กรุงชิง Virtual Nature Trail 360 องศา เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ‘น้ำตกกรุงชิง’ ยกระดับแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าดิบชื้น

ธรรมชาติอันงดงามในแดนใต้คือแหล่งเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดของคนไทยและมนุษยชาติ หนึ่งในนั้นคือ อุทยานแห่งชาติเขาหลวง อำเภอนบพิตำจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี ‘เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง’ เป็นไฮไลต์ที่ต้องขีดเส้นใต้ให้เดินทางไปเยี่ยมเยือนนักนิยมธรรมชาติ นักวิจัย เยาวชน และนักท่องเที่ยว

ล่าสุด เส้นทางดังกล่าวได้รับการยกระดับความปลอดภัยและพัฒนาสื่อกลางถ่ายทอดความรู้ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ภายใต้การผลักดันของ ‘มูลนิธิไทยรักษ์ป่า’ซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนโดยบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป ร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาหลวง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

หนานฝนแสนห่า ขั้นที่ 2 ของน้ำตกกรุงชิง

จัดพิธีส่งมอบเส้นทางดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อ 15 มิถุนายนที่ ผ่านมา โดยมี สนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมเป็นสักขีพยาน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังจัดทำแอพพลิเคชั่น ‘กรุงชิง Virtual Nature Trail 360 องศา’ พร้อมระบบสื่อความหมายธรรมชาติด้านระบบนิเวศป่าดิบชื้น

Advertisement
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการให้ความสำคัญต่อการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและใส่ใจต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลากว่า 30 ปี ด้วยความเชื่อที่ว่า “ต้นทางที่ดีจะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี” โดยดำเนินภารกิจอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและดูแลป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศให้เกิดความยั่งยืน ผ่านการก่อตั้งและสนับสนุนมูลนิธิไทยรักษ์ป่า มาตั้งแต่ปี 2545

การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เป็น ‘ห้องเรียนธรรมชาติ’ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ เป็นหนึ่งในภารกิจที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่าดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายให้เยาวชนและนักท่องเที่ยวมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ ตระหนักถึงคุณค่าของป่าต้นน้ำซึ่งเป็นต้นทางหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต การอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างเกื้อกูล และร่วมรักษาไว้เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป

เส้นทางที่ปรับปรุงใหม่

กรุงชิง Virtual Nature Trail 360 องศา ส่องธรรมชาติ 24 ชม.

Advertisement

ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับที่มาของชื่อ ‘กรุงชิง’ ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่ามาจากชื่อพืชตระกูลปาล์มคือ ‘ต้นชิง’ ภูมินามของแต่ละท้องถิ่น สะท้อนประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์อันโดดเด่นของแต่ละพื้นที่

ต้นชิงชอบร่มเงาที่มีแสงแดดน้อย มีความสวยงามด้วยเรือนยอดและใบแฉกวงกลมขนาดใหญ่ จึงมีช่องว่างให้ลมและฝนปริมาณมากไหลผ่านได้ดีในอดีต ชาวบ้านนำยอดชิงมาประกอบอาหาร ใช้ใบเป็นร่มหรือภาชนะใส่อาหาร จึงเป็นนิเวศวัฒนธรรมที่ควรแก่การอนุรักษ์ หวงแหน เพื่อรักษาและบ่งบอกความหมายของกรุงชิง

สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่าร่วมพัฒนาและปรับปรุงครั้งนี้ มีความสำคัญในฐานะเป็นป่าต้นน้ำของภาคใต้ เส้นทางศึกษาฯ มีระยะทางไป-กลับรวมประมาณ 8 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นป่าดงดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ของภาคใต้ มีความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์อย่างโดดเด่น เช่น มดยักษ์ปักษ์ใต้ ซึ่งเป็นมดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ผืนป่ากรุงชิงมีมดมากกว่า 500 ชนิด จากที่พบในประเทศไทยประมาณ 1,200 ชนิด ด้วยขนาดลำตัวของมดยักษ์ปักษ์ใต้ ยาวถึง 2.5-3 ซม. นับได้ว่าเป็นมดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มักอาศัยอยู่ตามขอนไม้ผุขนาดใหญ่และใต้ดินบริเวณต้นไม้ใหญ่เฉพาะในป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ทางภาคใต้ จึงใช้เป็นดัชนีบ่งชี้สภาพของป่ากรุงชิงได้ทางหนึ่ง มดมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหารหลายระดับ ช่วยทำให้ระบบนิเวศอยู่ในสภาวะสมดุลและเป็นผู้ช่วยแพร่กระจายพันธุ์ของต้นไม้ในป่า ซึ่งหากพื้นที่ป่าถูกรบกวนมดเหล่านี้อาจสูญพันธุ์ และยังทำให้สัตว์หรือพืชที่เปราะบางหายไปจากพื้นที่ได้เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งรวมนกสำคัญและหายากของประเทศไทย จนขึ้นชื่อว่าเป็น ‘สวรรค์ของนักดูนก’ อีกด้วย

มานนีย์ พาทยาชีวะ

มานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวว่า จากความสำคัญของพื้นที่ประกอบกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติเดิมได้เสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา มูลนิธิไทยรักษ์ป่าจึงเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิงเพื่อให้มีความแข็งแรง ปลอดภัย และกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติเดิม ตั้งแต่ปี 2561 จนแล้วเสร็จในปี 2565 โดยการดำเนินงานได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ด้วยการจัดเวทีระดมความคิดเห็นจนนำไปสู่การปรับปรุงเส้นทางในจุดที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้นเพื่อลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่และเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติให้น้อยที่สุด ตลอดจนมีการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการดูแลรักษาการใช้ประโยชน์เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง’ เพื่อดูแลการใช้ประโยชน์ของเส้นทางในระยะยาว ตามแนวทางการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน

ป้ายสื่อความหมายในเส้นทาง

“มูลนิธิยังได้พัฒนาและติดตั้งป้ายสื่อความหมายตลอดเส้นทาง จำนวน 13 จุด เพื่อเป็นสื่อกลางถ่ายทอดความรู้และคุณค่าทางธรรมชาติแก่ผู้มาเยือน รวมถึงพัฒนาแอพพลิเคชั่น “กรุงชิง Virtual Nature Trail 360 องศา” เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสามารถเข้าถึงธรรมชาติในรูปแบบ 360 องศา ผ่านระบบออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา นอกจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง อุทยานแห่งชาติเขาหลวงแล้ว ปัจจุบันมูลนิธิยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสานต่อภารกิจการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อนุรักษ์ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อย่างต่อเนื่อง” มานนีย์กล่าว

พิธีส่งมอบเส้นทางกรุงชิง (จากซ้าย) เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า, ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

ปลายสุดเส้นทาง

พบ ‘หนานฝนแสนห่า’ ในแบงก์พันปี 35

น้ำตกกรุงชิงตั้งอยู่ปลายสุดของเส้นทาง เป็นหนึ่งในน้ำตกที่สวยงามที่สุดในอุทยานแห่งชาติเขาหลวง โดยเฉพาะน้ำตกชั้นที่ 2 ที่ดีรับสมญานามว่า ‘หนานฝนแสนห่า’ ป่าผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้เป็นบ้านของพืชพันธุ์และสัตว์ป่า เป็นต้นกำเนิดของคลองกรุงชิง สายน้ำที่เกิดจากน้ำตกแห่งนี้จะไหลไปรวมกับห้วยคลองกลาย คอยหล่อเลี้ยงชุมชนก่อนนำพาแร่ธาตุอาหารจากผืนป่าไปสู่สัตว์น้ำในท้องทะเล เมื่อปี 2535 กระทรวงการคลังจึงได้นำน้ำตกชั้นนี้พิมพ์ลงในธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท

ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง

ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ดังเช่นความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ เอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่าที่ได้ร่วมมือกันพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติต่างๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับที่ 4 ระหว่างปี 2564-2569 ซึ่งมูลนิธิไทยรักษ์ป่าถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริม และขับเคลื่อนให้ภารกิจของกรมอุทยานฯสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

หลุมพอ

“ความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ เอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิงที่ปรับปรุงใหม่นี้ มีศักยภาพในการถ่ายทอดเรื่องราวความสำคัญและเสน่ห์ของผืนป่าภาคใต้ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้คนในวงกว้าง ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับนักนิยมธรรมชาติ นักวิจัย และนักดูนก ซึ่งจะช่วยพัฒนางานอนุรักษ์ในเชิงลึกและในระยะยาว
ต่อไป” ทรงธรรมกล่าว

เดินชมธรรมชาติในเส้นทาง

หลีกเร้นสายตารัฐ ‘ฐานที่มั่นกรุงชิง’

ย้อนประวัติศาสตร์การเมืองในราวป่า

ไม่เพียงเป็นแหล่งศึกษาทางธรรมชาติ ทว่าพื้นที่แห่งนี้ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะเป็นอดีตฐานที่มั่นสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ ราวปี 2518 ณ ฐานที่มั่นกรุงชิง ลานสนามบาสแห่งนี้ถูกปรับให้เป็นพื้นที่โล่งเพื่อใช้รวมพลทำกิจกรรมต่างๆเป็นทั้งลานฝึกทหาร จุดหุงต้มอาหารเลี้ยงกำลังพล พื้นที่พักผ่อนออกกำลังกาย เช่น การเล่นบาสเกตบอล และจัดตั้งโรงเรียนการเมืองขยายแนวคิดและอุดมการณ์ให้กับสหายพรรคบริเวณโดยรอบเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้สูงใหญ่มากมาย จึงใช้หลบหลีกจากสายตาฝ่ายรัฐได้ดี

ปูภูเขาอาจารย์ไพบูลย์

อีกทั้งมีต้นหลุมพอที่มีรากค้ำยันแบบแผ่นขนาดใหญ่ ช่วยซ่อนอำพรางตัวระหว่างสู้รบ นอกจากนี้ ลานสนามบาสยังเป็นจุดศูนย์กลางด้านในที่เชื่อมไปยังจุดสำคัญอีก 2 แห่ง คือ ถ้ำเกลือ ซึ่งใช้เก็บเสบียงที่ขนมาจากหมู่บ้านใกล้เคียงและถ้ำดอนเมือง โถงกว้างที่จุคนได้ประมาณ 100 คน มีช่องหินทรงกลมขนาดใหญ่ไว้เฝ้าสังเกตการณ์ทางอากาศ จึงใช้เป็นที่หลบภัยอีกด้วย

นับเป็นพื้นที่สำคัญที่น่าเดินทางไปสำรวจ ศึกษา เรียนรู้ และสัมผัสธรรมชาติทั้งออนไซต์และออนไลน์ในวันที่โลกหมุนไปข้างหน้า ป่าก็ต้องถูกอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลัง

ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image