อาศรมมิวสิก : อาชีพและพื้นที่ดนตรีกำลังเปลี่ยนไป

ดนตรีไม่ได้เป็นอาชีพมาก่อน อาชีพดนตรีไม่เคยอยู่ในระบบการทำงานของสังคมไทย ดั้งเดิมดนตรีเป็น “หน้าที่” ของทาสและไพร่คอยบำรุงบำเรอเจ้านาย คนเล่นดนตรีมีตำแหน่งเรียกว่า “พนักงานประโคม” เพื่อทำดนตรีในพิธีกรรม ทำดนตรีเพื่อความบันเทิงแก่เจ้านาย มีรายได้จากเจ้านายเลี้ยงดู ขณะที่สังคมใช้ดนตรีเป็นอุปกรณ์สำหรับขอทานข้างถนน เป็นเครื่องมือของอาชีพขอทานเต้นกินรำกิน ย้ำให้เห็นประจักษ์ดังวรรณคดีเรื่องระเด่นลันได “เที่ยวสีซอขอข้าวสารทุกบ้านช่อง”

ปี พ.ศ.2482 มีวงดนตรีสุนทราภรณ์ มีครูเอื้อ สุนทรสนาน แสดงในงานสังสรรค์รื่นเริง งานเทศกาล เกิดวงดนตรีใหม่ๆ มากขึ้น มีวงดนตรีในร้านอาหาร ภัตตาคาร ไนต์คลับ ดนตรีเพื่อความบันเทิงและการเต้นรำ มีอาชีพรับจ้างเล่นดนตรี อาทิ เป็นนักดนตรี เป็นนักร้อง เป็นนักประพันธ์เพลง นักเรียบเรียงเพลง ผู้ควบคุมวง งานรับจ้างดนตรีแบบหาค่ำกินเช้า ไม่มีหลักประกัน แบบจ้างทำของ จ้างงานเป็นชิ้น เลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับนายจ้าง นักร้องนักดนตรีไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง ค่าจ้างราคาถูก เป็นลูกจ้างที่ไม่มีทักษะ

พ.ศ.2489 วงดนตรีต้องออกเดินสายเพื่อไปแสดงในพื้นที่ต่างๆ เริ่มจากวงดุริยะโยธิน ทั้งเปิดการแสดงเองและมีคนว่าจ้างไป อาชีพนักร้องนักดนตรีก็เร่ร่อนไปเรื่อย เป็นอาชีพรับจ้างเล่นดนตรี ตกงานบ้าง ได้งานบ้าง ศิลปินยุคนั้นสร้างงานและเล่นเพลงของตนเอง นักร้องนักดนตรีทำงานรับค่าจ้างจากหัวหน้าวง โดยการเปิดวิกแสดงเก็บค่าผ่านประตู เกิดเป็นวงดนตรีลูกทุ่ง นักร้องลูกทุ่ง อาชีพเล่นดนตรีในห้องอาหารและไนต์คลับ

พ.ศ.2511 มีห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ รับจ้างทำแผ่นเสียงโดยส่งเพลงไทยไปทำแผ่นเสียงที่ญี่ปุ่น เริ่มเกิดธุรกิจใหม่ของวงการดนตรี มีอาชีพร้องเพลงขาย อาชีพเล่นดนตรีบันทึกเสียง หาเงินจากการขายแผ่นเสียง มีการเปิดเพลงในรายการวิทยุ มีการว่าจ้างนักจัดรายการเปิดเพลง “คิวละพันวันละเพลง”
เกิดบริษัทแผ่นเสียง บริษัทเทปขึ้นในประเทศไทย ผลิตเพลงตั้งแต่เพลงไทยเดิม เพลงไทยสากล เพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง เพลงลูกเทศ มีนักร้องอาชีพ นักแต่งเพลงอาชีพ นักดนตรีอาชีพ มีผลงานเป็นแผ่นเสียง เทป และซีดี สร้างรายได้ให้แก่เจ้าของบริษัทอุตสาหกรรมเพลง

Advertisement

นักร้องนักดนตรีสามารถประกอบอาชีพเล่นดนตรีเพื่อจะเลี้ยงครอบครัวได้ แต่ก็ยังเป็นอาชีพรับจ้างอยู่ ยังมี “ศิลปินไส้แห้ง” เพราะมีรายได้น้อย มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่มีหลักประกันอาชีพ เอาอาชีพนักดนตรีไปกู้เงินธนาคารไม่ได้ สิ่งที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นเสียงปรบมือ คำชื่นชม มีผู้ยื่นสุราให้ด้วยความเสน่หาชื่นชอบ นักดนตรีหลายคนเสียชีวิตด้วยโรคดื่มเหล้าเมาจนหมดสภาพ เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เป็นโรคมะเร็งลำไส้

ยุคทองของแผ่นเสียง เทป เข้ามาประมาณ พ.ศ.2506 ซีดีเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.2525 ซึ่งทำให้เกิดธุรกิจการทำเพลงซ้ำๆ เพื่อขายเพลงเป็นสินค้า การผลิตเพลงเป็นอุตสาหกรรม ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับเจ้าของธุรกิจ

