‘ส่อง’ข้อครหา’นักการเมืองฮั้วโรงสี’! ‘ประภาส ปิ่นตบแต่ง’ กับความเป็นจริงของ’เงื่อน’ปัญหาราคาข้าว และทางแก้ไขในอนาคต

“ตุลาคม” ที่ผ่านมาถือเป็นวิบัติของชาวนาไทย หลังจากสัญญาณราคาข้าวที่ส่อแววจะตกลงตั้งแต่เดือนสิงหาคม ในที่สุดก็หล่นวูบไปในที่สุด

ท่ามกลาง “น้ำตา” ของชาวนาที่หลั่งริน หลากฝ่าย หลายองค์กร ต่างวิเคราะห์แจกแจงถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับภาครัฐที่ได้ “ชี้” หนึ่งในสาเหตุราคาข้าวตกต่ำว่า เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีการร่วมมือกันระหว่างนักการเมืองในพื้นที่กับโรงสีบางแห่ง ในการกำหนดราคาข้าวให้ต่ำลง โดยหวังให้ประชาชนเกิดการต่อต้านหรือขัดแย้งกับรัฐบาล

จากข้อครหา “นักการเมืองฮั้วโรงสี” เป็นผลให้ มานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดโต๊ะแถลงขอยุติบทบาทพร้อมคณะกรรมการบริหารสมาคมทั้งชุด เพราะไม่สามารถทำให้ราคาข้าวดีขึ้นได้ตามที่ชาวนาและทุกฝ่ายคาดหวัง อีกทั้งข้อมูลเรื่องข้าวที่สมาคมให้ไว้กับทางราชการมีการบิดเบือนจนทำให้โรงสีเป็นจำเลยของสังคม

พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินตามนโยบายรัฐบาล ไม่เคยขัดแย้งหรือหวังผลใดๆ ทางการเมือง เพราะภาคเอกชนเป็นฟันเฟืองหนึ่งในภาคธุรกิจข้าวเท่านั้น

Advertisement

“ขอปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่าโรงสีบางแห่งกดราคารับซื้อข้าวเปลือก หรือร่วมมือกับฝ่ายการเมืองกดราคาข้าว”

นี่คือคำยืนยันอย่างหนักแน่นของ มานัส

ท่ามกลางการตรวจสอบหา “หลักฐาน” ของทางภาครัฐที่ยังคงไม่แน่ชัด หลายฝ่ายยังคง “ขยี้” ประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและชี้ว่าเป็น “เกมการเมืองยืมมือชาวนา”

ด้วยเหตุนี้ จึงได้สอบถามไปยัง ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นทั้งนักวิชาการ และชาวนา เพื่อช่วย “ส่อง” ข้อครหา และสะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อกรณีดังกล่าว

“มันเป็นเรื่องง่ายที่นักการเมืองไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือการยึดอำนาจจะพูดเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่นแบบนี้” ประภาสเริ่มอย่างตรงไปตรงมา

“การพูดแบบนี้สามารถที่จะปกปิดสาเหตุปัญหาที่ตัวเองก็มีส่วนสร้าง และมีส่วนบกพร่องในเชิงนโยบายด้วย”

ประภาสกล่าวว่า ปัญหาราคาข้าวตกต่ำเกี่ยวข้องกับ “รัฐ” ซึ่งหมายถึงรัฐบาลทุกรัฐบาล พรรคการเมืองทุกพรรค

ก่อนที่จะขยายความปัญหาที่เกิดขึ้นมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่การปฏิวัติเขียวตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 นั่นหมายถึงที่ผ่านมารัฐได้สร้างปัญหาขึ้นมา ส่งเสริมการปลูกข้าวคุณภาพต่ำในลักษณะของการผลิตเชิงเดี่ยวเพื่อเปิดตลาดส่งออก

“คือเราต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้ว่าวิกฤติที่ผ่านมาทุกคนมีส่วนทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน พรรคการเมืองไหน ดังนั้นมันจึงต้องเป็นความรับผิดชอบของทุกส่วน”

ทว่าข้อสงสัย คือ ข้อครหา “นักการเมืองฮั้วโรงสี” มีความเป็นไปได้จริงหรือไม่?

ประภาสตอบว่า จากการทำงานด้านการเมืองประชาชน การเมืองบนท้องถนน ยังไม่เคยเห็นกรณีที่โรงสีไปนำชาวนาเดินขบวน หรือประกาศอย่างชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

“โรงสีก็พูดชัดเจนว่าเขาทำธุรกิจ ดังนั้น คงไม่มีใครจะเอาธุรกิจของตัวเองไปผูกกับการเมือง ไปทำให้เกิดวิกฤตข้าวเพื่อที่จะได้ทำลายรัฐบาลปัจจุบัน โดยเฉพาะการเมืองที่พูดอย่างเป็นรูปธรรมได้ว่าเป็นการเมืองที่คาดการณ์ไม่ได้”

ประภาสจึงตั้งคำถามกลับว่า หากเป็นเจ้าของโรงสีจะทำแบบนี้จริงหรือ?

