ครบรอบ 5 ปี โศกนาฏกรรมโรฮีนจา ความจำเป็นของการมีอยู่ของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์

ภาพจากรอยเตอร์

ในโลกที่การต่อสู้ด้วยกำลังติดอาวุธถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ล้าหลังและกลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจที่สุดของมนุษยชาติ อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นอย่างหนึ่งที่จะต้องตระหนักในสภาวะที่ความโดดเดี่ยวของกลุ่มชาติพันธุ์ดำรงอยู่ท่ามกลางการถูกกดขี่และการถูกกดดันของรัฐ คือไม่มีกองกำลังของรัฐหรือแม้แต่กำลังกองกำลังของสหประชาชาติที่จะสามารถเข้าไปปกป้องการมีชีวิต หรือการหลบหนีของประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้ทุกกรณี ทางเลือกและทางเดียวที่จะสามารถอยู่รอดท่ามกลางความโหดร้ายดังกล่าวนั้นได้ คือการสร้างกองกำลังติดอาวุธขึ้นเพื่อปกป้องประชาชนของตนเอง เมื่อกล่าวถึงที่สุดแล้ว การตกอยู่ในสถานะไร้ทางเลือก/ไร้ที่พึ่งพา การยืนบนขาด้วยตนเอง การนำมือจับอาวุธจึงกลายเป็นช่องทางสุดท้ายที่การต่อสู้ในสงครามกลางเมืองจะดำเนินต่อไปได้ และหากปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้ว นั่นหมายความว่าชีวิตของสมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ย่อมตกอยู่ภายใต้ปากเหวแห่งนรกความขัดแย้ง

กวาดล้างโรฮีนจา ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคใหม่

หลักการดังกล่าวนี้ แม้ว่าจะขัดแย้งการรับรู้ว่ากระบวนการสันติภาพ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดการดำรงอยู่ของสันติสุขที่มีความยั่งยืน หากแต่เมื่อย้อนมองกลับไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุสำคัญของการเกิดโศกนาฏกรรมอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรือแม้แต่กระทั่งนักคิดบางสถาบันชี้ให้เห็นได้ว่าการเข่นฆ่าชาวโรฮีนจานั้น อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการกวาดล้างมนุษยชาติ จนกระทั่งอาจกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคใหม่ แม้ว่าทุกคนอาจจะให้ความสนใจในแง่ของการเข้าไปปราบปรามของกองกำลังรัฐเมียนมา แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องพิจารณาด้วยเช่นเดียวกันก็คือ ก่อนการเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งในยุคใหม่ ในอดีตกองกำลังของชาวโรฮีนจากลายเป็นกองกำลังติดอาวุธที่อยู่แนวพรมแดนชายแดนเมียนมาและบังกลาเทศ และมีประวัติศาสตร์การต่อสู้มาอย่างยาวนาน และสลับสับเปลี่ยนกองกำลังในแต่ละยุคสมัย
แตกต่างกัน ดังกรณีกลุ่ม RSO หรือ The Rohingya Solidarity Organisation ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคและกำแพงสำคัญที่ทำให้กองทัพเมียนมายังไม่สามารถส่งกำลังเข้าโจมตีและกวาดล้างได้อย่างเต็มกำลัง

ทั้งนี้ จะพบว่าภายหลังจากการที่อินเดียมีความต้องการวางท่อก๊าซหลงเข้าไปสู่พื้นที่อ่าวในรัฐอาระกัน ก่อให้เกิดการกดดันบังกลาเทศให้ยุติการให้ความช่วยเหลือต่อกองกำลังของชาวโรฮีนจา การกระทำดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดผลด้านลบที่สำคัญในการก่อสร้างกองกำลังปกป้องตนเองของชาวโรฮีนจา และสถานการณ์หลังจากนั้นจะพบว่าเมื่อมีการพยายามเข้ากวาดล้างจากรัฐเมียนมาในพื้นที่ของรัฐอาระกัน จึงไม่มีกองกำลังอาวุธปกป้องประชาชนได้ การสร้างข้อกล่าวหาว่ามีการสั่งสมอาวุธและการพยายามที่จะสร้างเขตปกครองตนเอง โดยจัดตั้งกองกำลังปกป้องตนเองขึ้นมาในยุคใหม่นี้ จึงเป็นสิ่งที่คลุมเครือและกลายเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เห็นได้ว่า อาชญากรรมของมนุษยชาติเกิดจากการสร้างเรื่องราว/เรื่องเล่า อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำให้ปัญหาหรือมายาคติด้านความมั่นคงจากรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น

