“ลายมือ” สุนทรภู่ บนสมุดข่อย “นิราศสุพรรณ”

“ลายมือ” สุนทรภู่ บนสมุดข่อย “นิราศสุพรรณ”

ลายมือ” สุนทรภู่

บนสมุดข่อย “นิราศสุพรรณ”

โดย ปัญชลิต โชติกเสถียร / สมยศ ดวงประทีป

ชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ

Advertisement

ประวัติของท่านสุนทรภู่ในปัจจุบันนี้เป็นอะไรที่ถูกเขียนไปในแนวบันเทิงคดีมากเกินกว่าที่จะมุ่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ทำให้บุคลิกของท่านผิดเพี้ยนไปมาก และมักจะวนเวียนอยู่กับความเชื่อเดิมๆ ว่าเป็นกวีขี้เมาตกยาก ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานชี้ชัด ตัวท่านสุนทรภู่เองก็ไม่ต่างจากพระอภัยมณี กลายเป็นตัวละครในประวัติของตนเองที่แต่งโดยคนอื่น

ที่สำคัญบ้านเราไม่ให้ความสำคัญกับการค้นหา “ลายมือ” ของท่านสุนทรภู่กันเลย ต่างจากทางต่างประเทศที่พยายามเสาะหา เก็บรักษา “ลายมือ” กวีคนสำคัญบ้านเขา เอามาอวดเอามาจัดแสดงให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจ

กรอบความคิดในการศึกษาเรื่องราวของท่านสุนทรภู่ยังอยู่บนพื้นฐานประวัติที่นิพนธ์โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเผยแพร่กันตั้งแต่ปี พ.. 2465 ยาวนานถึงร้อยปีแล้วนั้น ถึงแม้จะมีการปรับแก้กันไปหลายครั้งหลายคราวแล้วก็ตาม แต่ด้วยความแพร่หลายและมีคนใช้อ้างอิงกันมาก เลยกลายเป็นเชื่อกันไปเองว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรับว่าเขียนประวัติสุนทรภู่ขึ้นเองโดยการตีความจากผลงานสุนทรภู่ ไม่ได้รู้จักตัวสุนทรภู่หรือลูกหลานแต่อย่างใด

Advertisement

ท่านได้ระบุไว้ในจดหมายเวรวันที่ 4 มิถุนายน พ.. 2483 ว่า ..หม่อมฉันเคยแต่งประวัติของคนที่ไม่รู้จักแต่สุนทรภู่คนเดียว ที่กล้าแต่งก็เพราะตัวแกเองเล่าเรื่องประวัติของแกไว้ในนิราศที่แกแต่งแทบทุกเรื่อง ได้อาศัยความในนิราศจึงสามารถแต่งประวัติสุนทรภู่ได้..”

ขณะที่ท่านทรงนิพนธ์ประวัติสุนทรภู่ขึ้นนั้น บ้านเรายังไม่พบรำพันพิลาปที่สุนทรภู่แต่งขึ้นเพื่อพรรณนาถึงชีวิตของตัวเอง รวมถึงต้นฉบับสมุดไทยโคลงนิราศสุพรรณ เล่ม 2 กับเล่ม 3 ที่เพิ่งมาพบภายหลังในปี พ.. 2504 นอกจากนี้ยังมีประวัติสุนทรภู่อีก 2 สำนวนที่เก่ากว่าสำนวนของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คือสำนวนของ ก... กุหลาบ ลงไว้ในสยามประเภท ฉบับวันที่ 12 กรกฎาคม ร.. 123 (.. 2447) สำนวนนี้ ก... ระบุว่าได้พบกับนายพัด บุตรชายสุนทรภู่ และได้สัมภาษณ์เรื่องราวต่างๆ บันทึกไว้ อีกสำนวนเป็นของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) หรือที่คนทั่วๆ ไปรู้จักกันดีในนามหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ผู้ค้นพบพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับสำคัญ สำนวนนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ที่เคยพบกับสุนทรภู่หรือลูกๆ ของสุนทรภู่ แล้วนำมาประมวลเข้ากับสารสนเทศที่ปรากฏในนิราศต่างๆ ของท่านสุนทรภู่ จนได้เป็นประวัติของสุนทรภู่ออกมา ทั้งสองสำนวนให้ข้อมูลหลายเรื่องที่ต่างไปจากประวัติสุนทรภู่ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

