อาศรมมิวสิก : ‘BMO : อีกหนึ่งความหวังทางดนตรีดีๆ ในวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ’

เรื่องของความสดชื่นมีชีวิตชีวาในดนตรีนั้น มีอะไรๆ ที่คล้ายๆ กับการกีฬาอยู่บ้างกล่าวคือ ในเรื่องของจิตวิญญาณ (ที่เรียกกันว่า “สปิริต”) และการทุ่มเท ทีมฟุตบอลอาชีพระดับรวมดาราในการแข่งขันบางรายการก็อาจดูเนือยๆ อ่อนล้าไม่ออกรสชาติทั้งๆ ที่มีนักฟุตบอลชั้นเลิศค่าตัวแพงๆ อยู่ทั้งทีม วงออเคสตราระดับโลกในบางรายการที่ต้องอ่อนล้าจากการออกตระเวนแสดงในหลายๆ ประเทศติดๆ กันก็อาจออกอาการเนือยๆ บรรเลงอย่างจืดชืดไปได้ทั้งๆ ที่ประกอบไปด้วยนักดนตรีระดับปรมาจารย์ทั้งวง เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาในบางรอบของการบรรเลงดนตรีหรือในบางรายการของการแข่งขันกีฬา เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้ชมไม่ปรารถนาจะพบพาน ในทางตรงกันข้ามทีมฟุตบอลหรือวงออเคสตราระดับเยาวชนที่นักกีฬาหรือนักดนตรีที่ยังไม่มีชื่อเสียงกำลังอยู่ในช่วงสะสมประสบการณ์นี่แหละ ที่กลับเป็นการแสดงหรือการแข่งขันที่เต็มไปด้วยสปิริตและการทุ่มเท มันจึงเป็นรายการที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวาสร้างคุณค่า,สร้างความสดชื่นและแรงบันดาลใจให้กับกองเชียร์ หรือผู้ชมดนตรีได้คุ้มค่าอย่างเกินคาดอยู่เสมอๆ

เรื่องราวที่เกริ่นนำไปข้างต้นนี้เกิดขึ้นในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2565 เวลา 15.00 น. ณ อาคารแสดงดนตรีจุฬาภรณ์พิศาลศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯนี่เอง เป็นการแสดงคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกครั้งที่ 2 ของ “วงดุริยางค์แห่งกรุงเทพมหานคร” (Bangkok Metropolitan Orchestra) นี่เป็นเพียงครั้งที่สองของวงดนตรีนี้นับแต่การก่อตั้งวงในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563 และต้องประสบกับวิกฤตการณ์โควิด-19 มาตลอดระยะเวลาปีกว่าๆ เชื่อเถิดว่าผู้รักดนตรีในกรุงเทพฯเองก็อาจไม่รู้จักวงออเคสตราวงนี้ วงที่กำเนิดขึ้นด้วยความปรารถนา (และการดิ้นรน) อันแรงกล้า ของข้าราชการเพียงหยิบมือเดียวในสังกัดกองการสังคีต สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ข้าราชการกลุ่มนี้ยังจัดเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่จบการศึกษามาทางดนตรี และปรารถนาจะให้มีวงออเคสตราในสังกัดหน่วยงานราชการเล็กๆ นี้เกิดขึ้นได้ ภายใต้เงื่อนไขและงบประมาณอันแสนจำกัด ทำอย่างไรจะใช้เงินงบประมาณที่มีอยู่จำกัดและระเบียบราชการที่ยังไม่เปิดโอกาสมากนักจัดการบริหารให้เกิดวงออเคสตราสังกัดกรุงเทพมหานครได้จริงๆ

