4 ผู้รู้ ‘ดนุชา เกรียงไกร เศรษฐา ชัชชาติ’ ตอบโจทย์ Stronger Bangkok : Stronger Thailand

ถือเป็นจังหวะพอดี สำหรับเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนส่งท้ายครึ่งปีแรก 2565 และประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ประกอบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 และประกาศเปิดประเทศผ่อนปรนมาตรการเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทำให้ทุกภาคส่วนจับตามองว่า ครึ่งหลังปี 2565 ทิศทางสถานการณ์ประเทศจะเป็นไปอย่างไร!

หนังสือพิมพ์มติชน จึงถือโอกาสนี้จัดสัมมนา “สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพฯ ซึ่งตลอดเวลาของการเสวนาจาก 4 ผู้รู้สำคัญระดับประเทศ จึงเป็นการสัมมนาอีกครั้งที่มีผู้จองเข้าฟังแบบ On-site และรอชมผ่าน Live Streaming การถ่ายทอดสดภาพและเสียงบนอินเตอร์เน็ตอย่างล้นหลาม

๏ สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand

ดนุชา พิชยนันท์

เปิดงาน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปาฐกถาพิเศษ “สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand” สะท้อนถึงสถานการณ์ประเทศสถานการณ์เศรษฐกิจ ให้ผู้ฟังมองเห็นภาพได้แจ่มชัด ซึ่งขอนำบางช่วงมาเสนอในที่นี้

“ต้นปี 2565 เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาการระบาดโอมิครอน แต่อาการของโรคไม่รุนแรงมากนัก การแพทย์ของไทยยังสามารถรับมือได้ และได้ประกาศตัวเลขว่าเศรษฐกิจสามารถไปต่อได้ แต่ไม่นานก็ต้องเผชิญปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กลายเป็นปัจจัยกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพราะทำให้ราคาน้ำมันขยับขึ้นเรื่อยๆ มุมมองต่ออนาคตโลกก็จะมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาทาง Geopolitics ภูมิศาสตร์การเมืองจะรุนแรงขึ้น เกิดการแบ่งขั้วอำนาจมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป ต้องวางตำแหน่งให้ดี ประสานทุกประเทศได้

Advertisement

“เศรษฐกิจครึ่งหลัง 2565 หน่วยงานรัฐได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3% เนื่องจากการส่งออกยังสามารถขยายตัวได้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส หลังไทยเปิดประเทศช่วงหลังปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 7-10 ล้านคน ส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนเติบโตได้ถึง 8% ส่วนที่ยังเป็นปัญหาคือ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จากปัญหาเงินเฟ้อ และราคาพลังงานสูง โดยยังมองว่าเศรษฐกิจปี 2566 จะขยายตัวดีกว่าปีนี้ อยู่ที่ 3.7%”

เลขาฯ สศช.ยังสะท้อนถึงสถานการณ์ภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทย โดยให้ใจชื้นได้ระดับหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกมากอยู่ ทั้งการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ การขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกช่วยดันภาคการส่งออก การฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องรับมือความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ถ้าสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ โควิดกลายพันธุ์ ข้อจำกัดฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง รวมถึงอาจเกิดปัญหาด้านภูมิศาสตร์ด้านการเมืองมากขึ้น และขั้วการค้าโลกกำลังเปลี่ยนไปหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ

๏ ยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อโอกาสใหม่

เกรียงไกร เธียรนุกุล

ต่อด้วย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บรรยายพิเศษหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อโอกาสใหม่” สะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนปรับตัวสู้ “ดิสรัปชั่น” มาอย่างไร ซึ่งกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“สิ่งที่เห็นชัดตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คือ ผลกระทบจากวูก้า (VUCA) เป็นโลกในยุคปัจจุบัน คือ ความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ ขณะนี้ไม่สามาถรู้ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น นอกจากเกิดวูก้าแล้ว ไทยยังอยู่ในช่วงที่พายุทางเศรษฐกิจกำลังก่อตัว อีกทั้งในปี 2565 ยังได้รับของแถมจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เข้ามาในช่วงที่ทุกอย่างฟื้นตัวแต่ยังอ่อนแออยู่ ถือเป็นตัว A คือ ความคลุมเครือ ที่เหมือนกับโลกโดนทุบอีกดอกหนึ่ง ตามด้วยปัญหาเงินเฟ้อ ราคาพลังงานและราคาสินค้าปรับสูงต่อเนื่อง ฉะนั้น ที่ผ่านมาใช้ความร่วมมือกันของภาคเอกชน และไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เพื่อทำให้ประเทศไทยหลุดจากการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง หากจีดีพีอยู่ที่ 3% และโตด้วยโมเดลเดิมๆ กว่าเราจะหลุดออกจากการเป็นประเทศที่มีกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่รายได้สูง อาจใช้เวลากว่า 30 ปี ฉะนั้น ทางเดียวที่เราจะสามารถไปสู่จุดนั้นได้เร็ว คือต้องเปลี่ยนโมเดลและยุทธศาสตร์ประเทศใหม่”

