จับตาทวงคืนโบราณวัตถุไทย กรณีศึกษารัฐบาลตุรกีได้ทองคำกรุ Lydian คืนจากสหรัฐ

โพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จากเขาปลายบัด บุรีรัมย์ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อให้คนไทยที่หวงแหนและสนใจเรื่องการทวงคืนสมบัติชาติที่ถูกลักลอบขุดและลักลอบนำออกไปต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย ได้ตระหนักถึงพฤติกรรมของมิวเซียมใหญ่ระดับโลกที่อเมริกา ต่อการครอบครองโบราณวัตถุที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ และปฏิกิริยาต่อต้านการทวงคืนในรูปแบบต่างๆ ทั้งใต้ดิน บนดิน หรือเมื่อถูกฟ้องร้องทางศาลก็พยายามสู้ เพื่อขอไม่ให้ศาลรับฟ้อง แต่เมื่อศาลรับฟ้องแล้วในขั้นตอนการพิจารณาคดีทางศาล ทางมิวเซียมจะถูกบังคับให้ตรวจสอบที่ไปที่มาของของที่ครอบครองอยู่ตามฟ้อง ทำให้เอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการซื้อขาย หรือรับมอบของเหล่านั้นจะถูกเปิดเผยขึ้น อีกทั้งในการฟ้องศาล ถ้าอัยการกลางฟ้องในข้อหาครอบครองของโจรตาม Stolen property Act ถ้ารอให้ถึงการตัดสินคดี ที่มิวเซียมผู้ถูกฟ้องร้อง ต้องนำหลักฐานมาแสดงว่าของที่ครอบครองอยู่ไม่ใช่ของโจร มีแหล่งที่มาถูกต้องไม่ผิดกฎหมายของประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น มีการส่งออกจากประเทศต้นกำเนิดและนำเข้าอเมริกาอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีหลักฐานเหล่านั้น หรือไม่มี provenance (ที่มา) ตามกฎหมาย

โดยบทลงโทษต่อผู้บริหารมิวเซียมรุนแรงมาก ถึงขั้นติดคุก อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของประเทศไทย ที่ดำเนินการโดยกระทรวงมาตุภูมิแห่งรัฐในฐานะตัวแทนรัฐบาลอเมริกา ร่วมกับอัยการกลางนำกรณีที่ทางรัฐบาลไทย โดยคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุส่งหนังสือขอความร่วมมือไป ขึ้นฟ้องศาล มักจะยังไม่อ้างใช้กฎหมายของโจร แต่จะเริ่มแบบเจรจาความ คือ ขอคืนให้ไทยดีๆ ก่อนที่จะใช้ยาแรง

แผ่นบุทองรูปพระวิษณุ จากเมืองศรีเทพ เพชรบูรณ์ ส่วนหนึ่งของรายการทวงคืนจากพิพิธภัณฑ์ที่ชิคาโก ในสหรัฐ

ย้อนปมได้คืน‘ทับหลังหนองหงส์-เขาโล้น’ เฝ้าระวังอีก 33 ชิ้นล้ำค่า
ที่ผ่านมากรณีที่เราได้ทับหลังปราสาทหนองหงส์กับเขาโล้นคืนมา ทางมิวเซียมที่ครอบครองมีความพยายามต่อสายตรงเจรจากับกรมศิลปากร แต่การดำเนินการทวงคืนของไทยนี้เป็นเรื่องรัฐบาลไทยต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ทาง Homeland Security Investigation (สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา) ได้ใช้หมายศาลยึดทับหลังทั้งสองชิ้นนั้นมาคืนไทย ขณะที่ทางมิวเซียมให้ข่าวว่า ทางบอร์ดของมิวเซียมกำลังพิจารณาคืนไทยอยู่แล้ว

Advertisement

ด้วยการที่ได้ทับหลังสองชิ้นคืนมาเป็นเพราะรัฐบาลไทยได้ส่งหนังสือขอให้รัฐบาลอเมริกาติดตามทวงคืนอย่างเป็นทางการฉบับที่ 1 เมื่อกุมภาพันธ์ 2561 ก่อนที่จะได้รับทับหลัง 2 ชิ้น คืนกลางปี 2564 ส่วนหนังสือทวงคืนอย่างเป็นทางการฉบับที่ 2 ซึ่งถูกส่งไปในช่วงต้นปี 2562 ประกอบด้วย

1.ชิ้นส่วนหินแกะสลักประกอบอาคาร 5 รายการ
2.ประติมากรรมสำริดประโคนชัย 18 รายการ
3.ประติมากรรมรวม 10 รายการ จากศรีเทพ

