อาศรมมิวสิก : ‘Million Wind Philharmonic : มิตรภาพแห่งประชาคมดนตรีที่ไม่มีพรมแดน’

ผู้เขียนได้รับคำเชิญจากทางคณะผู้จัดงานคอนเสิร์ตวงดุริยางค์เครื่องลม (Wind Orchestra) ที่จัดได้ว่าเป็นวงดุริยางค์เครื่องเป่าอันดับหนึ่งของเมืองไทย นั่นก็คือ วงที่ใช้ชื่อว่า “มิลเลียนวินด์ ฟิลฮาร์โมนิก” (Million Wind Philharmonic) ความจริงแล้วผู้เขียนรู้จักและติดตามความเคลื่อนไหวของพวกเขามานาน ที่กล้าใช้คำพูดว่าเป็น “วงอันดับหนึ่ง” ก็เพราะดูแล้วนี่เป็นการรวมตัวกันของนักดนตรีในกลุ่มเครื่องเป่าจากทั่วประเทศ ไม่กล้าเรียกพวกเขาว่าเป็น “วงเยาวชน” เพราะนี่เป็นวงเครื่องเป่าที่รวมตัวนักเล่นเครื่องเป่าระดับหัวกะทิทั่วเมืองไทยโดยแท้จริง มีทั้งระดับหัวหน้ากลุ่ม (Principal) จากวงซิมโฟนีออเคสตราจากทั้งสองค่ายยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยอย่าง “รอยัลบางกอกซิมโฟนีออเคสตรา” (RBSO) และ “ไทยแลนด์ฟิลฮาร์โมนิก ออเคสตรา” (TPO) ยังไม่ต้องนับรวมถึงวงออเคสตราแห่งกรมศิลปากร, วงจากดุริยางค์เหล่าทัพต่างๆ, วงจากสถาบันการศึกษาทางดนตรีชั้นนำของประเทศทั้งหมด พวกเขาสามารถสลายขั้ว, สลายอัตตาตัวตนแห่งความเป็นศิลปิน หันมารวมตัวกันเพื่อบรรเลง, บุกเบิกศิลปะการบรรเลงดนตรีวงเครื่องลมที่พวกเขาเชื่อมั่นศรัทธา

การรวมตัวกันของผู้เป็นเลิศทางเครื่องเป่าทั่วประเทศโดยไม่มีความรู้สึกทางการแข่งขัน, เกี่ยงงอนถึง “ต้นสังกัดเดิม” ฟังดูเหมือนมันสวยงามเกินจริงแต่มันเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นมานานต่อเนื่องหลายปี นี่จึงเป็นแบบอย่างแห่งสังคมดนตรีที่เปี่ยมด้วยอุดมคติที่ดีงาม (คงต้องยอมรับความจริงว่าในวงการกลุ่มเครื่องดนตรีอื่นๆ เราไม่อาจพบความบริสุทธิ์ใจแบบไร้พรมแดนได้เช่นนี้) คอนเสิร์ตครั้งนี้จัดขึ้นในบรรยากาศเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยความอบอุ่นเป็นกันเอง ณ หอแสดงดนตรีชั้น 16 อาคาร 27 มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อบ่ายสามโมงวันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ความพิเศษของวงดนตรีนี้ประการหนึ่งก็คือ การหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันของสมาชิกนักดนตรีที่มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่างก็มีความศรัทธา มีความรักในศิลปะการบรรเลงดนตรีเฉพาะทางชนิดนี้ ใครพอจะมีเวลาว่างๆ ปลีกเวลาได้ก็จะหาทางมาอัดประจุพลังทางดนตรีใหม่กับเพื่อนๆ ในวงการนักเล่นเครื่องเป่าด้วยกัน

