ผี ร่างทรง บรรพชน ‘พิเชษฐ์ หนองหงอก’ ‘โนราโรงครู’ สอนให้รู้ความเป็นคน

ผี ร่างทรง บรรพชน ‘พิเชษฐ์ หนองหงอก’ ‘โนราโรงครู’ สอนให้รู้ความเป็นคน

“สิบนิ้วจะร้องเชิญ เทวดากับศักดิ์สิทธิ์ ทิศบูรพา ขับเคลื่อนเลื่อนกันมา เชิญเทวากับศักดิ์สิทธิ์ ทิศอาคเนย์ อย่าได้รวนท่านอย่าได้เร เชิญเทวากับศักดิ์สิทธิ์ ทิศทักษิณ…”

คือเสียงแซ่ซ้องของครูโนรา พิเชษฐ์ หนองหงอก หรือ พี่ไข่ หัวหน้าคณะโนราไข่น้อย ดาวจรัสศิลป์ ในวัย 40 ปี ทำพิธีกาดครู เอ่ยคำสวดสำเนียงใต้ระรื่นหูใต้ชายคาโรงครูที่มุงด้วยจาก ท่ามกลาง เครื่องบายศรี เทริดโนรา เรียงรายอยู่ตรงหน้า ดึงชาวบ้านเข้ามาแห่มุง

“ครูไข่” เป็นชาวตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา จบชั้นประถมจาก ร.ร.วัดคงคาวดี ก่อนอายุ 13 ปี ศึกษาต่อชั้น ม.1 ที่ ร.ร.ควนเนียงวิทยา ด้วยที่บ้านไม่มีสายตระกูล การก้าวสู่ชมรมโนราในโรงเรียนที่ยืนหนึ่งระดับภาค จึงพาให้หลงใหลในศิลปะแขนงนี้ มีครูจรัสศรี ตันจะโร ครูคณิตศาสตร์ ที่คร่ำหวอดในศิลปะร่ายรำทางใต้เป็นผู้ฝึกหัดจัดกระบวนท่า กระทั่งจบ ม.6 เรียนกับครูสงวน บัวเพชร 1 ครั้ง

ก่อนที่ ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ครูโนราอาวุโส ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2564 สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของครูสงวน ได้เข้าไปเห็นแววการรำของ “โนราไข่” ถึงในรั้วโรงเรียน จึงชักชวนไปเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

Advertisement

“แต่ก่อนโนราผู้ชายไม่ค่อยมี และนานๆ ทีถึงจะเห็น พอได้มาดูที่โรงเรียน ก็ชวนผมตอนนั้น ได้โควต้าความสามารถพิเศษไปเรียนเอกนาฏศิลป์ ผมเรียนจบเอกวิชานาฏศิลป์และการละคร ถามว่านาฏศิลป์ชอบไหม พอรำได้ แต่ผมไม่ได้ชอบนาฏศิลป์ ผมชอบโนรา” พิเชษฐ์เผยความ

ในช่วงวัย 40 ปี จากเด็กฝึกรำ สู่ครูใหญ่ในวันนี้ นำพาคณะโนราไข่น้อยฯ ทั้ง 25 ชีวิตที่อายุน้อยสุดเพียง 18 ปี ให้มีอาชีพ เลื่องชื่อในภูมิภาค รับการว่าจ้างอยู่ไม่ว่างเว้น ในช่วงเวลาเดียวกับที่ “โนรา” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ ได้ขึ้นทะเบียนจาก

ยูเนสโก้ ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

Advertisement

● โนราโรงครูคืออะไร แตกต่างจากโนราสายอื่นอย่างไร?
เป็นโนราประเภทหนึ่ง “สายพิธีกรรม” เก่าที่สุดของสายโนรา มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ บรรพบุรุษ ส่งต่อจากครูสู่ครู ศิษย์สู่ศิษย์ไปเรื่อยๆ

