ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล เปิดบทสนทนาของ ‘คนเห็นต่าง’ ในวันที่สังคมไทยใกล้ถึงทางตัน

ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล เปิดบทสนทนาของ ‘คนเห็นต่าง’ ในวันที่สังคมไทยใกล้ถึงทางตัน

“เวลาที่คนเจอกัน สิ่งที่เราคิดว่าจะรุนแรงมันจะไม่เกิดขึ้น เพราะเราได้เห็นคนตัวเป็นๆ นั่งอยู่ตรงหน้า ได้เห็นปฏิกิริยาของแต่ละคน การตัดสินใจมาในงาน เหมือนทุกคนเตรียมใจมาแล้วระดับหนึ่งว่าจะต้องมาคุยกับคนที่คิดไม่เหมือนเรา”

ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล หรือ “แมรี่” ผู้จัดการโครงการมูลนิธิ ฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (Friedrich Naumann Foundation) กล่าวถึง โครงการ Thailand Talks 2022 ซึ่งนำพา ‘คนเห็นต่าง’ มาพบปะพูดคุยกันในชีวิต ไม่ใช่เพียงบนแพลตฟอร์ม หรือการตอบคำถามออนไลน์

“เมื่อเราได้มาคุยกันก็เป็นการได้ปลดปล่อยรูปแบบหนึ่ง เป็นวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยน ถกเถียง ที่อยากเห็นและอยากให้ทุกคนเห็นว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ทำได้เป็นธรรมชาติมากๆ ในสังคม” ดร.แมรี่เผยด้วยแววตามุ่งมั่น

โครงการดังกล่าว จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยได้แรงบันดาลใจโมเดล My Country Talks ในเยอรมัน ซึ่งมีการทดลองทำ ‘แบบสำรวจ’ ด้วย ‘คำถาม’ ในประเด็นที่ผู้คนในสังคมมีความเห็นที่แตกต่างกัน แล้ว ‘จับคู่’ ผู้ตอบคำถามที่คิดต่างมาพูดคุย ต่อมามีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อกิจกรรมนี้

Advertisement

หากให้อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คล้ายแอพพลิเคชั่นจับคู่หาคนรักที่ ‘แมตช์’ กัน เพียงแต่เป็นแนวทางตรงกันข้ามอย่างสุดขั้ว ไม่ใช่เพื่อหาคนรัก หากแต่เพื่อสร้างความเข้าใจเป็นสำคัญ

สำหรับโปรเจ็กต์ดังกล่าวในไทย มี ‘สื่อมวลชน’ เป็นผู้ร่วม ‘ออกแบบคำถาม’ ทั้งประเด็นเห็นต่าง ร้อนแรง และ ‘แหลมคม’ โดยเป็นไปตามกระบวนการของ My Country Talks รวมถึงซอฟต์แวร์ด้วย

“โปรแกรมจะทำการจับคู่คนที่เห็นต่างกันมากที่สุดให้ได้มาเจอกัน”

Advertisement

ดร.แมรี่เล่าโดยมีฉากหลังเป็นโลโก้รูปตัว F สื่อถึง Freedom นั่นคือ เสรีภาพ ตามภารกิจหลักของมูลนิธิ ทั้ง 4 ประเด็น ได้แก่ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และเสรีภาพทางเศรษฐกิจ

ก่อนนั่งเก้าอี้ผู้จัดการโครงการมูลนิธิ ฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย เคยทำงานให้มูลนิธิแห่งนี้ในมาเลเซียเป็นเวลาถึง 6 ปี ได้คลุกคลีและทำงานร่วมกับรัฐสภาและนักการเมืองหลายพรรค เมื่อสำนักงานประเทศไทยเปิดรับสมัครจึงย้ายกลับมาตุภูมิ

ดร.แมรี่ เกิดในครอบครัวนักธุรกิจ จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สายศิลป์-ภาษาฝรั่งเศส ก่อนเลือกศึกษาต่อยังคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตามคำแนะนำของคุณพ่อ ขณะที่ส่วนลึกในใจอยากเรียนสายรัฐศาสตร์หรืออักษรศาสตร์

“ด้วยความที่จบศิลป์ ภาษาฝรั่งเศส ก็อยากจะเรียนสายรัฐศาสตร์ หรืออักษรศาสตร์ แต่ก็ฝืนเรียนบริหารจนจบ 4 ปี พอดีกับช่วงที่น้องสาวกลับมาจากอังกฤษ แนะนำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งไม่ต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับวิชาเลข เราไม่น่าจะต้องทุกข์ทรมานมาก”

