ฝนก็มา เจ้าพระยาก็น้ำหนุน เปิดยุทธการสกัดท่วม ‘อุดฟันหลอ’ กทม.กลางสปอตไลต์ ในยุค #ชัชชาติ

ฝนก็มา เจ้าพระยาก็น้ำหนุน เปิดยุทธการสกัดท่วม ‘อุดฟันหลอ’ กทม.กลางสปอตไลต์ ในยุค #ชัชชาติ
สำนักระบายน้ำเรียงกระสอบทรายริมแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงใต้สะพานพระราม 8

กรุงเทพฯ น้ำท่วม

ภาพชินตาที่เป็นมาแทบทุกปี ผ่านผู้ว่าฯ มาแล้วไม่รู้กี่คน ผ่านดราม่ามาแล้วไม่รู้กี่วิวาทะ ผ่านความพยายามในการแก้ไขปัญหามาแล้วทั้งยุคเลือกตั้งและยุคแต่งตั้งจากรัฐบาล คสช.

ไม่มียุคไหนที่ไฟฉายจากภาคประชาชนหลอมรวมเป็นแสงสว่างดวงใหญ่เข้าข่ายสปอตไลต์มหึมา ส่องไปยังการทำงานหน่วยงานภาครัฐในนาม ‘กรุงเทพมหานคร’ มากถึงเพียงนี้

ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงและเกาะติดได้ง่าย รวดเร็วยิ่งกว่าใจในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ความขยันในการ ‘ไลฟ์’ หรือถ่ายทอดสดให้เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’

Advertisement

คนกรุงเทพฯ และประชาชนไทย ได้รู้จักหน่วยงานอาจไม่เคยรู้ถึงการมีอยู่ของภาคส่วนดังกล่าวมาก่อน

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ ‘ความคาดหวัง’ ที่มีต่อผู้ว่าฯ คนที่ 17 ซึ่งชาวกรุงฯ เข้าคูหากากบาทเลือกมากับมือ เกือบ 1.4 ล้านเสียง

พร่องน้ำในคูคลองเพื่อควบคุมระดับน้ำ เตรียมรับสถานการณ์ฝน

แม้เตรียมตัวมาก่อนหน้า ทั้งนโยบายแน่นหนักและภาคปฏิบัติเข้มข้น โดยเฉพาะการเปิดประตูพานักโทษจากราชทัณฑ์มาลอกท่อ ซึ่งก็เห็นผลดีเป็นที่ประจักษ์ในช่วงหนึ่ง ทว่า เมื่อเจอของจริงในค่ำคืนวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเกิดฟ้าฝนเทกระหน่ำตามโพยของ กรมอุตุนิยมวิทยา ที่ออกประกาศเตือนไว้ก่อนหน้าว่าจะมี ฝนตกหนักถึงหนักมาก ตลอดสัปดาห์ ‘น้ำรอระบาย’ ศัพท์บัญญัติใหม่ในพจนานุกรมฉบับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่สื่อไทยใช้มาถึงยุค พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หรือ ‘น้ำท่วมขัง’ ในภาพจำของชาวกรุงก็กลับมาเอ่อล้นทั้งบนถนนสายหลัก จนถึงตรอกซอกซอย

Advertisement

#ทีมชัชชาติ ทั้งผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ ที่ปรึกษา อีกทั้งผู้บริหารงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนดึกดื่นค่อนคืน หวังแก้ปัญหา ทว่า ไม่วายถูก ‘แซะ’ แน่นอนว่าทั้งในแง่ของการไลฟ์ถี่และการลุยถึงหน้างานแทนที่จะบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ก่อนเจ้าตัวจะชี้แจงขณะวิ่งออกกำลังกายที่สวนนวมินทร์ภิรมย์ ว่า ‘ทำอยู่แล้ว’ แต่ที่ไปลุยหน้างานนั้นก็เพื่อได้เห็นปัญหาที่แท้จริง และ

‘ให้รู้ว่าเราร่วมทุกข์ ร่วมสุขกัน’

“การดำเนินการ มี 2 ส่วน 1.ด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งทำอยู่แล้ว มีการวางแผน ประชุมตลอด ดูภาพรวม เพิ่มประสิทธิภาพ ขุดลอกคลอง การพร่องน้ำทำเต็มที่ 2.การบริหารจัดการ ลงพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าไม่ลงพื้นที่จะไม่เห็นหน้างานจริง และลงไปเพื่อสร้างขวัญกำลังใจคน เพื่อให้รู้ว่าเราร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน นี่คือ 2 มิติที่ต้องไปด้วยกัน ถ้ามีแต่ยุทธศาสตร์ แต่ไม่มีการดำเนินการมันก็ขาดขวัญกำลังใจ ถ้ามีการดำเนินการไม่มียุทธศาสตร์ มันก็ไม่ครบถ้วน” ผู้ว่าฯกทม. คนปัจจุบันกล่าว