การต่อสู้ทางการข่าว กระแสกดดัน ขับเคลื่อนวาระซ่อนเร้น

Advertisement

ข้อถกเถียงว่า กองกำลังติดอาวุธของชาวโรฮีนจานั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ในระดับยุทธศาสตร์จึงเป็นการต่อสู้ทางด้านการข่าว และการพยายามสร้างกระแสทั้งในเชิงกดดันและขับเคลื่อนวาระซ่อนเร้น ทั้งการทำให้เป็นภาพของผู้ก่อการร้าย หรือแม้แต่กระทั่งการพยายามวาดภาพลักษณ์ของกลุ่มชาตินิยมของชาวโรฮีนจาเอง ที่พยายามเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธใหม่ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ จะพบว่าการปรากฏตัวของ ARSA (The Arakan Rohingya Salvation Army – ARSA) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธยุคใหม่นั้น มักจะเป็นการต่อสู้ผ่านกระบวนการสร้างหรือเคลื่อนไหวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แต่ในทางปฏิบัติระดับพื้นที่จะพบว่ายังไม่สามารถที่จะขยายเขตพื้นที่ปฏิบัติการ และสิ่งที่สามารถทำได้มากที่สุดคือ การพยายามสร้างกระแสข่าว และสร้างความร่วมมือกับกองกำลังกลุ่มใกล้เคียง ว่าสามารถที่จะขยายเขตอิทธิพลต่อไปได้ความสุ่มเสี่ยงที่น่าสนใจของการเกิดขึ้นของกองกำลังดังกล่าว นั่นก็คือ เมื่อไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพยายามพึ่งพาทางด้านยุทธศาสตร์ต่อกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดจึงกลายเป็นอีกทางออกหนึ่งของการอยู่รอดของกองกำลัง แต่ทั้งนี้จะพบว่าการดำรงอยู่ของกองกำลังนั้นมีคำถามที่น่าสนใจว่าสามารถเป็นตัวแทนของการต่อสู้ในยุคใหม่ได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่กองกำลังอาชญากรรมที่รอคอยจังหวะเวลาในการสร้างความน่าสนใจแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ชายชาวโรฮีนจา 10 รายถูกรวบตัวก่อนโดนสังหารหมู่ ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐยะไข่ เมียนมา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2560 (ภาพจากรอยเตอร์)

หน้าที่ของกองกำลังติดอาวุธของชาวโรฮีนจาจึงอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถขยายเขตปกป้องประชาชนของตนเองที่มีอยู่จริงได้ หรือแม้แต่กระทั่งการสร้างการยอมรับในหมู่ของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา และการยอมรับท่าทีอย่างตรงไปตรงมาของประเทศเพื่อนบ้านว่ามีกองกำลังเหล่านั้นอยู่จริง โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นต่อชาวโรฮีนจาในแง่นี้ จึงจะพบว่ายังไม่สามารถมีกองกำลัง หรือแม้แต่กระทั่งเครื่องมือในการปกป้องการดำรงอยู่ของชีวิตประชาชนชาวโรฮีนจาได้ ซึ่งต่างจากในอดีต นั่นคือสามารถมีกองกำลังที่ปกป้องเขตพื้นที่ หรือแม้แต่กระทั่งการพยายามสร้างขอบเขตทำให้กลายเป็นหลักประกันด้านความมั่นคง ว่าประชาชน อย่างน้อยที่สุดการมีกองกำลังติดอาวุธที่จะสามารถทำให้พวกเขามั่นใจว่ามีสัญญาณเตือน หากมีกองกำลังของฝ่ายรัฐพยายามเข้าบุกโจมตีในพื้นที่ และมีกองกำลังที่จะสามารถนำพวกเขาหลบหนีออกจากพื้นที่การสู้รบได้