เพียงครั้งแรกที่ได้เรียนรัฐศาสตร์ ณ Aberystwyth University ประเทศเวลส์ ก็รู้ทันทีว่า นี่แหละ ‘ใช่’ เมื่อจุดมุ่งหมายแจ่มชัด จึงเดินต่อไปในเส้นทางสายรัฐศาสตร์ ศึกษาต่อจนคว้าปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยแอเบอร์ดีน สกอตแลนด์

เคยเป็นอาจารย์สาขารัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ และทดลองทำงานอื่นๆ อีกหลากหลาย แต่ก็ยังไม่เจองานที่ ‘ใช่’ อย่างแท้จริง กระทั่งได้งานที่มูลนิธิ ฟรีดริช เนามัน มาเลเซีย และไทยแลนด์ตามลำดับ

“ที่นี่คือองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการเมือง ซึ่งภูมิหลังเรามีเรื่องเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศมาโดยตลอด เมื่อได้เห็นผลงานของมูลนิธิในเว็บไซต์ เห็นการทำงานกับนักนโยบาย นักการเมือง และพรรคการเมือง ซึ่งคนที่เรียนมาสายนี้เราจะมีความรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นในระดับนโยบายแบบนั้นแหละ แต่พอมาเมืองไทย มันเปลี่ยนไปเยอะมากเหมือนกัน เราไม่ทำงานกับพรรคการเมืองและไม่ได้ทำงานในเชิงนโยบายแบบนั้น”

ถามว่า เคยเรียนบริหารธุรกิจมา เคยคิดทำงานสายธุรกิจหรือไม่ ? ดร.แมรี่ตอบชัดเจนว่า ไม่ใช่ ‘แพสชั่น’

“เคยทำงานที่สายการบินหนึ่ง แต่ก็จะถูกจับไปอยู่ด้านต่างประเทศตลอด และแพสชั่นของเราไม่ได้อยู่กับเรื่องตัวเลขของกำไรหรือขาดทุน ถ้าเป็นเรื่องสังคม การเมือง สามารถทำได้เรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

การทำงานใน 2 บทบาทให้ความรู้สึกต่างกันมาก ตอนอยู่ภาคธุรกิจเราจะไม่ได้คิดเรื่องสังคม แต่เป็นเรื่องการตลาด กิจกรรมเพื่อภาพลักษณ์องค์กร แต่เมื่อมาทำงานภาคประชาสังคมมันยึดโยงกับเรื่องของชุมชนหรือสังคมจริงๆ เช่น เรื่องการศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม หรือประเด็นที่สำคัญๆ ในสังคม และคิดว่ามันไปแตะกับหลากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และกลุ่มเปราะบาง ในขณะที่ภาคธุรกิจถ้าเราทำอุตสาหกรรมไหน มันขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นลูกค้าเรา”

จากบทสนทนาเส้นทางชีวิต มาโฟกัสที่โครงการ Thailand Talks 2022 ที่เตรียมนับถอยหลังตัดริบบิ้นเริ่มลงทะเบียนในวันที่ 14 สิงหาคมนี้

● ขอเปิดประเด็นที่จุดเริ่มต้นของโครงการ Thailand Talks 2022 ว่ามีความเป็นมาอย่างไร?
10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีแต่ความขัดแย้ง หาทางออกไม่ได้ ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง จากที่เราเคยมีการตั้งคณะกรรมการต่างๆ ปัจจุบันมันใช้ไม่ได้ สถาบัน องค์กรที่มีไว้แก้ความขัดแย้งกลับไม่เป็นที่ยอมรับ หลายคนพยายามแสวงหาหนทางที่จะออกจากความขัดแย้ง ตัวเองมีโอกาสได้ไปอยู่ในหลายๆ วงสนทนาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม ก็มีความรู้สึกว่ามันเกือบจะถึงทางตันแล้ว เลยได้พูดคุยกับ เฟรดเดอริค ชปอร์ หัวหน้าโครงการประเทศไทยและเมียนมา ซึ่งเขาได้นำเสนอโมเดล My Country Talks ซึ่งมีที่มาจากปี 2017 แม้กระทั่งปัจจุบัน ประเทศเยอรมนีมีความขัดแย้งในสังคม เรื่องผู้อพยพหรือการทะลักเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ จนทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมจนแบ่งขั้วแบ่งข้าง สื่อออนไลน์ของประเทศเยอรมนีจึงได้คุยกันว่าสื่อจะทำอะไรได้บ้างให้สังคมเดินไปข้างหน้าได้ จึงได้ลองทำแบบสำรวจโดยหาประเด็นที่คนเห็นต่างกันในสังคมแล้วจับคู่คนที่เห็นต่างให้ได้มาคุยกันเพื่อทำความเข้าใจ