ใน 33 รายการนี้กระจายอยู่ในมิวเซียม 8 แห่ง ได้แก่ The Metropolitan Museum of Art, New York; The Asia Society Galleries, New York; Norton Simon Museum of San Francisco; The Asian Art Museum of San Francisco; Kimbell Art Museum, Fort Worth; The Denver Art Museum, Denver; Philadelphia Museum of Art, Philadelphia; Norton Simon Museum, Pasadena

Advertisement

รายละเอียดเหล่านี้ผ่านการแถลงข่าวของรัฐมนตรีที่เป็นประธานในที่ประชุมโดยท่าน วีระ โรจน์พจน์รัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยมาแล้ว สาเหตุที่นำมาเรียนท่านที่สนใจ เพื่อจะได้ช่วยติดตามเป็นหูเป็นตาทั้งเหตุการณ์ที่จะมีจะเกิดในอนาคตจากทั้งที่อเมริกา และภายในประเทศเราเองที่จะส่งผลเป็นความผิดพลาด หรือเสียหายต่อการได้คืนมาของโบราณวัตถุชิ้นสำคัญถึง 33 รายการนี้

การทวงคืนนั้นได้ทวงเป็นทางการไปแล้ว ทาง Homeland security Investigation และอัยการกลางก็ได้เริ่มประสานงานขอคืนให้ไทยจากทั้ง 8 มิวเซียม สิ่งที่คนไทยเราทั้งภาครัฐ และประชาสังคมต้องเฝ้าระวังติดตามข่าวคราว คือ อย่าให้มีมือดี ไม่ว่าจะฝ่ายสหรัฐ หรือไทยกระทำการที่นำไปสู่ความผิดพลาดในการได้คืนโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ 33 รายการนี้ โดยเฉพาะประติมากรรมสำริดประโคนชัย 18 องค์ที่กว่าครึ่งเป็นประติมากรรมสำริดชิ้นเอกของโลกที่พลาดไม่ได้ที่จะต้องได้กลับคืนประเทศไทยมาเป็นสมบัติชาติ

ภาพสลักสตรี ส่วนหนึ่งของชิ้นส่วนเสาติดผนังจากปราสาทพนมรุ้ง บุรีรัมย์ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน สหรัฐฯ (ภาพตัดต่อโบราณวัตถุเชื่อมกับช่องว่างของเสาด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์)

เหตุเกิดที่ตุรกี 50 ปีก่อนนักข่าวขุดคุ้ย-คุยรัฐมนตรี

ทวงทองคำจากมิวเซียมระดับโลก

ย้อนไปในช่วงปี 1970 zgen Acar นักหนังสือพิมพ์ที่ทำงานกับสำนักพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันที่เก่าที่สุดของตุรกีมาร่วมสิบปีแล้วได้รับการติดต่อจากนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันที่ไปได้ข่าวลับมาว่าทาง Metropolitan Museum of Art (The MET) ที่นิวยอร์ก ได้ครอบครองโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบขุดและลักลอบนำออกจากตุรกี ว่าเขาจะตามสืบสวนหาเรื่องราวเหล่านี้ในตุรกี เพื่อทำรายงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในอังกฤษ โดยจะเอา Acar เป็นผู้ร่วมงานเจาะค้นหาที่มาของการลักลอบขุด โดย Acar ก็จะได้เรื่องราวไปตีพิมพ์ในตุรกี

ทั้งสองคนเริ่มจากข้อมูลของแหล่งข่าวว่า มีโบราณวัตถุทองคำหลายร้อยชิ้น ประกอบด้วย เหรียญ เครื่องประดับ และของใช้ที่ถูกลักลอบขุดจาก Usak ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของอาณาจักร Lydia อยู่ในช่วงปลายยุคสำริด ที่รุ่งเรืองที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 7-6 ก่อนคริสต์ศักราช ทางตะวันตกเฉียงใต้ของตุรกี

ขุมทรัพย์เหล่านี้ได้ถูกซื้อไปโดย The MET แล้วก็นำไปเก็บรักษาในคลังเก็บของ Acar เดินทางไปสืบแถว Usak หลายครั้งต่อมาเขาได้ไปที่ The MET และไปพบกับภัณฑารักษ์แผนกตะวันออกใกล้โบราณซึ่งรวมถึงพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของตุรกีด้วย พร้อมสอบถามเรื่องนี้ ภัณฑารักษ์ตอบว่าไม่มีของตามแบบที่เขาอธิบายมาที่นี่