พวกเราทุกๆ คนที่เคยผ่านชีวิตนักเรียนมัธยมมาก่อน คงจะหวนรำลึกบรรยากาศชีวิตสมัยเป็นนักเรียนมัธยมได้เป็นอย่างดี มันคือช่วงชีวิตที่น่าประทับใจที่สุด ชีวิตเด็กวัยรุ่น, วัยใส ที่เพิ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เริ่มขบถกับผู้ใหญ่และครูบาอาจารย์ มีแต่เพื่อนๆ รอบตัวที่โรงเรียนนี่แหละที่มีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันมากที่สุด ชีวิตสมัยมัธยมจึงเป็นช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยพลัง, ความหวังในชีวิต, อุดมคติ, สปิริตความจริงใจต่อเพื่อนฝูง การทำกิจกรรมอะไรๆ เสริมหลังเลิกเรียนไม่ว่าจะเป็นดนตรี, กีฬา ก็จะทุ่มเทกันสุดชีวิตเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนอันเป็นสถาบันที่รักยิ่งในชีวิต หลังจากชีวิตมัธยมแล้วการเติบโตจนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ความบริสุทธิ์ในจิตวิญญาณก็ดูจะลดๆ กันลงไปบ้าง และชีวิตในกิจกรรมวงโยธวาทิตหลังเลิกเรียนนี่แหละที่เสริมสร้างจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของคนวัยหนุ่มสาวแรกแย้มนี้ให้แข็งแกร่งและอยู่ในความทรงจำของพวกเขาไปจวบจนตลอดชีวิต นี่เองจึงเป็นเมล็ดพันธุ์เบื้องต้นแห่งการงอกงามเป็นวงดุริยางค์เครื่องเป่า “มิลเลียนวินด์ ฟิลฮาร์โมนิก” มันคือภาพรวมของจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของหนุ่มสาววัยแรกแย้ม ที่ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปยาวนานแค่ไหน อายุอานามจะมากขึ้นเพียงใด ตำแหน่งหน้าที่การงานจะก้าวหน้ากันไปอย่างไร จิตวิญญาณอันงดงามในชีวิตนักดนตรีในโรงเรียนมัธยมของพวกเขายังคงสดใสบริสุทธิ์ดังเดิม นี่คือความพิเศษสุดของวงการดนตรีนี้ ความไม่มีรั้วไม่มีพรมแดนแห่งต้นสังกัดหรือสำนักใดๆ ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อดนตรีโดยแท้จริง

การคัดเลือกบทเพลงมาบรรเลงในรายการนั้นได้รับการผสมผสาน, จัดวางเรียงลำดับมาเป็นอย่างดี ใครที่ยังมีความคิดแบ่งแยกว่า “นี่ไม่ใช่ดนตรีคลาสสิก” ก็คงต้องปล่อยให้ผ่านไป ดนตรีอันงดงามบริสุทธิ์, ดนตรีแห่งภูมิปัญญาในโลกนี้มีมากมายไม่ใช่แค่เพียงดนตรีที่เรียกขานกันว่า “คลาสสิก” เท่านั้น (ในที่นี้หมายถึงวงซิมโฟนีออเคสตรา) “คลังแห่งบทเพลง” (Repertory) ที่ใช้ในการบรรเลงวงดุริยางค์เครื่องเป่าล้วน (Symphonic Band) นั้นมีความมั่งคั่งมากมายอยู่ในตัวเอง มีการประพันธ์บทเพลงใหม่ๆ สำหรับวงดนตรีประเภทนี้โดยเฉพาะมากมายในช่วงเวลานับร้อยๆ ปีที่ผ่านมา และก็ยังมีการว่าจ้างประพันธ์ขึ้นใหม่อย่างไม่หยุดหย่อน ไม่แพ้บทเพลงสำหรับวงซิมโฟนีออเคสตรา คอนเสิร์ตในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันที่มีการบรรเลงทั้งบทเพลงที่ประพันธ์สำหรับวงดนตรีประเภทนี้โดยเฉพาะ และบทเพลง “คลาสสิก” ยอดฮิตคุ้นหูตลอดไปจนถึงบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่โดยนักประพันธ์ดนตรีชาวไทยรุ่นใหม่ๆ

