สำรวจ ‘ศรีเทพ’ เยือนมหาสถูปแห่งลุ่มน้ำป่าสัก พิสูจน์ศูนย์กลางทวารวดี?

สำรวจ ‘ศรีเทพ’ เยือนมหาสถูปแห่งลุ่มน้ำป่าสัก พิสูจน์ศูนย์กลางทวารวดี?
มหาสถูปเขาคลังนอก

นับเป็นทริปคุณภาพที่พลาดไม่ได้สำหรับทัวร์ ทวารวดีที่ ‘ศรีเทพ’ จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดโดย ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน หรือ ‘มติชน อคาเดมี’

ไม่ใช่เพียงเพราะความยิ่งใหญ่ของเมืองโบราณศรีเทพ อันประกอบด้วยสถาปัตยกรรมงดงามมากมายที่ทิ้งร่องรอยแห่งอารยธรรมไว้ให้คนรุ่นหลังได้จินตนาการถึงความรุ่งโรจน์เมื่อครั้งอดีตกาล

ทว่า ล่าสุดเกิดข้อเสนอสะเทือนวงการโบราณคดีจากนักประวัติศาสตร์ชื่อดัง อย่าง ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ว่า ศรีเทพคือศูนย์กลาง ‘ทวารวดี’ เมื่อกว่าพันปีที่แล้ว ไม่ใช่นครปฐมโบราณ หรือเมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี ตามที่เชื่อกันในปัจจุบัน โดยให้เหตุผลสำคัญว่า ทวารวดีนับถือศาสนาพราหมณ์เป็นหลัก ไม่ใช่พุทธ ขณะที่ 2 เมืองดังกล่าวนับถือพุทธ นอกจากนี้ เมืองโบราณศรีเทพยังพบเทวรูปพระกฤษณะผู้สร้างเมืองทวารวดีแห่งเดียวในประเทศ อีกทั้ง มีหลักฐานถึงความสอดคล้องกับชื่อ ‘กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา’ นามเดิมกรุงศรีอยุธยา สะท้อนความสืบเนื่องกับเส้นเรื่องประวัติศาสตร์ไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ปลุกความคึกคักให้ผู้คนส่องสปอตไลต์ไปยัง ‘อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ’ จนต้องชวนให้เดินทางมาร่วมพิสูจน์ข้อสันนิษฐาน สัมผัสความอลังการของบรรดาศาสนสถาน ดื่มด่ำความประณีต อ่อนช้อย แต่ทรงพลังของศิลปกรรมหลากหลายภายใต้ความศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นเทวรูป ธรรมจักร จนถึงปูนปั้นรูปบุคคลอันเป็นเอกลักษณ์

Advertisement
ปูนปั้นรูปคนแคระและพันธุ์พฤกษาฐานเขาคลังใน

ไม่เพียงเท่านั้น กรมศิลปากรยังผลักดันเมืองโบราณศรีเทพ พ่วงโบราณสถานเขาคลังนอก และถ้ำถมอรัตน์ แลนด์มาร์กศักดิ์สิทธิ์ให้ขึ้นแท่น ‘มรดกโลก’ ที่คนไทยต้องเกาะขอบเวทีร่วมลุ้น

เสาร์ที่ 9 กรกฎาคมนี้ รศ.พิชญา สุ่มจินดา อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ ให้เกียรติรับหน้าที่วิทยากร พร้อมพาคณะทัวร์ปักหมุดยังเมืองสำคัญในลุ่มแม่น้ำป่าสัก ล้อมวงฟังเลคเชอร์ที่เข้มข้นด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์และศิลปะ เพลินตาด้วยบรรยากาศร่มรื่นเขียวขจีของอุทยานฯ ในขณะเดียวกันก็ขรึมขลังด้วยปรางค์อีกทั้งมหาสถูปที่เพิ่งได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ เผยให้เห็นความเชื่อเบื้องหลังผ่านความยิ่งใหญ่ซับซ้อนของศิลปะ-สถาปัตย์ที่ต้องเหยียบย่างไปเช็กอิน

ทับหลังอุมามเหศวร

รู้ก่อนล้อหมุน ‘ศรีเทพ’ มาจากไหน? เปิดพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน

Advertisement

ก่อนออกเดินทางมุ่งหน้าศรีเทพ มาทำความรู้จักเมืองโบราณแห่งนี้พอสังเขป เริ่มด้วยชื่อ ‘ศรีเทพ’ ซึ่งปรากฏถ้อยคำดังกล่าวมาแต่ครั้งต้นกรุงศรีอยุธยา ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน พบตำแหน่ง ‘หมอศรีเทพ’ กรมหมอช้าง นอกจากนี้ ยังพบชื่อ ‘พันบุตรศรีเทพ’ สมัยพระไชยราชา กับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เกี่ยวข้องกับกำลังคนบ้านมหาโลก แห่งลุ่มน้ำป่าสัก

กรมศิลปากร ระบุว่า ศรีเทพเป็นเมืองที่มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ‘เมืองใน’ และ ‘เมืองนอก’ รวมพื้นที่กว่า 4.7 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,889 ไร่

