พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก 102 วัน บนเก้าอี้ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ‘ยืนยันเลยว่า วันนี้โรงเรียน กทม.มาตรฐานสูง’

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก 102 วัน บนเก้าอี้ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ‘ยืนยันเลยว่า วันนี้โรงเรียน กทม.มาตรฐานสูง’

“โรงเรียน กทม.มีลักษณะเฉพาะ…ส่วนใหญ่ผมใช้คำว่า หลังพิงวัด”

คือการบอกเล่าอย่างเรียบง่าย ทว่า ชวนให้เห็นภาพอย่างแจ่มชัด ของ 1 ใน 9 คณะที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านการศึกษา

นักเรียน 250,000 คน ครู 14,000 คน โรงเรียนในสังกัด กทม. 437 โรง คือหน้าตักที่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รับผิดชอบ ร่วมกับรองผู้ว่าฯ คนรุ่นใหม่ วัย 33 อย่าง ศานนท์ หวังสร้างบุญ ซึ่งผุด 32 แอ๊กชั่นแพลนที่ปฏิบัติได้จริง หวังผลักดันการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ทั้งในและนอกห้องเรียน ภายใต้แนวนโยบาย 216 ข้อของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ใช้เวลาขบคิดกลั่นกรองมานานกว่า 2 ปี

นับแต่ 31 พฤษภาคม 2565 วันแรกบนเก้าอี้ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ จนถึงวันนี้ที่หัวหนังสือพิมพ์ระบุวันที่ 10 กันยายน นับเป็นเวลา 102 วัน

Advertisement

‘บิ๊กแป๊ะ’ ผู้ผ่านตำแหน่งสำคัญๆ ของประเทศมาแล้วมากมาย นั่งเก้าอี้ตัวใหญ่มาแล้วหลายต่อหลายตัว สวมหมวกรับภาระหน้าที่อันเข้มข้นท้าทายมาแล้วนับใบไม่ถ้วน

สู่ ‘ครูแป๊ะ’ ผู้ดูแลอีกภารกิจสำคัญของชาติอย่างการศึกษา

เยี่ยมโรงเรียนเพื่อทำความเข้าใจในหลากหลายปัญหาอันจะนำไปสู่การแก้ไขและพัฒนา สแกนละเอียดยิบ เดินตรวจกระทั่ง ‘ที่ล้างมือ’ ของเด็กๆ เอกซเรย์ความในใจของครูและบุคลากร

Advertisement

ไม่นับ ‘ภารกิจพิเศษ’ อย่างการเจรจาเหตุวิวาทะผู้พักอาศัยในคอนโด กับวัดบางสะแกนอก ที่ผู้ว่าฯ ยกหูให้ช่วย ‘ไปดูหน่อย’ กระทั่งปิดจ๊อบอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้ง คุยครบจบทุกฝ่าย

ในบทบาทที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าฯ และในฐานะคุณปู่ ผู้มีหลานตัวน้อยที่จะต้องเติบโตใช้ชีวิตในมหานครแห่งนี้ต่อไป จากรุ่นสู่รุ่น

พล.อ.นิพัทธ์ เผยพร้อมรอยยิ้มว่า “ผมดีใจที่ได้ดูแลเรื่องการศึกษาและสนใจเรื่องนี้มาตลอด”

● การลงพื้นที่โรงเรียนแต่ละครั้ง เรียกได้ว่า ‘ย่องเงียบ’ ทำไมใช้ยุทธศาสตร์นี้ ไม่อยากเห็นผักชีโรยหน้า?

(หัวเราะ) ทั้งหมดเป็นลีลาหรือสไตล์ของอาจารย์ชัชชาติเขาด้วย แต่ที่ลึกไปกว่านั้นคือไม่ต้องการไปรบกวน และลดพิธีกรรมต่างๆ ลง ซึ่งผมชอบมานานแล้วตั้งแต่รับราชการ เรื่องที่จะต้องไปเกณฑ์คนมาแล้วมีพิธีรีตอง จัดแท่นบรรยายสรุปอะไรต่างๆ ถ้าทำแบบนั้น ข้าราชการแทบไม่ได้ทำงานเลย บางทีหายไปครึ่งวัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมทำอยู่คือ ขอไปเยี่ยมที่โรงเรียน ใช้คำว่าแวะมาเยี่ยม โดยไม่ต้องบอกล่วงหน้า

● ประเด็นไหนในด้านการศึกษาที่กรุงเทพมหานครในยุคนี้เน้นย้ำเป็นพิเศษ?

