อาศรมมิวสิก : ดนตรีเป็นโอกาสทำให้คนเท่าเทียมกัน

ดนตรีในสวน วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 ณ สวนรมณีนาถ (เรือนจำพิเศษเก่า) เป็นโอกาสดีที่ได้ชักชวนเด็กพิเศษที่เล่นดนตรี โดยเฉพาะเด็กที่เป็นกลุ่มดาวน์ซินโดรมและกลุ่มออทิสติก ซึ่งเล่นดนตรีและอาศัยดนตรีเลี้ยงชีพมาแสดง นอกจากนี้ ยังมีผู้พิการทางร่างกาย ผู้พิการสายตา มาร่วมแสดงดนตรีในสวนครั้งนี้ด้วย

รายการดนตรีในสวนจะเริ่มด้วยผู้พิการทางสายตา 2 คน เป็นผู้พิการทางสายตามาตั้งแต่อายุยังน้อย คือ นิล (ดร.ยงสิทธิ์ ยงค์กมล) และแป้ง (อุบลวรรณ เปียแก้ว)
ทั้ง 2 คนเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่วัยเด็ก เรียนดนตรีและเล่นดนตรีมาตลอด นิลนั้นเป่าแซกโซโฟนและเรียนจบปริญญาเอกด้านดนตรี นิลเป็นคนตาบอดคนแรกของระบบการศึกษาไทยที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยในการเรียนดนตรี เพราะเรายังไม่มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่จะเอื้อให้คนตาบอดได้เรียนดนตรี นิลต้องแสวงหาอุปกรณ์คิดค้นเครื่องมือเพื่อใช้ในการเรียนดนตรีให้ได้ง่ายขึ้น หรือเร็วขึ้น และทำให้คนตาบอดเข้าถึงดนตรีได้ง่ายขึ้น

แป้ง เมื่อเรียนจบปริญญาตรีดนตรีก็เข้าสู่อาชีพทำงานดนตรีสร้างสรรค์ สร้างเพลงและเล่นดนตรี (เปียโนและร้องเพลง) เป็นอาชีพ ทำงานร้องเพลงเล่นดนตรีที่อัมพวา บางวันก็เข้ามาเล่นในโรงแรมหรูที่กรุงเทพฯ ทั้งนิลและแป้งได้พัฒนาชีวิตให้มีแสงสว่างในความมืด สามารถที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยในการดำรงชีวิต ใช้ดนตรีเป็นอุปกรณ์และเป็นทางเลือกให้สามารถอยู่ในสังคมได้โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น หรือพึ่งคนอื่นให้น้อยที่สุด

ผู้พิการทางสายตา หรือเด็กพิเศษ ต้องมีผู้ที่ดูแลช่วยเหลือ ต้องต่อสู้กับชีวิตเพื่ออยู่ให้รอด ต้องต่อสู้กับตัวเอง ต่อสู้กับจิตใจที่วุ่นวาย ทุกคนได้อาศัยดนตรีเป็นเพื่อนคู่ชีวิต ซึ่งชีวิตของผู้พิการ หรือเด็กพิเศษรวมทั้งผู้ดูแล เป็นความรู้ เป็นหนังสือเล่มสำคัญของการศึกษาไทย ผู้พิการทางสายตาอย่างนิลและแป้ง มีหูซึ่งนอกจากต้องทำหน้าที่เป็นหูแล้วยังทำหน้าที่เป็นตาด้วย การเรียนดนตรีของผู้พิการทางสายตาจะต้องศึกษาอักษรนูน ซึ่งเป็นภาษาของคนที่ตาพิการ ต้องเปลี่ยนโน้ตเพลงสากลให้เป็นอักษรเบรล (Braille) แล้วจำเพลงไปฝึกซ้อมเล่นเครื่องดนตรี

Advertisement

รายการที่สองเป็นวงของน้องวุฒิ (ณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์) เป็นเด็กพิเศษ (ดาวน์ซินโดรม) เรียนดนตรีเพราะชอบตีกลองมาก โดยใช้ดนตรีเป็นอุปกรณ์ในการพัฒนาชีวิตให้อยู่กับสังคมและช่วยตัวเองได้ เมื่อเรียนจบหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คะแนนสูง (2.75) เมื่อ พ.ศ.2562 ก็ต้องออกไปสอบเข้าเรียนปริญญาตรีที่สถาบันอื่น สอบเรียนดนตรีที่บ้านสมเด็จฯได้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาดนตรีชั้นปีที่ 3

น้องวุฒิเล่นดนตรีเปิดหมวกมาตั้งแต่เด็ก ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย (นายก สุชาติ โอวาทวรรณสกุล) ซึ่งสนับสนุนให้น้องวุฒิได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยที่น้องวุฒิพยายามช่วยตัวเอง หารายได้เอง เพื่อที่จะได้เรียนดนตรี (ตีกลอง)