เมื่อถึงยุคที่แผ่นเสียง เทป และซีดีหายไป พ.ศ.2553 โรงงานแผ่นเสียง เทป ซีดี ห้องบันทึกเสียงปิดตัวลง การบันทึกเพลงเพื่อขายผลงานทำได้ยากขึ้น ลูกค้าเพลงเปลี่ยนไป การผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ฟังเพลงเปลี่ยนไป ผู้ฟังเลือกฟังเพลงได้จากคอมพิวเตอร์ จากมือถือ ซึ่งง่ายและสะดวกกว่า

Advertisement

ธุรกิจเพลงและอาชีพดนตรีเปลี่ยนไป ตกอยู่ในมือของบริษัทใหญ่ระดับโลกข้ามชาติ (กูเกิลและยูทูบ) ที่ทุกคนต้องจ่ายค่าหัวคิว ศิลปินเพลงทุกคน ทุกวง ต่างพยายามผลิตผลงานเพลงออกสู่ตลาดโลก ต้องซื้อหัวคิวเพื่อให้ผู้ฟังกดฟังหรือกดเป็นสมาชิก

พ.ศ.2537 กฎหมายลิขสิทธิ์เพลงมีบทบาท กฎหมายคุ้มครองสิทธินับจากผู้สร้างผลงานเสียชีวิตไปแล้ว 50 ปี นักร้องที่เคยทำงานให้บริษัทค่ายเพลง เมื่อลาออกจากบริษัทไปแล้วก็ไม่สามารถร้องเพลงตัวเองได้ มีการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงในราคาแพง สำหรับอาชีพดนตรีซึ่งมีรายได้ในชีวิตประจำวันที่ต่ำ ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงได้ อาชีพบีบให้ต้องสร้างงานเพลงขึ้นใหม่ เพื่อใช้ประกอบอาชีพทำมาหากิน

เทคโนโลยีดนตรีเปลี่ยนไป การนำเทคโนโลยีมาใช้ทำงานเพลงแทนนักดนตรีที่มีชีวิต การผลิตงานเพลงเพื่อขายซ้ำๆ ก็ทำได้ยากเพราะไม่มีลูกค้า ปัจจุบันธุรกิจเพลงได้มุ่งไปที่การแสดงดนตรีสดทำให้ฝีมือนักร้องและนักดนตรีพัฒนาสูงมากขึ้น ดนตรีสดกลับมีบทบาทใหม่ นักร้องนักดนตรีต้องมีฝีมือและคุณภาพสูงเท่านั้น

ยังมีการแสดงเพลงเก่าของศิลปินแก่ ก็ขายงานยาก ทำได้แค่โหยหาอดีต ซึ่งแค่อดีตทำเป็นอาชีพไม่ได้ ในการเลียนแบบตัวเอง การรำลึกอดีตของศิลปิน “20 ปี 30 ปี 35 ปี” ทำได้สำหรับผู้ฟังรุ่นเก่าที่ยังโหยหาอดีต แต่ก็เป็นอดีตที่ไม่เหมือนเดิม เพราะวันเวลา อายุ และบริบทของสังคมเปลี่ยนไปแล้ว

สำหรับผลงานดนตรีอิเล็กทรอนิกส์นั้น สามารถที่จะทำงานได้ง่าย แต่ขายได้ยาก เป็นอาชีพที่หารายได้ยากและถึงทางตันเร็ว ทุกวันนี้ไทยผลิตเทคโนโลยีเองไม่ได้ ต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เมื่อไม่มีคนนิยม ผลงานดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ก็ตายไปโดยปริยาย

เมื่อโควิดโจมตีไทยตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2563 ทำให้งานแสดงดนตรีสดในร้านอาหาร ไนต์คลับ ภัตตาคาร คาราโอเกะ ต้องหยุดหมด ทำให้อาชีพนักร้อง นักดนตรี ช่างเสียง ช่างไฟ เวทีแสงสีเสียงตกงานหมด เกิดอาชีพดนตรีแบบใหม่ขึ้นในรูปแบบออนไลน์ สอนดนตรีออนไลน์ เล่นดนตรีออนไลน์ ทำเพลงออนไลน์ เมื่อโควิดโจมตีไทยยาวนาน มาถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2565 นักดนตรีอาชีพเริ่มกลับมาสู่ภาวะที่พอจะเปิดตัวได้

อาชีพนักร้องนักดนตรีในยุคใหม่ ต้องมีฝีมือระดับนานาชาติเท่านั้นถึงจะอยู่ได้ อาทิ ลลิษา มโนบาล (ลิซ่า) เนื่องจากประเทศไทยและการขับร้องเพลงไทยมีลูกค้าไม่เพียงพอที่จะขายเพลงเป็นอาชีพ ตลาดต้องการเพลงใหม่ๆ ตลอดเวลา อายุเพลงมีเวลาจำกัดเพราะจะผ่านไปเร็ว ความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนไป ลูกค้าเป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นผู้กำหนดตลาด เพลงมีอายุแค่ 3 นาที ฟังได้ครั้งเดียว เพลงก็ตายแล้ว

