‘ขยะ’ ปัญหาที่ต้อง‘บิ๊กคลีนนิ่ง’! เรื่องไม่ใช่เล่นๆ ของ ชัชชาติ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ลุยสางปมขยะต่อเนื่อง

กลายเป็นประเด็นที่อยู่ในสปอตไลต์ให้ชาวกรุงติดตามอย่างต่อเนื่อง สำหรับปัญหา ‘ขยะ’ ซึ่งแม้รู้กันดีว่าเป็นหนึ่งใน ‘เรื่องใหญ่’ ของกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมร ทว่า อุณหภูมิร้อนพุ่งสูงขึ้นตามลำดับเมื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ขยันลงพื้นที่โรงกำจัดขยะและสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบข้อสงสัยชวนให้ตั้งคำถามหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ‘เครื่องอัดขยะ’ ที่ทุ่มทุนซื้อมาแต่ไม่ (ค่อย) ได้ใช้นานกว่า 10 ปี

คนกรุงเทพฯ คอมเมนต์สนั่นโลกออนไลน์ สะท้อนความคาใจในปมดังกล่าว ยังไม่นับค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะซึ่งเป็นตัวเลขมหาศาลและสัญญาระยะยาว 20 ปีในการดำเนินการ นับเป็นระยะเวลายาวนานดังที่ชัชชาติเน้นย้ำเมื่อทราบปัญหาว่า

“ต้องดูแลภาษีประชาชนให้ใช้อย่างคุ้มค่า หากจะทำอะไรก็ต้องคิดให้ดีถึงอนาคตลูกหลาน กทม.จะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่”

8พันล้านจัดการขยะ!
มากกว่าสาธารณสุข-การศึกษาเด็ก

Advertisement

ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ก่อนได้รับการประกาศรับรองโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าที่ผู้ว่าฯกทม.ในขณะนั้น เดินเท้าจากสถานีบีอาร์ที พระราม 3 เพื่อลงพื้นที่ชุมชนวัดพระยาไกร ระยะ 3 ซอยเจริญกรุง 91 เขตบางคอแหลม เพื่อดูปัญหาการจัดเก็บขยะในชุมชน ตั้งใจแวะพบ ‘ลุงเตี้ย’ คนลากขยะจากตรอกซอกซอยในชุมชนที่รถขยะไม่สามารถเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตาม ลุงเตี้ยจะเกษียณอายุในอีก 3 เดือนข้างหน้า จึงมีความกังวลว่าจะไม่มีใครมาทำหน้าที่ต่อ อาจทำให้มีขยะด้านในชุมชนสะสมเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้คนในชุมชนช่วยนำขยะมาทิ้งในจุดที่รถขยะเข้าถึง

คุย‘ลุงเตี้ย’คนลากขยะ ก่อน กกต.รับรองผลเลือกตั้ง

“ลุงเตี้ยคือซุปเปอร์แมนตัวจริง มีขยะที่ต้องไปเก็บในซอยย่อยกว่า 40 ซอย ขยะเป็นเรื่องใหญ่ของ กทม. ทุกคนต้องช่วยกันทั้งหมด ต้องค่อยๆ เริ่มแยกขยะ ถ้าปล่อยแบบนี้ต่อไป ไปไม่รอดหรอก เมื่อชุมชนขยายตัวขึ้นการเก็บยิ่งยากขึ้น กทม.ใช้เงินเก็บขยะ 8 พันล้านบาทต่อปี ปัจจุบัน กทม.ใช้งบสาธารณสุข 6 พันล้านบาท การศึกษาให้เด็ก 4 พันล้านบาท

เราใช้เงินเก็บขยะเป็นสองเท่าของเด็ก ถ้าลดลงได้ เงินตรงนี้จะไปช่วยเด็กให้มีคุณภาพอาหารดีขึ้น การศึกษาดีขึ้น สาธารณสุขดีขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องขยะไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ถ้าเราลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ก็จะมีเงินไปทำอย่างอื่น” ชัชชาติกล่าวไว้ตั้งแต่วันที่ยังไม่ได้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ อย่างเป็นทางการ

Advertisement

เบรกเอี๊ยด! ขึ้นค่าเก็บขยะอัตราใหม่ ทิ้งพันล้าน
‘อย่าเพิ่มภาระให้ชาวบ้าน’