พ่อแม่น้องวุฒินั้นต้องออกจากงานเพื่อดูแลน้องวุฒิเต็มตัว ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับครอบครัวอื่นๆ ได้ศึกษา ครอบครัวที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษในทุกๆ กรณี พ่อแม่น้องวุฒิได้ทุ่มเททั้งชีวิต ทำทุกวิถีทางเพื่อจะช่วยให้ลูกอยู่ในสังคมให้ได้ เมื่อพบว่าน้องวุฒิชอบดนตรี จึงใช้ดนตรี
(ตีกลอง) เพื่อพัฒนา จนกระทั่งน้องวุฒิสามารถตีกลองเปิดหมวกเล่นดนตรีตามห้างและในสวนตลอดมา

Advertisement

สำหรับน้องซิน (จิรัชญา ศรีนคร) เรียนดนตรีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ชั้นปีที่ 2 ทำหน้าที่ร้องเพลงและเล่นกีตาร์ เล่นกับน้องวุฒิมาหลายปีแล้ว น้องซินเป็นเด็กปกติครบสมบูรณ์ มีจิตใจที่งดงาม อยากช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่เป็นเด็กพิเศษ ซึ่งด้อยโอกาสโดยไม่รังเกียจ น้องซินทำหน้าที่ช่วยจัดการ เล่นกีตาร์ และร้องเพลง

น้องวุฒิได้อาศัยน้องซินเพื่อนผู้มีจิตใจงาม ร่วมกันพัฒนาฝีมือและช่วยเหลือเด็กพิเศษคนอื่นๆ (ดาวน์ซินโดรม หรือออทิสติก) ให้สามารถช่วยตัวเองได้มากที่สุด ดนตรีช่วยการบำบัดและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่คนพิเศษ ซึ่งต้องมีคนที่เข้าใจและมีน้ำใจ ต้องการผู้ที่ใช้หัวใจในการช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาส ใช้ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิตและให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างอบอุ่น

ผมอยู่ใกล้ชิดกับน้องวุฒิมาตั้งแต่น้องวุฒิเริ่มเรียนดนตรี ได้สอนนิลเป่าแซกโซโฟนมาตั้งแต่อายุ 12 ขวบ กระทั่งเรียนจบปริญญาเอก ได้เห็นพัฒนาการของแป้งที่เล่นเปียโนและร้องเพลง มาตั้งแต่เด็กๆ ตลอด 20 ปี ซึ่งเชื่อว่าหากสังคมไทยสามารถสร้างพื้นที่ สร้างระบบการศึกษาเพื่อรองรับเด็กพิเศษ หรือเด็กพิการในทุกรูปแบบได้ โดยใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของเด็กพิเศษ การหาอาชีพที่เด็กพิเศษสามารถทำได้อย่างภูมิใจ ก็จะเป็นความเข้มแข็งของสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง จึงได้นำชีวิตต้นแบบมาเสนอเป็นตัวอย่างต่อสังคมให้เห็นเป็นประจักษ์ว่า สังคมไทยและการศึกษาไทยสามารถใช้ดนตรีพัฒนาคนให้เท่าเทียมได้

ผมเคยผลักดันและนำเสนอภาพยนตร์เรื่องเด็กที่เรียนดนตรี “Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย” เพื่อสร้างวิทยาลัยดนตรีในมหาวิทยาลัยแพทย์มาแล้ว การสร้างอาชีพดนตรีให้เท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ หากมีคนสนใจที่สร้างภาพยนตร์เรื่องของครอบครัวที่ดูแลเด็กพิเศษว่าต้องต่อสู้ให้มีโอกาสได้อย่างไร ชีวิตจริงการไปโรงเรียน ต้องต่อสู้ชีวิตในสังคมและสถาบันการศึกษาอย่างไร ตัวอย่างคดีของน้องวุฒิยังอยู่ในศาลเรื่องการกีดกันการศึกษา

วงที่สามเป็นวงดนตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Band) สำหรับวงดนตรีซียูแบนด์นั้น เป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ (Big Band) ของชมรมดนตรีสากลสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2499 เป็นการรวมตัวของนิสิตที่มาจากคณะต่างๆ ที่มีใจรักดนตรี โดยสมาชิกในวงทำหน้าที่จัดการบริหารเรื่องต่างๆ ทั้งหมด มีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ

บุคคลสำคัญของวงดนตรีซียูแบนด์ (CU Band) ที่มีบทบาทในอดีต จากบันทึกรายชื่อนักดนตรีที่แสดง เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2501 บรรเลงที่สถานีวิทยุ อ.ส. (พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต) ครั้งนั้น มีนักดนตรีและนักร้องประกอบด้วย นักแซกโซโฟน (Saxophone) ประจวบ กุณฑนันท์ กวี อังศวานนท์ จรานันท์ วาณิชชานันท์ เจษฎา ศรีวาลี นนท์ บูรณสมภพ และอิฐ สุขยางค์ นักทรัมเป็ต (Trumpet) ทราย สุขยางค์ สุบรรณ ชนินทกุล ดุสิต อิ่มพัฒน์ (ศุภรัชฏ์ โชติกญาณ) สุรพล สุดารา และสุจินต์ อุดมทรัพย์

นักทรอมโบน (Trombone) เอนก จูจันทน์ ประเสริฐ เตียว ต่อพงษ์ วัจนสวัสดิ์ สันทัด ตัณฑนันทน์ เครื่องจังหวะ (Rhythm) กอง พันธุมโกมล เปียโน ถาวร เยาวขันธ์ ตีกลอง และนิกร ณ สงขลา เล่นดับเบิลเบส (double bass) นักร้องมีจามรี เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ราศรี พงศ์สวัสดิ์ สุขใจ ปัญจมะวัต พัลลภ สุวรรณมาลิก และสักรินทร์ บุญญฤทธิ์ (ข้อมูลจากสันทัด ตัณฑนันทน์) ซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่มีบทบาทด้านดนตรีในเวลาต่อมา

จนถึงปัจจุบันวงซียูแบนด์ได้สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย และในระดับประเทศ มีผลงานการแสดง มีกิจกรรมและงานพิธีการประจำปีของจุฬาฯ งานวันที่ระลึกวันทรงดนตรี งานปฐมนิเทศนิสิตใหม่ งานคอนเสิร์ตเปิดตัวสมาชิกใหม่ งานคอนเสิร์ตประจำปี งานกาชาด งานมหรสพสมโภช งานดนตรีเฉลิมพระเกียรติ งานเลี้ยงสังสรรค์ งานลอยกระทง งานปีใหม่ งานดนตรีในสวน เป็นต้น

วงดนตรีซียูแบนด์เป็นโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์จริงในการทำงานด้านดนตรีและงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรุ่นพี่ช่วยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด วงซียูแบนด์ยังมีส่วนในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ทั้งนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง ผู้ควบคุมเสียง พิธีกร และผู้ประกาศข่าว ให้แก่สังคมไทยอีกด้วย

ผู้ที่เคยดูแลวงดนตรีซียูแบนด์ อาทิ อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ อาจารย์กิตติ ศรีเปารยะ อาจารย์วิจิตร์ จิตรรังสรรค์ เป็นต้น วงดนตรีซียูแบนด์เป็นต้นแบบ และเป็นตัวอย่างของวงดนตรีสำหรับการจัดกิจกรรมดนตรีของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
เพราะเป็นวงดนตรีที่รวบรวมนิสิตที่มีความสามารถทางดนตรีที่อยู่คณะวิชาต่างๆ วงซียูแบนด์ไม่ได้อยู่กับคณะใดคณะหนึ่ง ถึงแม้ว่าวิชาดนตรีมีสอนเป็นวิชาเอกในครุศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ แต่ก็ยังมีคนเก่งดนตรีในคณะอักษรศาสตร์ คณะสถาปัตย์ คณะวิศวะ คณะนิติศาสตร์
คณะสื่อสารมวลชน เป็นต้น วงดนตรีซียูแบนด์เป็นวงดนตรีที่มีอายุมาถึง 66 ปีแล้ว อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.ธัชชัย สุมิตร ได้บรรจุวันที่ 20 กันยายน “ที่ระลึกวันทรงดนตรี” ให้เป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2547 เป็นต้นมา

สำหรับการแสดงของวงดนตรีซียูแบนด์ในสวนรมณีนาถ ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2565 ประกอบด้วย เพลงลูกทุ่ง เพลงไทยสากล เพลงสากล อาทิ Just Friend, Every Summertime, City of Stars, Finesse, Let’s Stay Together, Chameleon Big Band รักยาก ลืมยาก I Hate Monday คนใจง่ายและฤทธิ์หมัดดาวเหนือ พิเศษสำหรับผู้ว่าฯ ชัชชาติ จั๊กกิ้มกับต๊กโต เต่างอย เป็นต้น

หัวหน้าวงซียูแบนด์ นายวรยุทธ ท่าหลวง นิสิตคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ประธานชมรมดนตรีสากล นางสาวเฉลิมรมัย เปาอินทร์ คณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมดนตรีสากล รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐิตา ชวนเกริกกุล

การได้เล่นดนตรีและการได้อยู่ในวงดนตรีเป็นโอกาสที่ดีของชีวิต แล้วการได้เล่นดนตรีเพื่อคนอื่น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของชีวิต เพราะจะเป็นช่วงมิติของเวลาที่ได้เรียนรู้ว่า มนุษย์มีความเท่าเทียมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image