อาศรมมิวสิก : อมตะสยามที่เพชรบุรี

8 สิงหาคม 2565 ประชุมคณะทำงานทุกฝ่าย ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม

มีครูผู้ใหญ่หลายท่านที่พูดถึง “เพชรบุรีเป็นอยุธยาที่ยังมีชีวิต” ผู้วิจัยจึงได้เลือกเพชรบุรีในฐานะที่เป็นเมืองสำคัญเพื่อจะนำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราไปแสดง เป้าหมายอยู่ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม โดยจัดแสดงในวันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2565 เวลา 18.00-19.30 น. วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ควบคุมโดย พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ สนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี วัดใหญ่สุวรรณาราม และกลุ่มลูกหว้า

เพชรบุรีเป็นเมืองสำคัญที่มีความเป็นมาในอดีตก่อนประวัติศาสตร์ ยุคทวารวดี ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ เมืองเพชรมีทรัพย์สินที่เป็นเกลือ น้ำตาล ไม้หอม เป็นเมืองที่ยังมีชีวิตรักษามรดกอมตะสยามเอาไว้จนถึงปัจจุบัน ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถที่จะสัมผัสอดีตแล้วนำอดีตมารับใช้ปัจจุบันได้ การสร้างสรรค์วิถีชีวิตแนวใหม่อยู่ร่วมกันได้อย่างงดงาม ซึ่งเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ได้ดูการรักษาวัฒนธรรมเอาไว้เป็นตัวอย่าง

ละครชาตรีเมืองเพชรที่ยังเหลืออยู่

เมืองเพชรบุรีตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีทางฝั่งตะวันออก มีวัดโบราณอยู่มาก อาทิ วัดใหญ่สุวรรณาราม วัดมหาธาตุวรวิหาร วัดข่อยพระธาตุฉิมพลี วัดพระนอน วัดพระแก้วน้อย วัดเขาบันไดอิฐ วัดถ้ำเขาน้อย วัดสระบัว วัดคงคาราม วัดกำแพงแลง วัดพริบพรี วัดนาค วัดปีบ วัดโคกหม้อ วัดไตรโลก วัดไผ่ล้อม วัดพระทรง วัดวิหารน้อย วัดลาด วัดสระตะพาน วัดป้อม วัดเกาะ วัดจันทราวาส เป็นต้น วัดเหล่านี้สืบทอดมาแต่สมัยอยุธยา ซึ่งยังดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน เพราะว่าเพชรบุรีไม่มีแผ่นดินไหวและไม่มีภัยสงคราม

การนำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราไปแสดงที่เพชรบุรีได้เลือกเพลงเก่าที่เป็น “อมตะสยามเกี่ยวข้องกับเพชรบุรี” เป็นเพลงที่สืบทอดมาแต่สมัยอยุธยา ส่วนหนึ่งเป็นเพลงยุคต้นรัตนโกสินทร์ รวมทั้งเพลงของเมืองเพชรบุรี

Advertisement

อมตะสยามที่เพชรบุรีเป็นเรื่องวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี รวมทั้งดนตรีและเพลงด้วย อมตะหมายถึงการดำรงรักษาอยู่ ยังเป็นที่นิยมไม่เสื่อมสูญ วิถีสยามที่ยังคงสืบทอดอยู่ในเพชรบุรีซึ่งมีอยู่มาก ในขณะเดียวกันที่วิถีดั้งเดิมในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ถูกอาคารใหญ่ๆ ทุนนิยมขยายอิทธิพลกลบลบอมตะสยามออกไปสิ้น

ผู้วิจัยเยี่ยมคารวะอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว นักปราชญ์เมืองเพชร