‘เมืองใน’ ผังค่อนข้างกลม มีโบราณสถานอันเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูกระจายตัว 48 แห่งบนไทม์ไลน์ตั้งแต่วัฒนธรรมทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-16 จนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ พุทธศตวรรษที่ 16-18

โบราณสถานสำคัญที่พลาดชมไม่ได้ ต้องผายมือให้ไปยืนอยู่เบื้องหน้า ซึมซาบทุกรายละเอียดลงในความทรงจำ

‘เขาคลังใน’ ศาสนสถานขนาดใหญ่เนื่องในพุทธศาสนา บรรจงก่อขึ้นจากศิลาแลงสะดุดตาด้วยปูนปั้นรูปคนแคระที่มีศีรษะเป็นบุคคลและสัตว์ต่างๆ อย่างไม่เหมือนใครและไม่มีที่ใดเหมือน สลับกับรูปสัตว์ในท่าแบกประกอบลายพันธุ์พฤกษาในวัฒนธรรมทวารวดี

ปรางค์ศรีเทพภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

‘ปรางค์ศรีเทพ’ ศิลปกรรมสไตล์เขมร ก่อด้วยอิฐบนฐานศิลาแลง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายซึ่งนับถือพระศิวะเป็นใหญ่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยเสด็จเมืองศรีเทพใน พ.ศ.2447 ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 โดยถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกบริเวณหน้าปรางค์แห่งนี้

‘ปรางค์สองพี่น้อง’ ปราสาท 2 องค์ก่อด้วยอิฐ ตั้งบนฐานเดียวกัน ปรากฏประติมากรรมสำคัญที่ต้องกดชัตเตอร์ คือ ทับหลังจำหลักภาพ ‘อุมามเหศวร’ (พระอิศวรอุ้มพระแม่อุมาประทับบนโคนนทิ) ทางเดินรูปกากบาทบริเวณปรางค์ยังเป็นจุดค้นพบประติมากรรม ‘สุริยเทพ’ หินทราย บ่งชี้การนับถือพระอาทิตย์ของผู้คนในเมืองดังกล่าว

ส่วน ‘เมืองนอก’ ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน สำรวจพบโบราณสถาน 64 แห่ง และสระน้ำโบราณจำนวนมาก

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเมืองศรีเทพ เป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2478 นับแต่นั้นมา การศึกษาเกี่ยวกับเมืองโบราณแห่งนี้คืบหน้าขึ้นเป็นลำดับ ได้รับความสนใจทั้งจากนักวิชาการระดับตำนานทั้งชาวไทยและต่างชาติ อาทิ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, ดร.ควอริทช์ เวลส์ และ ศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอลิเยร์ เป็นต้น

มหาสถูป ‘เขาคลังนอก’ สมบูรณ์ ยิ่งใหญ่ ‘หนึ่งเดียวในไทย’

อีก 2 จุดเช็กอินของทริปนี้ ได้แก่ โบราณสำคัญอย่าง ‘เขาคลังนอก’ ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองโบราณศรีเทพห่างออกไปทางทิศเหนือราว 2 กิโลเมตร ก่อนการขุดแต่งและบูรณปฏิสังขรณ์ มีรูปร่างคล้ายภูเขาสูงใหญ่ ชาวบ้านเชื่อว่ามีทรัพย์สมบัติและอาวุธอยู่ภายในจึงเรียกว่าเขาคลังนอก คู่กับเขาคลังใน ภายในเมืองศรีเทพ

ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข อินทราวุธ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ล่วงลับ เคยให้ความเห็นไว้ว่า เขาคลังนอกรับคติการสร้างจากพุทธศาสนามหายานที่นิยมสร้างอาคารบนฐานสูง รูปแบบผังมณฑลจักรวาล และมีความสัมพันธ์กับเขาถมอรัตน์นอกเมืองศรีเทพ ซึ่งมีภาพสลักเกี่ยวกับพุทธศาสนามหายานอยู่ภายใน

จุดเด่นอยู่ที่หลักฐานที่ปรากฏอยู่บริเวณฐานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์มาก โดยในประเทศไทยยังไม่เคยพบโบราณสถานในสมัยเดียวกัน ที่ยังคงสภาพและมีขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อน

ส่วน ‘ปรางค์ฤาษี’ ตั้งอยู่นอกเมืองศรีเทพเช่นกัน โดยอยู่ห่างออกไปราว 3 กิโลเมตร ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐไม่สอปูนบนฐานศิลาแลง โดยมีอาคารขนาดเล็กในบริเวณเดียวกัน ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงก่อด้วยศิลาแลง พบโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาฮินดู ได้แก่ ศิวลึงค์ ฐานประติมากรรม และชิ้นส่วนโคนนทิที่ล้วนงดงามน่าชม

