อาศรมมิวสิก : หอศิลป์กรุงเทพฯ บนถุงทองและโอกาสท่วมหัว

หอศิลป์กรุงเทพฯ

บนถุงทองและโอกาสท่วมหัว

ระหว่างวันที่ 21-24 กรกฎาคม พ.ศ.2565 ได้มีโอกาสไปจัดงานแสดงดนตรีในพื้นที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เพื่อขายภาพ ตั้งใจจะนำเงินไปจัดดนตรีในสวน ซึ่งได้พบกับปัญหาและอุปสรรค ผสมกับรู้สึกผิดหวังในเวลาเดียวกัน

เกิดตาสว่างมองเห็นโอกาสที่จะทำให้หอศิลป์กรุงเทพฯ บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง อยากบันทึกไว้เป็นกรณีศึกษา ตั้งแต่การบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ปัญหา ประสิทธิภาพของคนทำงาน

Advertisement

และที่สำคัญคือคุณภาพของงานที่แสดงอยู่ในหอศิลป์ไม่น่าสนใจ มองไม่เห็นอนาคตและไม่สามารถสร้างความหวังให้กรุงเทพฯ ได้

“ไปแค่ครั้งเดียวก็ไม่อยากไปอีก เพราะไม่มีอะไรให้ดู”

Advertisement

รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า หอศิลป์เป็นสะดือของกรุงเทพฯ ซึ่งหมายถึงหอศิลป์เป็นศูนย์กลางของงานศิลปวัฒนธรรมที่เชิดหน้าชูตาให้กรุงเทพฯ ได้ เพราะว่างานศิลปะและงานดนตรีเป็นเครื่องแสดงความเจริญก้าวหน้าด้านความคิดสร้างสรรค์ การแสดงพลังของจินตนาการ และพลังจิตวิญญาณ

หอศิลป์ควรเป็นพื้นที่แสดงศักยภาพความเป็นเลิศด้านศิลปกรรม ศิลปะการแสดง และการแสดงดนตรี ซึ่งเป็นพื้นที่อวดความเจริญทางจิตวิญญาณของคนในกรุงเทพฯ

ปัญหาทางด้านกายภาพของหอศิลป์กรุงเทพฯ อาทิ มีคนเข้าชมงานน้อย งานแสดงไม่น่าดู ใช้พื้นที่ไม่คุ้มค่า ร้านค้าปิดกิจการ มีสภาพเงียบเหงา ร้านอาหารที่มีอยู่ขายไม่ได้ ขายบัตรเข้าชมงานศิลป์ไม่ได้ ฝนตกน้ำรั่วจากหลังคา

การก่อสร้างใช้วัสดุก้องเสียง ทำให้มีเสียงก้องทั้งอาคาร เล่นดนตรีไฟฟ้าไม่ได้เพราะว่าเสียงดังและอื้ออึง ต้องเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เสียงแบบธรรมชาติ (Acoustic)

แต่เสียงดนตรียังดังทะลุลอดเข้าไปในห้องต่างๆ ได้ ทั้ง 9 ชั้น

กิจกรรมของหอศิลป์กรุงเทพฯ ที่ผ่านมาไม่เป็นที่รู้จักรับรู้ ไม่น่าสนใจ เป็นหอศิลป์ที่บริการเฉพาะกลุ่ม เปิดกิจการมาตั้งแต่ พ.ศ.2551 ทำมา 14 ปีแล้ว ยังไม่สามารถประกาศไว้ว่าหอศิลป์เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ

ยังไม่ได้แสดงศักยภาพของการเป็นหอศิลป์ชั้นเลิศแห่งกรุงเทพฯ ได้เลย ฝรั่งที่เดินพลัดหลงเข้าไปในงานแสดงครั้งนี้ถามว่า “ที่นี่เป็นมาบุญครอง 2 ใช่ไหม” ทั้งขำ ทั้งเศร้า แต่ก็หัวเราะไม่ออก

เมื่อดูจากสถิติที่มีคนเข้าออกหอศิลป์กรุงเทพฯ ก็มีจำนวนมาก คนเหล่านั้นเป็นใครบ้าง จาก 4 วันที่เข้าไปแสดงงานก็พบว่า มีเยาวชนวัยรุ่นเข้าไปเดินดูงานและเดินตากแอร์ หอศิลป์เป็นพื้นที่นัดพบเพื่อนได้อย่างมีบรรยากาศ มีกลุ่มคนเข้าออกเป็นจำนวนมากต่อวัน วันละหลายๆ ครั้ง แต่หอศิลป์ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก เป็นแค่มีห้องน้ำปรับอากาศ มีร้านกาแฟ และร้านไอติมสำหรับเด็ก

พื้นที่จอดรถ ทางเข้าออกประตู ซึ่งต้องใช้ “คุณกรวย” กับ “คุณตะแกรง” ปฏิบัติงานแทน ตั้งขวางพื้นที่ไว้เพื่อบอกว่า “ฉันเป็นผู้มีอำนาจ คนที่มาติดต่อก็ต้องผ่านฉันเท่านั้น”

ขณะนี้เป็นเวลาของการคัดเลือกสรรหาผู้อำนวยการหอศิลป์คนใหม่ ผู้อำนวยการคนเก่าก็อยู่รักษาการเพื่อรอเปลี่ยน เป็นช่องว่างและไม่มีผู้รับผิดชอบเต็มที่ หากได้ผู้อำนวยการคนใหม่แล้ว ก็น่าจะเปลี่ยนบอร์ดใหม่เสียด้วย เพราะหอศิลป์ได้บอดทั้งสองข้าง บอดทั้งศิลปะและบอดดนตรี มองไม่เห็นมานานแล้ว

