โคมระย้าแห่ง ‘มหิดลสิทธาคาร’ อวดรสนิยม ด้วยภูมิปัญญา 800 ปี

การติดตั้งโคมไฟระย้า (chandelier) บริเวณโถงของ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งคิดขึ้น แต่เป็นโครงการที่ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ตั้งใจทำนานแล้วตั้งแต่เริ่มก่อสร้างสิทธาคาร

หากมีคนถามว่าทำไมต้องสร้างแชนเดอเลียร์ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ให้คำตอบที่แฝงแง่คิดว่า

“แชนเดอเลียร์ค่อนข้างจะหรูหรา อู้ฟู่ แปลเป็นไทยได้ว่า ‘ฟุ้งเฟ้อ’ สำหรับสังคมไทย แต่ขณะเดียวกัน มันอวด ‘ความมีรสนิยม’ ความเป็นสถาปัตยกรรมชั้นนำของโลก… ซึ่งความรู้สึก ‘โอ้ ว้าว สวยจังเลย ดีจังเลย สุดยอด’ สิ่งเหล่านี้ไม่อยู่ในสารบบความคิดของคนไทย”

รศ.ดร.สุกรี เขียนไว้ในบทความ ‘พ่ออุ้มลูก ประติมากรรมฉลอง 70 ปี ครองราชย์’ ซึ่งตีพิมพ์ใน นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 ตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“โถงด้านหน้าอาคารมหิดลสิทธาคารจะติดตั้งโคมไฟระย้า โดยการปั้นแสงดวงไฟให้เป็นรูปเซลล์สมองของมนุษย์ เพื่อที่จะเพิ่มความอลังการหรูหราให้กับอาคารมหิดลสิทธาคาร รายการแสดงดนตรีของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ก็จะดึงดูดคณะทูตจากประเทศต่างๆ เข้ามาชมการแสดงดนตรี ท่านทูตทั้งหลายก็เป็นแฟนเพลงประจำ ทูตของแต่ละประเทศต่างพยายามเสนอความช่วยเหลือ เสนอสินค้าและสิ่งที่ดีๆ ให้ เสนอข้อแนะนำที่ถือว่าเป็นมาตรฐานสากล เสนอข้อแลกเปลี่ยนนักดนตรีเพื่อพัฒนาให้วงดนตรีเป็นทูตทางวัฒนธรรม

“ท่านทูตจากสาธารณรัฐเชกเสนอให้ติดตั้งโคมไฟระย้า ที่ออกแบบโดยช่างจากประเทศของท่าน ซึ่งกรุงปรากได้ชื่อว่ามีช่างทำโคมไฟระย้าสวยงามยิ่ง มีความเป็นมายาวนาน”

หลังจากร่วมพูดคุยกับทีมงาน LASVIT บริษัทผู้ผลิตและออกแบบแชนเดอเลียร์ประจำประเทศสิงคโปร์ รศ.ดร.สุกรีและทีมงานจึงมุ่งหน้าสู่เมือง Novy Bor ในเขต Liberec ทางตอนเหนือของสาธารณรัฐเชก ดินแดนโบฮีเมียซึ่งมีอุตสาหกรรมเป่าแก้วที่ดำเนินการมายาวนานเกือบพันปี

Advertisement

“ได้เห็นว่าตลอดเวลากว่า 800 ปี กระบวนการเป่าแก้วไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นงานศิลปะ เป็นการนำดิน น้ำ ลม ไฟ มาสร้างงานด้วยมือคน (Manmade) ‘ดิน’ คือ นำหิน นำทรายมาจากดิน บดให้ละเอียด แล้วเผาด้วย ‘ไฟ’ เป่าด้วย ‘ลม’ และใช้ ‘น้ำ’ ในการเปลี่ยนให้รูปเป็นอย่างที่ต้องการ โรงงานของเขาอยู่ในป่าบนเขา ละแวกนั้นมีโรงเรียน โรงพยาบาล ร้านอาหาร เพื่อให้ลูกๆ คนเป่าแก้วเห็นวิถีของพ่อแม่ ในที่สุดลูกๆ ก็สืบทอดการเป่าแก้ว จากรุ่นสู่รุ่น จากชุมชนขยายเป็นอำเภอ มีการเป่าแก้วหลากหลายชนิด”

“หัวใจสำคัญคือ เขาทำงานคุณภาพ ทำงานเพราะเป็นวิถีชีวิต และไม่เคยทรยศคุณภาพชีวิตของเขาเลย แล้วยังสอนลูกหลานให้เป็นคนมีคุณภาพ เมื่องานมีคุณภาพแล้วคนจะมาซื้อ จึงสามารถขายสินค้าให้คนทั้งโลก เหล่านี้ทำให้เขาดำรงอยู่ได้” รศ.ดร.สุกรีอธิบายให้เห็นภาพ

ยาน่า รูซิโคว่า (Jana Ruzickova) ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของ LASVIT ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้รับผิดชอบการออกแบบโคมระย้าของสิทธาคาร เกริ่นว่า ผลงานที่เราสร้างขึ้นมีทั้งแก้วและคริสตัล เป็นวัสดุมหัศจรรย์ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมเชกและวัฒนธรรมโบฮีเมียน และเป็นที่รู้กันดีว่าของดีเมืองเชกคือ 1)เบียร์ 2)ทีมไอซ์ฮอกกี้ และ 3)คริสตัลโบฮีเมีย