อย่างไรก็ตาม ด้วยมีความเชื่อมั่นว่า The MET ได้ครอบครองของจากกรุ Lydian ทำให้เขายิ่งทำการสืบสวนที่เมือง Usak ที่เป็นเขตเมืองโบราณของอาณาจักร Lydia มาโดยตลอด ปี 1980s เขาได้ย้ายมาทำงานกับหนังสือพิมพ์ตุรกีชื่อ Milliyet ในนิวยอร์ก และต่อมาเขาได้ออกมาเป็นนักข่าวอิสระ ในช่วงปี 1984 ในขณะที่เขาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว เขาได้เห็นของ 50 ชิ้นที่จัดแสดงอยู่ตรงตามลักษณะของจากกรุ Lydian แต่ถูกนำเสนอว่าเป็นขุมทรัพย์จากกรีกตะวันออก

Acar พบว่านี่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ จึงกลับไปตุรกี ขอพูดคุยกับรัฐมนตรีท่านหนึ่ง โดยเล่าถึงข้อมูลที่ตนศึกษาและตามหามาหลายปี ว่าชาวบ้านได้ลักลอบขุดสุสานเก่าแถบนอกเมือง แล้วขายของที่ขุดได้ให้พ่อค้าของเก่าในท้องถิ่น ที่ขายต่อให้พ่อค้าโบราณวัตถุในอเมริกา ซึ่งขายต่อให้กับลูกค้ารายเดียว

ภาพถ่ายเก่าของตำรวจที่จับยึดของจากพวกนักขุดจากกรุ Lydian เทียบกับภาพจากของที่แสดงที่ The MET พบว่าโบราณวัตถุจาก The MET เป็นของชาว Lydian และมาจากท้องที่แถบเดียวกัน นำไปสู่การกดดันโดยรัฐบาลตุรกี เริ่มต้นด้วยการขอทวงคืนโบราณวัตถุจากกรุ Lydian อย่างสุภาพนุ่มนวลในปี 1986 ตามมาด้วยการส่งกงสุลใหญ่เข้าพบผู้บริหาร The MET

ขณะเดียวกันภายใน The MET ได้มีเอกสารที่สื่อสารกัน ซึ่งมาพบและถูกเปิดเผยทีหลังว่า ของกลุ่มนี้ที่ถูกจัดให้มีชื่อว่าเป็นของจากกรีกตะวันออก ความจริงถูกสื่อสารในเอกสารภายในโดยนาย Von Bothmer ภัณฑารักษ์ว่าเป็นสมบัติจากกรุ Lydian หรือ Lydian hoard

รัฐบาลตุรกียื่นฟ้อง The MET ‘เกี้ยเซี้ย’ ไม่สำเร็จ ต้องคืนยกชุด

29 พฤษภาคม 1987 รัฐบาลสาธารณรัฐตุรกี ยื่นฟ้อง The MET ต่อศาลสหพันธรัฐ ที่แมนฮัตตัน โดยจ้างนักกฎหมายชาวอเมริกาสองคนมาดำเนินการทางศาล

ในปี 1990 ศาลได้รับคำฟ้องของตุรกี The MET หาทางเจรจาต่อรองลดความสูญเสีย ทางหนึ่งที่เสนอคือ The MET จะยอมรับว่าของเหล่านี้เป็นของตุรกี แต่ให้ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ดูแลร่วมกัน โดยที่เป็นที่สรุปในขณะนั้นแล้วว่าของจากกรุ Lydian มีทั้งหมด 363 ชิ้น โดย The MET เสนอว่าให้มีการผลัดกันแสดงของครั้งละ 5 ปี นั่นคือที่ตุรกี 5 ปี แล้วสลับให้ The MET แสดง 5 ปี หมุนเวียนไป แต่ทางตุรกีไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ แต่ต้องได้รับของทุกชิ้นคืน

ต่อมา ในช่วงคริสต์มาสปี 1992 นาย William Luers ประธานกรรมการ The MET และนาย Philippe de Montebello ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร The MET เดินทางไปตุรกีเพื่อขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม แต่ถูกปฏิเสธ

กระทั่งถึงเวลาจบเกม เมื่อใกล้สรุปพิพากษาคดี ในเดือนกันยายน 1993 The MET ตกลงที่จะคืนของกรุ Lydian ทั้งหมดให้ตุรกี พร้อมแถลงข่าวว่า ทางตุรกีได้แสดงหลักฐานชัดเจนว่าของกรุ Lydian เกือบทั้งหมด ได้ถูกนำออกไปจากสุสานที่ Usak อย่างลับๆ และส่วนใหญ่ได้ถูกทาง The MET ครอบครองไว้เพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น นอกจากนี้ ในขบวนการสอบสวนทางศาลพบว่ามีหลักฐานจากเอกสารภายในว่ามีเจ้าหน้าที่ของ The MET ในช่วงปี 1960s รับรู้เรื่องเหล่านี้ และซื้อของกรุ Lydian เข้ามา ทั้งๆ ที่รู้ว่า ที่มาของวัตถุมีความคลุมเครือ