Advertisement

บทเพลงโหมโรง “Appalachian Overture” ผลงานการประพันธ์โดย เจมส์ บาร์นส์ (James Barnes) ที่เปิดรายการเสมือนเป็นการย้อนภาพวงเครื่องเป่า “นั่งบรรเลง” ในสมัยมัธยมได้เป็นอย่างดี เมื่อฝึกปรือฝีมือมาจนช่ำชองในระดับหนึ่งแล้ว การฝึกความเป็นนักดนตรีนั่งบรรเลง (ไม่ใช่เดินแถวแปรขบวน) ฝึกทักษะการบรรเลงดนตรีแบบซิมโฟนิกนั้น บทเพลงนี้เป็นผลงานที่พวกเขาผ่านมือช่ำชองกันเป็นอย่างดี บทเพลงที่สองของรายการคือ “Concert March No.1” ผลงานการประพันธ์โดย “จิณณวัตร มั่นทรัพย์” นั้นมีความไพเราะ, น่ารัก เป็นกันเองกับผู้ฟัง ไม่ว่าเราจะรู้เรื่องราวเบื้องหลังบทเพลงหรือไม่ ผู้ประพันธ์มีความตั้งใจให้เป็นดนตรีบรรยายภาพเล็กๆ บรรยายถึงชีวิตเด็กๆ ในสนามเด็กเล่นยามเย็น แต่ไม่ว่าเราจะรู้ความตั้งใจนี้ของเขาหรือไม่ ตัวบทเพลงนี้ก็สื่อสารกับผู้ฟังด้วยความน่ารัก, เรียบง่าย ระรื่นหูอยู่แล้ว

บทเพลง “แฟนตาเซีย สำหรับอัลโตแซกโซโฟน” ผลงานการประพันธ์ ของ C.T. Smith เปิดโอกาสให้นักแซกโซโฟนฝีมือดีชาวไทยอย่าง “สุพัฒน์ หาญพัฒนชัย” ได้อวดฝีไม้ลายมือ, เทคนิค อย่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะนี่เป็นบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่ออวดความสามารถของเครื่องดนตรีชนิดนี้โดยเฉพาะ ก่อนพักครึ่งแรกมีบทเพลง “คลาสสิก” สองเพลงที่นำมาบรรเลงซึ่งนำไปเรียบเรียงใหม่สำหรับวงดุริยางค์เครื่องเป่าล้วนนั่นคือ “มาร์ชสลาฟ” (Marche Slave) ของ “ไชคอฟสกี” (P.I.Tchaikovsky) ที่แฟนๆ เพลงคุ้นหู และบทเพลง “Bacchanale” จากอุปรากรเรื่อง “Samson&Delilah” ของ “กามิลล์ แซงท์ซองส์”
(Camille Saint-Saens) อันเป็นบทเพลงแทรกในอุปรากรที่น่าตื่นเต้น สรพจน์ วรแสง ทำหน้าที่อำนวยเพลงในครึ่งแรกของรายการได้เป็นที่เรียบร้อยน่าชื่นชม ทั้งในความพอเหมาะพอดีแห่งการสื่อสารแสดงออก และการเชื่อมโยงศิลปินเดี่ยวให้เข้ากับวงได้อย่างราบรื่น นี่บทบาทหน้าที่อันพอเหมาะพอดีแห่งการเป็นผู้อำนวยเพลง

การแสดงในครึ่งหลังดูจะมีความคึกคักเข้มข้นมากขึ้น เมื่อ “ศิลปินศิลปาธร” อย่าง “ดร.วานิช โปตะวนิช” ได้เข้ามาร่วม ด้วยการนำเสนอผลงานการประพันธ์ดนตรีของเขาเอง ซึ่งเขาอำนวยเพลงด้วยตนเอง แต่ก่อนจะไปถึงบทเพลงนั้น มีบทเพลงเดี่ยวฟลุต (Flute) ที่เรียกได้ว่า “ขั้นเทพ” (Virtuoso) ที่น่าทึ่งมากบรรเลงก่อน นั่นคือบทเพลง “Carnival of Venice” ผลงานการประพันธ์โดย “ปอล เชแนง” (Paul-Agricole Genin) นักแต่งเพลงและศิลปินเดี่ยวฟลุตชาวฝรั่งเศสในปลายยุคโรแมนติก บทเพลงนี้บรรเลงเดี่ยวฟลุตโดย “บัณณพัฒน์ ตั้งไพบูลย์” ซึ่งโดยปกติแล้วเขาเป็นนักฟลุตแห่งวง “ไทยแลนด์ฟิลฮาร์โมนิก” ไม่ต้องสงสัยในความยากแบบผิดธรรมชาติของบทเพลงประเภทนี้ ที่แต่งขึ้นโดยนักเล่นเครื่องดนตรีชนิดนั้นเองโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไว้ใช้บรรเลงอวดฝีมือตัวเองในคอนเสิร์ตต่างๆ ซึ่งนี่เป็นวิถีแห่งดนตรีตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 17 จนถึงราวต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งนักดนตรีฝีมือเยี่ยมขั้นเทพจะมีความสามารถแต่งเพลงไว้อวดฝีมือตัวเอง หลังจากศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา บทบาท, หน้าที่ของศิลปินเดี่ยวเครื่องดนตรีกับนักแต่งเพลงก็แยกขาดจากกันไปโดยปริยาย

