‘พจนานุกรมสร้างชาติ’ ตีแผ่อุดมการณ์รัฐไทย ในมือราชบัณฑิต

ได้รับความสนใจตั้งแต่ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ สำหรับ พจนานุกรมสร้างชาติ : อุดมการณ์รัฐไทยในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ผลงาน ดร.มานิตา ศรีสิตานนท์ เหลืองกระจ่าง อาจารย์สถาบันวิจัยพัฒนาและสาธิตการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เนื้อหาว่าด้วยอุดมการณ์รัฐไทยที่แฝงอยู่ในถ้อยคำที่พูด และข้อเขียน ซึ่งผู้เขียนจะพาผู้อ่านสำรวจประวัติศาสตร์พจนานุกรมในประเทศไทยไปกับราชบัณฑิตยสถาน หนังสืออ้างอิงหลักทางภาษาเล่มสำคัญของไทยที่ไม่เพียงทำหน้าที่กำหนดกฎเกณฑ์การใช้ภาษาไทยอย่างเป็นระบบเท่านั้น แต่ยังสร้างภาษาไทยมาตรฐานที่อนุรักษ์ความเป็นไทย ตลอดจนสอดแทรกอุดมการณ์ 3 เสาหลักของชาติ ผ่านภาษาไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ถูกปรับเปลี่ยนความหมายให้สอดรับกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งผันแปรตามยุคสมัย

บ่ายวันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในบรรยากาศสบายๆ ของ เทศกาลหนังสือ Books & Beer 2022 อ่านและดื่มอย่างรื่นรมย์ ณ ตึกสิงห์ คอมเพล็กซ์ มีการจัดเสวนาชื่อเดียวกับหนังสือ มากมายด้วยประเด็นน่าสนใจชวนให้เปิดทีละหน้า อ่านทีละบรรทัด ซึมซับในทุกถ้อยคำ เน้นย้ำว่าพจนานุกรมไม่ใช่แค่เอาไว้เปิดเช็กการสะกดคำและความหมาย หากแต่มีที่มาที่ไปซึ่งชวนให้ขบคิดมากไปกว่านั้น

  • ถอดรหัส ‘พจนานุกรม’ ไม่ได้มีไว้แค่ดูคำแปล-เช็กสะกดคำ

“ถ้าพูดถึงพจนานุกรม หลายคนอาจคิดแค่ว่าเป็นแหล่งอ้างอิงทางภาษา ซึ่งจะเปิดก็ต่อเมื่อไม่รู้ว่าคำศัพท์นี้หมายความว่าอย่างไรหรือสะกด เขียนอย่างไร หน้าที่ของพจนานุกรมส่วนใหญ่เราจะมองแค่นั้น แต่ถ้าไปดูการศึกษาพจนานุกรมในงานต่างประเทศ มีการโยงพจนานุกรมไปถึงฐานะอื่นๆ เช่น กลไกการปกครอง
ของรัฐ พจนานุกรมกับรัฐอาณานิคม หรือพจนานุกรมในฐานะเครื่องมือสำหรับการสร้างชาติ เพราะฉะนั้นจึงได้มองว่าพจนานุกรม หนึ่งคือเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจอยู่แล้ว” ดร.มานิตาเกริ่นนำ

Advertisement

จากนั้นชวนให้เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าหน้าแรกๆ มีคำประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรีว่าเมื่อตีพิมพ์ออกมาแล้ว ต้องอ้างอิงคำศัพท์ เขียนตัวสะกดหรือคำนิยามการออกเสียงต่างๆ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งทำให้เห็นมิติของภาษาที่มากไปกว่าแหล่งอ้างอิงทางภาษา ทำให้สิ่งที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานมีความน่าสนใจ

“ถ้าเราดูในตัวของราชบัณฑิตยสถานในฐานะที่เป็นองค์กรจะพบว่าได้รับการสถาปนามาหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เกิดขึ้นโดยคณะราษฎรเพื่อแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของรัฐชาติสมัยใหม่ และเป็นสิ่งที่เชิดชูเกียรติชาติว่าระบบระบอบใหม่ของสังคมในตอนนั้น หน้าที่ราชบัณฑิตยสถานตอนนั้นคือมีไว้เพื่อเป็นองค์กรนักปราชญ์ เป็นองค์กรแห่งความรู้ เพราะสมัยนั้นถ้ามองดูประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย หรือฝรั่งเศส จะมีสถาบันองค์กรความรู้เพื่อสร้างความรู้ให้กับสังคม และในส่วนของราชบัณฑิตยสถาน ผลงานชิ้นเอกคือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจะเห็นว่าจากที่มีประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรีมารองรับให้ทุกคนใช้ตาม

