ผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ ส่งต่อความหวัง (สู่) หลังกำแพง ไม่ทอดทิ้งคนก้าวพลาด

ผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ ส่งต่อความหวัง (สู่) หลังกำแพง ไม่ทอดทิ้งคนก้าวพลาด

เปิดงานอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับนิทรรศการ “ผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ ครั้งที่ 53” ซึ่งจัดขึ้น 7 วันเต็ม ณ สนามหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ตั้งแต่ศุกร์ที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยจะมีไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายนนี้

นับเป็นการกลับมาอีกครั้ง หลังห่างหายไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

เหลือเวลาอีก 2 วัน กางร่มออกจากบ้านไปชมงานตอนนี้ยังทัน เพื่อเป็นหนึ่งเสียงหนึ่งส่วนร่วมยืนยันว่าสังคมไทยไม่ทอดทิ้งผู้ก้าวพลาด

“HOPE ความหวัง หลังกำแพง” คือธีมงานในปีนี้ เน้นย้ำการมองอนาคตหลังพ้นประตูเรือนจำ ซึ่งทางราชทัณฑ์จัดฝึกทักษะวิชาชีพต่างๆ ให้แก่ผู้ต้องขัง อีกทั้งพัฒนา “พฤตินิสัย” มอบโอกาสในการกลับตนเป็นพลเมืองดี (อ่านข่าว รมว.ยุติธรรม เปิดนิทรรศการ ‘ผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์’ ยันไม่ทอดทิ้งผู้ต้องขัง ฝากสังคมให้โอกาสคนก้าวพลาด)

Advertisement

โอกาสหลังห้วงเวลาก้าวพลาด พัฒนาพฤตินิสัย สร้างงาน-เปลี่ยนชีวิต

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวท่ามกลางคณะลูกเสือที่เดินแถวต้อนรับในวันเปิดงานตอนหนึ่งว่า กรมราชทัณฑ์ไม่เคยทอดทิ้งผู้ต้องขัง อยากฝากถึงผู้ประกอบการและสังคม เปิดโอกาสรับผู้ก้าวพลาดเหล่านี้ และอยากชวนพี่น้องประชาชนเข้ามาดูงานนิทรรศการ และขอให้ช่วยกันอุดหนุนสินค้าเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ก้าวพลาด

เสียงเพลงจากวงปี่สก๊อต โดยเรือนจำกลางบางขวาง และการร้องประสานเสียง เพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” โดยเรือนจำกลางเชียงราย กึกก้อง

Advertisement

เช่นเดียวกับบทเพลง “คนดีคนเดิม” จากหนึ่งในผู้ก้าวพลาดอย่าง วรยศ บุญทองนุ่ม หรือ ‘แพท พาวเวอร์แพท’ อดีตศิลปินดังที่เคยถูกคุมขังจากคดียาเสพติด โดยเป็นเพลงที่เจ้าตัวสร้างสรรค์ขึ้นขณะอยู่ในเรือนจำ

“เราต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเอง อย่าเพิ่งไปมองคนอื่น มองว่าตัวเองพร้อมหรือยัง เราได้แก้ไขแล้วหรือยัง ต่อไปก็พัฒนาตัวเอง พยายามหาทางเลือกหรือโอกาสให้กับตัวเอง ภายในเรือนจำมีให้ศึกษาอะไรก็อยากให้ไปลองเรียน บางทีอาจจะพบเจอช่องทางสร้างงานหรือจุดเปลี่ยนชีวิต ซึ่งทางราชทัณฑ์ได้ให้เรียนในสิ่งที่สามารถใช้ได้จริง ถ้าเราพร้อมในวันที่โอกาสมาถึงเราจะสามารถทำได้เลย คนเราชีวิตหนึ่งมีแค่ครั้งเดียว เชื่อว่าทุกคนมีโอกาสที่จะโดดเด่นในเส้นทางความสามารถของตัวเอง” แพท พาวเวอร์แพทกล่าวมอบกำลังใจให้ผู้ต้องขัง

ผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ ส่งต่อความหวัง (สู่) หลังกำแพง ไม่ทอดทิ้งคนก้าวพลาด

