พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ได้นามจาก “ดุสิตสวรรค์” ที่สถิตของพระโพธิสัตว์

สวรรค์ชั้นดุสิต ในสมุดภาพไตรภูมิสมัยอยุธยา เลขที่ 5 (ภาพจากหนังสือสมุดภาพไตรภูมิฉบับอักษรขอม ภาษาไทย หน้า139)

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ที่ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้นามจาก ดุสิตสวรรค์ ที่สถิตพระโพธิสัตว์ ซึ่งจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปในอนาคต หรืออนาคตพระพุทธเจ้า

ดุสิตสวรรค์

ดุสิตสวรรค์ หมายถึง สวรรค์ชั้นที่ 4 แห่งสวรรค์ 6 ชั้น มีท้าวสันดุสิตเทวราช ปกครอง

สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่สถิตของพระโพธิสัตว์ก่อนจุติลงมาสู่มนุษยโลกและตรัสรู้ในพระชาติสุดท้าย

Advertisement

คำอธิบายนี้ได้จากหนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พิมพ์ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2551

แล้วยังอธิบายเพิ่มเติมอีกถึงชื่อเกี่ยวข้อง เช่น สวรรค์, ฉกามาพจร, ดาวดึงส์ ดังนี้

 

Advertisement
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ที่ประดิษฐานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีพสกนิกรต่อแถวเข้าถวายสักการะ (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลภาพมติชน)
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ที่ประดิษฐานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีพสกนิกรต่อแถวเข้าถวายสักการะ (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลภาพมติชน)


สวรรค์

แดนอันแสนดีเลิศล้ำด้วยกามคุณ 5, โลกของเทวดา ตามปกติหมายถึงกามาพจรสวรรค์ (สวรรค์ที่ยังเกี่ยวข้องกับกาม) 6 ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี

[ฉกามาพจรสวรรค์ แปลว่าสวรรค์ที่ยังเกี่ยวข้องกาม 6 ชั้น ได้แก่ 1. จาตุมหารา ชิกา 2. ดาวดึงส์ 3. ยามา 4. ดุสิต 5. นิมมานรดี 6. ปรนิมมิตวสวัตดี]

 

ดาวดึงส์

สวรรค์ชั้นที่ 2 แห่งสวรรค์ 6 ชั้น มีจอมเทพผู้ปกครองชื่อท้าวสักกะ ซึ่งโดยทั่วไปเรียกกันว่าพระอินทร์, อรรถกถาอธิบายความหมายของ “ดาวดึงส์” ว่า คือ “แดนที่คน 33 คนผู้ทำบุญร่วมกันได้อุบัติ”

(จำนวน 33 บาลีว่า เตตฺตึส, เขียนตามรูปสันสกฤต เป็น ตรัยตรึงศ์ หรือเพี้ยนเป็น ไตรตรึงษ์ ซึ่งในภาษาไทยก็ใช้เป็นคำเรียกดาวดึงส์นี้ด้วย)

ดังมีตำนานว่า ครั้งหนึ่ง ที่มจลคาม ในมคธรัฐ มีนักบำเพ็ญประโยชน์คณะหนึ่งจำนวน 33 คน นำโดยมฆมาณพได้ร่วมกันทำบุญต่างๆ เช่น ทำถนน สร้างสะพาน ขุดบ่อน้ำ ปลูกสวนป่า สร้างศาลาที่พักคนเดินทางให้แก่ชุมชน และทำทาน ชวนชาวบ้านตั้งอยู่ในศีล และทำความดีทั้งหลาย เฉพาะอย่างยิ่งตัวมฆมาณพเองยังรักษาข้อปฏิบัติพิเศษที่เรียกว่า วัตรบท 7 อีกด้วย

ครั้นตายไปทั้ง 33 คน ก็ได้เกิดในสวรรค์ที่เรียกชื่อว่าดาวดึงส์นี้ โดยมฆมาณพได้เป็นท้าวสักกะ คือพระอินทร์ ดังที่พระอินทร์นั้นมีพระนามหนึ่งว่า “มฆวา” (ในภาษาไทยเขียน มฆวัน มัฆวา หรือมัฆวาน)