เรื่องหลักๆ ที่ไปดูคือ ไวไฟในโรงเรียน ขอยืนยันว่าวันนี้การเรียนการสอนไม่ใช่เฉพาะในโรงเรียน กทม. พัฒนาไปมากแล้ว และทุกอย่างมันไปเริ่มต้นนับหนึ่งที่ระบบอินเตอร์เน็ตไวไฟ ถ้าไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีไวไฟ แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย โทรศัพท์มือถือวันนี้เรามีสปีดเทสต์ เข้าไปเช็กระบบต่างๆ บางโรงเรียนแย่มาก เพราะอาคารเรียนอยู่แยกกันและเป็นทางดิ่ง นี่คือข้อจำกัดเพราะฉะนั้นเมื่อพบปัญหา หรือสิ่งที่ยังไม่มีประสิทธิภาพก็ต้องแก้ไขตามนโยบายของผู้ว่าฯ

เรื่องที่ผมชอบ และฝังใจมานานตั้งแต่เด็กคือ ห้องน้ำ ควรสะอาด แห้ง หอม และสว่าง นี่คือสิ่งที่ขอดูเลย ซึ่งโรงเรียนต่างๆ มีมาตรฐานของตัวเองอยู่ อะไรที่ควรได้รับการแก้ไขก็จะบอกเขา

เรื่องที่ 3 ซึ่งอาจารย์ชัชชาติพูดมาคือเรื่องอาหารของนักเรียน ซึ่ง กทม.มีค่าอาหารให้เด็กหัวละ 40 บาทต่อคนต่อวัน ส่วนมากโรงเรียนจะแบ่งเป็นส่วนๆ เช่น มื้อเช้า 15 บาท กลางวัน 25 บาท ยังไม่รวมนม ถือว่ามีรูปแบบการดูแลที่ดี อันนี้ต้องขอชม เมื่อดูอาหารก็เข้าไปดูเรื่องในครัวด้วย ว่าแม่ครัวทำหน้าที่อย่างไร ครัวหน้าตาเป็นอย่างไร การทิ้งเศษอาหาร การล้างภาชนะ น้ำดื่มกรองไหม ทั้งหมดไม่ได้ไปจับผิด เพียงแต่ไปดูให้มั่นใจว่านี่คือมาตรฐานที่ควรเป็น แล้วกลับมารายงาน

เรื่องที่ 4 เป็นสิ่งที่ผมให้ความใส่ใจมากเป็นส่วนตัว คือ ครูสอนภาษาอังกฤษซึ่งน่าชื่นใจ เพราะ กทม.มีโรงเรียน 2 ภาษา คือใช้ภาษาอังกฤษในการสอน 5 วิชา 69 โรง นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนสองภาษา ไทย-จีนด้วย แต่คนไม่ค่อยรู้จัก และไม่รู้ด้วยว่าเขาทำอย่างไรกัน

ทุกโรงเรียนที่ผมไป ก็จะเชิญครูสอนภาษาอังกฤษลงมาพูดคุย บางโรงเรียนมี 6 คน ฟิลิปปินส์หมด ถามสารทุกข์สุกดิบ ถามเขาว่ามีอะไรแนะนำไหมก็ดีใจที่ทุกคนมีความสุข มี 1 คนที่ไม่เคยเจอมาก่อน คือ ครูผู้ชายชาวไนจีเรีย บางโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น อาหรับ และมลายู ถือว่ามีความหลากหลาย และเป็นการวางรากฐานที่ดี ซึ่งผู้ว่าฯท่านพูดเสมอว่าการศึกษาในวันนี้ ควรเป็นการเรียนรู้ Open Education ไม่ใช่ตะบี้ตะบันเรียนแต่ในหนังสือ แต่ต้องมีวิชาความรู้อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา และงานด้านสร้างสรรค์ด้วย

● ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ภาพจำ’ ที่สังคมไทยมีต่อโรงเรียนสังกัด กทม. อาจไม่ใช่โรงเรียนในฝันของผู้ปกครอง มีแนวทางขยับเพดานมาตรฐานอย่างไร โรงเรียนไหนที่เกินความคาดหมายเมื่อได้สัมผัสจริง?

