เมื่อชัชชาติ ชนหมัด ศานนท์ เปลี่ยนวัฒนธรรม เมินอำนาจนิยม สร้างกรุงเทพฯ เป็นห้องเรียน

ไม่ใช่เพียงน้ำท่วม หนี้รถไฟฟ้า ถนนขรุขระ ขยะล้นเมือง ฝาท่อปิดไม่สนิท สายไฟ และสายสื่อสารระโยงระยาง ฯลฯ

แต่อีกประเด็นชวนหันสปอตไลต์ดวงใหญ่มาส่องฉายในกรุงเทพมหานครเวลานี้ คือ การศึกษาที่มีปมปัญหาหมักหมมมานาน

มองในภาพกว้าง ไม่ตีวงเฉพาะเมืองหลวง เกิดกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘นักเรียนเลว’ ก็แล้ว ‘ครูขอสอน’ ก็แล้ว ‘อะไรๆ ก็ครู’ ก็แล้ว และอีกมากมายที่พร้อมใจออกมาตีแผ่อุปสรรคมากมายในการเรียนรู้ของเด็กไทยใน พ.ศ.นี้ที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากวัฒนธรรมในยุคก่อนหน้า

แม้บางส่วนจะได้รับการแก้ไข แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกยาวนาน ยากปรับเปลี่ยนได้ในชั่วข้ามคืน

Advertisement

โดยเฉพาะทัศนคติที่ฝังลึกในดีเอ็นเอของครูบาอาจารย์บางส่วนที่ง่วนอยู่กับกฎระเบียบ เสื้อผ้า หน้าผมแบบสุดโต่ง ไม่ยึดโยงหลักสิทธิมนุษยชน แม้กฎกระทรวง ระเบียบโรงเรียน หรือข้อความอื่นใดที่เป็นลายลักษณ์อักษรจะทยอยถูกทำคลอดอย่างเป็นทางการ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ทว่า ในยุคที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และรองผู้ว่าฯ ที่ดูแลหน้าตักการศึกษามีชื่อว่า ศานนท์ หวังสร้างบุญ ประกาศปรับทัศนคติ เปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่ ประกาศใช้กรุงเทพฯ ทั้งจังหวัดเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ในหลากหลายศาสตร์ เน้นย้ำว่า ‘การเรียนรู้’ คือสิ่งสำคัญ ไม่เฉพาะกับเด็ก และเยาวชน หากแต่ทุกเพศ ทุกวัย ต้องได้เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดชีวิต

ในช่วงเวลาเพียง 60+ วัน แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครอย่างเป็นรูปธรรมหลากหลายประการ

Advertisement

นับเป็นการ ‘ชนหมัด’ ถูกคู่ ถูกที่ และถูกเวลา ในศักราชที่คนรุ่นใหม่ไม่ศิโรราบ ในห้วงเวลาที่สิทธิในเนื้อตัว ร่างกาย ทรงผม ถูกทวงคืนซึ่งอิสรภาพจากผู้เป็นเจ้าของ

ศานนท์ หวังสร้างบุญ ในเทศกาล ‘บางกอกวิทยา’

ศานนท์ ไม่ทน ปม ‘บูลลี่’ ที่ไหนก็เรียนรู้ได้

สิทธิในร่างกาย ห้ามละเมิด

ประเด็นที่ชวนให้เยาวชนไทยในเส้นเขตแดน กทม.ร้องเฮ! ล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดินแดนแห่งวาทะเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ศานนท์ รองผู้ว่าฯ เผยระหว่างปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘เยาวชนร่วมสมัยกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง’ ว่า กทม.เตรียมออกประกาศเรื่องสิทธิเด็กในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยรายละเอียดของประกาศเบื้องต้น จะมีการป้องกันการล่วงละเมิดสิทธิบนเนื้อตัวร่างกาย การป้องการ
ล้อเลียน หรือการบูลลี่ รวมไปถึงเรื่องสำคัญ คือ การให้นักเรียนไว้ทรงผมแบบผ่อนคลายมากขึ้น การแต่งกายชุดไปรเวตมาโรงเรียน 1 วัน อีกทั้งการผ่อนคลายเครื่องแบบลูกเสือเนตรนารี เป็นต้น

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาจากฝ่ายกฎหมาย เพื่อไม่ให้ขัดกับกฎระเบียบของทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยคาดว่าจะมีการลงนามประกาศในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

รองผู้ว่าฯ ขวัญใจคนรุ่นใหม่ ย้ำว่า กทม.เป็นพื้นที่กลางที่มีความหลากหลาย มีพื้นที่สำหรับเด็ก มีโรงเรียน 437 แห่ง มีห้องสมุด 34 แห่ง มีพิพิธภัณฑ์
ท้องถิ่น ศูนย์สร้างสุขทุกวัย หลายแห่ง อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ไม่ได้อยู่เฉพาะในห้องเรียน แต่เกิดขึ้นได้ทุกที่