และในที่สุดก็เป็นเสมือนวลีภาษิตสอนใจในภาษาละตินที่กล่าวว่า “Labor Omnia Vincit” หรือที่อาจพอจะแปลเป็นภาษาไทยในใจความว่า “ความเพียรย่อมชนะซึ่งทุกสิ่ง” พวกเขาสามารถใช้ระเบียบราชการและเงินงบประมาณที่ยังจำกัดบริหารจัดการก่อตั้งวงออเคสตราในสังกัดกรุงเทพมหานครจนเป็นผลสำเร็จ มีศิลปินนักดนตรีหนุ่มๆ สาวๆ ลูกหลานชาวไทยล้วนๆ ที่เพิ่งจะจบการศึกษามาเป็น “อาสาสมัคร” ร่วมบรรเลงด้วยค่าตอบแทนที่แม้อาจจะดูน้อยนิด (อย่างน่าน้อยใจแทนพวกเขา) แต่นี่คือโอกาสอันดี ที่ศิลปินดนตรีหนุ่มสาวเหล่านี้จะได้มีโอกาสร่วมบรรเลงดนตรีคลาสสิกในลักษณะวงออเคสตราที่พวกเขารัก ทุ่มเท,ร่ำเรียนฝึกฝนมาตลอดชีวิต ทั้งหมดนี้มันคือสภาพเงื่อนไขอันเป็นอุดมคติขั้นเริ่มต้นของแนวคิดดนตรีดีๆ สำหรับชุมชน วงออเคสตราดังๆ ทั่วโลกล้วนก่อกำเนิดขึ้นจากสภาพการณ์อันเป็นอุดมคติเช่นนี้ก่อนนั่นคือความร่วมมือของผู้คนในชุมชน

รายการบทเพลงที่คัดเลือกมานั้นมีการผสมผสานอย่างพอเหมาะพอดีกับการพิสูจน์ความสามารถเชิงเทคนิคของนักดนตรี และศิลปะการตีความ ที่พวกเขาทุ่มเทและพิสูจน์ว่า เป็นคอนเสิร์ตที่สร้างพลังและแรงบันดาลใจแก่ผู้ชม (และตัวพวกเขาเอง) ได้อย่างเต็มเปี่ยม เริ่มต้นรายการอย่างท้าทายด้วยบทโหมโรง “Candide Overture” ผลงานของ “เลโอนาร์ด
เบิร์นสไตน์” (Leonard Bernstein) งานดนตรีที่แสนจะคมคาย,ท้าทายระเบียบวินัยและความพร้อมเพรียงและความเป็นหนึ่งเดียวกันของนักดนตรีเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นการออกตัวการแสดงที่สร้างขวัญและกำลังใจอย่างดียิ่งสำหรับทั้งนักดนตรีและผู้ชม พวกเขาบรรเลงได้อย่างเต็มไปด้วยพลังและแรงบันดาลใจ สูงด้วยระเบียบวินัยและความพร้อมเพรียงอย่างเกินคาด แนวทำนองที่สอง (2nd Theme) ที่เบิร์นสไตน์ เขียนให้มีลักษณะทยอยไล่ล้อกันนั้น ต้องใช้คำว่า “ออกมาเป็นชั้นๆ” ทีเดียว กลุ่มเครื่องสายที่บรรเลงได้อย่าง “ไร้ตะเข็บ” ไม่มีอะไรหลุดลุ่ยให้เกะกะโสตประสาทเลย แน่นอนที่สุดความดีส่วนหนึ่งต้องยกให้กับ “สรพจน์ วรแสง”
ผู้อำนวยเพลงที่แม้จะยังชั่วโมงบินต่ำ แต่การทุ่มเท,ศึกษาสกอร์เตรียมงานมาอย่างดี จึงนำพาการแสดงในครั้งนี้ไปสู่ความสำเร็จที่น่าชื่นชม