ด้าน อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า การจัดงานนิทรรศการผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ เป็นงานประเพณีของกรมราชทัณฑ์มาโดยตลอด สิ่งสำคัญคือกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยที่ต้องพัฒนาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการฝึกวิชาชีพในด้านต่างๆ ซึ่งผลผลิตจากการฝึกวิชาชีพถือเป็นผลพลอยได้จากการฝึกอบรมเพิ่มทักษะการฝึกวิชาชีพ เพื่อให้เขาเหล่านั้นนำความรู้ที่ได้รับจากในเรือนจำไปประกอบอาชีพหลังจากพ้นโทษได้ และจากการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ ผู้ต้องขังจะได้เงินส่วนหนึ่งที่หักต้นทุนแล้วเป็นกำไรให้ผู้ต้องขัง 70% เพื่อให้เป็นรายได้ไว้ใช้จ่ายภายหลังพ้นโทษ หรือระหว่างต้องโทษได้อีกด้วย

จาก ‘กองมหันตโทษ-ลหุโทษ’ สู่ ‘กรมราชทัณฑ์’

ทั้งนี้ ก่อนการเยี่ยมชมสินค้าจากเหล่าผู้ต้องขัง ยังมีไฮไลต์น่าชมอย่างนิทรรศการที่บอกเล่าความเป็นมาของ ‘กรมราชทัณฑ์’ ซึ่งมีพัฒนาการควบคู่กับสังคมการเมืองและเศรษฐกิจของสยาม โดยตั้งแต่ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการเรือนจำได้สังกัดอยู่ตามส่วนราชการต่างๆ สอดคล้องกับการปกครองแบบจตุสดมภ์ กล่าวคือ แบ่งเป็น เรือนจำในกรุงเทพฯและเรือนจำในหัวเมืองชั้นนอก
เรือนจำกรุงเทพฯ มี 2 ประเภท ได้แก่ “คุก” คือ ที่คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป อยู่ในสังกัดกระทรวงนครบาล และ “ตะราง” ใช้เป็นที่คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษต่ำกว่า 6 เดือนหรือนักโทษที่มิใช่ผู้ร้ายสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ที่บังคับกิจการนั้นๆ

ส่วนเรือนจำในหัวเมืองชั้นนอกมีที่คุมขังผู้ต้องโทษเรียกว่า “ตะราง” การคุมขังอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการเมืองหรืออาจส่งต่อให้กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงกลาโหม รับตัวไปคุมขังแล้วแต่กรณี

ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปรับปรุงระเบียบราชการโดยโปรดให้สร้างคุกใหม่ขึ้นเรียกว่า “กองมหันตโทษ” และให้สร้างตะรางใหม่ขึ้นเรียกว่า “กองลหุโทษ” สังกัดกระทรวงนครบาล โดยใน ร.ศ.120 (ตรงกับ พ.ศ.2444) ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตรา “พระราชบัญญัติลักษณะเรือนจำ” ขึ้น

กระทั่ง 13 ตุลาคม พ.ศ.2448 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตรา “พระราชบัญญัติจัดตั้งกรมราชทัณฑ์” โดยมีพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขา ณ ป้อมเพชร) เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรก

งานฝีมือผู้ต้องขัง อวดโฉมตั้งแต่ 2514 ก่อนฮิตถึงวันนี้

สำหรับการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าของผู้ต้องขัง หรือผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ มีขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ.2514 โดย ประดิษฐ์ พาณิชการ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ในขณะนั้น ริเริ่มขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าไทย กรมการสนเทศ สี่แยกคอกวัว กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับความนิยม จากประชาชน องค์กร และส่วนราชการต่างๆ เป็นอย่างดี กรมราชทัณฑ์จึงได้จัดงานนิทรรศการผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์สืบมาจนปัจจุบัน

 

 

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ผู้ต้องขังในอดีต ตั้งแต่ยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ประชาธิปไตย ก็เคยถูกใช้แรงงานรวมถึง “ทำงานฝีมือ” มาก่อน