ที่ประทับใจคือโรงเรียนใหญ่ นักเรียนกว่า 3,000 คน ผมนึกไม่ถึงเลย ชื่อโรงเรียนบ้านบางกะปิ มีการบริหารจัดการที่ดี และมีภาคประชาสังคมดูแล ในขณะเดียวกัน กทม.ก็มีโรงเรียนขนาดจิ๋ว นักเรียน 70 คน คือมีทั้งไซซ์ L M และ S

สำหรับเรื่องแบรนด์ หรือภาพลักษณ์ของโรงเรียน กทม.อาจสู้โรงเรียนเอกชนดังๆ ไม่ได้ แต่อยากยืนยันเลยว่า วันนี้โรงเรียน กทม.มีมาตรฐานสูงทั้งเรื่องการศึกษา การกินอยู่ เรื่องคุณธรรม จริยธรรม ข้อสำคัญที่สุด คือตอบสนองต่อชุมชน โรงเรียนที่เป็นอิงลิชโปรแกรม สอนเป็นภาษาอังกฤษ ใน 5 วิชา 69 โรงก็ไม่ได้ด้อย ค่าใช้จ่ายแทบไม่มีอะไรเพิ่มเติมเลย เด็กพูดภาษาอังกฤษได้ มาสัมภาษณ์ผมกับรองผู้ว่าฯศานนท์เป็นภาษาอังกฤษ แล้วบันทึกออกรายการในช่องยูทูบ

สิ่งที่เราอาจนึกไม่ถึงคือ การที่เด็กเดินมาเรียนและเดินกลับบ้าน มันคือการลดรถยนต์ลงไป 1 คัน นี่คือสิ่งที่ผมเห็นด้านกายภาพ เราอย่าไปสนใจว่าโรงเรียนเล็กหรือใหญ่ ส่วนที่พ่อแม่เอามอเตอร์ไซค์มาส่ง เรายังแจกหมวกนิรภัยอีกแสนกว่าใบ มันคือโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่แบบที่มีรถยนต์ 1 คัน คุณหนูนั่งข้างหลังกับพี่เลี้ยง ป้อนข้าว ผมถามทุกโรงเรียนว่ามีลูกของพม่า ลาว เขมรไหม มีทุกโรงเรียน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบปกติ โรงเรียนของ สพฐ.ก็มี นี่คือสิ่งที่อวดชาวโลกได้เลย

อีกสิ่งที่ต้องชมโรงเรียน กทม.ที่หลังพิงวัดอยู่ก็คือการเห็นอกเห็นใจกัน โดยได้รับการดูแลจากเจ้าอาวาสทำให้โรงเรียนไปได้ด้วยดีในส่วนหนึ่ง เพราะโรงเรียนใน กทม.ส่วนหนึ่งอยู่บนเนื้อที่ของวัด บางทีเรื่องงบประมาณไม่ทันอกทันใจ ก็ไปขอจากวัดมาให้ ทุนการศึกษา อุปกรณ์การสอน สมาร์ททีวี นี่คือรูปแบบการทำงานที่ผมได้เรียนรู้ ในส่วนตัวแล้วชอบมาก เคยถามบางโรงเรียนว่า ถ้าแอร์เสีย ทำอย่างไร เขาบอก มีผู้ปกครองเด็กเป็นช่างแอร์ จึงถือโอกาสฝากด้วยว่า ไม่มีอะไรดีไปกว่าชุมชนที่ดูแลโรงเรียน ผู้ปกครองก็มาดู บางทีก็รวมตัวกันบริจาคไส้กรองน้ำดื่ม ห้องน้ำชำรุดก็มาเปลี่ยนก๊อกให้

● การโอบรับความแตกต่างหลากหลาย และสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน คือสิ่งสำคัญในยุคนี้ เช่นเดียวกับกระแสเรียกร้องยกเลิกหรือลดทอนเครื่องแบบ ทาง กทม.ตอบรับหรือผลักดันอย่างไรบ้าง?

