‘จิสด้า’ จับมือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นำคุณค่าจากอวกาศสู่การดูแลผืนป่า ทะยานสู่สังคมเศรษฐกิจสีเขียว

ปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นปัญหายืดเยื้อมาอย่างยาวนาน และพื้นที่ป่าสีเขียวที่หดหายไปจากชุมชนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ได้เข้ามามีส่วนในการเป็นเครื่องมือชั้นยอดในการพัฒนาต่อยอดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้

ดังที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ‘จิสด้า’ (GISTDA) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีบทบาทสำคัญมามากกว่า 20 ปี ในการบริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ บริการวิชาการต่างๆ และการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยส่วนหนึ่งคือแนวทางการขับเคลื่อนบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆ ในภารกิจเพิ่มพื้นที่ป่า พื้นที่สีเขียวที่สมดุลและยั่งยืน

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จิสด้าจัดกิจกรรมสัมมนาและลงพื้นที่ ณ โครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมขับเคลื่อนเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในรูปแบบการร่วมคิดร่วมสร้างสานพลังความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ภายใต้มุมมองเทคโนโลยีอวกาศและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพิ่มพื้นที่ป่า พื้นที่สีเขียว เพื่อความสมดุลและยั่งยืน

(จากซ้าย) สมิทธิ หาเรือนพืชน์, วิชัย เป็งเรือน, อภิสิทธิ์ เสนาวงษ์, ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์, นันทนา บุญยานันต์, ผศ.ดร.สาพิศ ดิลกสัมพันธ์ และสลักจิต มั่นธรรมรักษา

ผู้แทนจากจิสด้า กรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และผู้แทนชุมชน บอกเล่าถึงความสำเร็จและความคืบหน้าของการร่วมมือในครั้งนี้อย่างน่าสนใจ รวมถึงผลตอบแทนสู่ชุมชนจากการดูแลป่าไม้ เช่น การขายคาร์บอนเครดิต หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด

Advertisement

‘จิสด้า’ ดึงคุณค่าเทคโนโลยีอวกาศสู่มือประชาชน

เริ่มต้นที่ ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ โฆษกจิสด้าและผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ ซึ่งมาอธิบายถึงการขับเคลื่อนกลไกทางเทคโนโลยีทางภูมิสารสนเทศเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในทุกรูปแบบ ว่าจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน จากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ คุณค่าที่อยู่ในอวกาศยังมีอยู่มากมายที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศ ในเชิงทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จิสด้าพยายามที่จะดึงคุณค่าทั้งหมดที่เราสามารถสร้างสรรค์จากเทคโนโลยีอวกาศ และดึงมันลงมาให้สู่มือประชาชนให้มากที่สุด

ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ โฆษกจีสด้าและผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ

“จุดเด่นของการใช้ข้อมูลดาวเทียมที่นำมาใช้บริหารจัดการพื้นที่ป่าคือดาวเทียมสามารถที่จะกักเก็บข้อมูลในหลายช่วงเวลาได้ เป็นลักษณะของข้อมูลชุด สามารถย้อนกลับไปในอดีตได้ สามารถเปรียบเทียบเชิงปริมาณว่ามีการเพิ่มขึ้นหรือลดลง และเชิงคุณภาพว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถดูได้ในลักษณะรายแปลงและภาพรวม หรือป่าที่ถูกบุกรุกได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ข้อมูลจากดาวเทียม การสำรวจ และเครื่องมืออื่นๆ สามารถนำไปใช้เพื่อวิเคราะห์ปริมาณกักเก็บคาร์บอน ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนเครดิตได้” ดร.สยามกล่าว

Advertisement

ยกระดับดาวเทียม

ประชาชนรับประโยชน์ ‘ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ’

ดร.สยามยังเล่าถึงแนวทางในการบริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ บริการวิชาการต่างๆ และการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในส่วนต้นน้ำคือส่วนของเทคโนโลยีอวกาศ หรือดาวเทียม จิสด้าพยายามพัฒนาดาวเทียมให้ตรงกับวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้น ในอดีตถึงปัจจุบัน เรามีดาวเทียมเป็นของตัวเองและใช้ในหลายวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการพื้นที่ ภัยพิบัติ การเกษตร ป่าไม้ การวางผังเมือง