หรือแม้กระทั่งเมื่อไปดูการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของคำศัพท์ การนิยามคำศัพท์ เราจะเห็นว่าบางฉบับมีการเพิ่มตัวอย่างบางอย่างเข้าไปที่สะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ของรัฐชาติ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ชาติ ฉบับล่าสุดจะมีการเพิ่มตัวอย่างเข้าไป คือ คำว่า ชาติ หมายถึงประเทศ คนที่มีสำนึกเดียวกัน นี่เป็นสิ่งที่ราชบัณฑิตยสถานเป็นผู้กำหนดว่าเราควรรู้อะไร รู้แค่ไหน รู้อย่างไร ถึงได้เป็นที่มาของการที่ทำไมพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานถึงเป็นพจนานุกรมสร้างชาติ

Advertisement

ชาติในที่นี้อาจไม่ใช่ประเทศชาติที่เราคิดกัน แต่เป็นสำนึกของความเป็นชาติ จินตกรรมของความเป็นชาติที่สร้างฐานจินตภาพของภาษา ซึ่งคือภาษามาตรฐานแบบราชบัณฑิตยสถานนั่นเอง

แต่ถ้าลองเปรียบเปรยชาติกับราชบัณฑิตยสถาน อาจมองว่าราชบัณฑิตยสถานเป็นเหมือนกับสภาภาษาที่คอยออกกฎ ควบคุม กำกับพลเมืองว่าจะต้องรู้อะไรบ้างผ่านพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นธรรมนูญทางด้านภาษา เพื่อให้พลเมืองมีลักษณะเป็นไปตามที่รัฐชาติต้องการนั่นเอง” ดร.มานิตาอธิบายอย่างละเอียด

  • เอกซเรย์ ‘ราชบัณฑิต’ คณะราษฎรสถาปนา หวังสื่อจิตวิญญาณ ‘รัฐชาติสมัยใหม่’

ในตอนหนึ่ง ดร.มานิตา ยังกล่าวถึงประเด็นบทบาทของราชบัณฑิต ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการสถาปนาโดยคณะราษฎรหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เพื่อแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของรัฐชาติสมัยใหม่ และเป็นสิ่งที่เชิดชูเกียรติชาติว่า ระบบระบอบใหม่ของสังคมขณะนั้น

“หน้าที่ราชบัณฑิตยสถานตอนนั้นคือมีไว้เพื่อเป็นองค์กรนักปราชญ์ เป็นองค์กรแห่งความรู้ เพราะสมัยนั้นถ้ามองดูประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย หรือฝรั่งเศส จะมีสถาบันองค์กรความรู้เพื่อสร้างความรู้ให้กับสังคม และในส่วนของราชบัณฑิตยสถาน ผลงานชิ้นเอกคือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจะเห็นว่าจากที่มีประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรีมารองรับให้ทุกคนใช้ตาม

นับตั้งแต่สถาปนาราชบัณฑิตยสถานอย่างเป็นทางการ เราเห็นถึงอำนาจในการกำหนดภาษามาตรฐาน เพื่อสถาปนาภาษาประจำชาติของราชบัณฑิตมาโดยตลอดผ่านทางพจนานุกรม และนอกจากพจนานุกรมที่ประกาศใช้ตัวสะกดการออกเสียงต่างๆ ราชบัณฑิตยสถานยังทำงานเกี่ยวกับเรื่องการถอดเสียงภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย การทับศัพท์หรือแม้การสร้างคำใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในสังคม เพียงแต่การทำงานของราชบัณฑิตยสถานมีวิธีการขั้นตอนของเขาที่เขียนออกมาว่าทำอย่างไรบ้าง เช่น การเทียบเสียงที่จะไม่ใส่ตัววรรณยุกต์ เวลาเทียบเสียงมาเป็นภาษาไทย เพราะฉะนั้นมันไม่ได้สะท้อนสิ่งที่ใช้จริงในสังคม แต่เป็นการสะท้อนสิ่งที่ราชบัณฑิตยสถานได้วางระเบียบไว้

เช่น ‘โคมา’ อาจแปลว่าอาการวิกฤต หรือวัวกำลังมาก็ได้”

  • ‘สมัคร’ชิมไปบ่นไป ใช้นิยาม‘ลูกจ้าง’จากราชบัณฑิต ไม่ใช่ประมวลกฎหมาย

อีกประเด็นน่าสนใจที่แม้ไม่ใช่ความรู้ใหม่ แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้ นั่นคือ กรณีอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ที่ถูกตัดสินให้พ้นตำแหน่งเมื่อปี 2551 โดยการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จากการเป็นพิธีกรในรายการโทรทัศน์ ‘ชิมไปบ่นไป’ โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ห้ามนายกฯมีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด หากมีการกระทำตามมาตรานี้จะทำให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182(7)

