The Old Man and SEA 80 ปี ‘ชาญวิทย์’ โต้คลื่นลมชีวิต ชาย (ไม่เคย) ชรากับอุษาคเนย์

The Old Man and SEA 80 ปี ‘ชาญวิทย์’ โต้คลื่นลมชีวิต ชาย (ไม่เคย) ชรากับอุษาคเนย์

อย่าว่าแต่แวดวงประวัติศาสตร์ไทย ที่ไม่มีใครไม่รู้จักชายที่ชื่อ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา หรือ SEAS คณะศิลปศาสตร์ รั้วเหลืองแดง

หากแต่ทั้งกลุ่มคนรุ่นเก่า กลาง และใหม่ ชาย (ไม่เคย) ชราผู้มีคำนำหน้าทางวิชาการว่า ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร. ผู้นี้ก็เป็นที่ยกย่องนับถือไม่ว่าด้วยผลงานด้านประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ‘อุษาคเนย์’ อีกทั้งความเคลื่อนไหวต่อสู้ทางความคิดร่วมกับสังคมไทยตลอดหลายทศวรรษ

ชาย (ไม่ยอม) ชรา พารุ่นใหญ่
พบ รุ่นใหม่ ในหนังสือ ‘งานเกิด’

ศิริวุฒิ บุญชื่น ศิษย์เก่าโครงการ SEAS ตั้งข้อสังเกตว่า ‘อาจารย์ชาญวิทย์’ คงเป็นนักวิชาการชาวไทยเพียงคนเดียวที่มีหนังสือ ‘งานเกิด’ ออกมาให้อ่านกันทุกๆ 10 ปี นับตั้งแต่ “ผ่านกาลเวลา 60 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ”, “ลืมโคตรเหง้าก็เผาแผ่นดิน”, และ “กระจกหลายด้านฉายประวัติศาสตร์” ที่ออกมาพร้อมๆ กัน คราวฉลองอายุ 60 ปี เมื่อปี 2544 ถัดมาอีกราว 10 ในปี 2555 นั้น ก็มีหนังสือฉลองอายุครบ 70 ปีที่ชื่อ “สยามยามเปลี่ยน (ไม่) ผ่าน : ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ”

Advertisement

แน่นอนว่า ล่าสุดในวาระครบรอบ 80 ปี ไม่มีพลาด

“The Old Man and SEA ชายชรา กับ อุษาคเนย์ 80 ปี การโต้คลื่นลมชีวิต (ประวัติศาสตร์และความคิด) ของชาญวิทย์ เกษตรศิริ” ปรากฏตัวขึ้น

Advertisement

‘บิ๊กเนม’ ในวงการประวัติศาสตร์ทั้งไทยและอินเตอร์, นักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรงมาก, ลูกศิษย์ทางความคิดนอกวงการ ฯลฯ พร้อมใจร่วมวงสนทนาผ่านบทความหลากหลายในตัวเล่ม ซึ่งแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 หมวดหลัก ได้แก่

โลก (ในคลื่นลมโลกาภิวัตน์) อุษาคเนย์ (ทำความรู้จักอุษาคเนย์) และ ไทย (หวนมองสยามประเทศไทย)

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาทั้งหมดได้เชื่อมโยงข้ามแดนกันไปมาตลอดทั้งเล่ม

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ นักวิชาการไทยรุ่นใหญ่ที่ไปสังกัด ‘คอร์แนล’ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ คนดังจาก ม.เกียวโต นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับสารคดีที่น่าจับตา และ พิเชฐ สายพันธ์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รั้วธรรมศาสตร์ ต่างก็เขียนบทความที่เล่าความสัมพันธ์ส่วนตัวกับชาญวิทย์ว่าดำเนินไปอย่างไร

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เขียนเล่าว่ารู้จักกับชาญวิทย์เมื่อครั้งที่เรียนปริญญาโทด้วยกันที่คอร์แนล แล้วเหมือนโชคชะตาจะนำพาให้ทั้งคู่สนิทสนมกันยิ่งขึ้น เมื่อต้องกลับมาเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ด้วยกัน ต้องลี้ภัยหลัง 6 ตุลาฯไปอยู่เกียวโตด้วยกัน และสุดท้ายต้องเชื่อมโยงกับ “โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา” เหมือนกันอีก โดยทักษ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโครงการฯ ที่คอร์แนล ส่วนชาญวิทย์นั้นก็ได้ก่อตั้งโครงการดังกล่าวขึ้นที่ธรรมศาสตร์ เหล่านี้ทำให้ทักษ์รู้สึกว่าตนกับชาญวิทย์เหมือนได้เป็นฝาแฝดกัน