 

สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นสวรรค์ชั้นกามาพจร มีพระศรีมหามายาเทพบุตร และพระศรีอาริยเทพบุตร อยู่ในชั้นนี้ ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา (บน) เลขที่ 6 (ล่าง) เลขที่ 8 (ภาพจากหนังสือสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1, น. 27 และ น. 123)

สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นสวรรค์ชั้นกามาพจร มีพระศรีมหามายาเทพบุตร และพระศรีอาริยเทพบุตร อยู่ในชั้นนี้ ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา (บน) เลขที่ 6 (ล่าง) เลขที่ 8 (ภาพจากหนังสือสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1, น. 27 และ น. 123)
สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นสวรรค์ชั้นกามาพจร มีพระศรีมหามายาเทพบุตร และพระศรีอาริยเทพบุตร อยู่ในชั้นนี้ ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา (บน) เลขที่ 6 (ล่าง) เลขที่ 8 (ภาพจากหนังสือสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1, น. 27 และ น. 123)

 

“ดุสิตปราสาท” ของพระนารายณ์ ที่เมืองลพบุรี

โคลงเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนารายณ์ฯ พรรณนาว่ามีพระที่นั่งนามว่า “ดุสิตปราสาท” ในพระราชวังที่เมืองลพบุรี ดังนี้

๏ พระยศปางตั้งแต่ง เวียงสถาน

ลพบุรีโบราณ ราชนั้น

แถวสถลอัญจลทวาร วังราช

ป้อมเปรียบปราการกั้น ก่อกั้งสีมา ฯ

๏ ดุสิตปราสาทสร้อย สมพุทธ

สูงเทริดธารมารุต ช่อชั้น

พรหมพักตรฉัตรเฉลิมสุด เสาวภาคย์

นาคพะพานพดหลั้น เลียบเลื้อยลงมา ฯ

สมุดภาพไตรภูมิ03

สวรรค์ชั้นดุสิตในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี (บน) เลขที่ 10 (ล่าง) เลขที่ 10/ก (ภาพจากหนังสือสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 2, น. 29 และ น. 106)
สวรรค์ชั้นดุสิตในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี (บน) เลขที่ 10 (ล่าง) เลขที่ 10/ก (ภาพจากหนังสือสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 2, น. 29 และ น. 106)

 

 

พระพุทธเจ้าองค์ต่อไป

“ดุสิตมหาปราสาท เทียบเท่าสวรรค์ชั้นดุสิต อันเป็นที่ประทับของเทวบุตรอันจะจุติลงมาเป็นพระโพธิสัตว์เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า การตั้งพระบรมศพไว้ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทจึงสื่อถึงที่ประทับของผู้จะมาเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป สะท้อนถึงคติพุทธราชาที่ยกย่องสืบทอดต่อมายาวนาน”

ประภัสสร์ ชูวิเชียร (อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) บอกความหมายของชื่อพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แล้วบอกความเป็นมาอีกว่า

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ และเป็นที่ตั้งพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง

ก่อสร้างอย่างพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ (ในวังหลวง พระนครศรีอยุธยา) คือมีผังรูปจัตุรมุขเท่ากัน ยอดพระมหาปราสาทอยู่กึ่งกลาง

แล้วยังมีตำแหน่งที่ตั้งคล้ายกัน คือชิดกำแพงพระบรมมหาราชวัง ด้านใกล้แม่น้ำ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 2 จึงโปรดให้ตั้งพระบรมศพในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทนี้ (อาจเนื่องด้วยว่ามีลักษณะคล้ายกับพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ที่เคยเป็นที่ตั้งพระบรมศพในสมัยกรุงศรีอยุธยา)

จากนั้น จึงเป็นราชประเพณีว่าพระที่นั่งองค์นี้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมศพสืบต่อลงมาจนถึงปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image