Advertisement

บทเพลงที่สองของรายการคือ “Premiere Rhapsodie” สำหรับบรรเลงเดี่ยวปีคลาริเน็ต (Clarinet) และวงออเคสตราผลงานการประพันธ์ของ “คลอด เดอบุซซี” (Claude Debussy) นักประพันธ์ดนตรีคนสำคัญแห่งลัทธิอิมเพรสชันนิซึม(Impressionism) ที่อวดสีสันทางดนตรีอันให้ความรู้สึก “เสมือนฝัน” ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ในบทเพลงนี้ก็เช่นเดียวกัน การแสดงในครั้งนี้ยังทำให้รู้ว่า บ้านเรายังมีนักดนตรีในระดับฝีมือดีอย่างคาดไม่ถึง ที่ผู้ชมผู้ฟังยังไม่รู้จักอีกไม่น้อย พวกเขารอคอยแค่โอกาสเท่านั้นเอง ศิลปินเดี่ยวคลาริเน็ตในครั้งนี้คือ “ดร.ณัฐพล เบญจธรรมนนท์” ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักทั้งชื่อและฝีไม้ลายมือ บทเพลงนี้แม้จะมีความยาวไม่มากนัก หากเทียบกับบทเพลงเดี่ยวประเภทคอนแชร์โตทั่วๆ ไป แต่เดอบุซซีผู้แต่งเพลงบรรจุเนื้อหาดนตรีทั้งส่วนของแนวเดี่ยวคลาริเน็ตและวงออเคสตราไว้ได้อย่างอัดแน่น วงออเคสตราที่ให้สีสันแบบ “ฝันเฟื่อง” เสน่ห์เฉพาะตัวอย่างหนึ่งของดนตรีแนวอิมเพรสชันนิซึมนี้ก็คือ มันมีข้อจำกัดอย่างสูงต่อการถ่ายทอดผ่านระบบบันทึกเสียงชั้นดีใดๆ ที่มีอยู่ อย่างน่าประหลาด เป็นดนตรีที่ราวกับถูกสาปมาให้ผู้ฟังต้องไปนั่งฟังในการบรรเลงจริงๆ เท่านั้น จึงจะสัมผัสกับสัมฤทธิผลแห่งลัทธิประหลาดทางเสียงดนตรีนี้ได้ เป็นความแปลกประหลาดที่ดนตรีสกุลอื่นๆ ไม่ถูกจำกัดต่อสภาพการณ์ทางสุนทรีย์นี้

ดร.ณัฐพล เผยศักยภาพของบทเพลงได้อย่างหมดจด ทั้งสีสันเฉพาะตัวของแนวบรรเลงเดี่ยวที่เดอบุซซีทำราวกับจะบอกกับ “โมซาร์ท” (W.A.Mozart) ผ่านบทเพลงนี้ว่า “…..เรียนท่านโมซาร์ทที่เคารพ ผมเองค้นพบสีสันและบุคลิกภาพใหม่ๆ ของปี่คลาริเน็ตได้แล้วนะ มันคือสิ่งที่ท่านยังไม่ได้บรรจุไว้ในบทเพลงคอนแชร์โตของท่านเลย….” ดร.ณัฐพลเผยความงามทั้งในด้าน “ความเป็นเดอบุซซี” และ “ความเป็นคลาริเน็ต” มันมีทั้งการอวดสีสันเฉพาะตัวของเครื่องดนตรี มีทั้งการอวดเทคนิคขั้นสูง,ความเร็ว,ความแม่นยำพลิกผันอย่างหลากหลายแบบแนวคิดแฟนตาซี (Fantasy) วง BMO ภายใต้การควบคุมวงของ สรพจน์ วรแสง บรรเลงประกอบแสดงสีสันแบบฝันเฟื่องของเดอบุซซีได้อย่างน่าชื่นชม นี่คือผลงานดนตรีที่ท้าทายความสามารถในการแสดงออกแห่งสีสันทางเสียงของวงออเคสตราอยู่อย่างมากทีเดียว

บทเพลงเอกปิดท้ายรายการคือ ซิมโฟนีหมายเลข 7, ผลงานลำดับที่ 92 ของ “เบโธเฟน” (Ludwig van Beethoven) ผู้เขียนแอบอุทานในใจคนเดียวแบบดังๆ ว่า “อะไรเนี่ย….เบอร์ 7 อีกแล้วเรอะ!” มันเป็นผลงานที่ฟังการแสดงสดในคอนเสิร์ตจริงๆ ในเมืองไทยมาจนแทบจะนับครั้งไม่ถ้วน และนี่ก็ไม่ใช่ซิมโฟนีเบอร์โปรดโดยส่วนตัวของผู้เขียนเลย แต่แล้วด้วยสปิริตการทุ่มเทสมาธิอย่างจดจ่อตลอดบทเพลงของนักดนตรีหนุ่ม-สาวในวง BMO และการกำกับวงที่ทำงานได้อย่างเรียบร้อยน่าชื่นชมของสรพจน์ วรแสง มันเป็นสิ่งที่ตรงกับสำนวนฝรั่งที่ยังหาคำแปลเป็นไทยได้ยังไม่ลงตัวพอว่า “ปลดอาวุธ” (Disarm) อันหมายถึง เปลี่ยนความรู้สึกคับข้องใจ,ขุ่นเคืองใจให้กลายเป็น ความเบิกบาน,ชื่นชม และกลับมามีชีวิตชีวาได้อย่างน่าประหลาดใจ ความขัดเคืองที่เลือกผลงานชิ้นนี้มาปิดท้ายรายการ กลับกลายเป็นการจุดประกาย ,เปิดมุมมองใหม่ๆ สำหรับผลงานชิ้นนี้สำหรับตัวผู้เขียน

