เรื่องข้าว เรื่องเก่าแก้ไม่จบ : คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง

เมื่อปลายฝนพ้นผ่าน ลมหนาวเริ่มพัดเข้ามาถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของชาวนา ปัญหาราคาข้าวก็วนเวียนมาอีกหน ปีนี้เป็นปีที่ราคาข้าวตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี ชาวนาถึงกับบ่นว่าราคาย้อนยุคไปถึงสมัย พ.ศ.2534 เลยก็ว่าได้

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ และค่าครองชีพพุ่งกระฉูดมาถึงขนาดนี้แล้ว การจะเอาชีวิตให้อยู่รอดจากการทำนาขายข้าวเพียงอย่างเดียวก็เห็นจะลำบาก นอกหน้านาก็ต้องรับจ้างทำอาชีพเสริมเลี้ยงตัวไป ไม่ว่าจะเป็นช่างก่อสร้าง ช่างไฟ ช่างแอร์ จนถึงกรรมกรตามวิสัยความสามารถของตน

ภาวะราคาข้าวตกต่ำนี้ มิได้เป็นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นจากราคาข้าวในตลาดโลกที่ตกต่ำต่อเนื่อง เพราะปีนี้ผลผลิตข้าวโลกค่อนข้างดี ไม่มีภัยธรรมชาติใหญ่เกิดขึ้นในประเทศผลิตข้าวที่สำคัญ ทั้งเวียดนาม อินเดีย และจีน ทำให้การผลิตข้าวออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับสต๊อกข้าวเดิมของประเทศไทยยังมีอยู่มาก การส่งมอบข้าวในตลาดค้าข้าวระหว่างประเทศจึงบีบให้ราคาข้าวต่ำลงตามกลไกตลาด ชาวนาในประเทศผลิตข้าวต่างประสบปัญหานี้เช่นกันถ้วนหน้า

ประเทศเวียดนามเล็งเห็นปัญหาการผลิตข้าวและราคาที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ จึงได้เริ่มวางแผนปฏิรูปโครงสร้างการผลิตข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกข้าวในเขตดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติเป็นประจำต่อเนื่อง โดยการจำกัดพื้นที่ปลูกข้าว เลือกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภัยทั้งแล้งและท่วมต่ำ เพื่อลดปริมาณข้าวในท้องตลาด เปลี่ยนการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ใช้ผลิต จัดการแบ่งส่วนการผลิตเพื่อส่งออกและผลิตเพื่อใช้บริโภคในประเทศอย่างเป็นระบบ

Advertisement

ขณะเดียวกัน ผลผลิตข้าวของลาวและกัมพูชาก็ได้รับความกระทบกระเทือนจากราคาข้าวตกต่ำนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอุตสาหกรรมส่งออกข้าวของทั้งสองประเทศยังเป็นส่วนน้อยของมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตข้าวของลาวยังต่ำกว่าเป้าหมายและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงคุณภาพการสีข้าวที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ต้องนำเข้าข้าวจากไทยไปบริโภคจำนวนมากต่อปี ส่วนข้าวของกัมพูชาเพิ่มเข้าสู่ตลาดโลก แม้ข้าวผกามะลิจะเริ่มมีชื่อเสียง แต่ยังต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการขาย รวมถึงนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมมากกว่าจะอุ้มภาคเกษตรกรรมด้วย

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหาข้าวไทยยิ่งแก้ยิ่งยุ่งและสะสมหมักหมมกันมานานนับศตวรรษ เพราะเราต้องการแรงงานถูกและราคาข้าวถูก โดยไม่ดูความเป็นจริงของสถิติและสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อแก้อย่างหนึ่งจึงเกิดปัญหาอย่างหนึ่ง และปัญหาเรื่องข้าวก็เป็นปัญหาที่ตั้งและล้มรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย

อีกทั้งตัวละครที่เกี่ยวข้องในผลประโยชน์ของการค้าข้าวนั้นก็มากเกินกว่าจะหักลงไปข้างใดข้างหนึ่ง ผลสุดท้ายผู้รับเคราะห์คือชาวนาที่ต้องทนทุกข์กับความไม่แน่นอนของราคาข้าวและลมฟ้าอากาศกันต่อไปไม่รู้จบสิ้น นโยบายที่น่าสนใจคือการสนับสนุนให้คนเลิกทำนาเพื่อลดปริมาณข้าวในตลาด แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะการจ่ายชดเชยนั้นไม่คุ้มค่าต่อการเลิกอาชีพ และไม่มีช่องทางการทำมาหากินต่อไปในอนาคตรองรับ

ปัญหาราคาข้าวหรือราคาสินค้าอาหารพื้นฐานไม่ได้เกิดมาแค่ประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่ทุกประเทศเคยประสบมาก่อน การเอาแต่ใช้อารมณ์ปลุกกระแสยิ่งทำให้เรื่องราวซับซ้อนวุ่นวายและแก้ไขไม่ได้

ปัญหาเรื่องข้าวไทยก็จะวนเวียนกันไปไม่รู้จบอย่างนี้ จนกว่าจะได้จัดเก็บข้อมูลให้ละเอียดแล้วจี้จุดลงตรงโครงสร้างอย่างแท้จริง ทั้งการลดจำนวนประชากรในภาคการเกษตร และการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพทั้งทางผลผลิตและทางการเงิน ให้ทางเลือกแก่ชาวนาว่าอยากจะทำอะไรต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image