เรามีเด็กที่มีความต้องการพิเศษ อย่างเด็กออทิสติก ซึ่งโรงเรียนมีการแยกห้อง มีครูที่เรียนมาเพื่อดูแลเด็กเหล่านี้โดยเฉพาะซึ่งขณะนี้กำลังขาดแคลนอยู่ สำหรับการตีเด็ก ตอนนี้โรงเรียนเข้าใจ สังคมก็ดีขึ้น การลงโทษแบบนี้มันก็หายไป เมื่อก่อนถ้าเธอไม่ทำตามนี้ ทำไม่ได้ ทำช้า ก็โหดอย่างเดียว

ส่วนเรื่องทรงผมที่เป็นกระแสในโซเชียล วันนี้เห็นไหมว่าโรงเรียน กทม.ไม่มีปัญหาเลย ในที่ประชุมกับรองผู้ว่าฯศานนท์ ผมก็เสนอว่าเราต้องยอมรับความจริง ว่าวันนี้เด็กต้องการอะไร และอะไรคือความพอดี ซึ่งเมื่อมีความชัดเจนจากผู้บริหารลงไป มันตัดกระแสได้หมด แทบไม่มีการร้องเรียนมาอีกเลย นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สิ่งที่ กทม.ดำเนินการเรื่องเครื่องแบบคือแจกฟรีหมด ปีนี้แจกชุดนักเรียน ปีหน้าแจกชุดลูกเสือ ปีนู้นแจกชุดพละ มันจะวนไปอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เรื่องค่าใช้จ่ายตัดออกไปได้เลย

● #ทีมชัชชาติ คนรุ่นใหม่เยอะ อย่างรองผู้ว่าฯศานนท์ที่ดูแลเรื่องการศึกษาและชุมชนก็อายุแค่ 33 การทำงานร่วมกันมีช่องว่างหรืออุปสรรคระหว่าง ‘เจเนอเรชั่น’ หรือไม่?

เราทำงานกันอย่างรื่นไหลและรับฟังกันครับ รองผู้ว่าฯศานนท์มีเครือข่ายเยอะมาก ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ สิ่งที่เขาทำคือการเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน รวมพลังกัน ไม่ได้ไปตั้งอะไรขึ้นมาใหม่ แต่เปิดกว้าง คิดอะไรใหม่ๆ ข้อสำคัญที่สุด คือพุ่งลงไปที่เด็กที่ต้องมีส่วนร่วม อย่างเรื่องสภาเมืองคนรุ่นใหม่ และไม่ลืมแม้กระทั่งคนพิการ คนไร้บ้าน ชวนมาอาบน้ำ ซักผ้า มันอาจจะดูไม่ตูมตาม ไม่ว้าวมาก แต่เป็นการเปลี่ยนรูปแบบของสังคมไทยทีละน้อย ทำให้เกิดความรู้สึกว่าคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนอย่างไร เมื่อคุณเป็นคนไทย ก็มีสิทธิที่จะได้รับการบริการ นี่คือสิ่งที่น่าชื่นใจจริงๆ
ส่วนข้าราชการ เขาก็ทำงานกันอยู่แล้ว เมื่อต้องมาปรับเข้ากับนโยบายใหม่ๆ ก็ให้ความร่วมมือและปรับแนวทางได้ดี นี่คือสิ่งที่ดีที่สุด

● ความปลอดภัย ดูเหมือนเป็นเรื่องแรกๆ ที่ผู้ว่าฯให้ความสำคัญมาก เพราะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของการเข้ารับตำแหน่ง ทั้งเรื่องกัญชา และชิงทรัพย์หน้าโรงเรียน?

ครับ สิ่งแรกที่ต้องอวดกันคือแคมเปญโรงเรียนเป็นเขตปลอดกัญชา กทม.ทำเป็นหน่วยแรก นอกจากนั้น ยังเข้าไปถึงเรื่องความปลอดภัยหน้าโรงเรียน ไฟจราจร ทางข้าม ครูต้องมาดูบริเวณทางข้าม นอกจากเรื่องรอบๆ โรงเรียน ยังใส่ใจไปถึงสวัสดิการครู อย่างที่พัก เรื่องที่น่าห่วงคือจำนวนครูที่ย้ายออกไปต่างจังหวัด เพราะค่าใช้จ่ายในกรุงเทพฯ มันสูง นี่คือสิ่งที่พยายามแก้ไขอยู่

● หนึ่งในปัญหาหนักอกวงการครู อย่างเรื่องงานเอกสาร ซึ่งรองผู้ว่าฯศานนท์ ประกาศ ‘คืนครูให้นักเรียน’ ด้วยการลดภาระส่วนนี้ ล่าสุด สถานการณ์เป็นอย่างไร?