Advertisement

ในท่อนแรกที่เปิดช่วงการบรรเลงนำ (Introduction) ขึ้นมาในจังหวะช้า ก่อนจะเข้าสู่การเปิดแนวทำนองหลัก (Exposition) พวกเขาเผยลักษณะศิลปะการบรรเลงที่ขออนุญาตใช้ภาษาฝรั่งว่า “Take and Give” ได้อย่างดีเยี่ยม มันทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลินงดงาม,ไม่รู้สึกน่าเบื่อกับส่วนนำนี้ได้อย่างน่าแปลกใจ จังหวะหลักๆ ของดนตรีในท่อนนี้อยู่ในลักษณะคล้ายๆแบบเพลงเต้นรำ ที่ฟังดูไม่แข็งกระด้างจนเกินไปซึ่ง นี่เป็นคุณลักษณะของ “ซิมโฟนีหมายเลขคี่” ที่แสดงลักษณะเพศชายชัดเจนแบบที่ “โรเบิร์ต ชูมันน์” (Robert Schumann) เคยตั้งข้อสังเกตไว้ แต่การบรรเลงและการตีความของ BMO ในครั้งนี้ลดความกระด้างในแง่นี้ลงไปได้อย่างน่าชื่นชม

ในท่อนที่สอง พวกเขาแสดงถึงศิลปะของแนวคิด “Ensemble” (ศิลปะแห่งการบรรเลงดนตรีอย่างกลมกลืน) ได้น่าชื่นชม การสอดแนวทำนองรอง (Counter Melody) เพื่อหนุนแนวทำนองหลักของกลุ่มเครื่องสายเสียงกลางๆ สร้างระดับชั้นทางเสียงได้อย่างน่าสนใจ ในท่อนที่ 3 ที่อยู่ในลักษณะสแกร์โซ (Scherzo) ที่ในพจนานุกรมดนตรีทั้งไทย-ฝรั่งให้ไว้ตรงกันว่า “ตลก” (Joke) ที่ผู้เขียนเองไม่ค่อยพอใจนักกับคำแปลนี้นัก สแกร์โซ เป็นดนตรีที่ท้าทาย และสร้างความประหลาดใจแบบกะทันหัน และนี่เป็น “สแกร์โซ” ที่เบโธเฟนเขียนไว้ได้อย่างตรงนิยามความหมายทีเดียว มันท้าทายความพร้อมเพรียงของนักดนตรีแบบทันทีทันใด แบบที่เรียกกันว่า “ซูบิโต” (Subito) ให้ความรู้สึกแบบนักดนตรีเล่น “จ๊ะเอ๋” กันทางดนตรี สรพจน์ วรแสงกำกับความพร้อมเพรียงได้อย่างแม่นยำ สังเกตดูว่าในท่อนนี้เขาก้มหน้าดูสกอร์ดนตรีอย่างระมัดระวังด้วยความไม่ประมาทคะนอง ในท่อนสุดท้ายนี่นักดนตรีหนุ่ม-สาวจุดไฟลุกโชน เต็มไปด้วยความแม่นยำพร้อมเพรียง จนนึกไปถึงคำเปรียบเปรยในหมู่นักดนตรีเครื่องสายที่พูดกันว่า สีให้ร้อนแรงจน “ควันจากยางสนลอยกรุ่น” การบรรเลงในท่อนสุดท้ายเป็นความรู้สึกอะไรในทำนองนั้นแล