กินเวลายาวนาน ใช้เงินมหาศาล แต่‘ตุรกี’ยืนหยัดสู้

นี่คือการต่อสู้ที่ยาวนาน และต้องใช้เงินของประเทศตุรกีเอง ไปจ้างทนายและนำขึ้นฟ้องศาลในอเมริกา เป็นการใช้เงินอย่างมหาศาลของประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ มีนักข่าว ชาวบ้านที่เคยร่วมขุดกรุที่สำนึกผิดกลับใจให้ข้อมูลช่วยภาครัฐ มีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบยืนหยัดสู้เพื่อการได้คืนมาของสมบัติชาติอันเป็นตัวยืนยันความมีอยู่จับต้องได้ของศิลปะ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในอดีตเมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน ที่สำคัญคือ การไม่ตกหลุมพรางการล็อบบี้เจรจาเกี้ยเซี้ยไม่ให้เรื่องดำเนินต่อในขั้นศาล

กรณีการทวงคืนตามหนังสือทวงคืนของรัฐบาลไทยฉบับที่ 2 ที่มีถึงรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่กำลังดำเนินการโดย Homeland Security Investigation ในการเตรียมยื่นฟ้องศาล ถ้าการเจรจาเบื้องต้นที่กำลังดำเนินการอยู่กับมิวเซียมทั้ง 8 อย่างสุภาพนุ่มนวลว่ารัฐบาลไทยมีหลักฐานว่าของทั้งหมดที่เขายื่นทวงคืนมาเป็นมรดกของชาติไทย ที่ถูกลักลอบขุด หรือขโมยมา ถ้าแต่ละมิวเซียมเชื่อว่าของที่เขาครอบครองอยู่เหล่านี้เป็นการครอบครองโดยถูกกฎหมาย เช่น ถูกส่งออกจากไทยอย่างถูกกฎหมาย มีเอกสารอนุญาตการส่งออกที่กำกับโดยกรมศิลปากร มีการสำแดงการนำเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างถูกต้องถูกกฎหมาย ไม่สำแดงเท็จ ก็เอาหลักฐานมาแสดง ถ้าไม่มีหลักฐานก็คืนให้ไทยโดยดีอย่างเป็นทางการผ่านทาง Homeland Security Investigation ก็จบ ไม่ต้องนำขึ้นศาลบังคับคดี

ชวนคนไทยจับตา อย่าใจอ่อน

เราคนไทยทั่วๆ ไป แม้ไม่ได้อยู่ หรือเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการทวงคืน สมควรติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ต้องอย่าให้มีการเกี้ยเซี้ยจากมิวเซียมทั้ง 8 แห่งในทางลับกับผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ทั้งระดับ รัฐมนตรี อธิบดี หรือข้าราชการในระดับรองลงมาที่เกี่ยวข้อง ที่จะเลี่ยงขั้นตอนทางศาลแล้วขอเจรจาให้ร่วมกันครอบครอง หรือ ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ต้องไม่เกิดขึ้นไม่ว่าเขาจะแสดงความจริงใจ หรือเจตนาดี เช่น มีกระบวนการส่งคืนของอื่นๆ ที่สำคัญที่ถูกลักลอบออกไป หรืออ้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างภัณฑารักษ์ของเขากับของไทยที่ดีมาก่อน และสัญญาอนาคตที่จะช่วยเหลือทางวิชาการและอื่นๆ ฯลฯ

เรื่องนี้ทาง Homeland Security Investigation และอัยการกลางเจ้าของคดี ได้เคยส่งสัญญาณและเตือนเรามาแล้วว่า อย่าเจรจากับทางมิวเซียม ถ้ามีการติดต่อมาโดยบายพาสต์ ไม่ผ่านเขา ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ Asian Art Museum of San Francisco ที่ติดต่อขอเจรจากับกรมศิลปากร ในกรณีทับหลังปราสาทหนองหงส์และเขาโล้น ที่ทาง Homeland Security และอัยการกลางต้องนำเรื่องขึ้นขอหมายศาลยึดส่งไทย

ขอคนไทยเราและผู้หลักผู้ใหญ่ของไทยเรา ยืนให้ตรง เหมือนรัฐมนตรีที่รับผิดชอบของตุรกีในกรณี Lydian hoards

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image