หรือจะว่าไปแล้ว ทั้ง 2 วิธีก็ล้วนเป็นยุทธศาสตร์ อย่างน้อยในยุคนี้ เสียงตะโกนถามจากทางบ้าน ‘ผู้ว่าฯ ไปอยู่ไหน?’ กทม. ทำอะไรอยู่ จนถึงกุญแจประตูน้ำหายที่กลายเป็นมุขตลกขำขื่น ก็ยังไม่ปรากฏเป็นวงกว้างอย่างที่เคย เมื่อคนไทยได้รู้ได้เห็นภาพสดพร้อมกันทั้งประเทศ

นอกจากฝนชุ่มฉ่ำที่มาเกินพิกัด น้ำทะเลยังหนุนสูง จนได้รับการแจ้งเตือนจากกรมชลประทาน ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาพุ่งขึ้น นับเป็นช่วงเวลาเฝ้าระวังและระดมสรรพกำลังป้องกันภายใต้ความร่วมมือของหลายภาคส่วน

แนวกั้นแน่นปึ้ก เบรกน้ำ สกัดท่วม

สร้างเขื่อน 88 กม. 20 กว่าจุดต้องอุด ‘ฟันหลอ’

27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ รัฐสภา เกียกกาย ชัชชาติ เปิดแผนรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงต้นเดือนสิงหาคมนี้ ว่าจะมีการสร้างเขื่อนริมน้ำซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 88 กิโลเมตร กทม.ดำเนินการ 80 กิโลเมตร ที่เหลืออีก 8 กิโลเมตร เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ยังมีจุด ‘ฟันหลอ’ นับแบบกลมๆ คือ 20 (กว่า) จุด ทั้งฝั่งพระนครและธนบุรี ปีนี้ได้งบ 13 จุด อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง โดยได้เตรียมกระสอบทรายไว้อุดแล้ว

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สบตา วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ หารืออุดจุดฟันหลอ

“สั่งการเน้นย้ำให้เฝ้าระวังจุดฟันหลอแล้ว เพราะทุกจุดที่ฟันหลอถึงแม้สถานการณ์น้ำน้อยก็สามารถเอ่อท่วมได้ ซึ่งฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนครต้องเร่งดำเนินการ ปริมาณน้ำเหนือที่หนุน ที่เป็นวิกฤตจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่จะทำให้น้ำล้นถึงแนวคัน ซึ่ง กทม.ได้เสริมคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นโดยมีความสูงเฉลี่ย 2.80-3.50 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือแล้ว” ผู้ว่าฯกทม.เผย

ก่อนยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า มีบางจุดที่ยังเป็นปัญหา เช่น ถนนทรงวาด ตลาดน้อย เลยวัดปทุมคงคาราชวรวิหารขึ้นไป รวมถึงพื้นที่ของเอกชนที่ยังไม่ได้เข้าไปดำเนินการ ก็ต้องเร่ง โดยได้สั่งการไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว

ในช่วงเย็นวันเดียวกัน ยังควง รองผู้ว่าฯ วิศณุ ทรัพย์สมพล สวมเสื้อชูชีพลงเรือที่ท่าเรือสี่พระยา ย่านบางรัก มุ่งหน้าสะพานพระราม 3 ตรวจแนวกันน้ำท่วมริมฝั่งเจ้าพระยาและจุดฟันหลอ โดยสั่งสำนักระบายน้ำเฝ้าระวัง ย้ำว่า ‘ดึกดื่นก็ต้องมา’

“ท่าเรือสี่พระยาก็เป็นจุดหนึ่งที่น้ำท่วมเวลาน้ำขึ้นเนื่องจากยังเป็นจุดฟันหลอ เพราะเป็นทางเข้าท่าเรือมีคนเดินเข้าออกสำหรับแนวฟันหลอตอนนี้มี 23 จุด อยู่ฝั่งพระนคร 14 จุด ฝั่งธนบุรี 9 จุด บางจุดฟันหลออยู่ตรงบ้านพักอาศัยปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อาจทำความเสียหายได้เยอะ เพราะเป็นจุดที่น้ำทะลักเข้าไปได้ จึงมอบหมายให้สำนักระบายน้ำรีบวางแผน อย่าประมาท ต้องมีคนเฝ้าระวังแต่ละจุดพร้อม ดึกดื่นก็ต้องมา ประมาทไม่ได้