เมื่อคุยกับครูแล้วบอกว่าขอให้เปิดใจนะ นี่คือเรื่องที่ครูแทบทุกคนพูดถึง ซึ่งคงไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะครูในโรงเรียนสังกัด กทม. วันนี้เอกสารที่ครูต้องทำ มันเยอะมาก เรื่องการรายงานแบบราชการ เรื่องการเบิกเงินงบประมาณ เรื่องค่าอาหาร รวมถึงพิธีการต่างๆ ที่ต้องเอาครูไปเป็นองค์ประกอบ มันทำให้ครูหายไปจากห้อง ครูเองก็ยอมรับว่าไปติดกับดักอยู่กับเรื่องพิธีการพิธีกรรม เป็นเรื่องจริงที่น่าหงุดหงิดสำหรับการที่ครูต้องออกไปทำนู่นทำนี่ แล้วปล่อยให้ชั้นเรียนว่าง หรือไม่ก็เอาครูไขว้กันไปมา

สิ่งเหล่านี้ อยู่ในประเด็นหลักที่รองผู้ว่าฯศานนท์ให้ความสำคัญ โดยพยายามใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดงานเอกสารลงมา มีระบบตัวหนึ่งที่นำมาใช้เรียกว่า BEMIS ย่อมาจาก Bangkok of Education Management Information System (ระบบฐานข้อมูลกลางด้านการศึกษาออนไลน์) ซึ่งกำลังรีบนำมาใช้ในสถานศึกษาเพื่อทำให้ครูได้ใช้เวลาอยู่กับนักเรียนมากขึ้น

● ผ้าอนามัยฟรี คือเรื่องที่ได้รับความชื่นชมมาก ล่าสุดมีความคืบหน้าเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง?

เรื่องผ้าอนามัยซึ่งบางประเทศมีแจกให้ฟรี ในยุคอาจารย์ชัชชาติ มีการบริจาคแล้วเป็นข่าวขึ้นมา เลยกลายเป็นประกายความคิด ทำให้ผู้คนทั้งหลายเริ่มสนใจการแจกผ้าอนามัยในโรงเรียน ทำให้สังคมตื่นขึ้นมา องค์กรและกลุ่มประชาสังคมมารวมตัวกันบริจาคผ้าอนามัย และนำเรื่องนี้มาอยู่ในประเด็นที่ต้องทำ บางทีก็เชิญผมเข้าไปดูด้วยว่าเขาทำงานกันอย่างไร มีตู้ใส่ มีนักเรียนมาหยิบ เมื่อพร่องไปแล้วจะนำมาเติมให้ สรุปแล้วมาได้ 2 ทาง คือ จากการบริจาคและงบประมาณของ กทม.เอง แต่ทั้งหลายทั้งปวง การบริจาคเป็นอะไรที่น่าชื่นใจที่สุด

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องสุขภาพอนามัยของนักเรียน กทม.มีศูนย์สาธารณสุขของตัวเอง มาฉีดวัคซีน มาตรวจโรคมือเท้าปาก ลูกหลานที่พามาฝากไว้กับโรงเรียนวันละ 7-8 ชม. มีคนดูแลให้ มีการตรวจโควิด

● ความคาดหวังใน 4 ปี สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาของ กทม.โดยภาพรวมคืออะไรบ้าง?

ความคาดหวังคือสิ่งที่รออยู่ทุกวันๆ ในการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอาจไม่ได้เห็นผลในทันทีทันใด แต่ค่อยๆ ซึมลงไป ปูพื้นฐานในด้านต่างๆ เกิดสิ่งที่ดีขึ้นในโรงเรียน อย่างที่ผมไปตรวจมา ครูจะบอกว่าต้องการอะไร มีปัญหาอะไร เช่น หลังคารั่ว หลังคาผุ ห้องน้ำห้องท่า ผมเรียกว่าฮาร์ดแวร์ก็แล้วกัน ส่วนซอฟต์แวร์คือระบบการศึกษาซึ่งจะได้รับการปรับมาตรฐาน เกิดการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แต่ในหนังสือ แต่รวมถึงวิชาชีพ ให้เด็กได้ใช้ความสามารถพิเศษของแต่ละคนตามที่รองผู้ว่าฯศานนท์มีแผนงานแตกแยกย่อยออกไปมากมาย ตั้งแต่ Saturday school หรือโรงเรียนวันเสาร์, After School Program ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย Open Education นอกจากนี้ ยังมีพีเพิลแวร์คือเรื่องของครู ซึ่งเราเน้นไปที่สวัสดิการความเป็นอยู่ รวมถึงความก้าวหน้าในวิชาชีพ การดำรงเกียรติยศ นี่คือภาพใหญ่ๆ ที่คาดหวังให้ดีขึ้น

● มีคำที่คนพูดกันเล่นๆ ว่า ‘ขยันตามชัชชาติ’ ทำงานกับผู้ว่าฯ รู้สึกแอ๊กทีฟกระชุ่มกระชวยขึ้นไหม จากที่ส่วนตัวก็ถือเป็นคนทำงานอยู่แล้ว?

