แท็งก์ความคิด : ชาตาทัพเรือ

เดือนนี้วันหยุดเยอะมาก รวมกันเสาร์-อาทิตย์ก็ประมาณ 15 วัน

หยุดยาวเช่นนี้ ชักชวนอ่านหนังสือเล่มใหญ่แต่อ่านสนุกได้ความรู้

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับสะพานพิบูลสงครามที่เจอมือดีไปวางป้ายใหม่ทับไว้

เปลี่ยนชื่อสะพานจาก “พิบูลสงคราม” ไปเป็น “ท่าราบ”

Advertisement

ใครอยากทราบว่าเกี่ยวพันกันอย่างไรคงต้องย้อนไปดูเหตุการณ์ช่วงปี 2475

กลับไปอ่านเหตุการณ์ช่วงกบฏบวรเดช

ช่วงหลังปี 2475 บุคคลที่มีบทบาทมาจนถึงระยะหลังคนหนึ่งหนีไม่พ้น จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ที่เป็นนายกรัฐมนตรีหลายหน

Advertisement

จอมพล แปลก หรือจอมพล ป. ประสบเหตุเกี่ยวกับชีวิตหลายครั้ง

นั่นคือถูกลอบสังหาร แต่ก็รอดพ้นมาได้

เหตุการณ์อีกครึ่งหนึ่งที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ไทย และเป็นห้วงอันตรายในชีวิตของจอมพล ป. ก็คือ เหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน

แมนฮัตตันที่เป็นเรือขุด จอมพล ป.ไปทำพิธีรับมอบ แล้วเหล่าทัพเรือจับตัว

หนังสือ “ทหารเรือกบฏ แมนฮัตตัน ฉบับปรับปรุง” ของสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม เครือมติชน

เขียนโดย นิยม สุขรองแพ่ง บรรณาธิการโดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ บอกเล่าเหตุการณ์ช่วงนั้นอย่างละเอียด

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งที่ 2 เพราะฉบับพิมพ์ครั้งแรกในตลาดหนังสือนั้นราคาพุ่งสูงมาก สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรมจึงนำมาพิมพ์อีกครั้ง เพื่อให้คนที่อยากรู้ได้อ่าน

อ่านแล้วรู้สึกชอบใจตั้งแต่แรกเปิด

แยกแยะหนังสือที่บันทึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วงที่ทหารเรือจับตัว จอมพล ป. เมื่อเป็นนายกฯ ไว้บนเรือรบหลวงศรีอยุธยา

หนังสือมีกี่เล่มกี่เล่มนำมากล่าวถึงเพื่อให้ได้รู้

เพิ่มความสมบูรณ์ของข้อมูลเกี่ยวกับกบฏแมนฮัตตัน

ภายในเล่มยังนำเอาดวงกองทัพเรือไทยมาทำนายชาตา และผูกโยงกับดวงชาตาของกรุงเทพฯ

เรื่องภาพประกอบก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ

ทั้งตัวบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ ชื่อ-ตำแหน่ง-ยศ และบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ช่วงนั้น

ภาพเหตุการณ์ที่บันทึกเป็นประวัติศาสตร์ไทย

เป็นเหตุการณ์ที่กองทัพเรือเข้ามามีบทบาททางการเมือง เป็นเหตุการณ์ที่กองทัพอากาศเข้ามาปราบปราม

เป็นจุดหักเหที่ทำให้กองทัพเรือไทยถูกทอนอำนาจลง

เหตุการณ์ กบฏแมนฮัตตัน เกิดกลางลำน้ำเจ้าพระยา มีพยานรู้เห็นมากมาย จึงมีผู้บันทึกเหตุการณ์เอาไว้มาก

รวมทั้งบันทึกของจอมพล ป.เองด้วย

บันทึกจอมพล ป. ได้ตีพิมพ์อยู่ในภาคผนวกของหนังสือเล่มดังกล่าวในฐานะผู้ถูกจี้จับกุมตัว ขณะเดียวกันก็มีบันทึกของ น.ต.มนัส จารุภา ที่เขียน “เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล”

หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ใครที่มีโอกาสได้ฟังเสวนา “90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม” ที่จัดขึ้น ณ ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันก่อน

หลายคนคงมองเห็นด้วย

สำหรับสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม มิได้นำเสนอเฉพาะหนังสือ “ทหารเรือกบฏแมนฮัตตัน ฉบับปรับปรุง” นี้เท่านั้น

ยังมีหนังสือ “ราษฎรปฏิวัติ” ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร เขียนโดย ณัฐพล ใจจริง และมีหนังสือ “ปฏิวัติที่ปลายลิ้น” ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทย เขียนโดย ชาติชาย มุกสง มี ธเนศ วงศ์ยานนาวา ให้คำนิยม

ภายในงานดังกล่าว อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้สอนวิธีการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ให้ฟัง

ถ้าอยากรู้เรื่องราวของ มิถุนายน 2475 ต้องศึกษาข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24-28 มิถุนายน 2475

ถ้าอยากรู้เหตุการณ์ปี 2475 ต้องหาอ่านเหตุการณ์ รศ.130 เหตุการณ์ รศ.131 เหตุการณ์ รศ.103

หรือจะให้เข้าใจเหตุการณ์ 2475 มากยิ่งขึ้นต้องอ่านเหตุการณ์ ค.ศ.1776 ของสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ ค.ศ.1789 ของฝรั่งเศส หรือเหตุการณ์ ค.ศ.1911 ในจีน

เช่นเดียวกับการทำความเข้าใจกองทัพเรือไทยก็ต้องอ่าน “กบฏแมนฮัตตัน” รวมถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น

อ่านหนังสืออิงประวัติศาสตร์ในปัจจุบันนี้สนุก เพราะมีทั้งข้อมูลในไทยและข้อมูลของต่างชาติ

อ่านแล้วมองเห็นมิติต่างๆ ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์

ยิ่งมีใครเอ่ยถึงเหตุการณ์เหล่านี้อีก หรือมีหนังสือที่นำข้อมูลใหม่มาตีพิมพ์เพิ่ม

เราจะสนุกสนานกับความรู้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังยืนยันความเป็นปกติ

ทุกประเทศต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง

ทุกความเปลี่ยนแปลงย่อมต้องเกิดความขัดแย้ง

ผู้คนในอดีตต่างผ่านพ้นข้อขัดแย้งแล้วก้าวพาประเทศไทยเจริญมาจนถึงจุดนี้

ผู้คนในปัจจุบัน จึงมีหน้าที่ศึกษาอดีต

มองการเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ มองความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา

รู้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง

แล้วหาวิธีทำให้สังคมกลับคืนสู่ความสงบ

มองหาหนทางที่จะอยู่ร่วมกันได้ตลอดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image