ไม่ใช่จะมีแต่สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น ความน่าคับข้องใจที่ผู้เขียนขอเรียกร้องแทนนักดนตรีหนุ่ม-สาวพวกนี้ก็คือบรรดา “ข้อจำกัด” ทั้งหลายที่ควรจะมี “ผู้ใหญ่ใจดี” ลงมาช่วยกันเอื้ออำนวยให้พวกเขามากกว่านี้ ประการสำคัญที่สุดก็คือ “ห้องแสดงดนตรี” ที่ไม่เป็นธรรมกับความตั้งใจและคุณภาพการแสดงของพวกเขา ห้องแสดงนี้เต็มไปด้วย “แผ่นดูดซับเสียง” เต็มห้องไปหมด ทำให้เสียงออกมาแห้งจนน่าเสียดายกับคุณภาพเสียงที่ยังไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก พวกเขาควรได้มีโอกาสบรรเลงในห้องแสดงที่เหมาะสมอย่าง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หรือ มหิดลสิทธาคาร นั่นจะสร้างเงื่อนไขที่ยุติธรรมกับพวกเขามากกว่านี้ โปรดอย่าลืมว่า การบรรเลงของวงซิมโฟนีออเคสตรานั้น คอนเสิร์ตฮอลล์ คือ “กล่องเสียง” ของวง อย่างปฏิเสธไม่ได้ วงออเคสตราระดับมืออาชีพจึงต้องมีการ “ซ้อมอะคูสติก” คือ ไปทดสอบคุณภาพเสียงของห้องแสดงก่อนการบรรเลงจริงอย่างขาดไม่ได้ นี่เป็นเงื่อนไขประการแรกที่ “วงแห่งกรุงเทพมหานคร” นี้ควรได้รับอย่างสมศักดิ์ศรี (ยังไม่อยากพูดถึงค่าตอบแทนที่น่าละเหี่ยใจแทนพวกเขา)

นี่คือวงดนตรีที่น่าให้โอกาสเป็นอย่างสูง,วงที่เกิดจากความตั้งใจจริงของนักดนตรี วาทยกรอย่างสรพจน์ วรแสง ที่ยังเหนียมอายและเจียมเนื้อเจียมตัวว่าตนนั้นยังอ่อนต่อประสบการณ์ในการกำกับวงออเคสตรา แต่เขาก็ได้พิสูจน์ความสำเร็จในบางส่วนแล้วกับปรัชญา “Labor Omnia Vincit” เขาไม่ใช่วาทยกรแบบ “นายท่าน” (Maestro) หากแต่เขาเป็นนักดนตรีทรอมโบนในวงออเคสตราที่สูงด้วยประสบการณ์นับสิบๆ ปี นั่นหมายความว่าเขามีดนตรีสถิตอยู่ในตัวไม่น้อยแล้ว ความอ่อนน้อมถ่อมตัว สร้างแรงศรัทธาและความร่วมมือร่วมใจจากน้องๆ ในวงได้เป็นอย่างดี ไม่มีนายท่าน ไม่มีวาทยกรระดับดาราที่ไหน มีแต่พี่ๆ น้องๆ เพื่อนๆ นักดนตรีคนหนุ่ม-สาวที่ปรารถนาโอกาสจะเล่นดนตรีคลาสสิกที่เขารักสู่ผู้ฟัง

ท่านผู้ว่าฯชัชชาติ สร้างปรากฏการณ์จุดไฟดนตรีสร้างความสุขให้กับคนกรุงเทพฯได้อย่างประสบผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชม นอกจากการเต้นรำ,ร้องเพลง อย่างสนุกสนานแล้ว ความปรารถนาสูงสุดของพวกนักดนตรีที่มีการศึกษาก็คือการทุ่มเทฝีมือสุดขีดเพื่อบรรเลงดนตรีแบบ “วิจิตรศิลป์” เช่นนี้ด้วย พวกเขาพร้อมแล้ว ผู้ฟังดนตรีในกรุงเทพฯควรได้โอกาสฟังดนตรีวิจิตรศิลป์ในราคาถูก (ครั้งนี้ไม่เก็บค่าผ่านประตู!) เพื่อให้ดนตรีวิจิตรศิลป์แบบนี้อยู่ในวิถีชีวิตคนเมืองได้เป็นปกติ,ธรรมดายิ่งขึ้น เชื่อเถิดในการนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณมากกว่าเดิมเท่าไหร่หรอก ขอแค่โอกาส,เงื่อนไขและความใส่ใจเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image