นอกลู่ในทาง : คิดถึง”พ่อ”

ยังรู้สึกเสียใจ และคิดถึง “พ่อ” ยิ่งอ่านยิ่งดู ยิ่งฟังเรื่องราวเกี่ยวกับ “พ่อ” ก็ยิ่งคิดถึง

เชื่อว่าหลายคนคงมีความรู้สึกเช่นเดียว

กัน แต่ท่ามกลางความโศกเศร้ายังมีความหวัง และน้ำตาแห่งความปลาบปลื้มเมื่อ ได้เห็นคนไทยแสดงออกถึงความรัก ความสามัคคี และตั้งใจทำความดี เพื่อ “พ่อ”

เราต่างมี “พ่อ” คนเดียวกัน

Advertisement

หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 31 ต.ค.-2 พ.ย.2559 ที่ผ่านมา สัมภาษณ์ “พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร” อดีตนายตำรวจราชสำนัก ถึงความหลังเมื่อครั้งที่มีโอกาสติดตามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎร

“พล.ต.อ.วสิษฐ” เล่าถึงการรับถวายฎีกาจากชาวบ้านว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงอ่านหมดทุกฉบับ และไม่เคยทรงทิ้งขว้าง อันไหนเห็นว่าราชการแก้ไขได้ก็พระราชทานไปให้ทางราชการ สิ่งไหนที่พระองค์ทำได้เอง

ก็จะทรงทำเอง

Advertisement

“มีครั้งหนึ่งที่ จ.สิงห์บุรี มีชาวนารายหนึ่งถวายฎีกา เพราะเอาที่ไปจำนองแล้วขาดส่งดอกเบี้ย เจ้าหนี้เลยจะยึดที่นา ความจริงถ้าส่งไปให้ราชการก็อาจโอ้เอ้เพราะหลายขั้นตอนอาจถูกยึดก่อน จึงสั่งให้ผมไปคุยกับชาวนารายนี้ แล้วพระองค์ท่านพระราชทานเงินให้ผมไปให้ชาวนารายนี้ไถ่ที่ แต่การแก้ไขปัญหาของพระเจ้าอยู่หัวไม่ใช่อุ้ม 100% ให้สตางค์ไปแล้วเลิกกัน… ไม่ใช่ พระองค์ท่านบอกให้ยืมแบบมีกำหนด และให้ส่งดอก ดอกเบี้ยที่พระองค์ท่านให้ส่ง คือส่งเป็นข้าวที่ปลูก ชาวนารายนี้ส่งข้าวเข้ามาที่สวนจิตรลดา พระองค์ท่านโปรดให้สีข้าวแล้วมาพระราชทาน ผมก็ได้กินด้วย ปีต่อมาพระองค์ท่านรับสั่งกับราชเลขาธิการว่า ชาวนารายนี้ซื่อตรงถึงเวลาส่งข้าวเข้ามาตามกำหนด และน้ำหนักเดิมด้วย ดังนั้น หนี้ที่เหลืออยู่กี่หมื่นไม่รู้ ..ก็ยกให้เลย”

“พล.ต.อ.วสิษฐ” เองก็เคยถวายฎีกาในหลวงเช่นกัน

“ผมถวายฎีกาหนเดียว ตอนที่พระองค์ท่านทรงพระประชวรแล้วไม่พัก ตอนนั้นปี 2518 ที่เชียงใหม่ เป็นปีที่พระประชวรหนักครั้งแรก ในพระชนม์ชีพ สาเหตุเพราะเสด็จฯไปทรงเยี่ยมชาวเขา จะเข้าไปถึงห้องนอน ถึงในครัวเสมอ ในที่สุดก็ไปรับเชื้อโรคไวรัส Scrub Typhus ชนิดหนึ่งมาจากบ้านชาวเขา หมอบอกว่าโดนหมัดที่อยู่ในบ้านชาวเขากัด เป็นพาหะนำเชื้อ

พระองค์มีพระอาการไข้สูงอยู่อาทิตย์หนึ่งเต็มๆ พระอาการหนักจนกระทั่งหมอที่เข้าไปถวายการรักษาร้องไห้ออกมาจากห้องพระบรรทม พวกเราปั่นป่วนละล้าละลังไปทั้งวัง พอพระปรอท (ไข้) ลด หมอก็กราบบังคมทูลขอให้ทรงงดพระราชกรณียกิจ 1 เดือน

เช้าวันหนึ่งขณะที่กำลังนั่งอยู่ในเรือนราชองครักษ์ ผมได้ยินสถานีวิทยุของตำรวจตระเวนชายแดน เรียกเฮลิคอปเตอร์ของเขาเครื่องหนึ่ง แต่ไม่ได้รับคำตอบ เหมือนเครื่องหายไปจากการติดต่อสักพักใหญ่

ผมได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าอยู่หัว เกือบจำไม่ได้ว่าเป็นพระสุรเสียงของพระองค์ท่าน เพราะเครือ แหบ ห้าว เพิ่งฟื้น