น้ำขึ้นไม่สูงก็จริง แต่สามารถทะลักเข้ามาได้ ทุกจุดต้องมีคนรับผิดชอบ ช่วงน้ำทะเลหนุน น้ำขึ้นน้ำลง น้ำเหนือ ไม่ได้กังวลมากแต่ต้องเตรียมตัวให้พร้อม พื้นที่เอกชนด้วย ทุกคนต้องช่วยกัน เห็นแก่ส่วนรวม” ชัชชาติย้ำ

ขณะที่ รองฯวิศณุ เผยว่า กรุงเทพมหานครเตรียมความพร้อมพร่องน้ำเรียบร้อย ส่วนที่มีข่าวว่ากรมชลประทานปล่อยน้ำเพิ่มมากขึ้น อยู่ที่ 1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ‘ไม่ต้องกังวล’ ยังอยู่ในความสามารถที่รับไหว ณ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

พร่องน้ำ โกยผักตบ ลุยเก็บขยะ เจอโซฟา-ฟูก-หมอน ฯลฯ

ด้าน สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร แอ๊กชั่น ด้วยการพร่องน้ำในคลอง รวมถึงเดินเครื่องสูบน้ำเต็มกำลัง โดยเมื่อ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา เจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ลงพื้นที่ตรวจสอบระดับน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ด้วยตัวเอง ก่อนเซลฟี่หน้าสถานีประเวศบุรีรมย์ เร่ง 3 เครื่องสูบสุดแรง ประสานกรมชลประทานช่วยเร่งลดระดับน้ำ เพื่อระบายน้ำออกไปทางคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เพื่อลดผลกระทบชาวบ้าน หรือชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มต่ำตลอดแนวสองฝั่งคลองประเวศบุรีรมย์

ลากฟูกที่นอนหมอนมุ้ง และขยะนานาชนิดจากคลองแสนแสบและเส้นทางน้ำที่เกี่ยวเนื่อง
‘มนุษย์ชุดเขียว’ สำนักงานระบบควบคุมน้ำ ปีนป่ายเก็บขยะหน้าตะแกรงอุโมงค์คลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว

นอกจากนี้ ได้เตรียมการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝน น้ำหลาก และน้ำทะเลหนุนสูง โดยมีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามจุดเสี่ยง จัดเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือ พร้อมให้ความช่วยเหลือ 24 ชั่วโมง เรียงกระสอบทรายเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำ พร้อมทั้งประสานขอความร่วมมือไปยังกรมเจ้าท่า ตรวจสอบและกำชับใช้มาตรการเรื่องการเดินเรือ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบบ้านเรือนของประชาชน

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กองระบบคลอง ยังล่องเรือกว่า 7 กิโลเมตร บริเวณคลองแสนแสบ จากคลองบ้านม้าถึงคลองตัน ลุยเก็บขยะ และวัชพืชโกยได้กว่า 3 ตัน พบฟูก หมอน โฟม ขวดพลาสติกเพียบ ต่อมา ยังจัดเจ้าหน้าที่กว่าครึ่งร้อยลุยเก็บผักตบชวากลางแม่น้ำเจ้าพระยายามค่ำต่อเนื่อง 2 วัน

ที่ฮือฮาคือภาพชุด ‘มนุษย์ชุดเขียว…จัดเก็บขยะ’ ที่ถูกเผยแพร่ผ่านเพจสำนักการระบายน้ำ เผยให้เห็นการปีนป่ายจัดเก็บขยะที่ลอยมาติดบริเวณหน้าตะแกรงดักขยะของอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดย สำนักงานระบบควบคุมน้ำ ซึ่ง ‘ทัชใจ’ โลกออนไลน์ถึงความทุ่มเท ไม่เพียงนำมาซึ่งการส่งกำลังใจ หากแต่ประเด็น ‘ขยะชิ้นใหญ่’ ที่ปรากฏในภาพก็ถูกหยิบยกมากล่าวถึง พร้อมกระตุ้นจิตสำนึกว่า ‘อย่าหาทำ’ ในการทิ้งให้เป็นภาระผู้อื่น