กล่าวคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกรมพระนครบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีแนวความคิดที่จะปฏิรูปการใช้แรงงานนักโทษให้เป็นประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน และทรงเห็นว่าการคุมขังอย่างเดิม มักเป็นช่องให้ผู้คุมกระทำการกดขี่ ข่มเหง นักโทษโดยทางผิดยุติธรรมต่างๆ เพราะพระราชบัญญัติการคุมขังนั้นยังไม่มี ทั้งยังไม่ได้มีการฝึกสอนกิริยาที่จะให้ประพฤติตนเป็นคนมีกิริยาดีต่อไป ทั้งยังไม่มีการให้วิชาความรู้สำหรับตัว เมื่อพ้นโทษไปแล้วจะได้เป็นวิชาสำหรับทำมาหากินเลี้ยงชีวิตต่อไปด้วย จึงมีดำริสร้างโรงงานให้นักโทษได้ทำงานช่างฝีมือต่างๆ และการเลื่อยไม้ขึ้นในคุก และตะรางที่สร้างใหม่ โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต รื้อเอาเครื่องไม้ที่คุกเก่า (คุกหน้าวัดโพธิ์) และศาลาหน้าหับเผย ไปทำโรงงานในคุกและตะรางให้เป็นประโยชน์ เมื่อสร้างคุกใหม่เรือนจำกองมหันตโทษเสร็จแล้ว ภายในคุกจึงมีโรงงานฝึกวิชาชีพช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างกลึง และช่างสิบหมู่

เมื่อมีการย้ายนักโทษจากคุกเก่ามาไว้คุกใหม่ 200 คน และนักโทษช่างอีก 9 คน กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของที่ทำจากฝีมือนักโทษในคุกใหม่ ดังคำกราบบังคมทูล ดังนี้

“การนักโทษทำงานที่คุกใหม่ ซึ่งพระอภัยพลภักดิ์ ได้ให้จัดทำสิ่งของขึ้นขายเพื่อให้เป็นประโยชน์เงินขึ้นแผ่นดินสืบไปนั้น บัดนี้ ได้ทำสิ่งของที่ควรผู้ดีจะใช้ได้หลายสิ่ง ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายหวายเป็นตัวอย่างในครั้งนี้

ดุมเสื้อสานเป็นรูปตะกร้อทองคำ สำรับ 1

ทอง นาค เงิน สานขัดกัน สำรับ 1

เงิน สำรับ 1

เก้าอี้สำหรับเดินทาง เป็นอย่างสำหรับนั่งอ่านหนังสือ กระดาน ที่พนักหลังถอดออกมา ทางบนพนักเป็นโต๊ะได้ 2 เก้าอี้

เก้าอี้เล็กสำหรับนั่ง 12 เก้าอี้

ขันล้างหน้าลงหิน ที่ทำขึ้นสำหรับขายส่งไปเมืองลาว และต่างประเทศ มีอินเดีย และพม่า เป็นต้น”

สะท้อนความหวังที่ผู้ต้องขังย่อมมี ไม่ว่าเมื่อกว่าร้อยปีก่อน หรือวันนี้ จึงนับเป็นอีกงานน่าสนใจที่ต้องชวนไปเยี่ยมชม และมอบกำลังใจให้ผู้ก้าวพลาดกลับมายืนหยัดอีกครั้งในสังคม

2 วันสุดท้าย HOPE ความหวัง หลังกำแพง

วันนี้-4 กันยายน เวลา 09.00-20.00 น. ที่สนามหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม

ภายในงานรวบรวมผลิตภัณฑ์จากฝีมือผู้ต้องขังทั่วประเทศมาไว้ที่เดียว มุ่งหวังให้ผู้ต้องขังมีรายได้เลี้ยงตนเอง และสามารถนำความรู้ความสามารถไปประกอบอาชีพหลังพ้นโทษ

รายได้จากการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ หักต้นทุนแล้วเป็นกำไรมอบให้ผู้ต้องขัง 70% ไว้ใช้จ่ายภายหลังพ้นโทษหรือระหว่างต้องโทษ

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงบนเวทีจากเรือนจำต่างๆ รวมถึงเวิร์กช็อปน่าสนใจมากมาย

ติดตามรายละเอียดที่เพจ “ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์” โทร 0-2967-2222

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image