แน่นอนครับ ถ้าอาจารย์ชัชชาติเป็นหัวรถจักร แกลากเราไป มีตะขอเกี่ยวอยู่ ไม่ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าหัวรถจักรขยัน แข็งแรง เดินเครื่องตลอด ไม่เบาเครื่องเลย ทุกองคาพยพที่เหลือก็ตื่นตัว ข้าราชการก็เช่นกัน สิ่งที่ซ่อนอยู่ คือเมื่อศรัทธาในตัวผู้นำ พลังจะถูกถ่ายทอดออกมา ความรู้สึกเชื่อมั่นคือสิ่งสำคัญ วาทะเด็ดอย่าง นี่คือภารกิจที่ประชาชนมอบให้เรามา มันเป็นพลังทำให้ทุกฝ่ายแอ๊กทีฟ ไม่ว่าจะเป็น 21 สำนักใน กทม.รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ

สิ่งที่เราเคยมองข้ามไปอย่างการนำหนังกลางแปลงมาฉาย เอาดนตรีไปเล่นโดยมีการจัดระบบขึ้นมา ทำให้เมืองคึกคัก นักดนตรีที่เคยเหงาวันนี้ก็มีชีวิตชีวาขึ้นมา แล้วเดี๋ยวก็ไปขยายผลกันเอาเอง อย่างในประโยคทองที่อาจารย์ชัชชาติใช้หาเสียงคือ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

● ถามในฐานะประชาชนชาวกรุง ไม่ใช่ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ทุกวันนี้เปิดประตูบ้านออกมา คิดว่ากรุงเทพฯเริ่มน่าอยู่มากขึ้นหรือยัง?

ผมอายุ 67 แล้ว เคยรับราชการมา เห็นเลยว่ามันเปลี่ยนไป สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากบอกและทุกคนคงเห็นแล้วก็คือการที่อาจารย์ชัชชาติไปตามตรอกซอกซอย ไม่ว่าใครจะตะโกนอะไรเท่าไหร่ ให้ไปดูซอยนู้นบ้าง แกก็ไปดู เป็นการทำงานที่ช่อชั้นลดลงไปเยอะเลย วันนี้สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการตามดูไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก มันคือการทำให้สังคมรู้จักว่าหน่วยงานนี้ทำอะไร ถามว่าเปลี่ยนอย่างไร มันไปเปลี่ยนในทุกมิติ ความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกอบอุ่นของประชาชนที่เข้าถึงได้ ทราฟฟี่ฟองดูว์ที่ถ้าจะว่าไปแล้วมันคือประชาธิปไตยที่ทุกคนเข้าถึง สามารถแจ้งเรื่องราวต่างๆ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป บรรทัดฐานที่เคยต้องไปร้องทุกข์ เขียนรายงาน วันนี้เข้าผ่านโทรศัพท์มือถือได้ ตรงนี้เป็นอะไรที่เปลี่ยนไปจริงๆ ไม่ใช่ว่ามาพูดกันเล่นๆ

● คำถามสุดท้าย ความรู้สึกใน 3 เดือนบนเก้าอี้ที่ปรึกษา เป็นอย่างไรบ้าง?

สนุกดี มันมีความประทับใจและดีใจ ถ้าคนในกรุงเทพฯกินอิ่ม นอนอุ่น มีความสุขกาย สบายใจ เด็กไม่ติดยา ตีกัน เป็นอาชญากร อาจจะไม่ต้องไปประกวดประขันอะไรกัน

เอาเป็นว่าให้พ่อแม่สบายใจต่อโรงเรียนของลูก เด็กโตมาในกรอบที่ดี ผมว่าสังคมก็น่าอยู่แล้ว

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร เรื่อง ศุภโชค สอนแจ้งภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image