ตัดภาพมาในวันที่ 8 มิถุนายน ชัชชาติ ในฐานะผู้ว่าฯ ประกาศเบรกเก็บค่าขยะอัตราใหม่ ยอมเสียพันล้าน ไม่อยากซ้ำเติมชาวบ้านในวันเศรษฐกิจฝืดเคือง โดยปัจจุบัน กทม.ใช้งบประมาณในการจัดการขยะกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี แต่สามารถจัดเก็บค่าขยะได้เพียง 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากหากเทียบกับค่าจัดการขยะ ดังนั้น จึงมีนโยบายทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยอัตราใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยการจัดเก็บอัตราใหม่ จาก 20 บาท เป็น 80 บาท ถือว่าเป็นจำนวนที่มาก เกรงว่าจะไปซ้ำเติมประชาชนที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ และแม้จะเก็บอัตราใหม่ก็ได้ค่าขยะไม่มาก จึงยืนยันว่าจะยังไม่เก็บค่าขยะอัตราใหม่

“ยังไม่มีแนวคิดที่จะเพิ่มค่าขยะในตอนนี้ เพราะประชาชนลำบากด้วยเศรษฐกิจแบบนี้ ถ้าเลื่อนได้ ให้เลื่อนไปก่อน ยังไม่ถึงเวลาที่จะขึ้นตอนนี้ จาก 20 เป็น 80 บาท ถือว่าหนัก ผมว่าชาวบ้านเดือดร้อนอยู่แล้ว อย่าเพิ่งไปเพิ่มภาระให้”

ควรลดต้นทุนในการจัดการขยะ มากกว่าไปเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียม วิธีการคือรณรงค์และเพิ่มแรงจูงใจแยกขยะ ด้วยแนวคิด ‘ขยะเป็นทองคำ’ สามารถนำไปรีไซเคิลและใช้ประโยชน์หรือขายได้ เชื่อว่าหากมีการคัดแยกขยะ จะสามารถลดค่าจัดการขยะ ได้อย่างแน่นอน

ด้าน ชาตรี วัฒนเขจร รองปลัด กทม. กล่าวว่า หากเก็บอัตราใหม่ กทม.จะได้ค่าขยะ 1,000 ล้านบาท สำหรับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 และได้มีการเลื่อนการบังคับใช้จำนวน 3 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2564 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 อย่างไรก็ตาม หากผู้บริหารจะเลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียม จะต้องเสนอร่างข้อบัญญัติฉบับใหม่ โดยขอแก้ไขเพียงกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ต่อสภากรุงเทพมหานครพิจารณา เพื่อความเห็นชอบก่อน จึงจะประกาศเลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้

มูลฝอยกรุงเทพฯ วันละหมื่นตัน ส่ง 3 โรงกำจัด
อนาคต‘ฝังกลบ’ไม่ยั่งยืน

ตรวจโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม

ครั้นถึงปลายเดือนมิถุนายน ชัชชาติ พร้อม 2 รองผู้ว่าฯ ได้แก่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้เชี่ยวชาญด้านชุมชนและ จักกพันธุ์ ผิวงามซึ่งเข้าใจระบบราชการใน กทม.เป็นอย่างดี เดินทางไปยังโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม เพื่อตรวจสอบปัญหาที่ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องกลิ่นขยะ ในช่วงบ่ายของวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา

เปิดเผยข้อมูลที่ต้องขีดเส้นใต้ คือ ขยะมูลฝอยในกรุงเทพมหานครมีเฉลี่ยวันละ 10,000 ตัน ส่งไปโรงกำจัดขยะ 3 แห่ง คือ อ่อนนุช 4,000 ตัน หนองแขม 3,500 ตัน และสายไหม 2,500 ตัน โดยโรงกำจัดขยะหนองแขมมีจุดกำจัด 2 แบบ คือ 1.โรงเผาขยะโดยเอกชนวันละ 500 ตัน ซึ่ง กทม.จะต้องเสียงบประมาณในการเผาขยะตันละ 970 บาท ตกวันละ 500,000 บาท ปีละ 180 ล้านบาท 2.ฝังกลบที่กำแพงแสน ค่าฝังกลบ 693 บาทต่อตัน รถวิ่งเฉลี่ยวันละ 1,000 เที่ยว