ประธาน ส.อ.ท.ยังฉายภาพถึงเรื่องสำคัญเพื่อการปูพื้นในอนาคต คือ การให้ความสำคัญกับ BCG Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าว่าส่วนนี้จะเข้ามาเพิ่มการเติบโตของจีพีดีได้กว่า 24% ของจีดีพี หรือสร้างเงินสะพัดกว่า 4.4 ล้านล้านบาท ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า การเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ บนเป้าหมายไทยจะเป็นประเทศ ซีโร่ คาร์บอน การเร่งผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรือเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ หรือการเร่งมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างรายได้เพิ่มในระบบแรงงาน

๏ อนาคต:Stronger Bangkok:Stronger Thailand

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

จากนั้นเข้าโหมดวงสนทนาจาก 2 มุมมอง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ในหัวข้อ Stronger Bangkok:Stronger Thailand โดยมี นายสรกล อดุลยานนท์ คอลัมนิสต์และพิธีกรชื่อดัง เป็น
ผู้ดำเนินรายการ ซึ่งยากมากที่จะได้ 2 ผู้บริหารมือดี ขึ้นเวทีพร้อมกัน ดังนั้น ในวันนั้นเชื่อได้ว่าผู้ฟังเต็มอิ่มกับนานาสาระ การแลกเปลี่ยนมุมมอง พร้อมสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ฟังตลอดเกือบ 2 ชั่วโมง

ขอยกบางส่วนที่นายชัชชาติกล่าวในช่วงเสวนา

“หน้าที่ กทม. มานั่งคิดดูแล้วความจริงแล้วมีแค่ 3 เรื่องเอง เรื่องแรก คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ น้ำเสีย ฝุ่นพิษ มลพิษ น้ำท่วม ขยะต่างๆ ตนทำเป็นงานรูทีน ที่ไม่ต้องให้คนอื่นทำแทนเรา เรื่องที่สอง การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง เพราะ กทม.เป็นผู้ถือกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งบางครั้ง กทม.เป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ ต่อการทำธุรกิจ ทำอย่างไรให้เมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนปฏิบัติ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เรื่องที่สาม การสร้างโอกาสจากความเหลื่อมล้ำ หน้าที่ กทม.คือเป็นคนเกลี่ยความเหลื่อมล้ำ เฉลี่ยจากคนมีเยอะ มาให้คนมีน้อย ต้องสร้างโครงสร้างสวัสดิการพื้นฐานให้ประชาชน ถ้าไม่เกี่ยวกับ 3 เรื่องนี้ อย่าไปทำ ที่ผ่านมาเราเอางบไปลงนอกเหนือจาก 3 เรื่องนี้ ซึ่ง กทม.ไม่ได้มีหน้าที่สร้างเมืองให้เจริญรุ่งเรือง ถามว่า คำนิยามของเมืองคืออะไร ผมชอบคำนิยามของนักวิชาการผังเมือง ชาวฝรั่งเศส บอกว่า เมืองคือตลาดแรงงานเรามารวมในกรุงเทพฯ เพราะมีงาน กทม.มีงานเป็นหัวใจ ถามว่าใครสร้างงาน กทม.ไม่ได้สร้างงาน เอกชนเป็นหลัก ราชการก็ไม่ได้สร้างงานเยอะ คนที่สร้างเมืองเยอะความจริงคือเอกชน ต้องสร้างงานที่มีคุณภาพทำให้เกิดเศรษฐกิจขึ้น กทม.จึงต้องร่วมมืออย่างแข็งขันกับภาคเอกชน จะช่วยสร้างเมืองนี้ในอนาคต ถามว่าเห็นอะไรเปลี่ยนไปไหม ผมว่าไม่เปลี่ยน เราเดินในเมืองมา 3 ปี เห็นปัญหาต่างๆ ซึ่งแค่คอนเฟิร์มขึ้น”

จากนั้นผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ ยังเล่าถึงสิ่งแรกๆ ที่เกิดขึ้นหลังเข้าบริหาร กทม. อาทิ ใช้แอพพ์ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ที่ได้รู้ถึงปัญหา ทำให้แก้ไขปัญหาคนเมืองได้เร็วขึ้น ทั้งยืนยันนำนโยบาย 214 ข้อใส่ในแพลตฟอร์มสู่การปฏิบัติด้วย ยังเล่าถึงแนวคิดแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยผิดกฎหมาย สนับสนุนการทำงานแบบคิดนอกกรอบในการเพิ่มแนวคิดการแก้ปัญหาและทำให้งานเดินหน้า ลุยงานนำสายไฟที่รุงรังลงดิน ต่อไปก็จะเห็นการลอกท่อลดปัญหาน้ำระบายไม่ทัน ต่อไปก็ยังมองภาพกรุงเทพฯสีเขียวที่เต็มไปด้วยต้นไม้

“เรามีเคสการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น คือ สมบัติของเมืองช่วยแก้ฝุ่น PM2.5 และลดโลกร้อน ไทยจะไม่แพ้สิงคโปร์ คุยกันแล้ว ปตท.ให้มา 100,000 ต้น แสนสิริ 100,000 ต้น สภาอุตสาหกรรม 100,000 ต้น ต้องบอกว่า 1,000,000 ต้น ผมกลัวว่าจะหมดเร็ว ไม่รีบจองเดี๋ยวไม่ได้ปลูก ซึ่งเราจะใช้แพลตฟอร์ม ทุกต้นที่ปลูกจะมีพิกัด GPS ต้นอะไร ที่ไหน ใครปลูก ทุกต้นจะมีเจ้าของ แนวคิดเราเปลี่ยนวิธีคิด ต้นไม้เป็นสมบัติของเมือง ทุกวันอาทิตย์ให้ลูกปลูก และโตไปกับต้นไม้…”

ซึ่งเนื้อหายังพูดให้เห็นภาพว่า ทางออกเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว แก้ปัญหารถเมล์ โครงการดนตรีในสวน เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่หาคำตอบและความคืบหน้าได้ในการไลฟ์สดประจำวัน โดยตอบคำถามที่ว่าโจทย์ประเทศไทยแข็งแรง ต้องเร่งแก้ไขอย่างไร

“ปัญหาบ้านเรา มีความขัดแย้งเยอะ แบ่งเป็นฝักฝ่าย ถ้าหันหน้าเข้าหากัน ใช้เหตุผลมากขึ้น ผมว่าเราไปได้ ถ้าเราสามารถรวมพลังกันได้ เราจะเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนกรุงเทพฯ ได้ในอนาคต ถามว่าเมืองในอนาคตแข่งกันที่อะไร ไม่ได้แข่งที่รถไฟฟ้า ตึกรามบ้านช่อง แต่แข่งที่เมืองไหนดึงคนเก่งสร้างคนเก่งได้มากกว่ากัน คนเก่งคือคนที่สร้างงาน สร้างธุรกิจต่างๆ ทั้งเมืองที่มีความยุติธรรม ไม่มีทุจริตคอร์รัปชั่น กรุงเทพมหานครไม่แพ้เมืองไหนในโลก ผมพูดเสมอ กทม.เหมือนเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน เทียบกับภูมิภาค เราขึ้นมายืนได้ไม่ยาก เรามีแต่เด็กรุ่นใหม่เก่งๆ มีสตาร์ตอัพเก่งๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี…”

เศรษฐา ทวีสิน

ในคำถามเดียวกัน ทั้งเรื่องมองปัญหา กทม. และประเทศไทยจะแข็งแรงได้อย่างไร โดย นายเศรษฐา
ซีอีโอใหญ่ค่ายแสนสิริ ให้มุมมองตอนหนึ่งว่า

“ปัญหาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ เรื่องปากท้อง ถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสุด ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อ รายได้ลดลง แต่หนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่ผู้นำทุกคนจะต้องแก้ปัญหา อาทิ ผู้ว่าฯกทม.พยายามร่วมมือกับภาคเอกชน ในการจัดหาพื้นที่เพื่อสร้างอาชีพ ช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน ทั้งรายได้หลักและรายได้เสริม โดยบริบทของประเทศต้องจัดการเรื่องรายได้ หนี้ครัวเรือน และการลดค่าใช้จ่าย เมื่อฟังที่ผู้ว่าฯกทม. ใช้คำพูดว่า การทำงานจะเป็นการทลายไซโล (Silo) หรือพฤติกรรมและกรอบความคิดเดิมของหน่วยงานต่างๆ ที่กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปด้วย มีการอธิบายให้ฟังตลอดเวลา และตั้งคำถามว่า เมื่ออธิบายให้ฟังตลอดแล้วทำไมถึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทั้งที่เป็นหน้าที่ในการทำงานและรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน โดยการทำงานร่วมกันถือเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนมีความหวัง ไม่ใช่ว่าเมื่ออธิบายให้ฟังตลอดเวลาทำไมถึงทำไม่ได้ เพราะคุณถูกเลือกขึ้นมาเพื่อทำให้ได้ ไม่ใช่มาอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้ …ต้องบอกว่าเอกชนไทยในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องเกรงใจในการเรียกหา การให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อน และลดภาระงบประมาณ เชื่อว่าเอกชนยินดีช่วยเหลือ อาทิ การนำที่ดินเปล่ามาใช้ประโยชน์ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนส่วนรวมดีขึ้น”

ไม่แค่นั้น ซีอีโอใหญ่ค่ายแสนสิริ แสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดการสร้างอากาศบริสุทธิ์ ผ่านการเริ่มต้น
ปลูกต้นไม้ ผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในอนาคต และการเร่งลดปัญหาค่าครองชีพสูง ที่คนไทยที่กำลังเผชิญอย่างหนักหนาสาหัสในวันนี้ ผลต่อเนื่องจากน้ำมันแพง สินค้าขยับราคา ดอกเบี้ยสูง ค่าเงินบาทอ่อน จนเงินเฟ้อพุ่ง ซึ่งสิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุด คือ ทำอย่างไรถึงจะมีกินมีใช้มากกว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคำนึงมากยิ่งขึ้น

จบการสัมมนาด้วยเสียงตบมือเกรียวกราว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image