“จิสด้าพยายามยกระดับดาวเทียมของตนเองให้เหมาะสมกับภารกิจต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังมองหาพันธมิตร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำดาวเทียมต่างประเทศที่พัฒนาขึ้นมาและมีความสามารถ หรือประโยชน์ในการที่ใช้ในภารกิจเข้ามาเสริม ส่วนกลางน้ำคือใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในเรื่องของการทำแผนที่ในการวิเคราะห์ขั้นสูง ที่เรามีข้อมูลดาวเทียมเป็นมหาศาล ย้อนกลับไปได้มากกว่า 30 ปี ในการมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหน่วยงานต่างๆ สามารถนำมาใช้ต่อยอดวิเคราะห์ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ให้มากที่สุด และนำไปวางแผนกำหนดนโยบายเพื่อดำเนินนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด

สำหรับปลายน้ำคือการให้องค์ความรู้ ขับเคลื่อนภาพใหญ่ของประเทศให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน ประชาชนทั่วไปต้องเข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศและเพิ่มประสิทธิภาพในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม นี่คือภารกิจโดยภาพรวม” ดร.สยามอธิบาย

ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ ขณะลงพื้นที่
บรรยากาศการลงพื้นที่

‘บ้านโค้งตาบาง’

ป่าชุมชนแห่งแรกในไทยขึ้นทะเบียน T-VER

ด้าน นันทนา บุญยานันต์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนและการใช้ประโยชน์ของกรมป่าไม้ได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่าควรจะมี ‘ป่าไม้หมู่บ้าน’ ป่าจะได้กลับมา นั่นหมายถึงว่าชาวบ้านต้องลุกขึ้นดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรด้วยตนเอง ทำให้ภายหลังมีกฎหมายออกมาโดยเฉพาะเพื่อกำหนดหน้าที่ชุมชนในการปกป้องผืนป่าและขับเคลื่อนการทำงาน คือพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 ซึ่งทุกชุมชนจะมีคณะกรรมการป่าชุมชน และสมาชิกป่าชุมชน โดยจะมีคณะกรรมการประจำจังหวัดแต่งตั้ง ‘เจ้าหน้าที่ป่าชุมชน’ ที่เป็นชาวบ้านมิใช่ข้าราชการ

“กรมป่าไม้มีเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ป่าชุมชนให้ทั่วประเทศ โดยประสานความร่วมมือขับเคลื่อนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งป่าชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยคือป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง จ.เพชรบุรี ที่ได้ขึ้นทะเบียนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program หรือ T-VER) เมื่อปี 2558 และชุมชนยังดูแลรักษาผ่านมาแล้วกว่า 7 ปี ซึ่งปัจจุบันชุมชนและกรมป่าไม้เป็นเจ้าของโครงการและร่วมกันดูแล มีตัวเลขคาร์บอนเครดิตออกมาประมาณ 5400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากนั้นทำเอกสารส่ง อบก.เพื่อทำการขายคาร์บอนเครดิต” นันทนากล่าว

ปลูกป่า ปลูกคน

ตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

จากนั้นมาฟังรายละเอียดของโครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ โดย อภิสิทธิ์ เสนาวงษ์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 33 โครงการ ในพื้นที่ประมาณ 2.5 แสนไร่ทั่วประเทศ และมากกว่าครึ่งเป็นโครงการที่มาจากป่าชุมชน นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ต้องการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

“ในอดีตการทำคาร์บอนเครดิตในที่ต่างๆ ลำบากมากเพราะเรื่องคาร์บอนเครดิตเป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องกฎระเบียบที่ยังไม่เอื้ออำนวย จนสุดท้ายมีการออกระเบียบเรื่องการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตของป่าชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีป่าชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการภาคีป่าชุมชนลดโลกร้อน 31 หน่วยงาน ที่เกิดการสนับสนุนมากกว่า 16 ล้านบาท” อภิสิทธิ์กล่าว

ในขณะที่ สลักจิต มั่นธรรมรักษา ประธานสายบริหารงานพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าว่า มูลนิธิเริ่มดำเนินงานโครงการ ‘ปลูกป่า ปลูกคน’ การทำงานกับทั้ง 2 ทรัพยากรนี้เป็นแนวทางแก้ปัญหาที่จะตอบโจทย์เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ได้ดีที่สุด ซึ่งส่วนหนึ่งของผลลัพธ์คือในด้านสิ่งแวดล้อมชาวดอยตุงช่วยเราและรักษาพื้นทีป่าเอาไว้ได้ และเพิ่มพื้นที่ป่าประมาณ 87% จากปี 2531-2560

ล่าสุด มีโครงการ ‘คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ’ ที่ดำเนินการมาเกือบ 2 ปี เป็นโครงการที่ทำร่วมกับโครงการป่าชุมชน โดยมีเป้าหมายที่จะขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งเรื่องการปลูกและดูแลป่านั้นอาศัยข้อมูลและเทคโนโลยีจากทางจิสด้า เช่น การใช้เทคโนโลยีติดตามพื้นที่ไฟไหม้ และการตรวจวัดประเมินการกักเก็บคาร์บอน แทนการใช้แรงงานคนในการเดินสำรวจ ซึ่งจะทำให้โครงการคาร์บอนเครดิตต่างๆ ของภาคป่าไม้สามารถไปได้ไกลและไปได้เร็วขึ้น

(จากซ้าย) สมิทธิ หาเรือนพืชน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานพิเศษ และอภิสิทธิ์ เสนาวงษ์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ จากอบก.