ผู้ว่าฯกทม.มองว่าในอนาคต ‘การฝังกลบ’ จะไม่ยั่งยืน เนื่องจากความเสี่ยงค่าขนส่ง มลพิษฝังกลบ อย่างไรก็ตาม จะมีการทำเตาเผาขยะที่หนองแขมเหมือนกับที่อ่อนนุช ซึ่งการเผาจะใช้งบประมาณเฉลี่ย 775 บาทต่อตัน แต่ยังมีปัญหาเรื่องการประกาศรับซื้อ

“สิ่งที่เห็นคือ ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ และส่วนใหญ่สัญญาระยะยาว 20 ปี ต้องไปดูในรายละเอียด สิ่งสำคัญคือการทำให้อนาคตดีขึ้น ดังนั้น หากจะทำอะไรก็ต้องคิดถึงลูกหลาน ซึ่ง กทม.จะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่ รวมถึงเรื่องการสร้างมลภาวะให้กับชุมชนโดยรอบ”

ช้อปปิ้งจาก‘ภาษี’คิดให้ดีก่อนลงทุน
‘เครื่องอัดขยะ’10ปีไม่ใช้!

สถานีขนถ่ายขยะสายไหม

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับ ‘เครื่องอัดขยะ’ ซึ่งตามหลักการจะช่วยให้ขนส่งง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าไม่ได้ถูกมาใช้งานนานกว่า 10 ปี ชัชชาติ ย้ำว่า ควรคิดให้ดีก่อนลงทุนซื้อและต้องใช้ให้มีประสิทธิภาพ ดูแลภาษีประชาชนให้ใช้อย่างคุ้มค่า โดยฝากรองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ไปดู

ครั้นถามว่า ทำไมถึงไม่ได้ใช้ หัวหน้าศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม อธิบายว่า บางช่วงอาจจะติดเรื่องการขอรับงบประมาณ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า ‘มาไม่ทัน’ ชัชชาติจึงกล่าวเสริมว่า ‘ไม่เป็นไร’ ต้องหาข้อมูลเพราะอาจจะมีบางจุดปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ แต่อาจจะคนละหน่วยงานจึงไม่ทราบ

“ต้องดูว่าอนาคตจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพให้คุ้มเงินภาษีของประชาชน และอย่างที่บอกคือเรื่องสัญญา เช่น เตาเผาตรงนี้ทำไปแล้ว 20 ปี สัญญาทำไปแล้ว เรามีหน้าที่นำขยะให้เขาวันละ 500 ตัน ตอนนี้ใช้ไปแล้ว 5 ปี การกำจัดขยะเป็นสัญญาในระยะยาว 20 ปี เพราะฉะนั้นทำอะไรวันนี้ มันมีผลต่อลูกหลานในอนาคตมาก พยายามดูแลให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดและต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้เอกชน คงต้องไปดูอีกทีในรายละเอียด แต่เราก็หวังว่า กทม.จะทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ให้ประชาชนอย่างเต็มที่

ส่วนเรื่องมลภาวะสิ่งแวดล้อม เรื่องการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชน ตรงนี้ผมต้องถามประชาชนอีกทีว่าเป็นอย่างไร คงมากำชับอีกทีว่าสำนักสิ่งแวดล้อมดูแลพื้นที่กว่า 300 ไร่ ถ้าไม่ใช้พื้นที่ฝังกลบแล้ว น่าจะเปลี่ยนให้เป็นสวนสาธารณะที่มีประโยชน์กับประชาชนได้ อาจอยู่ในโครงการปลูกป่าของเรา ต้องขอบคุณสำนักสิ่งแวดล้อมช่วยดูที่นี่ให้ละเอียด” ชัชชาติกล่าว

สัญญายาว 20 ปี
ปัญหาหนักอก ที่ยกออกไม่ได้?