หยุดยาวอย่าห่วง ชนหมัดทัพบก-ราชทัณฑ์ เปิดโปร ‘ลอกก่อน จ่ายทีหลัง’

ไม่เพียงการดำเนินงานภายในสังกัด ยุคฯ ชัชชาติ ยังมีหลายหน่วยงานพร้อม ‘ชนหมัด’ ร่วมมือ หนึ่งในนั้นคือ กองทัพบก โดยมีการหารือร่วมกับ พล.ต.ฐกัด หลอดศิริ รองแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันน้ำท่วม นัดหมายบึงพระราม 9 ใต้ทางด่วนถนนประดิษฐ์มนูธรรม เขตห้วยขวาง ว่า กรุงเทพมหานคร

“สำหรับข้อห่วงใยประชาชนในช่วงวันหยุดยาวนั้น ก็ขอให้หยุดพักผ่อนกันให้เต็มที่ ส่วนเรื่องฝน กทม.ก็ป้องกันเต็มความสามารถ การพร่องน้ำก็ทำเต็มที่ ตอนนี้ก็ได้กองทัพเข้ามาช่วยในการลอกท่อแล้วตั้งแต่พื้นที่คลองลาดพร้าวไปจนถึงคลองบางบัว โดยจะพร่องน้ำช่วงกลางคืน และตอนเช้าก็ปล่อยให้เดินเรือ แต่แค่หยุดปั๊มน้ำระดับน้ำก็ขึ้นมา 20 เซนติเมตรแล้ว เพราะฉะนั้นช่วงที่เรือไม่เดินก็จะพร่องน้ำได้มากที่สุด คิดว่าหากฝนตกหนักไม่มากแบบที่ผ่านมาก็ไม่น่ามีปัญหาสามารถรับมือได้” ผู้ว่าฯกทม.กล่าวกับชาวกรุง

กทม.จับมือกองทัพบกดำเนินภารกิจสกัดน้ำท่วม
ราชทัณฑ์ส่งนักโทษลอกท่อ เปิดทาง ลอกก่อนได้ แล้วค่อยจ่ายทีหลัง

อีกหนึ่งแอ๊กชั่นมาจาก สมศักดิ์ เทพสุทิน เจ้ากระทรวงยุติธรรมที่ประกาศเพิ่มนักโทษ 350 คน ช่วย กทม.ลอกท่อ แจ้งผู้ว่าฯ กทม. เปิดโปรโมชั่นทำให้ก่อนจ่ายทีหลัง หวังช่วยลดปัญหาน้ำท่วมเร่งด่วน หลังพบว่าหลายพื้นที่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตสัญญาการจ้างของกรมราชทัณฑ์ยังประสบปัญหาน้ำท่วม จึงมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26 ก.ค. เรื่อง การสนับสนุนแรงงานนักโทษเด็ดขาดออกล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำนอกเหนือสัญญาจ้างปัจจุบัน หลังจากที่กรมราชทัณฑ์ได้ส่งผู้ต้องขังออกไปทำงานแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.โดยระยะทางที่ว่าจ้างทั้งหมด 530.2 กิโลเมตร โดยใช้ผู้ต้องขังจาก 11 เรือนจำ โดยเน้นย้ำว่า พร้อมให้การสนับสนุนแรงงานนักโทษเด็ดขาดออกล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำนอกเหนือสัญญาจ้างปัจจุบัน มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาท่อระบายน้ำอุดตันเร่งด่วน ‘นอกสัญญา’ ยินดีให้กรุงเทพมหานครดำเนินการว่าจ้างในพื้นที่ดังกล่าวในภายหลังเมื่อได้รับงบประมาณปี พ.ศ.2566 ต่อไป โดยขณะนี้ทางกรมราชทัณฑ์ได้ส่งผู้ต้องขังออกไปทำงานแล้ว 300 คน และยังมีกำลังอีก 350 คนที่พร้อมออกปฏิบัติงาน แต่ยังติดเรื่องเจ้าหน้าที่ในการออกไปควบคุมดูแลผู้ต้องขังยังมีไม่เพียงพอ แต่จะนำเจ้าหน้าที่จากพื้นที่อื่นๆ เข้ามาช่วยงาน หากพร้อมเมื่อไร ออกปฏิบัติงานทันที

เรียกได้ว่า สถานการณ์น้ำก็น่าจับตา ยุทธศาสตร์ความร่วมมือที่ใครๆ ก็ดูเหมือนอยาก ‘ชนหมัด’ กับผู้ว่าฯ ก็น่าติดตาม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image