โนราพิธีกรรม มีองค์ประกอบเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ ภูต ผี ปีศาจ ต้องมีคาถาอาคม เกี่ยวกับร่างทรงและการเชื้อเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่องค์ประกอบทั่วไปเหมือนกับโนราสายอื่น คือมีผู้รำ มีดนตรี ตอนนี้ในปักษ์ใต้มีโนราสายนี้ร่วม 100 กว่าคณะ แต่ละจังหวัด-พื้นที่จะไม่เหมือนกัน อย่าง จ.สงขลา พัทลุง ก็จะรำ 2 คืน 3 วัน หรือ 3 คืน 4 วัน

วันแรกเราจะทำพิธีกาดครู (ชุมนุมครู) เสร็จแล้วก็ชุมนุมพ่อ แม่ ตา ยาย แล้วเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มา ณ พิธีกรรม เมื่อครูบาอาจารย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรากราบเชิญมาพร้อมแล้ว บรรดาลูกศิษย์ลูกหา หรือเจ้าภาพ ก็จะต้องมากราบครู เขาเรียกว่า “กราบรับ” แล้วขึ้นไปเซ่นเครื่องสังเวย รับพรจากคนที่เป็นราชครู ค่อยประพรมน้ำมนต์

● ของไหว้ในพิธีมีอะไรบ้าง แต่ละอย่างสื่อถึงอะไร?
ของไหว้ในพิธีทุกอย่าง จะมีนัยยะหมด อาจจะเป็นของมงคล ข้าวพอง ข้าวลา ขนมเจาะหู หรือ ขนมเบซำ เป็นขนมสารทเดือน 10 ของวัฒนธรรมทางใต้ ปักษ์ใต้ต้องทำเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษตอนเดือน 10 สิ่งเหล่านี้จะเอาใส่ในขันหรือภาชนะ เขาจะเรียกว่า “หมับ” แล้วก็มี “หมากจีบ” พลูม้วน ล้อมรอบ 3 คำ แล้วก็มีปูน เทียน ดอกไม้ จะใช้ดอกไม้ประจำท้องถิ่นคือดอกกุนหยี หรือดอกบานไม่รู้โรย และดอกดาวเรือง ของพวกนี้ขาดไม่ได้ในพิธีกรรมทุกอย่าง

ในหม้อจะมีด้ามมีด ที่หัวเป็นท้าวเวสสุวรรณ คือสิ่งที่โนราจะพกติดตัว เวลาตัดเหมรย หรือแก้เสวยบุญ (แก้บน) เป็นอาวุธติดตัวโนราใหญ่ที่ต้องมี

● แปลว่าก่อนที่บรรพบุรุษจะเข้ามาลงในร่างทรง จะต้องทำพิธีอัญเชิญก่อน อัญเชิญไปไหน?
วันแรกตอนเย็น เราค่อยๆ อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บรรพบุรุษ ให้มาพร้อม ด้วยทำนองสวด 6 จังหวะ “ปรื้นๆๆๆๆ ปั๊บ ปรื้นๆๆๆๆ” นี่คือจังหวะในการเชื้อ ถ้าเปรียบของคนอีสานคือคล้ายกับการ “เล่นผีฟ้า” แถว จ.ศรีสะเกษ อุบลราชธานี โคราช จะมีจังหวะการตีกันตรึม เหมือนกันกับของใต้ พอเราเชิญมาแล้วบรรพบุรุษเขาจะอยู่ที่นี่ แล้วแต่ว่าจะมาเข้าทรงวันไหน ส่วนมากเป็นอีกวันหนึ่ง เช่น วันนี้ชุมนุมครูตอนเย็น หัวรุ่งต้องชุมนุมครูอีกครั้ง เพื่อบอกว่า “เมื่อตอนเย็นข้าพเจ้าเชิญท่านมาแล้วนะ ท่านมาอยู่ในฝ้าเพดานแล้ว” คือเป็นที่ที่ทำเอาไว้รับปู่ย่าตายาย เขาเรียกว่า “เพดานน้อย เพดานใหญ่”

“เพดานน้อย” ตามความเชื่อคือเพดานที่อยู่ของเทวดา และ “เพดานใหญ่” คือเพดานที่อยู่บนท้องโรงครู เปรียบเป็นที่อาศัยที่พักของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ เราจะเชิญให้มาสิงสถิตอยู่ที่เพดานท้องโรง ท่านมาอยู่แล้วนะ ท่านอย่าเพิ่งไปไหน เรามีกิจจำเป็น มีธุระอยู่ 2 คืน 3 วัน ให้ท่านประทับที่นี่ก่อน เผื่อลูกหลานมีธุระอะไรจะได้เรียกมาประทับทรงได้ง่าย