เมื่อผลตอบรับดีจึงได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อกิจกรรมนี้ หลักการของซอฟต์แวร์นี้คือ สื่อที่ร่วมเป็นภาคีจะนำคำถามที่คัดเลือกแปะไว้ในเว็บไซต์หรือบทความที่เกี่ยวข้องกับประเด็นคำถาม จากนั้นจะให้เลือกว่าอยากเข้าร่วมกิจกรรมคุยกับคนเห็นต่างหรือไม่ หากสนใจชื่อจะถูกเก็บไว้ในระบบ เมื่อเปิดลงทะเบียนครบ 1 เดือน โปรแกรมจะทำการจับคู่คนที่เห็นต่างกันมากที่สุดให้ได้มาเจอกัน โดยจะมีการส่งโปรไฟล์ที่มี ชื่อ อายุ เพศ สถานที่ และคำตอบ ให้ทั้งคู่ดูว่าอยากที่จะคุยกันหรือไม่ จากนั้นจะให้นัดเจอกันในวันที่โครงการ My Country Talks จัดไว้ บางคู่ก็มีการขับรถไปเจอกันหรือนัดเจอกันตามที่สาธารณะ

เมื่อเราได้ฟังเขาเล่าก็มีความรู้สึกว่าประเทศไทยไม่มีพื้นที่พูดคุยแบบนี้ น่าจะดีเหมือนกันที่จะลองทำแบบนี้ดู แต่ข้อจำกัดคือเราต้องทำกับสื่อเท่านั้น เพราะสื่อสามารถเข้าถึงคนได้มากกว่าเราที่เป็นองค์กรต่างประเทศและมีขนาดเล็ก เลยชวนสื่อมาและร่วมกันออกแบบคำถามตามกระบวนการของ My Country Talks รวมถึงซอฟต์แวร์ด้วย โดยการเลือกสื่อที่จะมาเข้าร่วมคือจะต้องเป็นสื่อที่ครอบคลุมความคิดเห็นของคนในสังคม สมมุติเรามี สำนักข่าววอยซ์ทีวี เราก็ควรที่จะมีสำนักข่าวผู้จัดการ เป็นการป้องกันว่าเราจะไม่มีชุดคำถามที่เป็นอคติเพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

● กระบวนการในการออกแบบคำถามเป็นอย่างไร มีข้อจำกัดหรือไม่?
เรื่องการออกแบบคำถามต้องระมัดระวังมาก เพราะของฝั่งยุโรปมีมิติทางสังคมที่ต่างจากเรา การออกแบบคำถามเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในการจัดทำโครงการ Thailand Talks เพราะคำถามจะต้องออกไปสู่สาธารณะ ในปีที่แล้วก็มีการดึงคำถามบางคำถามออก ซึ่งเป็นคำถามที่คิดว่าจะสร้างความขัดแย้งมากกว่าเดิม เพราะคนเรามีหลากเฉดความคิดมากและในปีนี้เราได้เห็นเฉดของสื่อมากขึ้นด้วย คิดว่าบางคำถามอาจต้องมีการแปลงให้ดูเบาลง

● จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว ไฮไลต์สำหรับ Thailand Talks 2022 มีอะไรพิเศษ?
Thailand Talks 2022 ส่วนแรกที่เพิ่มขึ้นมาในปีนี้จะมีการเชิญบุคคลที่อยู่ต่างขั้วทางการเมืองที่น่าจะตอบคำถามต่างกันได้มาพูดคุยให้เห็น โดยจะมี 2 คู่ คือ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และอดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เจอกับ พรรณิการ์ วานิช หรือ ‘ช่อ’ แกนนำคณะก้าวหน้า

อีกคู่ที่ดุเดือดไม่แพ้กันคือ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง หรือเอิร์ธ อดีตโฆษก กทม. เจอกับ พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ‘ไอติม’ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล

ส่วนที่สองจะมีกลไกพิเศษที่ช่วยให้คนแปลกหน้าได้เริ่มต้นบทสนทนาได้ง่ายขึ้น

ส่วนที่สามที่เพิ่มขึ้นและคิดว่าจะทำต่อๆ ไปคือเรื่องของการทำให้เห็นเป็นการวิจัยว่าปัจจัยอะไรที่สนับสนุนให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกันของผู้ที่เห็นต่างได้จริงๆ ซึ่งเราจะมีทีมวิจัยจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ มหาวิทยาลัยมหิดล มาทำงานร่วมกัน มีการสังเกตการณ์ และเข้าร่วมพูดคุยในครั้งนี้ และงานวิจัยจะต่อยอดไปถึงปีหน้า

● คำถามที่จะยิงให้แขกรับเชิญจากแวดวงการเมือง พอจะแย้มเป็นน้ำจิ้มได้ไหม?
เราจะใช้กลไกของโครงการเลยคือจะให้ทั้ง 4 คน ตอบคำถาม 7 คำถามที่เตรียมไว้ โดยเป็นประเด็นร้อนที่มีการถกเถียงกันในสังคมไทย และมีการให้พูดคุยในประเด็นคำถามที่ตอบต่างกันว่าแต่ละคนมีมุมมองอย่างไร

● ย้อนไปถึงผลตอบรับของโครงการในปีที่แล้วซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมครั้งแรก มีอุปสรรคหรือจุดอ่อนที่จะนำมาแก้ไขในปีนี้หรือไม่?
เรากลัวเรื่องฟีดแบ๊กมากที่สุดในโลก เนื่องจากกลุ่มคนที่ลงทะเบียนมาเจอกันที่งานมีทั้งหมด 40 คน สิ่งที่กลัวที่สุดคือคนอีกจำนวนมากเกือบร้อยคนที่ไปนัดเจอกันเอง เพราะเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านั้นบ้าง แต่ก็มีจำนวนเกินครึ่งที่ถ่ายเซลฟี่หรืออีเมล์ส่งมาให้ว่าเจอกันแล้ว และมีประมาณ 80 คนที่ส่งฟีดแบ๊กมาซึ่งก็จะเป็นการบอกว่าคำถามไม่ชัดเจนและเจอแต่คนที่คิดเหมือนกัน ซึ่งปีนี้ก็จะแก้ให้ตอบต่างกันมากขึ้นจึงจะได้เจอกัน หรือบางคู่ในปีที่แล้วเมื่อมาเจอกันก็ไม่รู้จะคุยอะไรกัน ปีนี้จึงจะมีกลไกพิเศษว่าจะต้องคุยแบบไหน

สำหรับสิ่งที่อยากจะเพิ่มเติมในปีนี้คือเรื่องของการประชาสัมพันธ์ นอกจากให้สื่อช่วยประชาสัมพันธ์แล้วอาจมีการไปลงตามโซเชียลมีเดียต่างๆ มากขึ้น อาจจะต้องมีหลายชั้นมากขึ้น

● อยากให้กลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนเข้าร่วมโครงการนี้ด้วยหรือไม่?
สนใจมากๆ เคยได้คุยกับองค์กรหนึ่งซึ่งแนะนำวิธีการใช้บัตรประชาชนนำมาทำในระบบเหมือนกันโดยที่ไม่ต้องใช้สมาร์ทโฟนก็ได้ ซึ่งจริงๆ เป็นความใฝ่ฝันของมูลนิธิเลยที่อยากเห็นคนหลากหลายอาชีพ เช่น คนส่งอาหาร คนขับแท็กซี่ คนค้าขาย ได้สละเวลามาคุยกับอีกคนหนึ่ง ซึ่งบ้านเรามีพื้นที่การสนทนาแบบนี้น้อยมาก