อมตะสยามที่เป็นบทเพลงบอกเรื่องราวและความเป็นมาของสังคม การดำรงอยู่ วิถีชีวิตของคน รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณี เพลงที่นำมาแสดง อาทิ ละครชาตรี ขับเสภา (บทไหว้ครูเสภา) เทพบันเทิงทำนองแขกเชิญเจ้า ร้องสำหรับละครชาตรี (รำแก้บน) เพลงคลื่นกระทบฝั่ง เพลงเหน่อ เดี่ยวขลุ่ยลาวแพนออกซุ้ม เขมรปี่แก้ว กราวนอก กราวตะลุง วัดโบสถ์ (เจ้าขุนทอง) เจ้าการะเกด เป็นต้น บทเพลงเหล่านี้ได้บอกร่องรอยเมืองเพชรบุรี บอกความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยง อิทธิพลของการเมืองและการปกครองกับเมืองหลวง

ละครชาตรีที่เหลืออยู่ ใช้เป็นละครแก้บนเป็นหลัก นับวันก็จะสูญหายตายจาก เพราะทำมาหากินไม่ได้ ผู้ที่จ้างไปรำแก้บนในปัจจุบันจะเป็นกลุ่มขอหวยเสียส่วนใหญ่ คนที่ถูกหวยเป็นคนส่วนน้อย ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ถูกหวยกิน ถ้าคนถูกหวยอยู่ในพื้นที่ไม่มีละครชาตรีก็ไม่มีการจ้าง การบนเรื่องความเจ็บป่วย ซึ่งผู้ป่วยปัจจุบันได้หันไปพึ่งบัตรทองศักดิ์สิทธิ์กว่า ละครชาตรีก็ไม่มีงานทำ ในฐานะของความบันเทิงและละครชาตรีก็หมดยุค

คณะทำงานคุยกับกลุ่มลูกหว้า
อาจารย์จำลอง บัวสุวรรณ์

สำหรับการขับเสภาก็หาคนที่ขับเสภาได้ยากขึ้น เพราะทำมาหากินยาก ช่างขับเสภาหันไปเป็นนักร้องเพลงแร็พซึ่งมีค่าตัวที่ดีกว่าและมีชื่อเสียงกว่า ในงาน “อมตะสยามที่เพชรบุรี” ได้เชิญละครชาตรีที่ยังเหลืออยู่ เชิญช่างขับเสภาบทไหว้ครูไว้เป็นที่ระลึก ที่สำคัญคือได้เชิญกวีใหญ่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ได้เขียนบทกวีที่เกี่ยวกับเพชรบุรีไว้ 4 บท ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 ล่องน้ำเพชร เพชรพริบพรี พระธาตุเพชร หาดชะอำ

ทีเด็ดคือเพลงเหน่อ ทำนองเพลงกราวนอก เขียนเนื้อโดยกวีใหญ่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปินแห่งชาติ ได้นำเพลงสิบสองภาษามา 3 เพลง คือ กราวนอก กราวตะลุง ยี่แฮม ขับร้องโดย นพพร เพริศแพร้ว เป็นการนำเพลงเก่ามาแสดงในรูปแบบใหม่ บรรเลงเพลงลาวแพนออกซุ้ม เดี่ยวขลุ่ย โดย ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ กับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา เพลงลาวแพนระบายความเจ็บปวดของพี่น้องชาวลาวที่ถูกข่มเหงในยามแพ้สงคราม เพื่อจะมอบให้เป็นอมตะสยามที่เพชรบุรี

ครูเจี๊ยบ วิทยากรนำชมเมืองเพชรบุรี

ที่เพชรบุรีมีกลุ่มทำงานวัฒนธรรมนำเสนอวิถีชีวิตเก่าของชาวเพชรบุรีที่ภูมิใจ เพื่อจะรักษามรดกเอาไว้ เพื่อจะขายวัฒนธรรมที่มีอยู่ให้แก่นักท่องเที่ยว การขายความรู้สึกและวิถีชีวิตที่ยังมีวิญญาณอยู่ ขายเมืองเก่าที่สัมผัสได้เพื่อให้เป็นสินค้า เป็นวิธีรักษาความเก่าแก่ของวัฒนธรรมเมืองเอาไว้ให้อยู่คู่กับสังคมต่อไป คนจำนวนหนึ่งยังรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้อย่างมั่นคง จึงนำเสนอให้คงอยู่โดยส่งผ่านคนรุ่นใหม่ด้วยการทำงานร่วมกัน