● กลอนพวกนี้ส่งต่อกันมา หรือสามารถแต่งเองได้?
บทแรกที่สวดเรียกว่า “บทขานเอ” เป็นบทที่เกริ่นช้าๆ ระลึกถึงแม่นวลทองสำลี (ต้นตระกูลมโนราห์) บรรยายตอนที่แม่นวลทองสำลี ถูกพระยาสายฟ้าฟาด ขับไล่ลอยแพออกจากเมืองเวียงกลางบางแก้ว แล้วไปติดเกาะกะชัง พูดเกี่ยวกับ ดิน น้ำ ธาตุต่างๆ ด้วยทำนองเพลงกาด ภาษาไทยก็จะอยู่ในรูป กลอน 8 ค่อยๆ เล่าไปช้าๆ เพื่อสรรเสริญ

บนขานเอ คือช่วงบทสวดที่ไม่มีดนตรี โนราใหญ่จะว่าไป แล้วมีคนรับ แต่ไม่มีดนตรีประโคมสักชิ้นเดียว ก็ร้องส่งกัน พอเข้าช่วง 2 ก็จะเปลี่ยนจังหวะ เป็นกลอน 6 กลอน 8

พวกนี้เป็นกลอนที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รูปแบบการว่า-ลีลาการพูดจะไม่เหมือนกัน แต่จังหวะจะเหมือนกันทุกคณะ ถามว่าการเปลี่ยนจังหวะสื่อถึงอะไร อย่างเราเกริ่นลอยแพเสร็จแล้ว ทีนี้ก็มาระลึกถึงครูบาอาจารย์ อีกทำนองหนึ่ง จาก “ปะๆ ทึ่งๆๆ” เป็น “ปะ ทึกกะทึกกะทึก” อันนี้คือเชิญครูให้มาอยู่ในปะรำพิธี

อีกบทหนึ่ง “ตึงๆๆ ตะโตน” ระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พูดถึงพระผู้เป็นเจ้า เจ้าที่เจ้าทาง แม่นางธรณีบ้าง แม่นางเมขลา ครูบาลี นาคนาคาใต้บาดาล ภูมิบ้าน ภูมิเรือน ซึ่ง “ภูมิบ้าน” คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่อยู่ของแม่นางธรณี “ธรณี” ก็คือ “แผ่นดิน” ก็จะกล่าวถึงทั้งหมด แต่ไม่ได้เป็นการเรียกเขามา เป็นการสรรเสริญ บูชา ไล่ไปทีละระดับ เชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามทิศทั้ง 8 บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ปัจจิม พายัพ อุดร อีสาน เชิญมาหมด

วันเชิญเราเชิญ พอถึงเวลา วันส่งเราก็ร้องส่งกลับไป โดยเปลี่ยนเป็นคำว่า “สิบนิ้วจะร้องส่ง…… อย่าได้รวน อย่าได้รี วันนี้เชิญไปให้หมดสิ้น”

● หลังจากจบโนราโรงครู จะต้องมีการรื้อโรงครูด้วย?
เรียกว่า “รื้อจาก” ต้องตัดจาก 7 ตับ เพื่อเบิกท้องฟ้าให้เห็นอากาศ เพื่อจะส่งเทวดา ถามว่าทำไมต้อง 7 ตับ เขาบอกว่ามาจากเรื่องนางโนราบูชาเพลิง

● เวลาชาวบ้านบนบาน บนกับครูโนรา หรือบนกับอะไร?
บางคนก็บนกับครูโนรา บางคนก็บนกับบรรพบุรุษหน้าหิ้ง หรือเพดานที่บ้าน คือมีที่รับรองบรรพบุรุษของเขาอยู่แล้ว เรียกว่ามีเกือบจะทุกบ้าน แต่ว่าพอบนได้แล้วเขาจะรับโนราคณะไหนไปเล่น ชอบโนราไข่ ก็รับโนราไข่ แล้วแต่ว่าถูกใจคณะไหน แต่ลูกหลานจะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ก่อน ถ้าสมปรารถนา เช่น บนว่าถ้าลูกชายไปสอบตำรวจติด จะรำโรงครู พอสอบติดปั๊บ ก็เล่น เป็นการบนบานศาลกล่าวเรื่องอะไรก็ได้

