นกการเวก เมตาเวิร์ส เปิดบ้านนายแพทย์บุญส่ง สู่โลก ‘ธรรมชาติประดิษฐ์’

ลิ้นชักความทรงจำและประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงชีวิตนายแพทย์บุญส่ง

“เราได้คิด ได้เห็น เราเชื่อมโยงคนได้หลายระดับ ในการทำความเข้าใจกับเบื้องลึกเบื้องหลังของสถานที่นี้”

นักรบ มูลมานัส ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานในนิทรรศการ Artificial Nature (ธรรมชาติประดิษฐ์) ร่วมกับ แมรี่ ภาคินี ศรีเจริญสุข ศิลปินอิสระ กล่าวเชิญชวนผู้คนให้ร่วมสัมผัสประสบการณ์ผ่านงานศิลปะภายใต้แนวคิดหลักยึดโยงกับสถานที่ย้อนรำลึกผลงานของนักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญของไทยอย่าง นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เนื่องด้วย ‘วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี’ (Warin Lab Contemporary) สถานที่จัดคือบ้านของผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ธรรมชาติ เจ้าของผลงานระดับตำนาน ‘ชีวิตของฉันลูกกระทิง’ 1 ใน 100 หนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน ตามการจัดอันดับของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

นับเป็นนิทรรศการที่หลอมรวมไว้ซึ่งธรรมชาติ งานศิลปะ ประวัติศาสตร์ อีกทั้งชีวประวัติของเจ้าของสถานที่เดิม เชื่อมร้อยกันอย่างลึกซึ้ง ชวนค้นหาในแบบที่ ‘คาดไม่ถึง แต่เข้าถึงง่าย’ โดยได้ Waiting You Curator หรือ ‘กลุ่มภัณฑารักษ์เชิงทดลอง’ นำโดย ดร.วิภาช ภูริชานนท์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เป็นคิวเรเตอร์

จากชิ้นเอก ‘ชีวิตของฉันลูกกระทิง’ สู่ เกมโอเพ่นเวิลด์

ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับบ้านหลังเก่าในวันวาน ที่ในวันนี้กลายเป็นพื้นที่ศิลปะซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง

Advertisement

สุคนธ์ทิพย์ นาคเกษม ผู้ก่อตั้ง วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี เล่าว่า นี่คือบ้านอายุ 100 ปี เจ้าของเดิมคือนายแพทย์บุญส่งผู้ผลักดัน พ.ร.บ.การอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.รักษาพันธุ์สัตว์ป่า กระตุ้นเตือนให้คนไทยหันมารักธรรมชาติ เลิกล่าสัตว์เพื่อความสนุก

“เจ้าของเดิมมีคุณูปการด้านสิ่งแวดล้อมกับประเทศไทยไว้มาก สิ่งที่ท่านเคยทำมา เราก็อยากทำต่อ โดยจะสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมต่อไปในแบบที่เป็นยุคสมัยนี้ เพราะฉะนั้นนิทรรศการนี้จึงเป็นหนึ่งในนิทรรศการที่พูดถึงสิ่งแวดล้อม” สุคนธ์ทิพย์เล่า

ด้าน ดร.วิภาช ผู้รับบทบาทคิวเรเตอร์ เสริมว่า เมื่อทราบว่าเป็นสถานที่ทำงานของนายแพทย์บุญส่งก็ตัดสินใจ ‘ทำทันที’

Advertisement
(จากซ้าย)ดร.วิภาช ภูริชานนท์, สุคนธ์ทิพย์ นาคเกษมและ นักรบมูลมานัส

“ช่วงยุคก่อนอินเตอร์เน็ต พื้นที่ทำให้เรารู้จักธรรมชาติมากที่สุดคืองานเขียนของนายแพทย์บุญส่ง จึงอยากให้นิทรรศการนี้กลับไปที่นายแพทย์บุญส่งในฐานะที่เป็นคุณูปการในการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติของทุกคน ชีวิตของฉันลูกกระทิง เป็นหนังสือสำหรับเยาวชนอ่านนอกเวลา ซึ่งทำให้เราเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น จากนั้นจึงคุยกับศิลปินและศึกษาผ่านการอ่านผลงานของนายแพทย์บุญส่ง ไปดูชุดสะสมของนายแพทย์บุญส่งที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งศิลปินทั้ง 2 คนก็กลับมาพัฒนาผลงานของตัวเองตามความสนใจ” ดร.วิภาชกล่าว

แมรี่ ภาคินี ศรีเจริญสุข

ก่อนนำไปสู่การนำชมในฐานะตัวแทน แมรี่ ภาคินี ว่า หลังจากศิลปินท่านนี้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ จึงพบว่าการสูญพันธุ์มาจากเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมไม่ใช่การล่า ทำให้สนใจการสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ที่มนุษย์สร้างในโลกดิจิทัล อย่าง เมตาเวิร์ส (Metaverse) นอกจากนี้ยังพัฒนาเกมขึ้นมาตัวหนึ่ง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ ชีวิตของฉันลูกกระทิง