อ่านนิราศสุพรรณ

เมื่อปลายปี พ.. 2563 พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป จ. สุพรรณบุรี และชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ ได้ขอเข้าทำการศึกษาสมุดไทยโคลงนิราศสุพรรณ ณ ห้องเอกสารโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ และได้ขอทำสำเนาภาพถ่ายดิจิตอลมาทำการศึกษาเพิ่มเติม และได้รับการสนับสนุนจากนางทัศนีย์ เทพไชย ผู้อำนวยการ หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ ร่วมมือจัดตั้งเป็น “โครงการอ่านทบทวนโคลงนิราศสุพรรณจากต้นฉบับสมุดไทย” ขึ้น โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมอ่านทุกเพศทุกวัย เยาวชน ผู้สูงอายุ และหลากหลายสาขาอาชีพ โดยเฉพาะครู ผู้รู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อาทิ นายบุญครอง คันธฐากูร อาจารย์นวลพรรณ ยิ้มยวน อาจารย์ประวิทย์ บุญเรืองรอด อาจารย์เจน พวงมาลี หลายท่านเป็นผู้ที่เคยทำการศึกษาโคลงนิราศสุพรรณมาก่อนและมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นอย่างดี

ทั้งนี้การอ่านทุกครั้งมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภาษาโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร นางสาวเอมอร เชาวน์สวน ให้คำปรึกษาและร่วมอ่านด้วยทุกครั้ง การอ่านโคลงนิราศสุพรรณต้นฉบับจากสำเนาดิจิตอลใช้วิธีส่งสัญญาณภาพจากคอมพิวเตอร์แม่ข่ายไปยังจอทีวีขนาด 40 นิ้ว จำนวนหลายจอที่ตั้งตรงหน้าผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละท่าน ทำให้เห็นรูปอักษรลายมือบนสมุดไทยได้ชัดเจนทุกคน อย่างไรก็ตามโครงการนี้ต้องใช้เวลานานถึง 16 เดือนกว่าจะอ่านได้ครบทั้ง 462 บท ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.. 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 และการอ่านแต่ละครั้งต้องถกกันในเรื่องรูปอักษรเพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาด และยังต้องถกกันในเรื่องความหมายคำศัพท์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

พบแก้ไขโคลง

การที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม “โครงการอ่านทบทวนโคลงนิราศสุพรรณจากต้นฉบับสมุดไทย” ได้เห็นลายมือและรูปแบบการเขียนโคลงบนสมุดไทยอย่างชัดเจนนั้น นำไปสู่การพบความคลาดเคลื่อนระหว่างฉบับตีพิมพ์เผยแพร่กับต้นฉบับลายมือเขียนหลายแห่ง ซึ่งมีผลทำให้หลายบทโคลงมีความหมายเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น

โคลงบทที่ 20

ฉบับพิมพ์ทั่วไป – “ยามยากหากปันกัน กินซีก ฉลีกแฮ”

โครงการอ่านทบทวนฯ อ่านใหม่ – “ยามยากหมากปันกัน กินซีก ฉลีกแฮ”

โคลงบทที่ 133

ฉบับพิมพ์ทั่วไป – “โรงเล่าเฃาต้มค้าง ขอบคุ้งหุงสุรา ฯ”

โครงการอ่านทบทวนฯ อ่านใหม่ – “โรงเล่าเตาต้มค้าง ขอบคุ้งหุงสุรา ฯ”

โคลงบทที่ 321

ฉบับพิมพ์ทั่วไป – “เดือนหนึ่งพึ่งรวงแสวง หวานฉ่ำ ล้ำเอย”

โครงการอ่านทบทวนฯ อ่านใหม่ – “เดือยหนึ่งพึ่งรวงแสวง หวานฉ่ำ ล้ำเอย”

หวัดอย่างมีระบบ

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้เห็นสภาพการเขียนของต้นฉบับซึ่งเป็นลายมือเดียวกันทั้ง 3 เล่ม และเป็นลายมือแบบหวัดแต่เขียนเป็นระบบและมีระเบียบ เขียนด้วยดินสอหินที่ลบแก้ไขได้ง่าย และเห็นร่องรอยการแก้ไข ลบ ขีดฆ่า เขียนแทรกทั้งคำทั้งบทโคลง โยงลำดับบทโคลงใหม่มากมายหลายแห่ง รวมถึงหน้าสุดท้ายของของสมุดไทยเล่ม 3 หลังจากโคลงนิราศสุพรรณจบแล้ว ผู้ประพันธ์ยังแต่งโคลงขึ้นอีก 3 บท และนำโคลง 2 บทไปกระจายแทรกไว้ตามพื้นที่ว่างระหว่างบทโคลงที่แต่งไปก่อนหน้าแล้ว อีกบทโคลงที่เหลือไม่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของโคลงนิราศสุพรรณในฉบับพิมพ์ใดๆ

