ได้ผลวิธีหนึ่ง คือ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้อำนาจ (Empower) ประชาชน ในการมีส่วนร่วมที่จะช่วยแจ้งปัญหาที่พบ และภาครัฐเอาข้อมูลนั้นไปใช้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง”

เรื่องนี้จะว่าเก่าก็เก่า จะว่าง่ายก็ง่าย แต่ที่น่าสงสัยคือ ทำไมที่่ผ่านมากรุงเทพมหานครจึงไม่เน้นเรื่องมีส่วนร่วม

เครื่องมือที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม นายชัชชาตินำเสนอไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง

“แพลตฟอร์มที่ได้มีการทดลองทำในหลายพื้นที่แล้วได้ผลดี และทางกลุ่มเพื่อนชัชชาติได้ลองนำมาใช้ คือ การใช้ไลน์กลุ่มทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) หรือ “ฟ้องดู” ที่พัฒนาโดยทีมคนรุ่นใหม่ของ สวทช. ที่เป็นเครื่องมือให้ประชาชนช่วยแจ้งเหตุ”

มีหลักการง่ายๆ คือ 1.แอดไลน์ของทราฟฟี่ โดยการคลิกลิงก์ https://landing.traffy.in.th?key=teamchadchart

2.เมื่อเจอปัญหาของเมือง ให้รายงานผ่านไลน์โดยระบุรายละเอียดปัญหา ถ่ายรูป ส่งพิกัดแจ้ง ด้วยการพูดคุยกับ Chatbot ข้างต้น (@traffyfondue)

3.ระบบหลังบ้านจะทำการรวบรวมปัญหา จัดทำสถิติ และจัดลำดับความสำคัญ โดยสามารถดูภาพรวมได้ที่ https://share.traffy.in.th/teamchadchart

4.ระบบจะแจ้งกลับเมื่อปัญหาได้รับการแก้ไข และมีการประมวลในภาพรวมว่าในแต่ละพื้นที่มีแจ้งเรื่องอะไรมาบ้าง ค้างกี่เรื่อง แก้ไขเสร็จแล้วกี่เรื่อง

นายชัชชาติย้ำว่า หัวใจของความสำเร็จ คือ ความร่วมมือของประชาชน+
ความตั้งใจจริงของภาครัฐในการแก้ปัญหา

การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้อำนาจประชาชนแก้ไขปัญหาของเมืองมีการทำสำเร็จมาแล้วในหลายพื้นที่ ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ใช้แพลตฟอร์มนี้อยู่ทั้งหมด 1,855 หน่วยงาน เช่น เทศบาลเมืองอุบลราชธานี, อบต.ค่ายบกหวาน, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นต้น

นายชัชชาติตอกย้ำว่า “ผมเชื่อว่าแพลตฟอร์มนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาของ กทม.ได้ในอนาคต”

“ถ้ามีการใช้กันอย่างกว้างขวาง เราอาจใช้ผลที่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ ผู้อำนวยการเขต หรือผู้ว่าฯกทม. เป็นอย่างไร มีเรื่องค้างมากแค่ไหน ปัญหาอะไรที่เป็นปัญหาสำคัญในแต่ละพื้นที่ แต่ละหน่วยงานเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาของประชาชนมากแค่ไหน แค่คิดก็สนุกแล้วครับ”

ไอเดียของนายชัชชาตินี่ไม่ธรรมดา คือ หนึ่งพร้อมจะยอมรับ “สิ่งดีๆ” ที่มีคนทำสำเร็จ

กรณีนี้นายชัชชาตินำแพลตฟอร์มที่ท้องถิ่นหลายแห่งทำสำเร็จแล้วมาใช้กับ กทม.

หนึ่ง คือ มองเห็นความสำคัญของ “สิ่งเล็กๆ” นั่นคือ ปัญหาในชุมชนท้องถิ่น

กรณีนี้เห็นได้ชัดตอนที่นายชัชชาติออกไปขอบคุณบรรดานักโทษที่มีจิตอาสามาลอกท่อ

ผู้ว่าฯกทม.มองเห็นก้อนไขมันที่อุดตันท่อระบายน้ำ พร้อมชี้ให้เห็นว่า แม้ กทม.จะมีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ แต่ถ้าน้ำไม่สามารถผ่านท่อเหล่านี้ไปได้ ปัญหาน้ำท่วมก็แก้ไม่ได้

ปัญหาจาก “เส้นเลือดฝอย” จึงสำคัญ

นอกจากนี้ นายชัชชาติยัง “ไว้วางใจประชาชน” คือ เปิดให้คนกรุงมีส่วนร่วม ยอมรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะ แล้วรีบดำเนินการแก้ไข

มองดูการทำงานของนายชัชชาติแล้วมีกำลังใจ

ปัญหาหลายๆ อย่างเริ่มคลี่คลาย ความร่วมมือจากประชาชนเพิ่มขึ้น

ทำงาน ทำงาน ทำงาน ยังเป็นคาถาสุดขลัง

ส่วนคนกรุงที่มีปัญหา “เส้นเลือดฝอย” ลองเข้าไปในไลน์ “ฟ้องดู”

ทดลองใช้และมีส่วนร่วม

ร่วมแก้ปัญหา กทม.ไปพร้อมๆ กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image