Advertisement

สงครามกลางเมืองเปลี่ยนสมการ ชีวิตผู้บริสุทธิ์ต้องถูกปกป้อง

ในอีกด้านหนึ่ง การพยายามเรียกร้องที่จะกลับสู่ถิ่นฐานดั้งเดิมในประเทศเมียนมาในปัจจุบัน แม้ว่าสหประชาชาติเองจะพยายามเรียกร้องและเจรจากับทางการของเมียนมา แต่ความเป็นไปได้ยังมีโอกาสและความสำเร็จได้น้อยมากหากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในเมียนมาในปัจจุบัน ที่การต่อสู้และสงครามกลางเมืองเปลี่ยนสมการและตัวละครในการสู้รบที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

จากกรณีดังกล่าวนี้ ทำให้เห็นได้ว่าการมีอยู่ของกองกำลังติดอาวุธอาจจะมีความจำเป็นในระดับหนึ่ง หากพิจารณาถึงความต้องการปกป้องชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ และสามารถทำให้เกิดการเทียบเคียงได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่พยายามเรียกร้องสิทธิในการปกครองของตนเองในเมียนมาในปัจจุบัน ว่ามีความจำเป็นต้องมีกองกำลังติดอาวุธของตนเองด้วยเช่นเดียวกัน หรือแม้แต่กระทั่งยังพยายามทำให้กองกำลังของตนเองมีความเข้มแข็งมากขึ้น เนื่องจากหลักประกันด้านความมั่นคงที่ไม่สามารถให้ความมั่นใจต่อความจริงใจ หรือแม้แต่กระทั่งการพยายามเข้าไปเจรจาในการยุติความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องได้อย่างยาวนานจากฝ่ายรัฐเมียนมา

ย้อนกระบวนการสันติภาพ
เงื่อนไข ‘วางอาวุธ’ ทำหลายกองกำลังเมินลงนาม

หากย้อนพิจารณาในอดีต การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ แม้ว่าจะสามารถสร้างให้เกิดขึ้นในยุคสมัยของประธานาธิบดีเต็งเส่ง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและพิจารณาเป็นอย่างยิ่งในยุคที่พรรค NLD มีบทบาทในการเป็นพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลนั้น การสร้างเงื่อนไขว่ากลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ จะต้องวางอาวุธก่อนจึงจะสามารถเข้ามาสู่กระบวนการพูดคุยได้ ทำให้หลากหลายกองกำลังปฏิเสธที่จะร่วมในการลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั้งประเทศ

นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มกองกำลังขนาดเล็กเองก็มีความพยายามที่จะขยายความเข้มแข็งกองกำลังของตนเองให้มีมากขึ้นเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง รวมทั้งความพยายามสร้างเขตปกครองของตนเองจนสามารถมีขนาดอย่างเพียงพอที่จะสามารถทำให้รัฐบาลหรือแม้กระทั่งกองทัพเมียนมาให้ความสนใจ หรือแม้แต่กระทั่งรับฟังข้อเรียกร้องจากกลุ่มชาติพันธุ์ ในกรณีดังกล่าวนี้ เราจะเห็นได้ว่ากองกำลังของชาวอาระกัน ที่เรียกกันว่ากลุ่ม AA (The Arakan-Army) คือตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดในการพยายามสร้างกองกำลังของตนเอง หรือแม้แต่กระทั่งการขยายขอบเขตในการปฏิบัติการทางด้านทหารในพื้นที่ แม้ว่าในปัจจุบันกองทัพอาระกันจะไม่ได้มีการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั้งประเทศ แต่ในทางยุทธศาสตร์แล้วจะพบว่าสามารถสร้างศักยภาพจนทำให้กองทัพเมียนมาให้ความเกรงใจ และสามารถก่อให้เกิดข้อตกลงในระดับของพื้นที่ได้ในบางช่วงเวลา

กองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ในสงครามกลางเมืองจึงมีวงจรชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย บางกองกำลังถูกสร้างขึ้นในห้วงที่มีการพยายามประกาศ หรือการได้รับเอกราชของรัฐนั้นๆ ในอีกด้านหนึ่ง กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เองก็ถูกสร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไขและสภาพบังคับที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ นั่นก็คือ หน้าที่เป็นเกราะกำบังปกป้องให้กับประชาชนของตนเอง ทั้งนี้ จะพบว่าสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาในปัจจุบันหลากหลายกองกำลังแม้ว่าจะมีท่าทีและจุดยืนในการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกกองกำลังมีจุดยืนร่วมกันนั่นก็คือ ไม่สามารถวางอาวุธในช่วงขณะที่มีการเจรจากับกองทัพเมียนมาได้ เนื่องจากยังไม่มีความมั่นใจและอดีตที่ผ่านมานั้นยังไม่มีเหตุผลและประจักษ์พยานที่สามารถยืนยันได้ว่าเมื่อมีการวางอาวุธแล้ว พวกเขาเหล่านั้นจะไม่ถูกฆ่าและถูกทำร้ายเฉกเช่นในกรณีเดียวกับชาวโรฮีนจา