Advertisement

ถ้าไม่มีโอกาสแบบนี้เราคงไม่มีโอกาสได้ชมฝีมือในระดับขั้นสูงจากนักเป่าฟลุตชาวไทยผู้นี้แน่ นี่คือคุณูปการอันสำคัญของวงดนตรีวงนี้อันน่าชื่นชม แค่การเป่าลากเสียงยาวและพรมนิ้ว (Trill) ขึ้นมาในตอนต้นก็คงทำให้ผู้ชมอ้าปากค้างได้แล้ว ทำไมลากเสียงยาวได้ขนาดนั้น ไปเอาพลังลมหายใจมาจากไหน (มีปอดสำรองรึเปล่า?) บทเพลงเต็มไปด้วยลักษณะของ “Cadenza” (ช่วงเดี่ยวอวดเทคนิคฝีมือขั้นสูงโดยวงหยุดบรรเลง หรือบรรเลงคลอเบาๆ) และการแปรทำนองหลัก (Variations) ที่พิสดารพันลึก อวดเทคนิคแบบแทบจะไม่ให้มีช่วงหยุดหายใจอย่างไร้ความปรานี เราจะได้ชมศักยภาพของนักเป่าฟลุตชาวไทยแบบนี้ได้อย่างไรถ้าไม่มีวงดนตรีแห่งมิตรภาพแบบนี้รองรับ คงไม่ใช่บัณณพัฒน์เพียงคนเดียว นักดนตรีที่พร้อมจะฝึกฝนพัฒนาตัวเองขึ้นมาจนในระดับนี้เพียงแต่คำว่าโอกาสเท่านั้นที่พวกเขารอคอย

บทเพลง “ราชดำเนิน” ที่ประพันธ์โดย ดร.วานิช โปตะวนิช แสดงถึงความสามารถในการประพันธ์เพลงแบบก้าวกระโดดที่นึกไม่ถึง โดยปกติเขาคือวาทยกรและนักเป่าทรัมเป็ตประจำวง RBSO ความสามารถในการอำนวยเพลงของเขาเป็นที่ประจักษ์มานานพอควรแล้ว แต่ในครั้งนี้เขาได้เผยความสามารถในด้านการเป็นนักแต่งเพลงได้อย่างน่าทึ่ง ดูแค่ชื่อบทเพลงก็คงพอจะรู้ความนัยบางอย่างถึงลักษณะการเป็น “ดนตรีพรรณนา” (Program Music) และมันก็เป็นนัยเชิงการเมืองที่สะท้อนถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬบนถนนราชดำเนินในปี พ.ศ.2535 คุณค่าแห่งบทเพลงประเภทนี้ประการหนึ่งก็คือไม่ว่าผู้ชมจะรู้เรื่องราวเบื้องหลังการประพันธ์หรือไม่ ตัวเสียงดนตรีล้วนๆ ก็ควรจะสามารถสื่อสารกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟังได้เป็นอย่างดีด้วยตัวของมันเอง (ไม่ต้องพึ่งคำบรรยาย) ในประเด็นนี้เขาประสบความสำเร็จแล้ว บทเพลงของเขาพูดคุยสื่อสารกับผู้ชมได้อย่างดีด้วยภาษาดนตรีล้วนๆ ในตัวของมันเอง มีการใช้เสียง “แตรเคารพ” นอกเวที (Off stage) หลังม่านนับเป็นแนวคิดที่น่าสนใจทีเดียว ภาพฉากการสลายการชุมนุมด้วยเสียงปืนอันกึกก้องสื่อสารได้อย่างชัดเจนในจินตนาการ (อาจจะหยิบยืมแนวคิดบางอย่างมาจากซิมโฟนีหมายเลข 11 ของชอสตาโควิชมาหรือไม่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หากแต่เขาจัดวางใหม่ได้ลงตัวในรูปแบบใหม่ของเขาเอง) ในตอนท้ายเพลงแนวทำนองทั้งหมดประดังถาโถมเข้ามาอย่างสลับซับซ้อน แนวทำนองต่างๆ ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ อย่างน่าทึ่งน่าสนใจทีเดียว หากในวันข้างหน้าจะนำไปเรียบเรียงให้บรรเลงด้วยวงซิมโฟนีออเคสตราวงใหญ่ เราต้องนับบทบาทใหม่ของเขาในฐานะนักแต่งเพลงได้อย่างสมศักดิ์ศรีแล้ว