“เป็นผลงานเกมโอเพ่นเวิลด์จำลองสภาพแวดล้อมเหมือนสมัยก่อนที่เราตื่นเต้นในการล่าสัตว์ แต่ปัจจุบันความรุนแรงนี้เกิดขึ้นในธรรมชาติประดิษฐ์ ศิลปินจึงสร้างเกมที่เราไปฆ่าไม่ได้ มีวิธีการเดียวคือการถูกฆ่าจากเสียงที่เหมือนฟ้าผ่า ให้รู้สึกว่าเราอยู่ในสภาวะใดอีกสภาวะหนึ่งซึ่งเราเป็นสัตว์ในธรรมชาติ เป็นการแปลความจากนายแพทย์บุญส่ง” ดร.วิภาชอธิบาย

สัตวาภิธานและเหรียญตรากระทรวงการคลังรูปนกการเวก

ความทะเยอทะยาน

อุดมการณ์จากบันทึก สืบ-ค้น-คว้า สู่งานศิลป์

จากนั้น นักรบ เล่าถึงกระบวนการทำงาน โดยยอมรับว่า ตอนได้รับโจทย์นี้ รู้สึกถึง ‘ความท้าทาย’ เพราะที่ผ่านมางานของตนไม่ได้เข้าไปโซนสิ่งแวดล้อมมากนัก หากแต่เน้นหนักไปทางประวัติศาสตร์ ไม่เพียงเท่านั้น ช่วงเวลาที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของนายแพทย์บุญส่ง ก็ดำเนินไปพร้อมกับช่วงที่ทำหนังสือ ‘เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากภาพถ่าย’ ซึ่งตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน พูดง่ายๆ คือ เป็นช่วงที่ทำงานหนักเอาการ

“หัวจะระเบิด ใช้เวลาค้นคว้านานเหมือนกัน นี่เป็นสิ่งที่ต่างไปจากสิ่งที่เราเคยทำ “สิ่งที่สนใจมากที่สุดคือ คู่มือดูนกในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนังสือเล่มสำคัญของนายแพทย์บุญส่ง สำหรับคนในยุคสมัย 50-60 ปีก่อนที่เทคโนโลยียังไม่มีพร้อม การที่มนุษย์คนหนึ่งจะไปรวบรวมนกที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 400-500 ชนิดได้สำเร็จและเป็นตำราดูนกเล่มแรก จึงน่าสนใจว่านายแพทย์บุญส่งทำงานอย่างไร สนใจในความทะเยอทะยานของเขา จึงกลับไปดูว่าคนไทยเริ่มจัดลำดับรวบรวมสัตว์รวบรวมนกตั้งแต่สมัยไหน โดยค้นพบว่าสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เริ่มมีคนทำเรื่องนี้แล้ว

แน่นอนว่าในเรื่องราวนั้นจะมีนกที่เรารู้จัก เช่น นกยูง นกกระจิบ นกกระจาบ แต่ยังมีการพูดถึงนกชนิดหนึ่งขึ้นมา ชื่อว่า นกการเวก ซึ่งมีความความซ้อนทับว่าเป็นนกในจินตนาการหรือเป็นนกจริงๆ เมื่อสืบหาเพิ่มเติมปรากฏว่านกการเวกเหมือนเป็นนกในป่าหิมพานต์ เป็นสัตว์ที่อยู่บนสวรรค์ มีเสียงที่ไพเราะ ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลายได้ฟังจะต้องเคลิบเคลิ้มและหยุดฟัง”

เปิดสัตวาภิธาน

อ่านพระอภัยมณีค้นไตรภูมิพระร่วง

นักรบ เล่าลึกลงไปในรายละเอียดว่า หลังเริ่มต้นที่ ‘คู่มือดูนกในประเทศไทย’ ยังค้นพบว่ามีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนกการเวกอีก เช่น ‘พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน’ ประพันธ์โดย พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ต้นสกุล อาจารยางกูร ตั้งแต่ พ.ศ.2427 เป็นตำราสมัยรัชกาลที่ 5 ยิ่งไปกว่านั้น ยังปรากฏย้อนไปถึงวรรณคดีเอกอย่าง ‘พระอภัยมณี’ ของ สุนทรภู่ และเก่าลงไปอีกขั้น นั่นคือ ‘ไตรภูมิพระร่วง’ ซึ่งระบุว่ามันเป็นสัตว์ในตำนาน

“เราไปสำรวจอดีต พบว่านกการเวกอยู่ในวรรณคดีต่างๆ ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 4 สยามเริ่มเปิดพรมแดนอย่างเต็มที่ มีความพยายามพิสูจน์ว่าสิ่งนี้มีจริง สิ่งนี้ไม่มีจริง นักธรรมชาติวิทยามาหาสิ่งที่มันแปลกประหลาด หรือสิ่งที่อาจมีค่าในสายตาของชาวตะวันตก ซึ่งเขาลงไปที่หมู่เกาะบอร์เนียว มีเรื่องราวของชนพื้นเมืองพูดถึงนกมหัศจรรย์ นกแห่งสวรรค์ชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะตรงนั้นแค่แห่งเดียว ปัจจุบันรู้จักกันในนาม Bird Of Paradise หรือนกปักษาสวรรค์ ซึ่งชาวตะวันตกสนใจนกชนิดนี้มาก” นักรบเล่า ก่อนเชื่อมโยงนกชนิดดังกล่าวกับนกการเวก