ขณะเดียวกัน ตลาดเพลงสากล เป็นตลาดที่กว้างมาก มีศิลปินใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมากและมีผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น

การประกวดดนตรีระดับชาติและระดับนานาชาติที่จัดขึ้นภายในประเทศและจัดขึ้นในต่างประเทศพบว่า เด็กไทยที่เข้าประกวดมีคุณภาพสูงมาก และที่สำคัญก็คือมีความเป็นสากล เด็กไทยที่เก่งจำนวนหนึ่งมีความสามารถทางดนตรีสูง โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี อาทิ นักเปียโน เครื่องสาย เครื่องเป่า กลอง และนักร้อง ทำให้สงสัยว่าเด็กไทยเหล่านี้มาจากไหนและจะไปอยู่ที่ไหนต่อไป

ยังพบว่าเด็กที่เล่นดนตรีพื้นบ้าน เด็กที่เล่นดนตรีไทย ไม่มีพื้นที่และมีการพัฒนาฝีมือน้อยมาก ได้แต่เลียนแบบและทำซ้ำๆ เท่านั้น แนวโน้มดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทยจะหายไปจากสังคมไทยในระยะ 5-10 ปี

เด็กที่เก่งดนตรีในปัจจุบันเป็นดนตรีสากล จำนวนหนึ่งไม่เข้าเรียนดนตรีในระดับอุดมศึกษาไทย เพราะเด็กและพ่อแม่เห็นว่าอาชีพดนตรีของลูกไม่มีอนาคต อุดมศึกษาไทยในปัจจุบันไม่สามารถสร้างอาชีพดนตรีให้นักดนตรีมีฝีมือได้ เด็กที่เก่งดนตรีส่วนหนึ่งเลิกเรียนดนตรี แล้วไปเรียนอาชีพ อื่นๆ หากจะเรียนดนตรีเพื่อการอาชีพก็จะไปต่างประเทศ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรีย อเมริกา แคนาดา เป็นต้น

เมื่อเรียนจบดนตรีในต่างประเทศแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ทำงานต่อเพราะมีฝีมือ ทำมาหากินอาชีพดนตรีในต่างประเทศได้ เป็นนักดนตรีอาชีพในวงซิมโฟนี อาทิ ที่ฮ่องกง สิงคโปร์ เยอรมนี ออสเตรีย อังกฤษ อเมริกา เป็นอาจารย์สอนดนตรีในต่างประเทศ เพราะกลับมาเมืองไทยก็ไม่มีงานทำ รายได้ต่ำ คุณภาพชีวิตต่ำ

หากมีงานดนตรีขนาดใหญ่ที่ว่าจ้างโดยทุนของรัฐ (ท่องเที่ยว/วัฒนธรรม/ศึกษา/ต่างประเทศ) งานก็จะตกอยู่ในมือของบริษัท (เอเยนซี่) โดยรัฐจ้างในราคาแพง แต่นักดนตรีได้ค่าจ้างราคาถูก เงินส่วนใหญ่กลายเป็นค่าจัดการ ค่าเช่าวัสดุอุปกรณ์ ในที่สุดงานอาชีพดนตรีก็ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้ขึ้นได้

สำหรับอาชีพครูดนตรี (สากล) ในเมืองจำนวนหนึ่ง อาทิ ครูเปียโน ครูไวโอลิน ครูเชลโล ครูขับร้อง ครูกีตาร์ ครูฮาร์ป จะมีรายได้ค่าสอนเป็นรายชั่วโมง ครูที่มีฝีมือสามารถกำหนดราคาค่าสอนเองเป็นรายชั่วโมงได้ (2,000-4,000 บาท) ครูดนตรีที่เก่งเด็กต้องเข้าคิว คอยคิวนาน และครูสามารถสร้างเด็กให้เก่งได้

วันนี้ครูดนตรีในโรงเรียนนานาชาติส่วนมากเป็นฝรั่ง พ่อแม่ก็เชื่อถือว่าฝรั่งเก่งกว่า ส่วนคนเก่งดนตรีของไทยก็ไปทำมาหากินในต่างประเทศ เพราะว่าการศึกษาไทยไม่สอนให้คนมีระเบียบ ไม่สอนให้รับผิดชอบหน้าที่ ไม่สอนให้เป็นคนเก่งและเป็นคนดีในคนคนเดียวกัน

เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 นักดนตรีต่างประเทศที่อาศัยทำมาหากินในเมืองไทยที่มีอยู่ 30,000 คน ก็ต้องกลับบ้านหมด วันนี้ พ.ศ.2565 เมื่อน่านฟ้าเปิด อาชีพดนตรีก็จะมีงานมากขึ้น แต่ถ้างานไหนที่มีราคาแพง ก็จะมีนักดนตรีต่างชาติได้งาน เพราะเอเยนซี่ที่จัดหางานในสิงคโปร์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ก็จะจ้างนักดนตรีนานาชาติมาทำงานในโรงแรมชั้นหนึ่งและในพื้นที่สากล หรือพื้นที่ที่มีบรรยากาศแบบนานาชาติ “อาชีพดนตรีจะไปต่ออย่างไร” ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image