“หากทำจริง มันเป็นการเชื่อในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเอามากๆ ว่าพรรคเพื่อไทยจะกลับมาเป็นรัฐบาล เพราะจนถึงทุกวันนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกเมื่อไรด้วยซ้ำ คนทำธุรกิจทำไมจะต้องไปเสี่ยง”

นอกจากนี้ ประภาสอธิบายเพิ่มว่า ที่ผ่านมาภาคธุรกิจจะเล่นการเมืองที่อยู่เหนือการเมืองมาโดยตลอดคือ เอาด้วยกับทุกกลุ่มการเมืองไม่ว่าจะยึดอำนาจหรือเลือกตั้ง เพื่อจะมีพื้นที่อยู่ในกลไกการกำหนดนโยบาย

“นี่คือสิ่งที่เราต้องเข้าใจว่าการเมืองของภาคธุรกิจเป็นแบบนี้ เขาคงไม่ไปเล่นการเมืองแบบเลือกข้าง ซึ่งไม่มีความชัดเจนและแน่นอน”

ประภาสกล่าวว่า ดังนั้น สาเหตุราคาข้าวตกต่ำในปัจจุบันที่แท้จริงทางนักวิชาการทีดีอาร์ไอก็ได้ชี้แจงแล้วว่าเกิดจากปัจจัยเรื่องข้าวในตลาดโลก ทั้งเรื่องของสต๊อกข้าวที่มีมาก ความต้องการของตลาดในประเทศในแถบแอฟริกาที่ลดลง รวมถึงสถานการณ์การแข่งขันที่สูงขึ้น

“รวมถึงปริมาณข้าวในปีนี้เห็นได้ว่ามากกว่าค่าเฉลี่ย 9 ปีที่ผ่านมาถึง 2.4 ล้านตัน นั่นหมายความว่าข้าวในประเทศก็เพิ่มขึ้นมาก แม้จะดูเหมือนกับมีภาพลวงตาว่ามีวิกฤตต่างๆ เช่น ภัยแล้ง”

นี่เป็นคำตอบว่าอะไรคือสาเหตุหลักในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหาในอนาคต ประภาสได้อธิบายว่า ภาพใหญ่และทิศทางของการแก้ไขปัญหาราคาข้าวคงต้องเป็นการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อไปสู่ความยั่งยืน

“ถ้าจะพูดให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น คือ การปลูกข้าวแบบเดิม หรือการปลูกข้าวคุณภาพต่ำ หรือหากพูดตามภาษาชาวบ้านที่เรียกว่า ปลูกข้าวขายเจ๊ก ขายโรงสี ดูแล้วเป็นไปได้ยากมากที่จะไปสู่จุดนั้นได้”

ประภาสกล่าวอีกว่า นโยบายของรัฐบาลทุกวันนี้ คือ พยายามเข้ามาพยุงสถานการณ์ด้วยการรับจำนำยุ้งฉาง โดยรับจำนำเฉพาะข้าวหอมมะลิซึ่งอยู่ในพื้นที่อีสาน 10 ล้านตัน นั่นหมายความว่าชาวนาภาคกลางที่ปลูกข้าวคุณภาพต่ำจำนวนมหาศาลจะถูกละเลย และไม่ได้รับประโยชน์

โดยทั้งหมดต่างเป็นชาวนาที่รัฐพากันมาจนถึงวิกฤตปัจจุบัน นั่นคือการปลูกข้าวเพื่อส่งออก

“ดังนั้น ในระยะสั้นการหนุนเสริมชาวนากลุ่มนี้จะต้องคิดและทำให้เร็วที่สุด เพื่อให้ชีวิตของพวกเขาพอที่จะอยู่ได้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีมาตรการและยังไม่มีใครพูดถึงเลยด้วยซ้ำ”

ด้านการปรับเปลี่ยนในระยะยาวที่รัฐบาลพยายามจะลดผลผลิตให้เหลือ 27 ล้านตัน ประภาสบอกว่าเห็นด้วย “แต่จะลดอย่างไร” นั่นคือคำถาม

“อย่างการให้ไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผมไม่เห็นด้วยเพราะมันก็จะนำไปสู่วิกฤตได้อีกในอนาคต”

ประภาสกล่าวว่า หากรัฐอยากลดรอบการปลูก ต้องออกนโยบายให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น และปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตมีคุณภาพมากขึ้น

“รัฐสามารถสนับสนุนให้ลดรอบการปลูก และทำการหมักฟาง เผาฟาง ปลูกพืชบำรุงดิน พร้อมกันนี้ก็เข้ามาชดเชยคล้ายรูปแบบการจำนำ แต่ต่างที่เป็นการชดเชยเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตข้าวที่มีคุณภาพและยั่งยืนในเชิงโครงสร้างระยะยาว

“ควบคู่กันไปควรจะมีนโยบายในการรับซื้อข้าวอินทรีย์ ข้าวคุณภาพ เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีการพูดถึงนโยบายที่จะไปสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม”

ที่สำคัญต้องเข้ามาดูแลในเชิงโครงสร้างทั้งการวิจัย การให้ความรู้ โดยเฉพาะการทำงานกับชาวนาต้องลงไปทำในทุกมิติ และลงพื้นที่จริง

“รัฐได้พาชาวนามาถึงจุดนี้ดังนั้นจึงต้องช่วยกันแก้ เพราะที่ผ่านมาเวลาเศรษฐกิจรุ่งเรืองส่งออกข้าวได้ดีก็เก็บภาษีต่างๆ จากชาวนา เพื่อเอาไปพัฒนาประเทศ แต่พอเกิดวิกฤตกลับบอกให้รับผิดชอบตัวเอง โทษแต่เรื่องอื่นๆ ผมว่าแบบนี้ไม่แฟร์กับชาวนา

“หากจะพูดเรื่องชาวนาคงจะมีหลายเรื่องที่ต้องพูดอีกมาก” เขากล่าวทิ้งท้าย

นี่จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นจากการส่องให้เห็นเงื่อนปัญหาที่แท้จริงที่ “รัฐ” ได้เป็นผู้ผูกเอาไว้และจะต้องหาทางแก้

ที่ไม่ใช่โดยการโยนเรื่องและทิ้งปัญหาให้ชาวนาเป็นผู้แก้เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image