“รับสั่งบอกเขาว่า เฮลิคอปเตอร์เครื่องนี้ ลงไปจอดที่แม่ฮ่องสอน เนื่องจากสถานีของตำรวจตระเวนชายแดนไม่ได้ยิน เพราะอยู่ที่ต่ำ ที่อำเภอแม่ริม แต่พระองค์ท่านอยู่พระตำหนักภูพิงค์ ได้ยินเสียงทั้งสองข้าง พระองค์ท่านเลยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางให้”

แต่พอผมได้ยินเข้าโกรธอย่างบอกไม่ถูก เพราะรู้ว่าพระองค์ท่านลุกขึ้นมาทำงาน จึงเขียนฎีกาถวาย เป็นครั้งเดียวในชีวิต

“ผมเขียนประท้วงว่า หมอห้ามพระองค์ท่านไม่ให้ทำงาน แต่ทรงลุกขึ้นมาทำงาน บอกว่า คนไทยเกือบจะไม่เป็นอันกินอันนอนอยู่แล้ว เพราะทรงพระประชวร”

ตัวผมเองถึงขนาดปวารณาว่า ถ้าหากว่าหายพระประชวรจะบวชถวาย

“รุ่งขึ้นพระองค์ท่านให้สมเด็จพระเทพฯ อัญเชิญพระราชหัตถเลขาลงมาพระราชทานผม ตอบเป็นข้อๆ พระองค์ท่านบอกว่า ไม่ได้ทำงานแต่ทรงพัก ขณะที่พักแค่พูดวิทยุไม่เหลือบ่ากว่าแรงเลย พระองค์ท่านต้องทำ เพราะสถานีตำรวจตระเวนชายแดนที่ค่ายแม่ริมเขาไม่ได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์ เขาจึงวิตกว่าหายไปไหน นึกว่าเครื่องบินตก แค่นั้นเองไม่หนักหนาอะไร”

ส่วนเรื่องที่ผมบอกว่าจะบวชถวายพระองค์ ท่านไม่ให้บวช พระองค์ท่านบอกว่า “ถ้าไม่ตายไม่ให้บวช บวชหน้าไฟได้”

ผมเขียนร่ายยาวตามแบบนักเขียน พระองค์ท่านบอกว่า แบบฟอร์มเชยมาก (หัวเราะ)

“พล.ต.อ.วสิษฐ” เล่าด้วยว่า ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา พระองค์ท่านทรงเป็นตัวอย่างของผู้บังคับบัญชาที่ไม่สักแต่ว่าสั่ง แต่พระองค์ท่านทรงทำเอง ฉะนั้น ใครจะตำหนิพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เลยว่าดีแต่สั่ง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียกร้องจากเรา พระองค์ท่านเรียกร้องจากพระองค์เองก่อน

“พระองค์ทรงงานหนักเป็นตัวอย่าง เพราะ งานที่ท่านทรงทำไม่ใช่เพื่อพระองค์เอง ท่านรักษาสัญญาของพระองค์ท่านที่ให้กับประชาชนเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์อย่างไม่เคยผิด ไม่เคยเคลื่อนที่ทรงประกาศว่า ?เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม? พระองค์ทำอย่างนั้นมาตลอด

“พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯกลับจากเยี่ยมชาวบ้านแต่ละครั้งไม่ได้กลับมาแล้วทิ้งปัญหา พระองค์ท่านเอาปัญหากลับมาขบที่ในวังเสมอ บางครั้งเสด็จฯกลับมาแล้วดึกดื่น เที่ยงคืนยังไม่บรรทม เรื่องบรรทมดึกเป็นเรื่องปกติของพระเจ้าอยู่หัว และอยู่กับสิ่งเหล่านี้ บางทีตีสอง ตีสามไปแล้ว ยังได้ยินเสียงวิทยุ ลงมาถามเลยว่าตอนนั้นใครพูดว่าอะไร… จำได้ไหม อย่างนี้เสมอเวลาอยู่ในวัง พระองค์ไม่ทิ้งปัญหา แก้ให้เขาต่อเนื่อง

พระองค์ท่านใช้อิทธิบาท 4 คือ มีฉันทะ แปลว่า ท่านโปรดงานนั้น งานที่ทำให้ประเทศชาติท่านโปรด และมีวิริยะคือความบากบั่นที่จะแก้ปัญหา มีจิตตะ คือการมีสมาธิเอาใจจดจ่อกับเรื่องนั้นไม่มีคลาดเคลื่อน มีวิมังสา คือการติดตาม ประเมินผล ดังนั้น จะทำเองหรือคนอื่นทำ พระองค์ท่านต้องตาม ถ้าแก้ไม่ได้ เพราะอะไรพระองค์ท่านก็เอาข้อนี้กลับมาทบทวนแก้ใหม่”

มากกว่าการสั่งสอนด้วย “คำพูด” ตลอด 70 ปี ที่ผ่านมา “พ่อ” สอนเราด้วยการลงมือทำ “ทำ ทำ และทำ” ทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง

ยิ่งฟัง ยิ่งดู ยิ่งอ่าน ยิ่งคิดถึงพ่อ

เราต่างมีพ่อคนเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image