จุดไอเดีย เสริมพลัง สร้างภูมิต้านทาน ผ่านโปรเจ็กต์ ‘ชุมชนอุดมปัญญา’ อ่าน เพื่อประเทศเข้มแข็ง

นฤตย์ เสกธีระ กรรมการผู้จัดการบริษัท งานดี จำกัด

ประดิษฐกรรมที่มีค่าที่สุดสิ่งหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติคือ ‘ตัวอักษร’

นับแต่พยัญชนะตัวแรกถือกำเนิดขึ้น ความทรงจำ ประสบการณ์ บทเรียน ความรู้ สรรพวิชา ก็ก้าวกระโดดจากมุขปาฐะสู่ลายลักษณ์

เปิดโลกที่ไม่เคยเห็น เรื่องราวที่ไม่เคยรู้ เคล็ดลับที่ไม่มีใครเคยกระซิบ ประสบการณ์ความสำเร็จและล้มเหลว ความสุขสมหวังและพลาดพลั้งของผู้ที่เคยประสบ ไหลบ่าผ่านสายตาของผู้อ่าน ก่อให้เกิด ‘ปัญญา’ สร้างความเข้มแข็งในความคิดแก่ผู้คน ชุมชน เมือง ประเทศ จนถึงดาวเคราะห์ทั้งใบ

แม้ในยุคที่มีตัวอักษรให้คว้าอ่านจากอากาศในโลกออนไลน์ สไลด์เส้นบรรทัดผ่านหน้าจอ แต่ปึกกระดาษที่ถูกเย็บรวมเล่ม เรียกว่า ‘หนังสือ’ ยังคงยืนหยัดเป็นรากฐานสำคัญ โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่มรสุมลูกใหญ่ชื่อว่า ‘โควิด-19’ ทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้ในหลากมิติ ไหนจะพายุเศรษฐกิจจากปัจจัยต่างๆ สังคมที่อาจเกิดวิกฤตอย่างไม่คาดคิดได้ทุกเมื่อ

Advertisement

เพราะ ‘ความรู้’ คือแสงสว่าง ‘ปัญญา’ คือทางออก

และความอยู่รอดของผู้คน สัมพันธ์กับชุมชน ความเข้มแข็งของชุมชน ส่งผลต่อความอยู่รอดของประเทศ

นี่คือเหตุและผลที่ เครือมติชน จัดทำโครงการ ‘ชุมชนอุดมปัญญา’ ภายใต้แนวคิด ‘ชุมชนเข้มแข็งด้วยหนังสือ’ เพื่อระดมผู้มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ‘หนังสือคือภูมิปัญญาของชุมชน’ จัดซื้อหนังสือและสมัครสมาชิกนิตยสารรายปีมอบให้ชุมชนทั่วประเทศ มุ่งหวังสร้างภูมิต้านทาน เสริมพลังแข็งแกร่ง จุดไอเดียความคิดในด้านต่างๆ ทั้งการบ้านการเมือง การประกอบอาชีพ จนถึงความรู้ลึกซึ้งในรากเหง้าท้องถิ่นที่เกิดและพำนัก

Advertisement

ทันสถานการณ์ รู้รอบด้าน
ภูมิต้านทานท้องถิ่นเข้มแข็ง

นฤตย์ เสกธีระ กรรมการผู้จัดการบริษัท งานดี จำกัด ในเครือมติชน เผยความเป็นมาของโครงการชุมชนอุดมปัญญาว่า ‘มติชน’ เป็นสื่อที่ใกล้ชิดกับชุมชน ตลอดระยะเวลากว่า 4 ทศวรรษนับแต่การก่อตั้งถือเป็นสื่อกลางที่นำเสียงจากชุมชนท้องถิ่นไปบอกเล่าให้ฝ่ายรัฐรับทราบ ในขณะเดียวกันก็นำข้อมูลจากฝั่งรัฐไปบอกเล่าแก่ประชาชน นำความทุกข์ร้อน และข้อเสนอ ไปถ่ายทอดเพื่อนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหา ไม่เพียงเท่านั้น เครือมติชนยังมีโครงการต่างๆ ที่เอื้อกับชุมชนมาโดยตลอด รวมถึงโครงการ ‘’ชุมชนอุดมปัญญา’’ ในครั้งนี้