● การที่วิญญาณบรรพบุรุษเข้ามาอยู่ในร่างทรง ทรงเพื่ออะไร?
อ๋อ เรื่องของคนทรง สมมุติว่าพี่ไข่ไปเล่นที่บ้านของคนธรรมดา เป็นชาวบ้านใน อ.สทิงพระ บ้านนี้เขาก็จะมีบรรพบุรุษอยู่แล้ว มีรายชื่อคนทรงเรียบร้อย

คณะผมจะเริ่มที่กาดครู หรือชุมนุมครู (พุธ) เรียกให้เข้ามาประทับทรง เหยียบโรงโนรา (พฤหัสบดี) และอีกคืนหนึ่ง (ศุกร์) กลางคืนวันพฤหัสบดี เราจะเรียกบรรพบุรุษมาประทับทรงเพื่อพูดคุยกับลูกหลาน ได้ปรึกษากันว่าจะเอาแบบไหน “พาโนรามาเล่นปีนี้แล้วนะ แล้วปีหน้าจะเอาแบบไหน” หรือถ้าลูกหลานรับรู้ว่าพึงพอใจ ก็เล่นต่ออีก ทุกๆ ปี เรียกให้บรรพบุรุษมาอวยพรลูกหลาน

พอเราชุมนุมครูเสร็จ คนทรง หรือบรรพบุรุษ เขาจะจับทรงมาเองเลยโดยอัตโนมัติ เพื่อมาตรวจข้าวตรวจของในพิธี ว่าลูกหลานทำถูกไหม จะเอาอะไรเพิ่มไหม จะมาเหยียบโรง เอาฤกษ์เอาชัย

เรื่องของวิญญาณที่ต้องเรียกมาประทับทรง เพราะลูกหลานมีความเชื่อว่า มีบรรพบุรุษของเขาอยู่ เราไปเล่นโรงครู ทั้งใน อ.ควนเนียง อ.เมือง สงขลา บางครั้งลูกหลานเชื่อว่าอาจจะถูกบรรพบุรุษทำโทษให้เจ็บป่วย ก็บนว่าถ้าหายเขาจะยกโนราลงครู 2 คืน 3 วัน คืนวันพุธ-ศุกร์

สรุปแล้ว ทรงเพื่อ 1.ให้พรลูกหลาน 2.มาเป็นสักขีพยาน ที่ลูกหลานบนบานศาลกล่าวให้ประสบความสำเร็จ มาการันตีว่า ผ่านแล้วนะ เสร็จแล้วนะ ที่บนบานศาลกล่าว เรารับทราบแล้ว เสร็จสิ้นพิธีไม่มีเป็นห่วงเป็นใยแล้ว ก็คือขาดกัน ใครจะบนอีกวันหน้าก็อีกเรื่องหนึ่ง

● ถ้าการเข้าทรง บรรพบุรุษโนราเลือกคนเอง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าใครได้เป็นคนทรง?
ถ้าเป็นการหาร่างทรงใหม่ เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าจะจับเอาคนไหน คือบรรพบุรุษจะเลือกไว้เองแล้วว่า ชอบคนไหน รักคนไหน อยากจะอยู่กับ
ร่างทรงไหน ตั้งเอาไว้เลยว่าคนนี้เป็นร่างทรงต่อไปถ้าคนนี้ยังไม่เสียชีวิต คนอื่นก็ไม่สามารถจะทรงได้ คือชี้ตัวบุคคลไว้เลย แต่เขาไม่บอกกันนะ จะเป็นการรู้กันเอง บางทีคนทรงแก่แล้ว ก็ถ่ายทรงให้คนหนุ่ม แต่คนหนุ่มไม่รู้