ในขณะที่ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เล่าในบทความ “TRAVELOGUE: ON THE ROAD WITH CHARNVIT KASETSIRI” ตอนหนึ่งว่า

‘…สิ่งเดียวที่ทําให้อาจารย์ชาญวิทย์ต่างจากอาจารย์ผู้ใหญ่คนอื่นๆ ก็คือ แม้อาจารย์จะมีอายุ 80 ปี แต่อาจารย์ยังสามารถ connect กับคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้ พูดภาษา “วัยรุ่น” รู้เรื่อง ฮาฮา เพราะอาจารย์รายล้อมไปด้วยคนรุ่นใหม่ จากการที่อาจารย์ on top of social media คือยังใช้เฟซบุ๊กได้อย่างดี เท่านี้ก็พิสูจน์ว่า อายุทําอะไรอาจารย์ไม่ได้เลย’

ในขณะที่คนรุ่นใหม่อย่าง นนทวัฒน์ นำเบญจพล

เล่าว่าตัวเองคลั่งไคล้การเล่นสเก็ตบอร์ด แต่สังคมรอบตัวกลับมีภาพลบต่อเด็กกลุ่มนี้ ทว่า เมื่อได้มีโอกาสอ่าน “โจนาทาน ลิฟวิงสตัน นางนวล” ผลงานแปลของ อาจารย์ชาญวิทย์

กลับช่วยยืนยันว่าสิ่งที่นนทวัฒน์เลือกและคลั่งไคล้นั้น คือ สิ่งที่ถูกต้อง

ด้วยเหตุนี้ในภาพยนตร์เรื่องแรก นนทวัฒน์จึงตัดสินใจทำหนังเกี่ยวกับสเก็ตบอร์ด โดยมีจิตวิญญาณของโจนาทานปรากฏอยู่ในนั้น และจิตวิญญาณดังกล่าวก็ยังคงปรากฏอยู่ในหนังเรื่องถัดมาของนนทวัฒน์ด้วย

เมื่ออาจารย์ชาญวิทย์ได้ข่าวเกี่ยวกับสารคดีเรื่อง “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” (Boundary) ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็น ‘เขาพระวิหาร’ ถูก ‘แบน’ จากคณะอนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์สั่ง ‘ห้ามฉาย’ ในไทย

อาจารย์ชาญวิทย์จึงได้ชักชวนนนทวัฒน์มาพูดคุย และสนับสนุนให้สารคดีที่ถูกตีตราว่า “ชังชาติ” สามารถฉายได้ตามโรงภาพยนตร์และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉายที่โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

ด้าน พิเชฐ สายพันธ์ เขียนเล่าว่าโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา รั้วธรรมศาสตร์นั้น อาจารย์ชาญวิทย์ได้แบบอย่างมาจากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของคอร์แนล ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยานามว่า ลอริสตัน ชาร์ป (Lauriston Sharp)

ครั้นเมื่อพิเชฐได้รับเข้าเป็นอาจารย์ประจำโครงการดังกล่าว อาจารย์ชาญวิทย์ได้สนับสนุนให้ไปเรียนภาษาเวียดนาม รวมทั้งปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม เมื่อจบกลับมาแม้จะย้ายไปประจำอยู่ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา แต่ก็ยังคงเชิญพิเชฐให้มาสอนที่โครงการฯ และร่วมพานักศึกษาไปเดินทางออกภาคสนามเช่นเดิม

“นกที่บินเร็วที่สุด คือนกที่บินได้เท่าความคิดตัวเอง”
ขนาด 60 x 80 cm สีน้ำมันบนผ้าใบ ปี 2021
ศิลปิน อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ เกิดที่บุรีรัมย์ เป็นศิลปินและผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (ฉะเชิงเทรา) ครอบครัวตั้งชื่อตามอาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนดัง และหนังสือ “โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล” ประพันธ์โดย Richard Bach แปลโดยชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่เป็นคัมภีร์การใช้ชีวิตของคนหนุ่มสาวช่วงยุค 70’s
ปัจจุบันคาดว่ายังไม่มีใครตั้งชื่อลูกแบบนี้

พระเจ้าตาก โซเมีย เอเชียศึกษา
และวรรณกรรมเพื่อนบ้าน

นอกจากเรื่องเล่าที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ส่วนตัวกับชาญวิทย์แล้ว ที่สำคัญคือ หนังสือเล่มนี้ย่อมเข้มข้นเนื้อหาที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมด้วย อาทิ บทความของ สมฤทธิ์ ลือชัย ธงชัย วินิจจะกูล กฤติยา กาวีวงศ์ อรอนงค์ ทิพย์พิมล และ พิชยะพัฒน์ นัยสุภาพ