นั่นทำให้ LASVIT เป็นส่วนผสมอันลงตัวระหว่าง ‘Glass & Light’

“สิทธาคารเป็นสถานที่สุดมหัศจรรย์และเราต้องการเพิ่มคุณค่าในการฟังเพลงที่นี่ มองว่าโคมไฟระย้าที่เราออกแบบและสร้างขึ้นนั้นเป็นเหมือนผืนผ้าใบ เพราะจะมีการออกแบบแสง ให้เปลี่ยนแปลงไปตามจังหวะเพลง (Dynamic lighting effect) ที่กำลังบรรเลงในสิทธาคาร”

ส่วนลูคัส เคอร์นี (Lukas Cerny) ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการของ LASVIT ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า งานออกแบบของ LASVIT แต่ละชิ้นจะต้องสะท้อนเรื่องราวเบื้องหลัง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมท้องถิ่น เราไม่ใช่แค่ต้องการแขวนอะไรบางอย่างไว้กับเพดาน แต่ต้องการเชื่อมโยงและเป็นหนึ่งเดียวกับสิทธิคาร

“เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยมหิดล 5 ครั้งแล้ว ครั้งแรกคือเมื่อปีที่แล้วเพื่อประชุมกับทีม A49 ผู้ออกแบบสิทธาคาร เขาอธิบายแรงบันดาลใจของอาคารว่ามาจากโครงกระดูกของมนุษย์ที่สะท้อนว่ามหาวิทยาลัยมหิดลเป็นโรงเรียนแพทย์ที่สำคัญของเมืองไทย นั่นทำให้ร่างสุดท้าย (final design) ของแชนเดอเลียร์ออกมาเป็น “Neuron” (เซลล์สมอง) ”

“1.คำขวัญมหาวิทยาลัยมหิดล ‘Land of Wisdom’ คือ 1 ในแรงบันดาลใจ 2.การติดตั้งนิวรอน เราใช้หลอดไฟแบบไดนามิกเป็นลูกบอลอยู่ในคริสตัล เพื่อสร้างการเคลื่อนไหวของดวงไฟ และ 3.เรารู้ว่ามหาวิทยาลัยเป็นศูนย์รวมและศูนย์กลางของความรู้ของมนุษย์ จึงอยากให้คนที่มาประทับใจกับเซลล์แห่งความรู้ (Neuron of knowledge) ที่เราสร้างขึ้น”

ริชาร์ด ราล์ปส์ (Richard Ralphs) อาจารย์ใหญ่หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี คณะกรรมการอาคารมหิดลสิทธาคาร เล่าว่า ก่อนที่โครงการจะผ่านการอนุมัติ ต้องพูดคุยกับทีมสถาปนิกจาก A49 ซึ่งเป็นผู้ออกแบบสิทธาคาร เพื่อศึกษาโครงสร้างของอาคารร่วมกันกับทีมนักออกแบบจาก LASVIT เราทำงานร่วมกันก่อนที่จะสรุปแนวคิดว่าแชนเดอเลียร์ควรออกมาหน้าตาแบบไหน

“ทั้งอาคารเปรียบเสมือนร่างกาย และถ้าเราใส่ Neuron ลงไปตรงการของสิทธาคาร สำหรับพวกเราแล้วจะทำให้โรงมหรสพแห่งนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมา” ริชาร์ดกล่าว

และอธิบายเพิ่มเกี่ยวกับระบบการออกแบบแสงของโคมไฟว่า ระบบเสียงภายในสิทธาคารได้รับการออกแบบโดยบริษัทด้านเสียงระดับแถวหน้าของเยอรมนี ดังนั้นระบบเสียงของเราจึงดีเยี่ยม มีไมโครโฟนตัวเล็กๆ ฝังอยู่ในหอแสดง ซึ่งการออกแบบการเคลื่อนไหวของแสงแชนเดอเลียร์จึงไม่ใช่เรื่องยาก …

“เซลล์สมองจำนวน 328 เซลล์ แต่ละเซลล์มีประมาณ 5 แขนง แต่ละแขนงยาว 60-80 ซม. ความกว้างของแชนเดอเลียร์ประมาณ 15 เมตร ลึก 8 เมตร ยาว 31 เมตร ห้อยลงมาจากเพดาน แต่ละชิ้นมีอิสระของมัน”

“ที่น่าสนใจคือ ตรงกลางของแต่ละดวงจะมีขนาดประมาณ 10 ซม. แขนของแชนเดอเลียร์เป็นสีเทาๆ พอไฟติดจะมองไม่เห็นแขนแต่ไปสว่างที่ปลาย ซึ่งน่าสนใจมาก ฉะนั้น พอเปิดไฟแล้ว 328 ดวง จะกลายเป็นดวงดาวเต็มท้องฟ้า เป็นเซลล์สมองระยิบระยับ… เหมือนทำโคมไฟระย้าย้อยสวยงาม (หัวเราะ) คือ ปั้นแสงให้เป็นลำ ปั้นแสงให้เป็นตัว”

“ชีวิตเรามันสั้น เดี๋ยวก็ตายแล้ว แต่ว่างานที่เราสร้างขึ้นมันสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของประเทศไทยได้” รศ.ดร.สุกรีทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image