● มีใครที่ไม่อยากเป็นร่างทรงไหม?
มี บางคนไม่อยากเป็นแต่ก็ต้องเป็น เพราะเวลาตา-ยาย บรรพบุรุษมา เขาไม่บอกว่า “กูจะมากับมึงนะ” เขาจับเลย ไม่เป็นก็ต้องเป็น เพราะว่าเขาเลือกไว้แล้ว

● เข้าทรงแล้วจะรู้ได้อย่างไร มีคำพูดหรือลักษณะท่าทางอะไรออกมา?
ก็แล้วแต่ว่า ผู้ที่เป็นบรรพบุรุษเป็นคนลักษณะไหน สมมุติว่า “ทรงนายดำ” ตอนมีชีวิตอยู่ เป็นคนนิสัยอย่างไรลูกหลานจะรู้ เช่น ก้าวร้าว กินเหล้า สูบบุหรี่ ชอบเล่นการพนัน ลักขโมย คือสังเกตจากอุปนิสัยของคนทรง พอร่างทรงเข้ามา ถ้าสมมุติว่านายดำตอนมีชีวิตอยู่เป็นคนขี้เมา แต่พอทรงแล้วไม่เมา ลูกหลานก็จะไม่เชื่อ คือจะมีเอกลักษณ์ของบรรพบุรุษที่จะมาทรงอยู่

● เราควรจะทำความเข้าใจวิญญาณบรรพบุรุษ ในแง่ไหน ภูต-ผี หรือในมุมศาสนา?
ไม่ใช่ศาสนา คือภูติผีนี่แหละ แต่เป็นผีผู้ดี ผีที่สามารถเข้ามาสิงร่างคน แล้วสื่อสารกับคนรู้เรื่อง ไม่ใช่ผีแบบสัมภเวสี เขาเรียกผีครู ผีผู้ดี สัมภเวสีก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นผีตายห่า ผีรถชน แบบนี้

“โนรา” เป็นผีผู้ดีที่สามารถสื่อ หรือมาอยู่กับลูกหลานได้ ให้พรได้ สามารถทำให้อะไรเป็นจริงได้

● ตามความเชื่อ บรรพบุรุษโนราที่ล่วงลับไปแล้ว วิญญาณจะยังไม่ไปไหนจริงหรือ?
บางคน อย่างผม เขาบอกเดี๋ยวอีก 3 ปีจากนี้ จะเชื้อเชิญผมให้ไปทรงอยู่กับอีกคนหนึ่ง ลูกหลานจะมีความเชื่อแบบนั้น เมื่อบรรพบุรุษเป็นโนราใหญ่ ตายไปแล้วก็ยังอยากจะเชื้อเชิญให้มาอยู่ในร่างทรงเพื่อพูดคุย ซึ่งหลายอย่าง จะรู้ก็ตอนที่ทรงลง ว่าของจริงหรือแท้

● มีสัญญาณไหม ที่โนราจะเปลี่ยนมาเป็น ‘ร่างทรง’ ได้ยินมาว่าบางคนจะมีอาการป่วยไม่หาย?
ใช่ บางคนมีอาการป่วย เรียกว่า “ตายายย่าง” ไปตรวจโรงพยาบาลไม่เป็นโรคอะไร ไม่เจออะไร กินอาหารไม่ได้ แต่ไม่ตาย 7 วัน 10 วัน ครึ่งเดือน จนหาสาเหตุไม่เจอแล้ว ต้องพึ่งไสยศาสตร์ ไปหาดูหมอเขาบอก “ถูกตายาย” แล้วก็ไปบนบานศาลกล่าว 1 วันหาย ก็เกิดความเชื่อว่าตายาย-บรรพบุรุษมีจริง ก็รับโนราโรงครูมาเล่น บางคนพอหายจากไม่สบาย เอาไปเป็นร่างทรงเลยทันที บรรพบุรุษมาจับทรงที่ไม่สบาย เป็นอีกอย่างหนึ่งของการที่บรรพบุรุษเขาจับจองไว้แล้ว