“ความสำคัญของราชบัณฑิตยสถานอีกอย่างที่สำคัญคือ การนำพจนานุกรมไปใช้ตัดสินคดีความศาล เช่น กรณี นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทำรายการชิมไปบ่นไป มีคนร้องเรียนว่าเป็นนายกฯ แต่เป็นลูกจ้างให้รายการ ศาลไม่ได้อ้างอิงคำนิยามว่า ลูกจ้าง ประมวลกฎหมายแพ่ง พาณิชย์ แรงงานหรือ
ภาษีอากร แต่ศาลอ้างตามนิยามราชบัณฑิต ที่นิยามว่าลูกจ้างหมายถึงลูกจ้างทำงาน ผู้ตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง เพราะฉะนั้นการทำรายการชิมไปบ่นไปของนายสมัครจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ ห้ามให้นายกรัฐมนตรีไปเป็นลูกจ้างของบุคคลใด

อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมราชบัณฑิตยังสำคัญต่อหน่วยงานราชการ โรงเรียน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ที่ยังต้องอิงตามราชบัณฑิต จะเห็นว่ามีการตั้งสเตตัสการใช้ คะ ค่ะ ส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของภาษาไทยมาตรฐาน ถ้าไม่ใช่ความสำคัญของมาตรฐานคงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น” ดร.มานิตากล่าว

สำหรับประเด็นปรับตัวของราชบัณฑิตให้สอดรับกับเรื่องเหล่านี้ ดร.มานิตากล่าวว่า ภาษามีเกิด สร้างขึ้น ดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่ในฐานะคนสนใจด้านภาษา ควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมว่ามีคำศัพท์อะไรเกิดขึ้นเพราะอย่างไร เกิดขึ้นเพราะสังคม ประวัติศาสตร์ การทำงานของราชบัณฑิตเท่าที่ทราบมา ประชุมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง อาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภาษา อาจไม่มีใครดูว่าภาษาที่ใช้ในสังคมมีศัพท์ใหม่อะไรเกิดขึ้น ก่อนเข้าวาระประชุมอาจเลิกใช้ไปแล้ว ปัจจุบัน 2564 ตอนนี้ 2565 อาจมีบางคำถูกเลิกใช้ไปแล้ว พจนานุกรมอาจมีลักษณะใหม่ๆ เป็น open source ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งตอนนี้พจนานุกรมออนไลน์เสิร์ชหาแล้วไม่มีคำ จะมีให้เสนอคำใหม่ให้ราชบัณฑิตพิจารณาใหม่ เพียงแต่อาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภาษาที่เกิดขึ้นในสังคม

ดร.มานิตากล่าวว่า สำหรับหนังสือ พจนานุกรมสร้างชาติ ตนอยากลองเปิดประเด็นให้ได้มองพจนานุกรมในรูปแบบใหม่ ให้ลองมองพจนานุกรมในฐานะที่เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองสังคม ไม่ได้มองว่าใช้เพียงแค่สำหรับผู้ใช้หรือเรียนภาษาเท่านั้น หวังว่าจะสร้างบทสนทนาให้กับผู้อ่านว่าครั้งหนึ่งเคยอ่านพจนานุกรมแค่นิยามความหมายแล้วจบไป แต่หวังว่าเล่มนี้น่าจะจุดประกายให้เห็นอะไรไปมากกว่าความหมาย มีนิยามมากมาย อาจมองย้อนไปถึงคณะผู้จัดทำคือใคร มีอุดมการณ์ทางภาษาอย่างไร และจะเลือกฉบับไหนอ้างอิงกันแน่ เพื่อให้เราเห็นว่าเวลาที่ใช้ภาษาเราควรมีสำนึกเกี่ยวกับภาษาอย่างไร เลือกแบบไหนที่สอดคล้องกับความต้องการหรือเสนออุดมการณ์ทางภาษาอย่างไรต่อไป

“ถ้าสนใจในเรื่องพัฒนาการทางภาษาควบคู่กับการอ่านสังคมพัฒนาการประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง น่าจะสนใจเล่มนี้ หรือคนที่สนใจของคณะราษฎร 2475 และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่สนใจบทบาทของภาษาต่อสังคม หรือครูสอนภาษาไทยที่ถือว่าเป็นผู้ใช้พจนานุกรมหลัก เผื่อจะได้มองเห็นสิ่งที่ใช้ในการเรียนการสอน กำลังมีส่วนช่วยให้ส่งเสริมความรุนแรงทางการเมืองของภาษา
หรือไม่ หรือสร้างความตระหนักต่อการใช้ภาษาอย่างไร”