สมฤทธิ์ ลือชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ทำการสำรวจเอกสารประวัติศาสตร์ทั้งชั้นต้นและชั้นรอง เพื่อดูว่ามีเอกสารชิ้นใดบ้างที่ระบุเนื้อความว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงวิปลาส และเอกสารใดบ้างที่ชี้ว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งความวิปลาสนี้มีส่วนทำให้พระองค์ “สิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น” และถูกประหารชีวิตในที่สุด

ส่วนในบทความ ‘เอเชียศึกษาข้ามวงวิชาการ’

ของ ธงชัย วินิจจะกูล ในเล่มนี้ ได้ยกตัวอย่างว่า คนเอเชียไม่ได้รู้สึกว่าตนเองนั้นเป็น “Others” เหมือนอย่างที่ Edward Said ได้เคยมองไว้ในงานศึกษาเรื่อง “Orientalism” ด้วยเหตุนี้ความสนใจต่อการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตาก จึงอาจจำกัดตัวอยู่เฉพาะในหมู่นักวิชาการไทยเท่านั้น

ธงชัยเล่าด้วยว่าเคยสนทนากับนักวิชาการไทยคนหนึ่ง ซึ่งบอกว่าการที่นักวิชาการชาวตะวันตกขาดความสนใจต่อเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยนอกประเทศไทยนั้น ยังด้อยคุณภาพอยู่มาก (!?) ซึ่งความเห็นของนักวิชาการท่านนี้ได้กลายเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าความแตกต่างระหว่างพื้นที่และวงวิชาการนั้นมีมากเพียงใด และมันได้กลายเป็นความท้าทายใหม่ที่นักวิชาการจะต้องเผชิญ

โดยในตอนหนึ่ง ธงชัยระบุว่า

‘…ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของอุดมศึกษาและวงวิชาการในประเทศเอเชียส่วนใหญ่ เริ่มต้นขึ้นในฐานะสถาบันของยุคอาณานิคม เพื่อผลิตข้าราชการสําหรับรับใช้รัฐสมัยใหม่ สิ่งที่แตกต่างจากวงวิชาการในโลกยุโรป-อเมริกันคือ การให้ความสําคัญกับความรู้ที่ “มีประโยชน์” ซึ่งหมายถึง ความรู้เชิงประยุกต์และเชิงเทคนิครวมทั้งสังคมศาสตร์ประยุกต์…’

อีกหนึ่งบทความน่าสนใจ มาจาก กฤติยา กาวีวงศ์ ภัณฑารักษ์รุ่นใหญ่ในวงการศิลปะร่วมสมัย ซึ่งมีความสนใจในประเด็นประวัติศาสตร์ ส่งบทความ THINKING ABOUT ZOMIA AND BEYOND มาบอกเล่าเรื่องราวของศิลปินกลุ่มที่นำเอาแนวคิดเรื่อง Zomia ของ ศ.เจมส์ สก็อตต์ มาใช้ตีความเพื่อสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ ทั้งนี้ เพื่อช่วยส่งเสียงให้ผู้คนได้ยินประวัติศาสตร์ของผู้คน ผู้อยู่อาศัยใน Zomia เหล่านั้น

สำหรับ โซเมีย (Zomia) ซึ่งมาจากคำว่า ‘โซมี’ ในภาษาตระกูลทิเบต-พม่า แปลว่า ‘คนที่อยู่บนที่สูง’ ครอบคลุมพื้นที่ในอุษาคเนย์ จีน อินเดีย และบังกลาเทศ ราว 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร

ด้านนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ อย่าง อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์โครงการ SEAS ผู้เชี่ยวชาญด้านอินโดนีเซีย นำเสนอบทความ ‘ปูจังกา บารู (Pujangga Baru) : วรรณกรรมกับเปอมูดา (Pemuda) ผู้ (แอบ) ท้าทายอาณานิคม’

เล่าถึงวรรณกรรมในฐานะเครื่องมือชิ้นสำคัญที่ผู้อยู่ภายใต้การปกครองใช้ส่งเสียงให้ผู้ปกครองได้ยิน ต่างกันตรงที่งานของอรอนงค์เป็นการศึกษาวรรณกรรมกลุ่มปูจังกาบารู (Pujangga Baru) ในขณะที่ พิชยะพัฒน์ นัยสุภาพ ส่ง ‘ความเคลื่อนไหวต่อต้านเวียดของชาวเขมรกับวรรณกรรม จบับ (ทศวรรษ 1820-1840)’ มาให้อ่านในเล่มนี้

ภาพนกจากผลงานของอาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ ถูกนำมาใช้ในการออกแบบปก The Old Man and SEA

 

การเมืองไทยจากกรุงศรีฯ
สู่ 2475 ถึง ‘เดือนตุลา’

มาถึงเนื้อหากลุ่มสุดท้ายที่ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือ

The Old Man and SEA นั่นคือประเด็นว่าด้วยประวัติศาสตร์สังคม และประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ไล่เรียงมาตามลำดับเวลา เริ่มตั้งแต่งานศึกษาประวัติศาสตร์สังคมสมัยอยุธยาโดย คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงก่อน 2475 โดย สายชล สัตยานุรักษ์
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วง 2475 โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วง 2494 โดย สายพิณ แก้วงามประเสริฐ
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงเดือนตุลา โดย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

และปิดท้ายด้วยบทความคุณภาพโดย ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นอีกเล่มต้องอ่าน ในวันที่สังคมไทยยังต้องโต้คลื่นลม

ทีมข่าวเฉพาะกิจ


The Old Man and SEA
ชายชรา กับ อุษาคเนย์ : 80 ปีการโต้คลื่นลมชีวิต

(ประวัติศาสตร์และความคิด) ของชาญวิทย์ เกษตรศิริ
คำนิยม l สุลักษณ์ ศิวรักษ์
และคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์
คำนำ l ชานันท์ ยอดหงษ์

หมวดที่ 1 : ในคลื่นโลกาภิวัฒน์
1. Article to celebrate the 80th birthday of Professor Charnvit Kasetsiri
โดย Thak Chaloemtiarana
2. TRAVELOGUE: ON THE ROAD WITH CHARNVIT KASETSIRI
โดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
3. เอเชียศึกษาข้ามวงวิชาการ
โดย ธงชัย วินิจจะกูล
4. THINKING ABOUT ZOMIA AND BEYOND
โดย Gridthiya Gaweewong

หมวดที่ 2 : ทำความรู้จักเพื่อนบ้านอุษาคเนย์
5. อุษาคเนย์ศึกษาท่าพระจันทร์ มานุษยวิทยา และชาญวิทย์
เกษตรศิริ
โดย พิเชฐ สายพันธ์
6. จดหมายถึง โจนาทาน ของฉัน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
โดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล
7. ปูจังกา บารู (Pujangga Baru) : วรรณกรรมกับเปอมูดา (Pemuda) ผู้ (แอบ) ท้าทายอาณานิคม
โดย อรอนงค์ ทิพย์พิมล
8. หินตั้ง, หินใหญ่ และความตายในศาสนาผี กับพระนอน และพุทธประวัติตอนปรินิพพาน
โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
9. ความเคลื่อนไหวต่อต้านเวียดของชาวเขมรกับวรรณกรรม ฉบับ (ทศวรรษ 1820-1840)
โดย พิชยะพัฒน์ นัยสุภาพ
หมวดที่ 3 : หวนมองสยามประเทศไทย
10. ประชากร อาหาร และสังคมเมืองในสมัยอยุธยาตอนกลาง
โดย คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร
11. ปริทรรศน์สัญญาวิปลาสพระเจ้ากรุงธนบุรี : พระเจ้าตากสินเป็นบ้าจริงหรือ?
โดย สมฤทธิ์ ลือชัย
12. การเปลี่ยนรูปของรัฐไทยกับความหมายของ “ประชาธิปไตย” ก่อนและหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475
โดย สายชล สัตยานุรักษ์
13. 2475 : อดีต ปัจจุบัน อนาคต
โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
14. การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงการปฏิวัติเงียบ
โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ
15. วิวาทะคนเดือนตุลาฯ ท่ามกลางการเติบโตของขบวนการต่อต้านทักษิณ ชินวัตร
โดย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล
16. การก่อรูปและอิทธิพลของความคิดทางการเมืองอนุรักษ์นิยมไทยในยุคโลกาภิวัตน์: จาก “ธรรมราชา” สู่ “พระมหากษัตริย์มหาชน”
โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

สั่งออนไลน์ได้ทาง
FB : Textbooks Foundation-มูลนิธิโครงการตำราฯ
สอบถาม โทร 08-1845-6707 และ 0-2424-5768

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image