นายธนิต อยู่โพธิ์ เมื่อคราวเป็นอธิบดีกรมศิลปากรเคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสมุดไทยโคลงนิราศทั้ง 3 เล่มนี้ว่าเป็นต้นฉบับหรือฉบับแรกเขียนไว้คำนำของหนังสือ “โคลงนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่ ฉบับสมบูรณ์ พร้อมด้วยเชิงอรรถและแผนที่สังเขปแสดงระยะเดินทาง” ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์เมื่อปี พ.. 2510 ว่า..ต้นฉบับสมุดไทยเรื่องโคลงนิราศสุพรรณที่มีอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรนี้ ถ้ามิใช่ลายมือของท่านสุนทรภู่เอง อาจจะเป็นลายมือเสมียนเขียนตามคำบอกของท่านก็ได้ เพราะปรากฏว่ามีรอยลบแก้ใหม่ตลอดจนตกเติมมากมายหลายแห่ง..”

ต่อมาในปี พ.. 2529 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 200 ปี ชาตกาลสุนทรภู่ และในโอกาสที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องสุนทรภู่ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม กรมศิลปากรได้มอบหมายให้นางสาวก่องแก้ว วีระประจักษ์ หัวหน้างานบริการหนังสือโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ จัดทำโครงการวิจัยเรื่อง “วิเคราะห์เปรียบเทียบต้นฉบับ ตัวเขียนวรรณกรรมสุนทรภู่” โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบสมุดไทยตัวเขียนงานวรรณกรรมของสุนทรภู่จำนวน 5 เรื่อง คือ โคลงนิราศสุพรรณ นิราศเมืองเพชร ลักษณวงศ์ สิงหไกรภพ และสุภาษิตสอนสตรี จากสมุดไทยจำนวน 109 เล่ม โดยทำการคัดถ่ายถอดอักษรตามต้นฉบับทุกเรื่อง และได้ทำการตรวจสอบชำระเปรียบเทียบตัวเขียนจากสมุดไทยโคลงนิราศสุพรรณทั้ง 3 เล่ม กับฉบับพิมพ์ “โคลงนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่ ฉบับสมบูรณ์ พร้อมด้วยเชิงอรรถและแผนที่สังเขปแสดงระยะเดินทาง” ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์เมื่อปี พ.. 2510

ลายมือ” สุนทรภู่

ผลการวิจัยในครั้งนี้ นางสาวก่องแก้ว วีระประจักษ์ ได้เสนอในหน้า 123 ว่า ..ถึงแม้ว่าต้นฉบับวรรณกรรมของท่านสุนทรภู่ที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติปัจจุบันจะมีจำนวนมาก แต่มีอยู่เพียงเรื่องเดียวที่มีหลักฐานบ่งชี้ให้เห็นว่าน่าจะเป็นฉบับลายมือของท่านสุนทรภู่ คือ ต้นฉบับโคลงนิราศสุพรรณ ซึ่งมีอยู่เพียง 3 เล่ม…” และในหน้า 277 ว่า “อนึ่ง ถ้าจะวิเคราะห์จากลักษณะสภาพการบันทึกลายเส้นอักษรลงในเล่มสมุดซึ่งมีการเขียนที่มีทั้งการลบออกเขียนขึ้นใหม่ในที่เดิม การแก้คำและการตกแทรกข้อความต่างๆ เหล่านี้น่าจะเป็นลักษณะของการเขียนคำประพันธ์ที่เกิดขึ้นจากความคิดในขณะที่คิดได้นั้นเอง มิใช่การคัดลอกมาจากต้นฉบับอื่น ฉะนั้นจึงอาจสันนิษฐานในความเป็นไปได้ว่าต้นฉบับโคลงนิราศสุพรรณทั้ง 3 เล่มนี้เป็นฉบับที่เขียนขึ้นครั้งแรกโดยผู้ประพันธ์คือท่านสุนทรภู่ ซึ่งถ้าเป็นจริงตามข้อสันนิษฐานนั้น ต้นฉบับของนิราศสุพรรณทั้ง 3 เล่มนี้ก็น่าจะเป็นเอกสารที่สำคัญอย่างยิ่ง และควรถือว่าเป็นความโชคดีของวงการศึกษาของชาติที่สามารถค้นพบมรดกวรรณกรรมที่เป็นต้นฉบับลายมือของท่านกวีเอกของโลก”