สมิทธิ หาเรือนพืชน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานพิเศษ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เสริมว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯส่งเสริมภารกิจของมูลนิธิกรมป่าไม้ คือสร้างแรงจูงใจให้กับชุมชนที่ดูแลป่า เพราะที่ผ่านมาดูแลด้วยจิตอาสา คาร์บอนเครดิตเป็นส่วนเสริมที่จะสร้างกลไกให้เกิดประโยชน์จากการดูแลป่า นอกจากนี้ ปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีฮอตสปอตจุดไฟไหม้ของทางจิสด้าที่เก็บอย่างต่อเนื่องในการสร้างความตระหนักให้กับชาวบ้านและเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลป่ามากขึ้น

ก้าวแรก ก้าวสำคัญ

สร้างคนเสริมความรู้ พัฒนาทุกภาคส่วน

ผศ.ดร.สาพิศ ดิลกสัมพันธ์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ถึงคิวนักวิชาการด้านป่าไม้ ผศ.ดร.สาพิศ ดิลกสัมพันธ์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการเพิ่มพื้นที่ป่าควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจกโดยอาศัยองค์ความรู้ที่มีอยู่ ในช่วงที่ผ่านมาได้ทำวิจัยในโครงการชุมชนไม้มีค่า ที่พัฒนาในเรื่องของหลักสูตรที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการปลูก การจัดการและมองไปถึงปลายน้ำที่ทำอย่างไรให้เกษตรกรสร้างผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ และเน้นการพัฒนาคนโดยอาศัยสถานีฝึกนิสิต 8 แห่ง ซึ่งการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการปลูกต้นไม้มีฐานข้อมูลที่จับคู่พื้นที่กับต้นไม้ชื่อ site-matching มีทั้งเว็บและแอพพลิเคชั่น ส่วนเรื่องคาร์บอนเครดิตได้ช่วย อบก. ในเรื่ององค์ความรู้พัฒนาในเรื่องระเบียบวิธีการต่างๆ ปิดท้ายที่มุมมองของชาวบ้านอย่าง วิชัย เป็งเรือน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านต้นผึ้ง ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนป่าชุมชน กล่าวว่า องค์กรแรกที่เราได้สัมผัสคือกรมป่าไม้ ที่ได้ผลักดันโครงการป่าชุมชนทั่วประเทศ และต่อมาได้เจอมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯซึ่งได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ ‘คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ’ ที่มีกิจกรรมดูแลป่าชุมชน มีการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนและสนับสนุนด้านงบประมาณ และได้รู้จักทางจิสด้าที่ช่วยแปลภาพถ่ายทางอากาศมาให้ทางชุมชนทำให้ได้รับรู้ว่าตรงไหนเป็นจุดอ่อน เช่น จุดไฟไหม้ หรือความหนาแน่นพื้นที่ป่าต่ำ กลาง สูงที่สามารถวางแผนการจัดกิจกรรมปลูกป่าได้

ต่อมาคือ อบก.ในการขึ้นทะเบียน T-VER ซึ่งป่าชุมชนของตำบลแม่โป่ง ซึ่งมีทั้งหมด 10 หมู่บ้าน มีป่าชุมชนทั้งหมด 8 หมู่บ้าน เราช่วยดูแลประมาณ 3,000 กว่าไร่ เราช่วยดูแลกันเป็นเครือข่าย ทำให้เครือข่ายชุมชนมีความเข้มแข็ง

วิชัย เป็งเรือน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านต้นผึ้ง อำเภอแม่โป่ง อำเภอดอยสเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนป่าชุมชน

“ครั้งนี้เป็นเพียงก้าวแรกแต่จะเป็นก้าวสำคัญ ในการสร้าง ส่งเสริมความตระหนักและการรับรู้วงกว้าง ต่อการเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญ ให้เกิดการยอมรับกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สู่การกำหนดมาตรฐาน การลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ ร่วมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน บนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว ที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อประเทศไทยและโลกที่น่าอยู่ของเราต่อไป” วิชัยทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image