จากกระแสความเปลี่ยนแปลงสังคมเข้ามากระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนรุนแรงขึ้น การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ การเปลี่ยนเส้นทางคมนาคม การค้าและสินค้าเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ อินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ผ่านมือถือ ยูทูบผ่านคอมพิวเตอร์ คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากสื่อใหม่ ทั้งที่โรงเรียนและในสังคมที่มีอยู่รอบตัว วัฒนธรรมใหม่ได้ซึมลึกเข้ากับคนรุ่นใหม่ ส่วนวิถีเก่าและวัฒนธรรมเก่าของเพชรบุรีก็ค่อยๆ หดถดถอยลงไปด้วย เพราะไม่มีความจำเป็นและไม่มีความต้องการอีกต่อไป

ครูเจี๊ยบ (กิตติพงษ์ พึ่งแตง) เป็นคนเพชรบุรีที่สำคัญ ได้ริเริ่มนำวัตถุสิ่งของที่มีนักงมของเก่าในแม่น้ำเพชรบุรีขึ้นมาจัดแสดงที่ริมแม่น้ำ ตั้งชื่อว่าสมบัติแม่น้ำเพชร เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมฟรี หากต้องการให้ครูเจี๊ยบเขาเล่าเรื่องเมืองเพชรให้ฟังก็ติดต่อตามตัวได้ ครูเจี๊ยบมีความสามารถในการชักชวนคนที่สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยไมตรี นำชมสถานที่ต่างๆ วัดเก่า อธิบายโบราณสถานและประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

เมื่อไปเมืองเพชรบุรีก็ต้องไปคารวะอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว นักปราชญ์เมืองเพชรบุรี ท่านเคยเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยที่วิทยาลัยครูเพชรบุรี ท่านได้เผยแพร่ความรู้เรื่องเมืองเพชร ได้จุดประกายเรื่องเครือญาติของสุนทรภู่ว่าเป็นตระกูลพราหมณ์จากเมืองเพชร อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ยังได้สร้างปรากฏการณ์ที่สำคัญมากเรื่องความรู้ในชุมชนและประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ซึ่งเห็นปรากฏชัดขึ้นในปัจจุบัน

มีกลุ่มลูกหว้า นำโดยครูจำลอง บัวสุวรรณ์ เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ขึ้น เพื่อชักชวนให้คนเพชรบุรีได้เห็นคุณค่าและมรดกทางวัฒนธรรม มีครูเอื้อย (พิตะวัน ประสานสารกิจ) เป็นครูสอนละครชาตรี โดยใช้ศาลาวัดใหญ่สุวรรณาราม เพื่อจะรักษามรดกละครชาตรีเมืองเพชรให้คงอยู่

งานวิจัยดนตรีและเพลงในพื้นที่เพชรบุรี ผู้วิจัยได้พบปะพูดคุยกับนักปราชญ์เมืองเพชร ศิลปินเพชรบุรี คนรักเมืองเพชร ไปดูพื้นที่จัดแสดงและค้นหาข้อมูลความเป็นไปได้ ดูพื้นที่ตั้งเวทีของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ได้รับความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีจากคนในพื้นที่ ทั้งส่วนราชการและคนรักเพชรบุรี

มาถึงตรงนี้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ต้องลงขันกันทำงานด้านนโยบาย องค์ความรู้ การวิจัย ด้านงบประมาณ สติปัญญาและบุคลากร เพื่อช่วยกันบูรณะพัฒนาและเผยแพร่ให้เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองที่มีชีวิต

อมตะสยามที่เพชรบุรี เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำเพื่อการรักษาวัฒนธรรมโบราณให้คงอยู่และใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เป็นการพัฒนาเมืองในอดีตให้มีอนาคตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือในส่วนย่อยด้วย ไม่ว่าจากส่วนราชการในจังหวัด เทศบาล วัด สถาบันการศึกษา และผู้คนในเพชรบุรีเอง การรวมน้ำใจกันจะทำให้เพชรบุรีเป็นเมืองอมตะสยามสืบต่อไป การมีรายได้ที่อยู่รอดคือคำตอบ