“”เราเห็นว่าชุมชนมีความสำคัญ เพราะถ้าชุมชนเข้มแข็ง ก็จะช่วยแก้ปัญหาให้ประเทศได้ เช่น เจอเศรษฐกิจตกต่ำ ชุมชนก็อยู่ได้ด้วยตัวเอง เจอปัญหา ชุมชนแก้ไขได้ ประเทศก็เข้มแข็ง ในขณะเดียวกันประเทศก็มีหน้าที่ในการที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง คำว่าประเทศในที่นี้ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลอย่างเดียว แต่รวมถึงภาคเอกชนต้องร่วมด้วยช่วยกัน

เครือมติชนกับชุมชนมีความเอื้อกันอยู่แล้ว มติชน คือสื่อกลาง ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร หนังสือพิมพ์ นำข้อมูลจากประชาชน ชุมชนมาบอกเล่าให้ฝ่ายรัฐทราบ และนำข้อมูลจากฝ่ายรัฐไปบอกเล่าให้ประชาชนทราบ หรือไม่ก็นำความทุกข์ร้อนไปถ่ายทอด มีบทบาทเป็นสายใย เราทำหน้าที่อย่างนี้มาตลอด

“มติชน ทำหนังสือ เราก็ศรัทธาในตัวหนังสือ เราเห็นว่าหนังสือที่ให้ความรู้ไม่ว่าจะด้านไหน ก็มีความจำเป็นกับประเทศ จำเป็นกับชุมชน หากทำให้หนังสือเข้าถึงชุมชน หรือชุมชนมีโอกาสได้รับหนังสือดีๆ เขาจะได้รับทั้งความรู้ ทันสถานการณ์ ทราบหลักวิธีคิดและประสบการณ์ที่คนอื่นสะสมมาก่อน ผู้อ่านจะได้นำความรู้เหล่านี้ไปพัฒนาต่อยอด จากข้อมูลที่ได้ ไปพัฒนาครอบครัว ชุมชน เราหวังว่าตรงนี้จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้”” เอ็มดี ‘’งานดี’’ เล่า

งานดี-มติชน
สื่อกลางส่งมอบความรู้

นอกจากนี้ นฤตย์ ยังเผยว่า เครือมติชนมีแนวคิดส่งเสริมชุมชนมาเป็นลำดับ ผ่านทางโครงการและกิจกรรมหลากหลายที่จัดขึ้นและประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้ตามเจตนารมณ์ของ ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และในเครือ

ทั้งที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ และอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวอล์กกิ้งทัวร์ชุมชน โดยศูนย์ข้อมูลมติชน หรือ MIC หรือแม้แต่งานเฮลท์แคร์ ก็มีการตรวจรักษาฟรีให้ประชาชนที่เข้าร่วม รวมถึงการจับมือระหว่างคาราบาวกรุ๊ปและเครือมติชน เปิด ‘’บาวบุ๊ค’’ แผงหนังสือคู่ชุมชนในร้าน ‘‘ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต’’ ซึ่งเริ่มจาก 20 สาขา สู่ 120 สาขาในปัจจุบันและตั้งเป้าขยายเป็น 200 สาขาทั่วไทยในปีนี้ อันเป็นอีกส่วนหนึ่งของความพยายามนำหนังสือเข้าสู่ชุมชนให้ได้มากที่สุด

““ในส่วนของหนังสือเราทำมาก่อนนานแล้ว เดิมมีโครงการ 25 ปีมติชนระดมทุนหาหนังสือดีเข้าห้องสมุด 250 โรงเรียน ตั้งแต่ปี 2546 รวมถึงโครงการอื่นๆ เราก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง แม้เกิดสถานการณ์โควิดและเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เครือมติชนก็มอบหนังสือและนิตยสารศิลปวัฒนธรรมให้ 36 ห้องสมุดกรุงเทพมหานคร

ตอนนี้โควิดเริ่มซา การขับเคลื่อนประเทศต่อไปกำลังเริ่มต้นอีกครั้ง จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะทำอย่างไรเพื่อปลุกฟื้นการอ่านขึ้นมาในชุมชนอีกครั้งหนึ่ง จึงมีการสำรวจพื้นที่หลายแห่ง พบว่าหนังสือขาด บางแห่งไม่มีกิจกรรมการส่งเสริมการอ่าน ดังนั้น จึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อนำหนังสือไปมอบให้ชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนมีองค์ความรู้ด้านต่างๆ ทั้งข่าวสารบ้านเมือง การประกอบอาชีพ และความภูมิใจในท้องถิ่นที่อยู่”” นฤตย์กล่าว