  • ชำแหละพจนานุกรมมติชน เรียก‘ฉบับนอกรีต’ เมินขีดเส้นแบบแผน อธิบายภาษาที่ใช้จริง

ปิดท้ายด้วยประเด็นอันเกี่ยวเนื่องกับพจนานุกรมที่จัดทำขึ้นโดยเครือ ‘มติชน’ อย่าง ‘พจนานุกรมฉบับมติชน’ ซึ่งรวบรวมนักปราชญ์จัดทำขึ้น โดยตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2547

ดร.มานิตา กระซิบบนเวทีว่า หนังสือ ‘พจนานุกรมสร้างชาติ’ ที่ตนเขียนขึ้น มีการกล่าวถึงพจนานุกรมฉบับดังกล่าว รวมถึงพจนานุกรมของ สอ เสถบุตร (หรือเศรษฐบุตร) ด้วย

“ในเล่มนี้จะพูดถึงพจนานุกรมของมติชน ซึ่งเรียกว่าพจนานุกรมฉบับนอกรีต และพจนานุกรมของ สอ เสถบุตร เป็นสนามของพจนานุกรม เวลาที่เรามีพจนานุกรมหลักของชาติ ทำไมต้องมีพจนานุกรมฉบับอื่นๆ ด้วย แสดงว่าพจนานุกรมหลักไม่สนองความต้องการของผู้ใช้ภาษาหรือของชุมชนภาษานั้นๆ หรือไม่ ถึงต้องมีตัวเลือกอื่นๆ เข้ามาให้ผู้ใช้ภาษาได้มีความหลากหลายในการเลือกมากขึ้น

ความแตกต่างของพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานกับของมติชน คือ พจนานุกรมฉบับมติชนไม่ได้ต้องการกำหนดแบบแผน แต่ต้องการที่จะอธิบายภาษาอย่างที่ควรจะเป็นอย่างที่มีการใช้ในสังคม เพราะฉะนั้นจะเห็นว่านิยามบัญญัติไม่เหมือนกับราชบัณฑิตยสถาน หรือพจนานุกรมฉบับมติชนจะมีศัพท์ที่ใช้ในสังคมขณะนั้น แต่ไม่มีในพจนานุกรมหลัก เช่น จ๊าบ ซึ่งมองว่าเป็นศัพท์สแลง แต่มติชนมองว่าเป็นสิ่งที่เราใช้จริงในสังคม เพราะฉะนั้นมันควรอยู่ในนั้นด้วย

ส่วนของพจนานุกรมของ สอ เสถบุตร เป็นหนึ่งในพจนานุกรมที่พูดถึงในหนังสือเล่มนี้ เพราะทำให้เห็นถึงอุดมการณ์ทางภาษาของผู้เขียน เช่น การเลือกใช้ประโยคตัวอย่างภาษาอังกฤษสื่อให้เห็นถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

พจนานุกรมที่จัดทำโดยเอกชนจะขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ทางภาษาของผู้จัดทำ สำหรับพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน เรียกง่ายๆ ว่าเป็นแบบ ไทยกรุงเทพฯ แต่ฉบับมติชนคือที่ใช้ในสังคม ส่วนพจนานุกรมของ สอ เสถบุตร อาจเป็นส่วนของผู้เขียนว่าเขามองภาษาอย่างไร มีอุดมการณ์ทางการเมืองทางภาษาอย่างไรบ้าง” ดร.มานิตากล่าวก่อนทิ้งท้ายว่า

หวังว่าหนังสือ พจนานุกรมสร้างชาติ น่าจะสร้างบทสนทนาให้ภาษามาตรฐานว่าควรเป็นอย่างไร แต่คงต้องมีมาตรฐานในเรื่องการเขียน เรื่องการสะกด ไม่เช่นนั้นอาจเข้าใจกันคลาดเคลื่อน แต่สำหรับนิยามควรปล่อยให้สังคมมีส่วนร่วมในการกำหนดหรือไม่ เพราะสิ่งที่พูดอาจไม่ตรงตามที่ราชบัณฑิตยสถานนิยามไว้ นอกจากนี้ บทบาทพจนานุกรมอาจต้องเปลี่ยนไป การครอบงำความคิดว่าต้องรู้จักคำนี้อย่างไร นิยามและใช้ภาษาอย่างไร

ควรที่จะเปิดรับความหลากหลายของภาษาให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้เห็นภาษาที่ใช้จริงมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image