● อยากให้ลองวาดภาพว่าโครงการนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือขับเคลื่อนสังคมอย่างไรได้บ้าง?
ภาพใหญ่ที่ตั้งไว้คือเราคิดเรื่อง New Dialogue Culture จริงๆ เรื่องของการแสดงออกก็ค่อนข้างทะลุเพดานไปมากแล้วเหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นเพียงเฉพาะบางกลุ่มหรือเป็นเฉพาะคนรุ่นใหม่เท่านั้น อยากให้เรื่องของการสนทนากลายเป็นวัฒนธรรม เราไม่ต้องกลัวว่าคนที่เห็นต่างจะคุยกันไม่ได้จนกลายเป็นว่าต้องลงถนนอย่างเดียว ถ้าหากเราทำได้จะเป็นฐานว่าคิดต่างกันให้คุยกันไปเลยไม่ต้องทะเลาะกัน เราไม่ต้องชนะกันก็ได้ ไม่ต้องจบลงที่มีคนผิดหรือมีคนถูก วัฒนธรรมแบบนี้ต้องสร้าง และคิดว่า Thailand Talks จะเป็นบันไดขั้นศูนย์ ขั้นเตรียมพร้อมของสังคมให้เข้าใจว่าสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้และเราไม่ต้องกลัว

● โครงการที่อยากจะทำในอนาคตสำหรับมูลนิธิฯมีอะไรบ้าง?
ที่ผ่านมาเราให้ความรู้ผ่านบอร์ดเกมและการ์ดเกม เป็นการย่อยชุดความรู้ออกมาในรูปแบบของเกม เพราะว่ามันย่อยง่าย รูปแบบการเรียนรู้ของคนในปัจจุบันเปลี่ยนไป เรามีความสนใจอยู่กับอะไรที่เป็นเลคเชอร์หรือการฟังคนคุยกันน้อยมาก แต่ถ้าได้เรียนรู้จากการหยิบจับหรือมีประสบการณ์จะเข้าใจได้มากกว่าการท่องจำ การเห็น หรือการฟัง เราคิดว่าการที่มีบอร์ดเกมหรือการ์ดเกมคือเรายังคงหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน หรือเรื่องที่อยากจะส่งเสริม ทุกอย่างยังอยู่ครบถ้วนแต่สิ่งที่เราได้มากกว่านั้นคือให้คนได้มีประสบการณ์กับเรื่องนั้นๆ จริง เราลองทำมาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เห็นว่าเกมไม่ได้ถูกใช้เฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เมื่อนำไปใช้จริงๆ กับคนวัยทำงาน ภาคประชาสังคม หรือแม้กระทั่งผู้บริหารองค์กรของภาครัฐ พบว่าเกมสามารถทำงานได้ดี กระบวนการให้ความรู้ผ่านเกมไม่ได้น้อยไปกว่าการให้วิทยากรมานั่งพูดให้เราฟัง หรือครูเลคเชอร์ให้เด็กฟังในห้องเลย

ในอนาคตต่อไปจะออกมาในรูปแบบของดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น เราทำร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในรูปแบบเว็บไซต์ขนาดเล็กที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิพลเมืองกับสิทธิทางการเมือง และการทำชุดความรู้ในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์มในเรื่องประชาธิปไตยด้วยซึ่งอาจจะทำร่วมกับโรงเรียนต่างๆ

● ผู้สนใจอยากมีส่วนร่วมกับโครงการ ต้องทำอย่างไรบ้าง?
จะมีการให้ลงทะเบียนตอบคำถามในวันที่ 14 สิงหาคมถึง 14 กันยายน เมื่อปิดลงทะเบียนจะมีการนำคำตอบของผู้ที่ลงทะเบียนมาประมวลว่าใครตอบอะไรบ้าง ผู้ที่ตอบต่างกัน 4 ข้อขึ้นไปจะถูกจับคู่และเชิญมาที่งาน ส่วนของผู้ที่ไม่มีคู่หรือตอบต่างกันไม่ถึง 4 ข้อ เราก็จะเชิญมาที่งานเช่นกัน และจะมีกลไกบางอย่างที่จะให้จับคู่กับคนที่มาร่วมกิจกรรมหน้างาน เพื่อจะได้ต่อยอดไปคุยกันต่อได้ โดยงานจะจัดขึ้นวันที่ 24 กันยายน ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป ที่ตึกสยามสเคป

● สิ่งสำคัญที่สุดที่คาดหวังจากโครงการนี้คืออะไร ต้องการให้อะไรกับสังคม?
เราอยากให้สังคมมีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยและคุยกันได้ คิดว่าไม่ใช่วิถีวัฒนธรรมของไทยที่จะมานั่งคุยกัน แต่เราคาดหวังว่าเขาจะสบายใจขึ้นที่ได้คุยและสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเปิดเผยและปลอดภัย

คำว่า เปิดเผยและปลอดภัย น่าจะเป็นสิ่งที่เราคาดหวัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image