 

ตั้งเป้า 300 ชุมชน
ตีความนิยามครอบคลุม
‘สถานศึกษา เรือนจำ ห้องสมุด’

ถามถึงกลุ่มเป้าหมาย เอ็มดี ‘งานดี’ เผยว่า ตั้งเป้าไว้ทั่วประเทศ อย่างน้อย 300 ชุมชนภายในปี 2565 เรียกได้ว่าเป็นความท้าทาย เพราะนับถอยหลังแล้วเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน

อย่างไรก็ตาม นิยามคำว่า ‘‘ชุมชน’’ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะชุมชนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย หากแต่หมายรวมถึงสถานศึกษาตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลายในชุมชนทั่วประเทศ สถานศึกษาของพระสงฆ์ ห้องสมุดท้องถิ่น เครือข่ายต่างๆ ในชุมชน ชมรม และแม้กระทั่งเรือนจำ

“”คำว่าชุมชนในที่นี้มีความหมายหลากหลาย การมีคนอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ชุมชนที่เราเห็นอยู่ก็ใช่ห้องสมุดชุมชน หรือเรือนจำ เราก็สนใจ โรงเรียนเราก็ไม่ทิ้ง โดยเฉพาะมัธยมปลายขึ้นไป หรือห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ วิทยาลัยอาชีวะ วิทยาลัยชุมชน ซึ่งเมื่ออ่านหนังสือของเราแล้วจะนำความรู้ไปประกอบวิชาชีพได้ด้วย”” นฤตย์อธิบาย

สำหรับในส่วนของชุมชนอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ทางโครงการได้ประสานไปยังกรุงเทพมหานคร โดยขอให้ช่วยคัดเลือกรายชื่อชุมชนที่มีความเหมาะสม จากนั้น คณะกรรมการของโครงการจะคัดสรรอีกครั้ง โดยกำหนดพื้นที่หรือชุมชนที่เหมาะสมที่จะได้รับหนังสือหรือนิตยสาร ซึ่งนอกจากชุมชนอยู่อาศัยแล้ว ‘บ้านหนังสือ’ ซึ่งเป็นห้องสมุดประเภทหนึ่งในสังกัดกรุงเทพมหานคร ก็คืออีกส่วนหนึ่งที่โครงการชุมชนอุดมปัญญาเล็งเป้าไว้

นอกจากนี้ ยังมีการคัดเลือกโดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลของ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) – สบร. หรือ OKMD อีกด้วย

“”เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่งประสานกับทาง กทม. ขอให้คัดชื่อชุมชนมาให้ แล้วโครงการคัดเลือกอีกครั้ง เราพยายามคัดเลือก อิงฐานข้อมูลของ OKMD และกำลังจะหาแหล่งการประสานกับโครงการต่างๆ ที่เคยลงพื้นที่มาก่อนว่ามีข้อมูลความต้องการหนังสือ”” นฤตย์กล่าว

ส่วนรูปแบบของหนังสือที่โครงการจะมอบให้ชุมชนต่างๆ นั้น ถามว่า มีความแตกต่างตามอัตลักษณ์ชุมชนหรือไม่อย่างไร?

นฤตย์ อธิบายภาพกว้างก่อนว่า หนังสือที่โครงการจะมอบให้แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.นิตยสารในเครือ ประกอบด้วย มติชนสุดสัปดาห์, เทคโนโลยีชาวบ้าน และศิลปวัฒนธรรม 2.พ็อคเก็ตบุ๊ก หรือหนังสือเล่ม ซึ่งประกอบด้วย 4 หมวด ได้แก่ หนังสือทั่วไป ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และหนังสือแนวสร้างแรงบันดาลใจ