“โรงเรียนสังกัด กทม.อีก 437 แห่ง มีห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ 34 แห่ง พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และศูนย์สร้างสุขทุกวัยอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งทุกพื้นที่ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่สำหรับการเรียน หรือการศึกษาเท่านั้น รวมทั้งตามที่ผู้ว่าฯชัชชาติ ได้พูดเสมอว่าการศึกษาไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้

อนาคตเราต้องมีทักษะการเรียนรู้ตลอดเวลา การเรียนรู้ไม่ได้เลือกเวลาเฉพาะในโรงเรียน การเรียนรู้ต่างๆ อยู่นอกห้องเรียนมากกว่าอยู่ในโรงเรียนด้วยซ้ำ

การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ร้านกาแฟ เกิดการเรียนรู้ทั้งสิ้น การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเราเปิดรับความหลากหลาย ไม่จำกัดว่าใครเป็นผู้ให้ความรู้ หรือใครเป็นผู้รับความรู้ การเปิดกว้างทางการเมือง เปิดกว้างความหลากหลาย เป็นเรื่องสำคัญที่ กทม.ต้องเปิดกว้างตรงนี้” ศานนท์ขีดเส้นใต้ ก่อนยกตัวอย่างที่ชวนให้อดยิ้มอ่อนไม่ได้ นั่นคือการเทียบเคียงจากกรณีแอพพลิเคชั่นดังอย่าง TikTok

“ส่วนตัวคิดว่าทุกคนสามารถเป็นผู้เรียนรู้ได้ ในเรื่องของ TikTok ก็ทำให้เห็นว่าผู้ใหญ่ก็ยังเป็นเยาวชนสำหรับโลกดิจิทัลเช่นกัน ผู้ว่าฯ ท่านจึงได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ ความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเมืองมากขึ้น กทม.ให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนรู้ ความหลากหลาย การมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเมือง”

ลงทุนน้อย ผลตอบแทนมหาศาล

ห้องเรียนดิจิทัล อาวุธสู้เหลื่อมล้ำ

จากคำกล่าวของศานนท์ ในประเด็นอันเกี่ยวเนื่องกับ ‘การเมือง’ เรื่อง ‘การศึกษา’ พาให้นึกย้อนถึงประเด็น ‘แจกแท็บเล็ต’ นโยบายในยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกบังคับทำหมันโดยรัฐบาล คสช. ไปอย่างน่าเสียดาย

ล่าสุด 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า ชัชชาติ ควง ศานนท์ หารือร่วมกับบริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) ในด้านความร่วมมือด้านการศึกษา ทดลอง ‘ห้องเรียนดิจิทัล’ เพราะอาวุธสู้เหลื่อมล้ำคือ การศึกษา

อดีตเจ้ากระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งวันนี้นั่งเก้าอี้พ่อเมืองกรุงเทพฯ เผยว่า กูเกิลทำวิจัยร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการเอาเทคโนโลยีมาใช้ในด้านการศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ในห้อง ซึ่งทาง กทม.มีความสนใจเหมือนกัน

“การนำเทคโนโลยีมาใช้ในห้องเรียน เป็นหนึ่งในนโยบายอยู่แล้ว ทั้ง 3 มิติ คือ 1.เพิ่มการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้นผ่านระบบออนไลน์ 2.ลดภาระของครู 3.ประมวลผลของโรงเรียนได้ดีขึ้น เมื่อโรงเรียนอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานได้ดีขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

สำหรับโครงการที่จะทำร่วมกันคือ ‘ห้องเรียนต้นแบบ’ ที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเต็มรูปแบบ มีการให้แท็บเล็ต ระบบการเรียนออนไลน์ ใช้ระบบคลาวด์แชร์ข้อมูลร่วมกัน ร่วมทั้งทำวิจัยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย โดยเลือกโรงเรียนระดับประถม ป.2-ป.4 ที่มีผลการเรียนระดับปานกลาง เพื่อให้เห็นพัฒนาการถึงช่วง ป.6 ได้ ซึ่งถ้าประสบผลสำเร็จ จะมีการขยายไปยังห้องเรียนอื่นๆ ได้ พร้อมกับการมีฐานข้อมูล เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ไม่ใช่หัวใจ เครื่องมือไม่สามารถหาคำตอบให้เราได้ ผู้ที่หาคำตอบคือ คน