สถานีขนถ่ายขยะฯ สายไหม กำจัดขยะ 2,000 ตันต่อวัน

ถัดมาเพียง 2 วัน วันที่ 28 มิถุนายน ผู้ว่าฯกทม. พร้อมคณะ เยือน สถานีขนถ่ายขยะสายไหม เพื่อติดตามระบบกำจัดขยะของ กทม. และปัญหาที่ชาวบ้านร้องเรียนมลภาวะด้านกลิ่นและเสียง ได้ตัวแถมคือประเด็นการใช้เครื่องอัดขยะอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ

สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยสายไหมมีการกำจัดขยะอยู่ที่ 2,000 ตันต่อวัน แบ่งเป็น 1,000 ตัน ไปฝังกลบที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม หมดสัญญาในปี 2568 และอีก 1,000 ตัน ไปกำจัดขยะที่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เริ่มสัญญาปี 2565 หมดสัญญาในปี 2585 ปัญหาคือ กทม.ลงทุนทำระบบเครื่องบีบอัดขยะ มูลค่า 700 ล้านบาท เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันยังใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากตู้ใส่มีน้ำหนักหลายตัน ทำให้ขยะขนไปมีน้อยลง ต้นทุนในการขนส่งเพิ่มมากขึ้น

“ต้องดูถึงอนาคตว่าจะใช้งานระบบนี้ต่อหรือไม่ ส่วนสัญญาฝังกลบที่จะหมดในปี 2568 ชาวบ้านร้องเรียนปัญหาเรื่องกลิ่นกับเรื่องเสียงในตอนกลางคืน จึงมอบหมายให้รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ดูแลความเดือดร้อนของชาวบ้าน หลังจากหมดสัญญาแล้วจะทำเป็นเตาเผาขยะ ซึ่งกฎหมายระบุไว้ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ในทางปฏิบัติความเข้มข้นต้องไม่น้อยกว่าการทำอีไอเอ ต้องไม่ให้เกิดความเสียหายกับประชาชน เชื่อว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่เตาเผาสะอาดทำได้ แต่ต้องมั่นใจในคุณภาพ ราคาต้องสมเหตุสมผล” ชัชชาติย้ำหนักแน่นในประโยคท้าย ก่อนกล่าวถึงประเด็น ‘ทางเข้าออก’ ของสถานีขนถ่ายซึ่งเป็นของเอกชน ทำให้ปรับปรุงทางไม่ได้

“ในอนาคตถ้าจะลงทุนทำโครงการระดับร้อยล้าน พันล้าน ควรจะมีทางเข้าออกที่ถูกต้องด้วย”

ส่วนปัญหาขยะของเขตสายไหม เนื่องจากมีประชากรกว่า 2 แสนคน ขยะจึงเพิ่มขึ้น ศักยภาพการเก็บมีไม่เพียงพอ การกระจายตัวของประชากรอยู่เป็นหมู่บ้าน ทำให้ใช้เวลานาน อยากให้มีการเก็บขยะได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งต้องมีการนำอุปกรณ์การเก็บขยะในเมืองมาไว้ตรงนี้ด้วย

ผู้ว่าฯย้ำอีกรอบว่า ปัญหาขยะของ กทม.คือ มีการทำสัญญาระยะยาว 20 ปี เช่น เตาเผาขยะที่หนองแขม อ่อนนุช ขยะเกินกว่าครึ่งของ กทม.มีสัญญาผูกพันกำหนดค่าใช้จ่ายล่วงหน้าไว้แล้ว มองไปอนาคตพยายามทำให้ดีที่สุดมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้ระบบกำจัดขยะของ กทม. แบ่งเป็น 1.ฝังกลบ 2.เข้าเตาเผา 3.RDF (เชื้อเพลิงขยะมูลฝอย) 4.MBT (การหมักเป็นก๊าซมีเทน ไปปั่นกระแสไฟฟ้า) ตั้งใจไว้ให้ฝั่งกลบลดลงเหลือร้อยละ 30 แต่ค่าใช้จ่ายไม่ฝังกลบต้องสมเหตุสมผลด้วย ถ้าแบบไม่ฝังกลบมีราคาแพงกว่า ซึ่งต้องพิจารณาต้นทุนอย่างเหมาะสม ส่วนการแยกขยะต้องทำเป็นระบบ แยกขยะเปียก ขยะแห้ง อาจมีการให้ปุ๋ยหมักกับประชาชนเป็นการตอบแทน

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการรื้อปัญหาขยะที่ถูกกวาดไว้ใต้พรมออกมาสะสาง ด้วยแนวทางที่ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ย้ำชัดว่าต้องโปร่งใส คุ้มค่าเงินภาษีที่ประชาชนควักกระเป๋าจ่ายในภาวะไม่ปกติของเศรษฐกิจไทย

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image