กองกำลังชาติพันธุ์เมียนมา
เหยื่อกลไก ‘แบ่งแยกและปกครอง’

นอกจากนั้นแล้ว การพยายามรื้อฟื้นการเจรจาที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันกับรัฐบาลทหาร หรือ SAC ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจากับกองกำลังเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และธงหลักของทางรัฐบาลเมียนมาในการเจรจานั่นคือ การพยายามสร้างความร่วมมือจนสามารถนำไปสู่การกำหนดวัน หรือการสร้างการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นภายในปี ค.ศ.2023

การพยายามกดดันจากนานาชาติให้รัฐบาลเมียนมาดำเนินตามแผนและข้อตกลงที่มีให้ไว้กับอาเซียน โดยเฉพาะหลักการประการที่สำคัญทั้ง 5 ประการ อีกทั้ง เนื่องในวาระครบรอบ 5 ปีโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจาเอง ยังมีการเรียกร้องให้ทางการเมียนมาผนวกเอาปัญหาดังกล่าวเข้าไปสู่การสร้างกลไกในแก้ปัญหาวิกฤตชาติ แต่ทั้งนี้ ข้อสังเกตที่สำคัญประการหนึ่งนั่นก็คือ วิธีการปฏิบัติหรือการเจรจากับกองกำลัง
กลุ่มชาติพันธุ์ในยุคปัจจุบัน ยังมีการจัดแบ่งฐานะและความสำคัญแตกต่างกันออกไป ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับสถานะวิกฤตสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้น บางกองกำลังถูกจำแนกให้กลายเป็นกลุ่มก่อการร้าย บางกองกำลังถูกจำแนกให้กลายเป็นพันธมิตรของฝ่ายรัฐบาล บางกองกำลังถูกจำแนกและจัดวางให้มีการต่อสู้ภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน อีกทั้งยังถูกแบ่งแยกซ้ำด้วยความแตกต่างทางด้านอุดมการณ์

อาจกล่าวได้ว่า กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาถูกกลไกการแบ่งแยกและปกครองทั้งโดยเงื่อนไขที่เกิดขึ้นภายในกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ของแต่ละฝ่าย และกระบวนการที่เกิดขึ้นจากฝ่ายรัฐเมียนมา การพยายามก่อให้เกิดกลไกการเจรจาที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน หากพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว จึงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากกลไกและความแหลมคมในข้อขัดแย้งในปัจจุบัน ที่สงครามกลางเมืองเกิดขึ้นควบคู่ไปกับความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์และความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ ด้วยมูลเหตุดังกล่าวนี้ จึงก่อให้เกิดข้อสรุปที่น่าสนใจในเบื้องต้นที่ว่า การมีอยู่ของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง หากในสภาวะของกระบวนการสันติภาพ ยังมีความอ่อนแอ หรือแม้แต่กระทั่งท่าทีของฝ่ายรัฐเอง ยังพยายามใช้เครื่องมือในการโจมตีที่มีความรุนแรง การเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นในปีหน้านั้น อาจจะสามารถสร้างความชอบธรรมให้กับการยอมรับอำนาจที่มาจากกองทัพได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขหรือยุติสภาวะแทรกซ้อนของสงครามกลางเมืองต่อไปในอนาคตได้

การหากลไกปกป้องชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในสงครามกลางเมือง ด้วยเครื่องมือที่กลุ่มชาติพันธุ์มีอยู่เอง จึงเป็นสิ่งเดียวที่สามารถทำให้พวกเขาฝากความหวังเอาไว้ได้ จนกว่ากระบวนการสันติภาพที่มีความน่าเชื่อถือจะสามารถเริ่มต้นได้ใหม่อีกครั้ง

แฟ้มภาพเอเอฟพี

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image