การบอดมานาน ทำให้หอศิลป์กรุงเทพฯ ต้องการบรรยากาศใหม่ หอศิลป์ต้องการอนาคตที่มีความหวัง หอศิลป์กรุงเทพฯ ไม่ควรตกอยู่ในสภาพเหมือนกับหอศิลป์อื่นที่ค่อยๆ หมดสภาพและไม่มีชีวิต

เพราะผู้บริหารมีภาระอื่นเต็มไปหมด ไม่มีเวลาจะเอาใจใส่กับหอศิลป์ ทำให้ครบตามหน้าที่เท่านั้น ผู้บริหารมีเวลาน้อย ใช้เศษเวลาบริหารหอศิลป์ จนกลายเป็นจุดอ่อนของหอศิลป์ทุกวันนี้

หอศิลป์กรุงเทพฯ มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ มีอาคารสถานที่สวยงาม ตั้งอยู่ใจกลางสะดือกรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าผ่าน ผู้คนไปมาสะดวก มีศูนย์การค้าตั้งอยู่โดยรอบ มีที่จอดรถพอสมควร มีอุปกรณ์แสดงงานศิลปะ มีบุคลากรที่มีความรู้มีความสามารถสูง มีเงินงบประมาณ เพียงแต่ขาดเรื่องคุณภาพงานและจิตวิญญาณในการทำงานของบุคลากร

กรุงเทพมหานครเองก็ควรปรับการบริหารหอศิลป์ให้คล่องตัว ปรับกฎเกณฑ์ระเบียบให้สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น หาบุคลากรที่มีความรู้ มีความสามารถ และอยากทำงาน กระหายความสำเร็จที่จะเห็นความเจริญของหอศิลป์

ที่สำคัญขอให้ปรับปรุงซ่อมแซมหอศิลป์ให้สมบูรณ์ เมื่อฝนตกแล้วน้ำรั่ว ทนอยู่กันได้อย่างไร

คณะกรรมการหอศิลป์กรุงเทพฯ จะต้องเลือกผู้อำนวยการใหม่ที่อยากทำงาน มีใจและต้องใช้ใจทำงานรื้อฟื้นบรรยากาศสร้างหอศิลป์ใหม่ให้มีชีวิต

ทางออกของหอศิลป์ ต้องพัฒนาบรรยากาศให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของคนกรุงเทพฯ ต้องสร้างงานที่มีคุณภาพ มีคุณภาพ และมีคุณภาพเท่านั้น หอศิลป์จึงจะอยู่รอดได้ โดยอาศัยพื้นที่เดิมที่ดีสุดยอดอยู่แล้ว อาศัยโอกาสที่มีอยู่ อาศัยเงินที่มีอยู่ แล้วต่อยอดให้เป็นโอกาสเพื่อสร้างโอกาสใหม่ที่ดีกว่า หากมีผู้นำที่รู้ทิศทางและขยันทำงาน ลูกน้องทุกคนก็จะทำงานตามหัวหน้า ขอให้ดูตัวอย่างจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เมื่อสร้างบรรยากาศคุณภาพหอศิลป์เสียใหม่ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด โดยเริ่มจากการทำงานและจัดงานที่ดี แล้วเก็บค่าเข้าชมหอศิลป์ เก็บมากเก็บน้อยไม่ใช่ประเด็น แต่การเก็บบัตรเข้าชมงาน เป็นการกรองคุณภาพงาน คุณภาพคน คนที่ตั้งใจเท่านั้นที่สนใจเข้าไปในหอศิลป์ ซึ่งหอศิลป์ก็ควรจะมีรายได้จากการทำงานคุณภาพ

เอาระบบพวกพ้องซึ่งตกอยู่ภายใน “สายสิญจน์” ออกไป ให้ศิลปินอื่นที่อยู่นอกสายสิญจน์เข้าไปจัดงานได้ด้วย

ผู้บริหารหอศิลป์กรุงเทพฯ จะต้องบริหารหอศิลป์ให้เป็นพื้นที่มีชีวิต คนอยากไปชมการแสดงในหอศิลป์ ศิลปินทั้งหลายทั่วประเทศก็อยากไปแสดงงานที่หอศิลป์ ผู้บริหารหอศิลป์ควรเปิดโอกาสโดยเชื้อเชิญศิลปินระดับชาติและระดับนานาชาติมาแสดงผลงาน

การแสดงงานเพื่อขายภาพครั้งนี้ ขายได้ผ่านทางโทรศัพท์ เพื่อนซึ่งรักกันมานาน ได้ซื้อไป 3 รูป ได้เงิน 450,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าเช่าพื้นที่ ค่าตอบแทนนักดนตรี ค่าตอบแทนวิทยากร ค่าซื้อวัสดุ ค่าซื้ออุปกรณ์แขวนภาพ ค่าเช่าเครื่องเสียง ค่าตอบแทนคนทำงาน เหลือเงินอยู่หนึ่งหมื่นบาท (ฮา)

คนดูไม่ได้ซื้อ (ภาพ) และคนซื้อก็ไม่ได้ดู แต่เป็นโอกาสนำเสนองานของศิลปินที่มีชีวิต เป็นโอกาสให้นักดนตรีที่มีคุณภาพได้แสดง หากหอศิลป์ได้ทำงานและนำเสนอสิ่งที่ดี สิ่งที่มีพลัง อย่างต่อเนื่องสัก 6 เดือน สภาพของหอศิลป์ก็จะเปลี่ยนไป

เพียงแค่ 4 วันเท่านั้น ร้านอาหารและร้านกาแฟมาขอร้องว่า ให้มาจัดบ่อยๆ เพราะมีคนเข้ามาดูงานและร้านขายได้ ร้านมีชีวิตชีวาขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image