การศึกษาค้นคว้าหาความรู้เรื่องวัฒนธรรมและเพลงที่เพชรบุรี โดยนำเพลงและดนตรีมาแสดงจากสิ่งที่ค้นพบ ถือเป็นโอกาสสำคัญยิ่ง เป็นพื้นฐานของงานวิจัยศึกษาอดีตโดยใช้เสียงดนตรีเพื่ออธิบายบรรยากาศของสังคม วัฒนธรรมที่เป็นวิถีชีวิต รวมทั้งภาษาที่มีอยู่ในเพชรบุรี

ภาษาที่บอกความเป็นนานาชาติซึ่งปรากฏอยู่ใน “เพลง 12 ภาษา” ไม่ได้หมายความว่ามี 12 ภาษา แต่เป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาทิ ไทย ข่า ลาว ญวน มอญ เขมร เวียดนาม ฝรั่งอเมริกัน ชวา แขกอินเดีย แขกลังกา แขกเทศ เปอร์เซีย พวกยุโรป เป็นต้น ดูจากภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัด มีเรื่องราววัฒนธรรมและร่องรอยของภาษานานาชาติเหล่านั้นปรากฏอยู่ในเพลง

สำเนียงพูดท้องถิ่นของชาวเพชรบุรี ก็เป็นหลักฐานที่สำคัญว่าคนโบราณในยุคกรุงศรีอยุธยาพูดภาษาที่มีสำเนียงเป็นอย่างไร “ภาษาเหน่ออย่างเพชรบุรี” ซึ่งยังพบเสียงเหน่ออยู่ในภาษาท้องถิ่นอื่นๆ อาทิ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช ภาษาพูดสำเนียงหลวงพระบาง ซึ่งเพชรบุรีและนครศรีธรรมราช ก็มีหลักฐานการแลกเปลี่ยนสินค้า วัฒนธรรม ศาสนาความเชื่อ และพิธีกรรมร่วมกันอยู่

เพลงของเพชรบุรีแม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไป แต่ขนบจารีตและวัฒนธรรมดั้งเดิมก็ยังคงเหลือร่องรอยอยู่ มรดกและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยังมีชีวิตอยู่ เป็นชีวิตและจิตวิญญาณเก่าๆ ที่สามารถสัมผัสได้ด้วยเสียงเพลง

ที่เพชรบุรีมีครูปี่พาทย์สำคัญ “ตระกูลพาทยกุล” ครูปี่พาทย์เมืองเพชร มีลูกศิษย์อยู่มากในการประโคมปี่พาทย์มอญในพิธีงานศพ การอวดฆ้องวง (มอญ) จำนวนโค้ง บอกถึงความยิ่งใหญ่ของผู้ตาย ก็ยังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในเพชรบุรีที่บ้านลาด

การนำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราไปแสดงที่เพชรบุรีครั้งนี้ เป็นการพลิกกลับย้อนรอยอดีต การโหยหาวัฒนธรรมดั้งเดิมที่หลงเหลือและยังมีชีวิตอยู่ อาจจะไม่แข็งแรงอย่างแต่ก่อน แต่การค้นหาร่องรอยจากอดีตช่วยให้สัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิมได้

อมตะสยามที่เพชรบุรี เป็นการแสดงดนตรีในพื้นที่สาธารณะ เป็นการเปิดประตูทางวัฒนธรรมเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาสิ่งที่อยากรู้ว่าสังคมในอดีตเป็นอย่างไร เพชรบุรียังรักษาอดีตที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นความท้าทายต่อสังคมไทยและการอยู่รอดของวัฒนธรรมไทยในอนาคต

การขายวัฒนธรรมอมตะสยามที่เพชรบุรีให้แก่ชาวโลก จึงเป็นต้นแบบที่จะนำไปพัฒนาต่อยอด เพราะสินค้าที่เป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเป็นสินค้าที่ไม่สิ้นเปลือง เพราะว่า “มันไม่กุดเหมือนดินสอ ไม่สึกหรอเหมือนแคมตลิ่ง” วัฒนธรรมนั้น ยิ่งขายยิ่งได้ ยิ่งทำยิ่งมี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image