● ส่วนตัวมีอาการไม่สบายด้วยไหมก่อนจะถูกทรง?
เราสบายดีปกติ แค่ชอบโนราเพราะที่บ้านเราไม่มีใครเป็นโนรา แต่เคยมีตา-ยายเป็นโนรา มีคนเป็นร่างทรง เราเลยชอบ คือไม่ได้ชอบเพราะเกิดจากตายายมาทำให้เราเจ็บไข้ได้ป่วย แต่เพราะเราเห็นศิลปะ เกิดมาก็เห็นโนราโรงครูเล่นใกล้ๆ บ้าน จนจำท่าทาง จำบุคลิก จำคำกลอนได้ จำแบบงูๆ ปลาๆ แบบเด็กๆ แบบคนที่ไม่ได้เรียน พอมาได้เรียนปั๊บ โอ้โห บทนี้ๆ เป็นอย่างนี้

● ผู้หญิงสามารถเป็นครูโนราได้ไหม?
ผู้หญิงเป็นครูโนราไม่ได้ แต่บางพื้นที่สามารถเป็นครูโนราได้ เช่น อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย ใน อ.จะนะ ก็มีโนราติ้ม บ้านไม้แก่น ที่เป็นผู้หญิง สามารถเป็นครูได้ แล้วแต่ถิ่นพื้นที่

● คนที่จะเป็นครูโนราได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง?
ถ้าจะเป็นโนราใหญ่ ต้องตัดจุก-ผูกผ้า แล้วก็บวช พอสึกมา ลาสิกขาก็ได้เป็นโนราใหญ่ ต้องจำบท เรียนคาถา เรียนอาคม คือทุกอย่างต้องเรียนหมด จากครูโนราที่เป็นผู้ถ่ายทอดให้เรา ไม่ใช่อยู่ๆ ไปเป็นได้ ถามว่าต้องเรียนแค่ไหน มันไม่มีที่สิ้นสุด แล้วแต่ว่าจะเรียนถึงขนาดไหน

● อาคมที่นิยมส่วนมาก?
พวกการเบิกโรง การกำราบผี เราต้องรู้จักไว้ มีวิธีการป้องกัน เผื่อไปเล่นโรงครูมีผีเข้าจะทำอย่างไร ต้องรู้ว่ามีวิธีการแก้แบบนี้ๆ นะ โอเคท่องบทนี้นะ แต่ละครูก็ไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าจะเอาบทไหนมาสอนศิษย์ แต่จุดประสงค์เดียวกัน คือให้ลูกศิษย์มีความรู้

● มีผีมาเข้าทรงแทนบรรพบุรุษบ้างไหม ครั้งไหนที่จำไม่ลืม?
ตอนวัยรุ่น 13-14 ปี อยู่โรงครูกับอาจารย์ โนราใหญ่เรียกหาทรง แต่ไม่ใช่บรรพบุรุษ เป็นผีที่มาจับทรง ถามนู่นถามนี่ก็รู้ความหมด แต่พอถามไปถามมาเรื่องของลูกหลานกลับไม่รู้ (หัวเราะ) เราก็ใช้วิจารณญาณว่าไม่น่าจะใช่บรรพบุรุษ เป็นผีแล้ว มีอากัปกิริยาที่ไม่เหมือนกับบรรพบุรุษ เราใช้วิธีการสังเกตตัวของผู้เป็นร่างทรง ถ้าเห็นแบบนั้นปั๊บ ก็ต้องทำเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ ท่องคาถาอาคม ปิดประตูลม

● มีข้อห้ามไหม สำหรับคนที่จะมาเป็นครูหมอโนรา เพราะอะไร?
มีข้อห้าม ห้ามแต่งงาน คือก่อนตัดจุก-ผูกผ้า เป็นโนราใหญ่ หรือเป็นราชครู ห้ามแต่งงาน ห้ามเสียพรมจรรย์ ต้องรักษาไว้

แง่หนึ่งเขาบอกว่าถ้าได้เมียก่อน จะเป็น “โนราปาราชิก” ซึ่งตามความคิดของผมไม่ได้ปาราชิก แต่ถ้า “แต่งงาน” จึงจะปาราชิก เพราะต้องยกขันหมาก บอกตายาย บอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ได้รับรู้ ครูโนราจึงบอกว่าห้ามแต่งงาน หรือมีเมียก่อน เพราะถ้าได้เมียแล้วจะไม่สามารถเรียนวิชาได้ ให้จบไปเลยไม่ต้องเรียน เพราะไม่มีเวลา ต้องทำมาหากิน เลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย สิ่งนี้สำคัญมาก