“ผมเชื่อว่าเรื่องเล่านี้ระบือไกลมาถึงเมืองไทย สุดท้ายมีคนนำนกปักษาสวรรค์มาถวายรัชกาลที่ 4 ว่านี่คือนกการเวกชาวตะวันตกเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามากเพราะขนที่สวยงาม จึงเกิดฟีเวอร์ในทวีปยุโรป มีคำสั่งให้ล่านกชนิดนี้เพื่อนำขนมาประดับหมวกของสุภาพสตรี ในขณะที่ของไทยมีการใช้ขนนกการเวกประดับ มาลาเส้าสูง ของขุนนางหรือเจ้านาย”

ผลงานนักรบ มูลมานัส ที่ Warin Lab Contemporary บ้านเก่านพ.บุญส่ง เลขะกุล

เรื่องเล่าพื้นเมือง ‘(ล่อ)นกการเวก’

ใน (เล่ม) ‘หมู่เกาะมาเลย์’

จากขั้นตอนค้นคว้า มาสู่การสร้างงานศิลปะซึ่ง นักรบบอกว่า เลียนแบบการทำงานของนายแพทย์บุญส่ง ทว่า ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงประเด็นธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากแต่เอื้อมมือไปแตะในแง่มุม ‘วัฒนธรรม’ ด้วย

“พยายามค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับนกการเวกและพยายามจัดออกมาให้เป็นงานศิลปะ โดยเลียนแบบวิธีการทำงานของนายแพทย์บุญส่ง แต่ไม่ได้แตะเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือว่าสัตววิทยาอย่างเดียว แต่ไปแตะในแง่มุมของวัฒนธรรมในเรื่องราวที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออุดมการณ์ต่างๆ ในสมัย 100 ปีที่แล้วว่าประเด็นปัจจุบันก็ยังขยับขยายอยู่ สำหรับนิทรรศการนี้อยากให้ลองสำรวจการก่อร่างสร้างตัวของการรับรู้ของมนุษย์เกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติ”

เกมโอเพ่นเวิลด์จำลองสภาพแวดล้อม

นอกจากนี้ นักรบเผยว่า มีการใช้หนังสือเล่มสำคัญประกอบในนิทรรศการอีก 1 เล่ม นั่นคือ หมู่เกาะมาเลย์: THE MALAY ARCHIPELAGO เขียนโดย อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ แปลโดย นำชัย ชีววิวรรธน์, ศศิวิมล แสวงผล, ต่อศักดิ์ สีลานันท์, ณัฐพล อ่อนปาน ซึ่งมีเนื้อหาในตอนหนึ่งกล่าวถึงวิธีการ ‘ล่อนกการเวก’

“ผมไปอ่านหนังสือหมู่เกาะมาเลย์: THE MALAY ARCHIPELAGO ของ สำนักพิมพ์มติชน ซึ่งได้ใช้จัดวางในนิทรรศการศิลปะครั้งนี้ด้วย โดยบอกว่าชาวพื้นเมืองเชื่อว่าต้องเอาดอกกานพลู ลูกจันทน์เทศ มาล่อนกการเวก และจากที่ผมมาสำรวจในภาคอดีตไปแล้ว จึงอยากดูร่องรอยของนกการเวกว่ายังอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนอยู่หรือไม่ และมีวิวัฒนาการมาอย่างไร จากเรื่องเล่าในไตรภูมิพระร่วงบอกว่านกการเวกสลัดขนเป็นทองคำ จึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นกระทรวงการคลัง รวมถึงตราของกรมธนารักษ์ หรือที่ทุกคนเห็นชินตาคือโลโก้ของธนาคารกรุงไทย

เรื่องเล่าของนกการเวกยังกลายเป็นประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมที่คนสมัยนี้มาประดิษฐ์เป็นเครื่องรางต่างๆ เช่น การทำสีผึ้งนกการเวกมหาเสน่ห์ เชื่อว่าถ้าใช้ทาปากแล้วเราจะมีเสียงไพเราะ มีเมตตามหานิยม เป็นเรื่องมูเตลู” นักรบเล่า

กิจกรรมตัดแปะนกมหัศจรรย์

เข้าชม Artificial Nature ธรรมชาติประดิษฐ์ โดย นักรบ มูลมานัส และ แมรี่ ภาคินี ได้แล้ววันนี้ถึงเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 10.30-19.30 น. ที่ วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี ภายในโครงการ O.P. Garden, ซอยเจริญกรุง 36 เขตบางรัก กรุงเทพฯ เข้าชมฟรี หยุดเฉพาะวันจันทร์และวันอาทิตย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image