เรียกได้ว่า ครบ จบทุกมิติชีวิต

““นิตยสาร คือสื่อที่บอกสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ ได้ สมมุติว่าไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์หรือติดตามข่าวรายวัน แต่เมื่อได้อ่านมติชนสุดสัปดาห์ ก็สามารถติดตามสถานการณ์ได้แล้ว เชื่อว่าผู้อ่านจะได้ไอเดียเยอะ เพราะคอลัมนิสต์หรือผู้เขียนในฉบับถือว่าเป็นเสาหลักในด้านความคิด ถ้าเป็นด้านอาชีพ ก็ต้องเทคโนโลยีชาวบ้าน ซึ่งตรงกับชุมชน 1 เดือนมี 2 ปก ส่วนศิลปวัฒนธรรม เป็นนิตยสารรายเดือน อ่านแล้วจะติด เพราะได้ความรู้ภูมิใจในความเป็นไทย จะทราบว่าประเทศไทยเราไม่ธรรมดา ส่วนพ็อคเก็ตบุ๊กมีหมวดต่างๆ ซึ่งจะนำมาคัดให้เข้ากับแต่ละชุมชนและสถาบันการศึกษา”” หัวเรือใหญ่ ‘’งานดี’’ กล่าว

 

ชวนร่วมแบ่งปัน
เชื่อมั่น หนังสือยังเป็น ‘ที่พึ่ง’

มาถึงตรงนี้ ถามว่าผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการชุมชนอุดมปัญญา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุน หรือฝ่ายชุมชนที่ต้องการขอรับหนังสือ ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง?

นฤตย์บอกว่า สามารถติดต่อมายัง บริษัท งานดี จำกัด ได้เลย ด้วยความยินดียิ่ง พร้อมย้ำว่าทางโครงการไม่มีการ ‘ล็อก’ ชุมชน หากผู้ประสงค์สนับสนุนมีชุมชนในใจ สามารถปักหมุดเลือกมอบให้ตามที่ต้องการ

““เศรษฐกิจแบบนี้ มีคนลำบากน้อยและคนลำบากมาก เราอยากชวนคนที่ลำบากน้อย มามอบหนังสือแบ่งปันเพื่อส่งภูมิความรู้ให้คนที่ลำบากมากได้มีไอเดีย มองเห็นช่องทางและโอกาสทำมาหากิน ภาครัฐ ภาคเอกชนที่สนใจอยากสนับสนุน ติดต่อมาได้เลย อยากให้ทุกส่วนมาร่วมกัน เราจะให้รายละเอียดไป ถ้าผู้ต้องการสนับสนุนมีชุมชนในใจ เช่น บริษัท ก. มีโรงเรียนหรือชุมชนที่อยากตอบแทน เราไม่ได้ล็อก สามารถติดต่อลงชุมชนนั้นได้ และจะบันทึก ติดตามผลให้ด้วย แต่ถ้าใครไม่มีในใจ ทางโครงการจะหาให้ ทั้งหมดก็ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน คือมอบองค์ความรู้ต่างๆ เสริมความแข็งแกร่งให้ชุมชน ส่วนทางชุมชนเอง หรือสถานศึกษาต่างๆ สนใจอยากได้หนังสือ เรายิ่งยินดีเลย” นฤตย์กล่าวพร้อมรอยยิ้ม ก่อนเปิดใจถึงความคาดหวังว่า ยังคงเชื่อมั่นว่าหนังสือคือที่พึ่งของใครอีกหลายคน

“อยากให้การอ่านหนังสือกลับมาคึกคักในชุมชน บางคนเชื่อว่าโดนดิสรัปต์ บางคนเชื่อว่าคนไม่อ่านกันแล้ว แต่เรายังเชื่อว่าหนังสือยังเป็นที่พึ่งของอีกหลายคน ยังเป็นทางเลือก ถ้าเราสามารถทำให้การอ่านฟื้นกลับมา ความเข้มแข็งของชุมชนจะเกิด ถ้าชุมชนเข้มแข็งก็ตอบโจทย์สิ่งที่คิดไว้ คือทำให้จังหวัดเข้มแข็ง ประเทศก็จะเข้มแข็ง นี่คือภาพที่อยากเห็น”” เอ็มดี ‘’งานดี’’ ทิ้งท้าย

โครงการชุมชนอุดมปัญญา นับเป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ดีๆ ที่เครือมติชนพร้อมเป็นสื่อกลางเปิดรับความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อขนหนังสือดีๆ ส่งมอบแก่ชุมชนบนถนนสายที่นำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า ชุมชนที่เข้มแข็งขึ้น และประเทศที่ก้าวหน้าในวันพรุ่งนี้

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนโครงการฯ ได้ที่
ไลน์ : @matichonbook
หรือติดต่อ คุณคมสันต์ สินสุขสุภัณฑ์
โทร. 02-5890020 ต่อ 3353 หรือ 086-810-2173
อีเมล์ : [email protected]

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image