● ถ้าเรียนจนเป็นราชครูแล้ว ยังจะสามารถมีครอบครัวได้?
ได้ตามสบาย คือหลังจากเราตัดจุก ผูกผ้า อุปสมบทและลาสิกขาเรียบร้อย เราจะมีลูกมีเมียได้ เอากี่คนก็ได้ 5 คน 10 คน แล้วแต่ความพึงพอใจ ไม่มีข้อจำกัด

● ส่วนตัวเป็นครูโนรามานานแค่ไหนแล้ว?
ตัดจุกผูกผ้า 20 ปีแล้ว ตั้งแต่เด็กปี พ.ศ.2545 ในการเป็นโนรา ในเมื่อคุณตัดจุก ผูกผ้า ครอบเทริดเป็นโนราใหญ่ เข้าสู่พิธีกรรม แล้วก็บวช นั่นหมายความว่าคุณเรียนจบปริญญาของโนรา คุณจะต่อปริญญาโทได้ก็ต่อเมื่อสามารถทำพิธีกรรมได้คล่องแคล่ว คุณเรียนคาถา มีลูกศิษย์ลูกหา ยังไม่สามารถวัดได้ แต่ถ้าคุณตัดจุกผูกผ้า เราจะเปรียบเหมือนจบปริญญา

● อะไรจูงใจให้มาสู่สายโนราโรงครู ชอบอะไรในนั้น?
ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ) น่าจะชอบดนตรี ชอบจังหวะ การขับบท ร้องกลอน เห็นแล้วทำให้เรารู้สึกว่า เอ้อ! สง่าดี ชอบ คนที่เป็นโนราไม่ใช่ว่าต้องเป็นกะเทย เป็นตุ๊ดนะ ชายแท้ก็เยอะ แต่พอเราใส่ชุดเราจะดูอ่อนนวล กระดุ้งกระดิ้ง เป็นหนึ่งรูปแบบของความชอบ โนราแข็งนอก-อ่อนใน ท่ารำแข็งแรง แต่ลีลาคล้อยตามอารมณ์ของเรา ต้องร่างกายแข็งแรง

● ในฐานะครูโนราสายพิธีกรรม มองการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในปัจจุบันอย่างไร ที่มีทั้งโนราบันเทิง เอาดนตรีสตริงเข้ามาประยุกต์?
เขาปรับรูปแบบให้สถานะของโนราอยู่ได้ ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย บางคนดูโนราโรงครูเบื่อและรำคาญ เล่นบทเดิมก็บทนั้น เพราะเราปรับเปลี่ยนไม่ได้ แต่โนราบันเทิงสามารถทำบทได้สนุกสนาน มีแดนเซอร์ มีหางเครื่อง โชว์นู่นนี่นั่น โนราโรงครูก็เล่นได้ คือจะบันเทิงช่วงหลังจากพิธีกรรม แต่วันพรุ่งนี้หรือวันถัดไปจะเป็นพิธีกรรมอีกอย่างหนึ่ง

● มีความคิดเคยอยากเลิกเป็นโนราไหม?
ไม่เคยคิดอยากเลิกเลย มันคือความชอบของผม เพราะเรารำมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนใคร หลักๆ ท่ารำจะมาจาก อ.ธรรมนิตย์ สายพระครูขุนอุปถัมภ์นรากร แต่ลีลาในการรำของ อ.ธรรมนิตย์จะแตกต่าง คือท่ารำจะเหมือน ดูรู้เลยว่าท่ารำในสายพระครูขุนอุปถัมภ์นรากร แต่มีอารมณ์เป็นของตัวเอง มีความแข็ง ความอ่อนช้อยแล้วแต่บุคคลไป