“เครื่องมือเป็นเครื่องช่วยเฉยๆ แท็บเล็ตไม่ได้เป็นคำตอบของการศึกษา เป็นเพียงตัวช่วย ไม่ใช่ว่ามีแท็บเล็ตแล้วจะดีขึ้น แต่ต้องมีระบบนิเวศที่พร้อม ข้อดีของดิจิทัลคือ เมื่อทำสำเร็จหนึ่งห้องเรียน จะสามารถขยายผลได้อย่างรวดเร็ว เหมือนกับทราฟฟี่ฟองดูว์ สร้างการเปลี่ยนแปลงพลิกหน้ามือเป็น
หลังมือ”

หัวใจการศึกษาไม่ได้มีเรื่องเดียว การเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญ การศึกษาคือ สิ่งที่เราเตรียมให้เด็ก สุดท้ายเด็กก็ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วย โรงเรียนไม่ได้มีหน้าที่เตรียมหลักสูตรอย่างเดียว ต้องเตรียมระบบนิเวศที่เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ การปรับปรุงโรงเรียนสังกัด กทม.ให้มีคุณภาพมากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีโรงเรียนคุณภาพดีอยู่ใกล้บ้าน สำหรับโครงการนำร่องจะมีการทดลองในระยะเวลา 6 เดือน”

“อาวุธที่ดีที่สุดในการต่อสู้เรื่องความเหลื่อมล้ำ คือ การศึกษา ถ้ารุ่นลูกสามารถมีความรู้ มีการงานที่ดีขึ้นได้ สุดท้ายในหนึ่งชีวิตก็จะลด หรือหลุดจากความเหลื่อมล้ำได้ การศึกษาเป็นสิ่งที่ลงทุนน้อยแต่ได้เยอะ ผลที่ได้มันมหาศาล เป็นสิ่งที่เราต้องทุ่มเท” ผู้ว่าฯกทม.กล่าว และระบุด้วยว่า ยังมีนโยบายเปิดโรงเรียนในช่วงวันหยุด เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ การให้ประสบการณ์ต่างๆ นอกเหนือจากวิชาหลัก จากภาคเอกชน อาสาสมัคร เป็นการขยายโอกาสให้เด็กรู้จักตัวเองมากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

จากแมลง ถึงเอไอ

จากตัวเงินตัวทอง ถึงอวกาศ ใน ‘บางกอกวิทยา’

นอกเหนือจากการศึกษาในห้องเรียน กทม.ยุคใหม่ จัดการเรียนรู้นอกห้องไวมาก เปิดเทศกาล ‘บางกอกวิทยา’ ตลอดเดือนสิงหาคม ผลักดันการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จากเรื่องเล็กๆ แสนใกล้ตัว สู่เอไอ พร้อมมุ่งหน้าถึงห้วงอวกาศอันไกลโพ้น เน้นย้ำว่า กรุงเทพฯคือห้องเรียนขนาดใหญ่ที่คนทุกเพศทุกวัยเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด โดยมีพันธมิตรอย่าง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สมาคมไทยสตาร์ทอัพ (Thai Startup) และบริษัท เทคซอส มีเดีย จํากัด (Techsauce) เป็นต้น

ชัชชาติ อธิบายว่า งานวิทยาศาสตร์ก็สนุกได้ไม่แพ้งานศิลปะ จึงได้ชื่อเทศกาล ‘บางกอกวิทยา’ เหมือนกรุงเทพฯเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ โดยเทศกาลดังกล่าวจะได้รับความรู้ ความบันเทิงไปพร้อมกัน กิจกรรมมีตั้งแต่ง่ายๆ อย่างประกวดการถ่ายภาพเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น ไปถึง Maker Space ห้องปฏิบัติการที่คนสามารถประดิษฐ์สิ่งของได้ เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เครื่องเลื่อยไม้ เครื่องอ๊อกเหล็ก

ด้าน ศานนท์ เสริมว่า มีแนวคิดที่จะเพิ่มการเรียน Coding, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าบรรจุในหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียน กทม.ด้วย สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการปลุกชีวิทย์ให้มีชีวา, กิจกรรมนักประดิษฐ์ Maker Science & Challenges, เสวนา Science Cafe, ขบวนพาเหรด The Marty, พูดคุยกับนักธรรมชาติวิทยา ในพื้นที่ Explorium หรือห้องนักสำรวจธรรมชาติ, นิทรรศการพิเศษ Art Science in Sound นำเสนอศาสตร์ของเสียงที่มีความลับมากมายซ่อนอยู่ เป็นต้น

“คนมักคิดว่ากลุ่มคนที่รับประโยชน์จากเทศกาลนี้ คือ กลุ่มเด็กนักเรียน แต่จริงๆ แล้ว ทุกคนเป็นนักเรียนได้ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีหลายศาสตร์ที่เราตามยุคตามสมัยไม่ทัน บางกอกวิทยา จึงมีวิชาที่หลากหลายให้ได้เรียนรู้ โดยในเดือนนี้ ที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. จะเปิดให้ร่วมกิจกรรมฟรี สามารถมาเรียนรู้ได้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งนี้ มีผู้ร่วมจัดงานกว่า 14 องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งยังเปิดรับองค์กรร่วมจัดอีก