มหาสถูปเขาคลังนอก โบราณสถานสำคัญนอกเมืองศรีเทพ

สกุลช่างยูนีค กายวิภาคเด่น ขับเน้นความงามลงตัว

จากภาพกว้างทั้งผังเมืองและสถาปัตยกรรม มาโฟกัสที่รายละเอียดทางด้านศิลปกรรมแห่งเมืองศรีเทพ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวบางครั้งมีผู้ใช้คำว่า ‘สกุลช่างศรีเทพ’ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเทวรูปรุ่นเก่า อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 อาทิ ‘พระวิษณุสวมหมวกทรงกระบอก’ ซึ่งมีพระพักตร์งดงามยิ่ง เช่นเดียวกับ ‘พระกฤษณะโควรรธนะ’ ประติมากรรมลอยตัวที่โดดเด่นสะดุดตาด้วยกายวิภาคชัดเจน ประทับยืนด้วยอาการ ‘ตริภังค์’ หรือเอียงสะโพกเล็กน้อย สะท้อนความสามารถชั้นสูงของช่างฝีมือ ซึ่งสลักเสลาอย่างมีชั้นเชิง

เศียรพระนารายณ์งดงามเป็นเอกลักษณ์

เครือข่ายการค้า เก่ากว่าทวารวดี

แม้ภาพจำเกี่ยวกับเมืองศรีเทพ คือ เมืองทวารวดีที่สืบต่อมาถึงวัฒนธรรมเขมร แต่แท้จริงแล้ว พบหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นโครงกระดูกมนุษย์พร้อมเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ อีกทั้งสุนัขที่ถูกฝังร่วมกับคน

สะท้อนพัฒนาการต่อเนื่องของชุมชนจากชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักเมื่อ 2,500-1,500 ปีมาแล้ว สู่การเป็นเมืองสำคัญในเส้นทางเครือข่ายทางการค้าและวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงความชาญฉลาดในการเลือกสรรชัยภูมิที่ตั้งอันเป็นจุดเชื่อมโยงผสมผสานการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนสินค้าทั้งภายในและระหว่างภูมิภาค รอบอ่าวไทย อ่าวเมาะตะมะ และอ่าวตังเกี๋ย

จากยุคที่ยังไม่มีการใช้ตัวอักษร สู่วัฒนธรรมทวารวดี และเขมรโบราณ สืบจนปัจจุบัน

นับถอยหลังอีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ด้วยใจระทึกพลัน อย่าลืมจองที่นั่ง แล้วกาดอกจันตัวใหญ่ๆ ไว้ในปฏิทิน 9 กรกฎาคม พุทธศักราชสองพันห้าร้อยหกสิบห้า

 

ศูนย์ข้อมูลอุทยานฯ
ส่วนจัดแสดงหลุมขุดค้นยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ศรีเทพ

เปิดโปรไฟล์วิทยากรประจำทริป

รศ.พิชญา สุ่มจินดา

อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่

เจ้าของผลงานมากมายทั้งงานวิจัยทางวิชาการและพ็อคเก็ตบุ๊กอ่านสนุก อาทิ ถอดรหัสพระจอมเกล้า ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน, การศึกษาการสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลองของอยุธยา (พระขนมต้ม) และความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับล้านนาในช่วงระยะเวลาที่มีการจำลองพระพุทธสิหิงค์, จิตรกรรมฝาผนังวัดเกาะ จังหวัดเพชรบุรี ภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงคติจักรวาลสมัยอยุธยาตอนปลาย, การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะและแนวคิดเชิงสังคม และวัฒนธรรมของจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และอิทธิพลของอภัยคีรีวิหารต่อพุทธศิลป์ลัทธิมหายาน-ตันตรยาน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเคยออกมาฟันธงว่า เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ไม่ใช่พระศรีสรรเพชญ์ อีกด้วย

 

ทัวร์ ทวารวดี ที่ ‘ศรีเทพ’ จ.เพชรบูรณ์

เสาร์ที่ 9 กรกฎาคมนี้
ราคา 3,900 บาท
รศ.พิชญา สุ่มจินดา วิทยากร
05.30 น. ลงทะเบียน รับของที่ระลึกพร้อมรับประทานอาหารเช้า ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน
06.30 น. ออกเดินทางสู่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์
10.30 น. เข้าชมปรางค์ฤาษี
11.00 น. เดินทางไปเยี่ยมชมเขาคลังนอก
12.35 น. รับประทานอาหารกลางวัน ร้านนิวไก่ย่างบัวตอง
13.35 น. ชมศูนย์ข้อมูลและโบราณสำคัญ ได้แก่ ปรางค์สองพี่น้อง, เขาคลังใน และปรางค์ศรีเทพ
17.00 น. รับประทานอาหารเย็น ร้านธาราดล คอฟฟี่แอนด์เรสเตอรองท์
18.00 น. เดินทางกลับกรุงเทพฯ
21.00 น. ถึงศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชนโดยสวัสดิภาพพร้อมความประทับใจ

หมายเหตุ กำหนดการอาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแจ้งทราบล่วงหน้า
สำรองที่นั่ง-สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 08-2993-9097 และ 08-2993-9105

Line @matichon-tour

เฟซบุ๊ก ‘ทัวร์มติชนอคาเดมี’ โทร.02 954 3977

www.matichonacademy.com
[email protected]

(ขอบคุณภาพบางส่วนจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image