● การเป็นครูโนราทำให้ได้เรียนรู้อะไรในชีวิตบ้าง?
เราได้เรียนรู้สังคม ตั้งแต่สังคมรากหญ้า จนถึงสังคมชั้นสูง การเป็นครูโนราเราจะเข้าได้กับคนทุกสังคม เราไม่ได้ชี้ผิด-ชี้ถูก มีความอดทนอดกลั้น เพราะคนที่อยู่ในคณะเรา มาเป็นโนรา ต่างคนก็ต่างจิตต่างใจ ได้เรียนรู้ความเข้มแข็งของตัวเอง รู้จักการระงับอารมณ์ เรียนรู้ความเป็นคน

คนนี้ลักษณะแบบนี้เราจะถ่ายทอดวิชาแบบไหนให้เขาดี เขาจะมีความเป็นตัวของตัวเอง เราเห็นแล้วว่าเขาดีแบบนี้ เราก็นำเสนอแบบนี้ให้เขาไป ศิลปินโนราก็เหมือนกับนักดนตรี สิ่งที่ได้เรียนรู้ หนึ่งคือรู้จักนิสัยใจคอกันมากขึ้น รู้จักวางตัวว่า อ๋อ คนนี้รักอิสระแบบนี้นะ เราจะอยู่ร่วมด้วยหรือแยกห่างออกมา ได้เรียนรู้ทุกอย่าง เรียนรู้ความเป็นทีม

● ถ้าไม่เป็นครูโนรา คิดว่าตอนนี้ทำอาชีพอะไรอยู่?
ผมน่าจะเป็นครูแล้วครับ (หัวเราะ) สอนนาฏศิลป์ และสอนโนราไปด้วย อาจจะเปิดชมรมสอนในโรงเรียน ป่านนี้ถ้าไม่เป็นโนราหรือไม่ชอบโนรา ไม่พยายามหาประสบการณ์ มีพรสวรรค์แล้วไม่หาพรแสวง เราก็น่าจะคิดอีกอย่างหนึ่ง คือไปเป็นครูดีกว่า

● มองโนรายังมีความเชื่อมโยงกับสังคมปัจจุบันอย่างไรบ้าง อะไรที่ทำให้โนราสายพิธีกรรมยังอยู่ได้ ในโลกที่ยึดหลักวิทยาศาสตร์มากกว่าหลักความเชื่อ?
การทำโนราโรงครู หรือโนราพิธีกรรม เปรียบเหมือนการเรียกรวมญาติชนิดหนึ่งของคนปักษ์ใต้ แต่ก่อนบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย พาโนราโรงครูมาเล่น เราจะได้รู้จักญาติเกือบทุกฝ่าย เขามาจากไหน พี่น้องในสายตระกูลมีใครบ้าง ผมถึงบอกว่าโนราพิธีกรรมมันจำไม่หมด และผมคิดว่าโนราไม่มีวันตาย ที่เชื่ออย่างนั้นเพราะตอนนี้ผมอายุ 40 แล้ว โนราได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และมีศิลปินแห่งชาติคนใหม่คืออาจารย์ธรรมนิตย์

ทุกวันนี้ตามยูทูบ หรือไลน์ มีเด็กๆ 5-6 ขวบ รำโนรากันแล้ว เด็กๆ เขาสนใจโนรากันมาก ไม่ว่าเด็กเล็ก ใหญ่ วัยรุ่น ผมเลยมั่นใจว่าโนราจะไม่หมดไปจากปักษ์ใต้ ไม่มีสูญหายแน่นอน เพราะมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ เพราะครูยังได้ตัดจุกผูกผ้าให้เป็นโนราใหญ่ หลายคนมาฝากตัวขอเป็นศิษย์ เราก็สอนๆๆๆ คิดว่าเราน่าจะอยู่ได้ เพราะมีเด็กที่พยายามเรียนรู้จากเราอยู่ ทั้งวิชา อาคม ท่าร่ายรำ กำกับบทการร้อง เรื่องไสยศาสตร์ เราทำพิธีกรรมแบบนี้ ต้องว่าแบบนี้ คาถานี้คืออะไร นี่คือความสำคัญของครู

โนราจะไม่หมดไป ถ้าครูโนราไม่หวงวิชา คิดจะเป็นครูแล้ว วิชาต้องให้ศิษย์หมด

ถ้าไม่หวงวิชา โนราจะอยู่ได้จนรุ่นลูกรุ่นหลาน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image