ถึงแม้ท่านสุนทรภู่จะตั้งชื่อวรรณกรรมเรื่องนี้ว่า “โคลงนิราศสุพรรณ” ก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าวรรณกรรมเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชาวจังหวัดสุพรรณบุรีเพียงเท่านั้น เนื่องจากการเดินทางในครั้งนี้เป็นการเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ผ่านบ้านเมืองหลายแห่ง และจุดหมายปลายทางก็อยู่เลยเขตแดนของแขวงเมืองสุพรรณไปแล้ว เนื่องด้วยในสมัยนั้นดินแดนเหนือสุดของสุพรรณคือบ้านท่าช้าง และมีแม่น้ำกำมะเชียน กับ แม่น้ำฉวาก เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างแขวงเมืองสุพรรณกับแขวงเมืองสรรคบุรี ดังที่ปรากฏในแผนที่มณฑลเมืองสุพรรณบุรี ร.. 114-115

และถ้าลายมือในโคลงนิราศสุพรรณทั้ง 3 เล่มนี้ คือลายมือของท่านสุนทรภู่อย่างแท้จริงแล้ว ก็ต้องนับเป็นเรื่องสำคัญเป็นเรื่องของคนทั้งชาติ มิใช่แค่เฉพาะชาวจังหวัดสุพรรณบุรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนจัดให้มีการศึกษาเปรียบเทียบพิสูจน์ในเรื่องนี้กันต่อไป

อย่างไรก็ตามมีข้อที่ควรคำนึงคือ ข้อโต้แย้งประเด็นเรื่องลายมือในโคลงนิราศสุพรรณทั้ง 3 เล่ม อาจมิใช่ลายมือของสุนทรภู่ ทั้งนี้สุนทรภู่อาจให้คนอื่นเขียนขึ้นตามคำบอก และสุนทรภู่เป็นอาลักษณ์ควรมีลายมือที่สวยงามกว่านี้ ในกรณีให้คนอื่นเขียนให้ในแง่หลักฐานถือว่าไม่ชัดเจนเพราะไม่มีเอกสารร่วมสมัยใดๆ กล่าวถึง ปราศจากหลักฐานที่สามารถยืนยันในเรื่องนี้ได้ ส่วนใหญ่เป็นแต่การกล่าวในชั้นหลัง ในประเด็นที่สุนทรภู่ควรมีลายมือที่สวยงามนั้น อาจอธิบายได้ว่าคนเราสามารถเขียนแบบคัดลายมือหรือเขียนแบบหวัดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งานและข้อจำกัดของเวลาที่มีอยู่

เรือของสุนทรภู่พายผ่านแม่น้ำสุพรรณ (แม่น้ำท่าจีน) ที่ไหลผ่านตัวเมืองสุพรรณ มีโคลงบอกไว้หลายบทในนิราศสุพรรณ (ภาพจากโดรนมติชนทีวี มีนาคม พ.. 2564)

ภาพหนังสือสมุดไทยโคลงนิราศสุพรรณ เล่ม 1-3 ซึ่งมีเพียงชุดเดียวในประเทศ เก็บรักษาอยู่ที่ห้องเอกสารโบราณ สําานักหอสมุดแห่งชาติ

บรรยากาศของกิจกรรม “โครงการอ่านทบทวนโคลงนิราศสุพรรณจากต้นฉบับสมุดไทย” ซึ่งจัดขึ้น13 ครั้ง ใช้เวลา 16 เดือน จึงอ่านโคลงได้ครบทั้ง 462 บท

ตัวอย่างร่องรอยการแก้ไข ลบ ขีดฆ่า เขียนแทรกทั้งคําทั้งบทโคลง โยงลําดับบทโคลงใหม่ ฯลฯ ในสมุดไทยโคลงนิราศสุพรรณ ซึ่งมีมากมายหลายแห่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image