คอนเสิร์ตครั้งนี้ (หรืออีกหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาและกำลังจะมีขึ้น) ได้บ่งชี้นัยสำคัญแห่งความเป็นประชาคมดนตรีในอุดมคติ ผู้ใหญ่บางคนที่อาจยังมีอคติเกี่ยงงอนไม่มีความต้องการฟังเสียงวงเครื่องเป่าเพราะกลัวว่าจะดังหนวกหูเกินไป ก็คงต้องปล่อยให้เสียโอกาสในการเสพดนตรีดีๆ ต่อไป ซิมโฟนีทั้งหลายในปลายยุคโรแมนติกอย่าง Mahler ,Bruckner หรือ R.Strauss มีสีสันมีชีวิตชีวาน่าฟังก็เพราะเสริมด้วยกลุ่มเครื่องเป่าอย่างมหึมานั่นเอง ดนตรีเป็นเรื่องของความจริงใจต่อศิลปะ รักเสียงดนตรีโดยแท้จริงมิใช่ทัศนคติเก่าๆ ตกยุคที่ฟังดนตรีคลาสสิกก็เพียงเพื่อแสดงว่าตนเป็นคนมีรสนิยม น่าชื่นชมชื่นใจเป็นอย่างมากที่ดูๆ แล้วยังมีกลุ่มนักธุรกิจแบบ “ผู้ใหญ่ใจดี” สนับสนุนกิจกรรมของพวกเขาอยู่เนืองๆ

ท่านใดอ่านบทความนี้แล้ว ชักอยากจะลองไปฟังคอนเสิร์ตของวงดนตรีประเภทนี้ดูบ้าง ผู้เขียนใคร่ขอเรียนเชิญท่านที่สนใจไปชมคอนเสิร์ตครั้งต่อไปของพวกเขาได้ โดยครั้งนี้จะจัดขึ้นในค่ำวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2565 นี้ เวลา 19.00 น. ณ หอแสดงดนตรีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิเศษสุดในครั้งนี้พวกเขาได้เชิญ ศิลปินหัวหน้ากลุ่มทรอมโบนในวงออเคสตราชั้นนำมาร่วมงานด้วย ทั้ง “ซามูเอล อาร์มตรอง” (Samuel Armstrong แห่งวงสิงค์โปร์ซิมโฟนีฯ) รวมถึง “มาร์ติน ชิปเปอร์ส” (Martin Schippers จากวง Concertgebouw Orchestra Amsterdam ที่ได้รับการจัดอันดับวงเป็นที่หนึ่งของโลก) ผู้เขียนจึงปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ผู้รัก “ดนตรีดีๆ” ทุกท่านมีโอกาสไปร่วมเปิดประสบการณ์รับชมวงดนตรีแห่งประชาคมดนตรีนี้และติดตามกิจกรรมการแสดงดนตรีของพวกเขาต่อๆ ไปทางเพจเฟซบุ๊ก “Million Wind Philharmonic”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image