“เราจะได้เห็นกรุงเทพฯในมิติที่มากกว่าเราเห็นในปัจจุบัน จะได้เห็นกรุงเทพฯในมิติของการเรียนรู้ด้วย จะเห็นวิชาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น วิชานิเวศวิทยา โดยกลุ่ม Urban Ecology ก็จะมาสำรวจระบบนิเวศในเมือง เช่น ตัวเงินตัวทอง สำรวจต้นไม้ แมลง ผีเสื้อ” ศานนท์เล่า

โรงเรียนดี ชีวิตครูแย่ การศึกษาดีไม่ได้

ปลด 3 ล็อก #คืนครูให้นักเรียน

ปิดท้ายที่ประเด็นซึ่งไม่เอ่ยถึงไม่ได้ นั่นคือภาระบนบ่าอันหนักอึ้งอย่างงาน ‘เอกสาร’ ที่ ‘ครู’ ต้องแบกหามจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาระหน้าที่แห่งชีวิตนอกเหนือความตั้งใจในการชักชวนให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ทั้งในและนอกห้อง

ย้อนไปตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม หรือเมื่อกว่า 1 เดือนที่แล้ว ศานนท์ ประกาศคืนครูให้นักเรียน ลุยปลดล็อกงานเอกสาร ระหว่างเป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติ โดยมี เกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการศึกษา ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และศึกษานิเทศก์ กว่า 700 คนเป็นสักขีพยาน

“หากโรงเรียนดีแล้ว แต่คุณภาพชีวิตของครูยังไม่ดี ก็ไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ที่ดี การศึกษาจะดีไม่ได้ ปัจจุบันเรามีครูประมาณ 14,535 คน ครูคือกำลังหลักสำคัญ เพราะว่าใกล้ชิดกับเด็กนักเรียนที่สุด ครูต้องลดภาระพวกงานเอกสาร ลดงานโครงการ เอาเทคโนโลยีมาช่วย และต้องมีสวัสดิการที่ดีขึ้น

“ปลดล็อกที่ 1 คือ ครู มีนโยบายคืนครูให้กับนักเรียน ลดภาระงานของครู ซึ่งเรื่องนี้เรามีเทคโนโลยีที่ทางสำนักการศึกษาก็ได้จัดสรรมาแล้ว จะมาเป็นเครื่องมือหลักที่จะลดภาระของครูให้มีเวลาว่างมากขึ้นในการดูแลเด็กนักเรียน

ปลดล็อกที่ 2 การเลื่อนวิทยฐานะ อาจจะมีเกณฑ์ที่ยังไม่สามารถเลื่อนขั้นได้ ต้องมาทบทวนว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้เราได้เลื่อนวิทยฐานะ โดยมีบุคลากรที่มาช่วยดูแลเด็กนักเรียนได้มากขึ้น

ปลดล็อกที่ 3 การเพิ่มสวัสดิการของคุณครู จะมีโครงการที่พยายามทำบ้านพักครูอยู่ใกล้โรงเรียนมากขึ้น” รองผู้ว่าฯกล่าวในวันนั้น

ตัดภาพมาใน 1 เดือนให้หลัง ศานนท์ เผยความคืบหน้าว่า ล่าสุดทำระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในโรงเรียน เช่น ระบบไวไฟ (Wi-fi) พร้อมกับเตรียมระบบนิเวศทางด้านซอฟต์แวร์ต่างๆ แล้ว รวมถึงเรื่องการลดภาระครูทั้งงานธุรการ เตรียมหลักสูตร การฝึกอบรมควบคู่กับนักเรียน

“เรามุ่งเน้นการลดภาระครู หากมีดิจิทัลเข้ามาก็จะช่วยได้เยอะ ทั้งงานด้านธุรการ การเก็บเอกสารหลักสูตรต่างๆ และการ training ของครูด้วย เพราะการจะนำระบบมาใช้ ไม่ใช่เฉพาะนักเรียนต้องเรียนรู้ แต่คุณครูจะต้องเรียนรู้พร้อมกันด้วย ต้องทำไปควบคู่กัน” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ย้ำ

นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามใน 60+ วันของ #ทีมชัชชาติ ซึ่งโฟกัสเรื่องการศึกษาในนิยามใหม่ มุมมองใหม่ วัฒนธรรมใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ในวันที่เด็กและเยาวชนไทย คือ ส่วนหนึ่งของพลเมืองโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image